xs
xsm
sm
md
lg

บ.ยาอินเดียกลัวโดนฟ้อง ทำคนไข้รอเก้อ ยาสลายลิ่มเลือดหัวใจ-สมอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คนไข้รอยาสลายลิ่มเลือดหัวใจและสมอง “โคลพิโดเกรล” เก้อ เหตุบริษัทยาอินเดียถูกบริษัทยาต้นตำรับขู่ สั่นไม่กล้า เซ็นสัญญา โยนให้ อภ.รับผิดชอบหากถูกฟ้อง องค์กรผู้บริโภคแนะรุกเชิญชวนบริษัทยาขึ้นทะเบียนเพิ่ม หาตัวเลือกมากขึ้น

นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ขณะนี้ยาสลายลิ่มเลือดหัวใจและสมอง โคลพิโดเกรล ที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) ไปตั้งแต่ต้นปี 2550 ขณะนี้ อภ.ยังไม่ได้จัดซื้อยาดังกล่าวเข้ามา เนื่องจากมีกระแสข่าวว่า ทางบริษัท คาดิลา ของอินเดียได้รับแรงกดดันจากบริษัทยาต้นตำรับข้ามชาติในเรื่องซีแอล ทำให้บริษัท คาดิลา เรียกร้องให้ไทยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทุกอย่างหากเกิดกรณีการฟ้องร้องไม่ว่าที่ใดในโลก ซึ่ง อภ.ไม่สามารถรับข้อเสนอดังกล่าวได้จึงไม่ได้ลงนามในสัญญาซื้อขาย

“ขณะนี้ อภ.มีลู่ทางอื่นในการดำเนินการ ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยได้ ทั้งนี้ คาดว่า ใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 2-3 เดือน อภ.ถึงจะสามารถสั่งยาดังกล่าวเข้ามาในไทยเพื่อกระจายไปยังสถานพยาบาลได้ ซึ่ง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มียาโคลพิโดเกรลที่เป็นยาสามัญ 2 บริษัทมาขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทยแล้ว ได้แก่บริษัท คาดิลา และบริษัท เอ็มเคียว ของประเทศอินเดียเช่นกัน”นพ.วิชัย กล่าว

นพ.วิชัย กล่าวว่า ในส่วนของยารักษาโรคมะเร็งเต้านมและปอด โดซีแท็กเซล ได้ลงนามเซ็นสัญญากับบริษัท ดาเบอ ของประเทศอินเดียแล้ว โดยได้สั่งนำเข้าล็อตแรก 2 หมื่นโดส สำหรับผู้ป่วย 2 พันคน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ส่วนยามะเร็งปอดเออร์โลทินิบ ยาสามัญได้มาขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้วเช่นกัน แต่อยู่ระหว่างกระบวนการเจรจาสั่งซื้อ

ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง กล่าวว่า อภ.จะต้องทำให้ยาสามัญอื่นๆ เข้ามาขึ้นทะเบียนกับ อย.รวมถึงจะต้องประชาสัมพันธ์ให้บริษัทยาสามัญต่างทราบๆ โดยจะต้องทำงานเชิงรุกมากกว่านี้อย่างน้อยจะทำให้เห็นว่าไม่ขาดช่องทางการทำให้ยาถูก และบริษัทยาต้นแบบก็จะไม่ดำเนินการขู่หรือไม่แสดงท่าทีในการไม่ยอมลดราคายาอีก

“ในขณะเดียวกัน สธ.ควรสั่งให้ อย.ใช้กระบวนการขึ้นทะเบียนยาสามัญให้มีความรอบคอบและรวดเร็วไม่ติดขัดกับขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง ทั้งนี้ หาก อภ.ติดปัญหาการทำสัญญากับ บ.คาดิลา ก็ควรหาตัวเลือกอื่น ซึ่งอาจเป็น บ.เอ็มเคียว เลย และเท่าที่ทราบประเทศอินเดียว มี บ.ที่ผลิตยาโคลพิเกลวมากกว่า 2 บริษัท หากรีบดำเนินการก็เป็นปรโยชน์กับประชาชน” น.ส.สารี
กำลังโหลดความคิดเห็น