xs
xsm
sm
md
lg

อภ.เผยเริ่มสั่งซื้อยาเอดส์ล็อตที่ 3 แล้ว ส่วนยามะเร็ง 3 รายการ รู้ผลก่อน 24 ม.ค.แน่นอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อภ.สั่งซื้อยา “โคลพิโดเกรล” ล็อตแรก 2 ล้านเม็ด เปลี่ยนใจจากบริษัท เอ็มเคียว เป็นบริษัท คาดิลาฯ แทน ในราคาเท่ากัน ฐานเอ็มเคียวล่าช้า ยังไม่ได้ทะเบียนยา เผยประหยัดงบ 138 ล้านบาท ส่วนยาเอดส์ “เอฟฟาไวเรนซ์” เริ่มสั่งล็อตที่ 3 แล้ว ขณะที่ “หมอมงคล” ลังเลยังไม่ตัดสินใจทำซีแอลยามะเร็ง 3 รายการ อ้างข้อมูลไม่พอ แต่จะได้ข้อสรุป ก่อนวันที่ 24 ม.ค.นี้แน่นอน

นพ.วิชัย โชควิวัฒน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ (ซีแอล) และในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 24 มกราคม นี้ เวลา 10.00 น. จะมีการประชุมคณะกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ(ซีแอล) โดยมีนพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานในการประชุม เพื่อหารือใน 2 เรื่องหลัก คือ การสรุปผลการดำเนินการซีแอลยา 3 รายการที่ได้ใช้สิทธิซีแอลไป และหารือเรื่องการดำเนินการกลุ่มยามะเร็งที่ยังไม่แล้วเสร็จอีก 3 รายการ ว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป อย่างไรก็ดี ตามหลักการแล้ว นพ.มงคล สามารถตัดสินใจได้ทันทีว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยไม่จำเป็นต้องนำเข้าหารือกับคณะกรรมการฯ และเมื่อรัฐมนตรีมีคำสั่ง คณะกรรมการก็จะนำเข้ายาสามัญที่มีคุณภาพได้อย่างไร

นพ.วิชัย กล่าวต่อว่า สำหรับยา 3 รายการที่ประกาศซีแอลไปแล้วนั้น จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยยาตัวแรก คือ ยาต้านไวรัสเอดส์ เอฟฟาไวเรนซ์ (Efavirenz) ขณะนี้อยู่ระหว่างการสั่งซื้อยาล็อตที่ 3 ส่วนยาต้านไวรัสเอดส์โลพินาเวียร์ กับ ริโทนาเวียร์ (Lopinavir/Ritonavir) หรืออลูเวีย (Aluvia) อยู่ระหว่างการส่งมอบยา ขณะที่ยาสลายลิ่มเลือดหัวใจและสมอง โคพิโดเกรล (Clopidogrel) มีปัญหาเล็กน้อย โดย อภ.ได้ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงการสั่งซื้อยา โดยเลือกซื้อยาจากบริษัท คาดิลา เฮลธ์แคร์ จำกัด (Cadila Health Care Ltd.) ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นบริษัทที่เสนอราคาต่ำเป็นอันดับที่ 2 แทน จากเดิมที่จะจัดซื้อยาจากบริษัท เอ็มเคียว ซึ่งเป็นบริษัทที่เสนอราคาต่ำสุด คือ เม็ดละ 1.01 บาท เนื่องจากบริษัท คาดิลาฯ ได้ทะเบียนยาเสร็จก่อน ขณะที่บริษัท เอ็มเคียว ที่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ เพราะมีปัญหาเรื่องเอกสาร

“สธ.ได้ประกาศซีแอลยาอลูเวีย และโคลพิโดเกรล พร้อมกันไปเมื่อ 24-25 มกราคม 2550 จนถึงขณะนี้จะครบ 1 ปีแล้ว แต่บริษัท เอ็มเคียว ยังไม่สามารถขึ้นทะเบียนยาสำเร็จ จึงจำเป็นต้องเลือกบริษัทที่มีความพร้อมมากกว่า คือ บริษัท คาดิลาฯ โดยมีข้อแม้ว่าเขาจะต้องยอมลดราคาลงมาให้เท่ากับราคาที่บริษัท เอ็มเคียว เสนอ ซึ่งเขาก็ยอมให้ ขณะนี้ทาง อภ.จึงได้ทำการสั่งซื้อยาล็อตแรกไปแล้วจำนวน 2 ล้านเม็ด ทำให้ สธ.ประหยัดงบประมาณไปถึง 138 ล้านบาท แต่หาก สธ.จัดซื้อยาต้นฉบับในจำนวนเท่ากันต้องใช้งบประมาณถึง 140 ล้านบาท” นพ.วิชัย กล่าว

ด้าน นพ.มงคล กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการตัดสินใจว่าจะมีการประกาศซีแอลในยามะเร็งทั้ง 3 รายการแต่อย่างใด ได้แก่ ยามะเร็งปอด และมะเร็งเต้านม โดซีแท็กเซล (Docetaxel) ยามะเร็งเต้านม เล็ทโทรโซล (Letrozole) และยารักษาโรคมะเร็งปอด ชื่อ เออร์โลทินิบ (Erlotinib) เนื่องจากข้อมูลยังไม่สมบูรณ์พอที่จะตัดสินใจ โดยยาโดซีแท็กเซล เป็นยามะเร็งเพียงชนิดเดียวใน 3 รายการ ที่มียาสามัญมีคุณภาพเทียบเท่า แต่มีราคาใกล้เคียงกับยาต้นฉบับ ขณะที่ยามะเร็งอีก 2 ชนิด ไม่มีบริษัทยาสามัญที่มีคุณภาพเทียบเท่า ดังนั้นยาทั้ง 3 รายการจึงต้องมีการเจรจาต่อรองราคาใหม่เพื่อให้ได้ราคาที่ลดลงมาอีก หากไม่สำเร็จก็ต้องพิจารณาความคุ้มค่าและเหมาะสมในการประกาศซีแอล ทั้งนี้ กระบวนการทั้งหมดจะได้ข้อสรุปก่อนที่คณะกรรมการจะมีประชุมในวันที่ 24 มกราคมนี้แน่นอน

กำลังโหลดความคิดเห็น