xs
xsm
sm
md
lg

เคาะข้อมูล 3 ยามะเร็งชง “ไชยา” ชี้ซื้อ บ.ใช้ 4 พันล.ทำ CL เหลือแค่ 900 ล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คณะทำงานเคาะข้อมูลยามะเร็ง 3 รายการใหม่ หลังสธ.กดดันส่งจดหมายทักท้วงให้ใช้ราคายาต้นตำรับ-สามัญ ที่ต่อรองราคาแล้ว เผยตัวเลขหลังขอลดราคายาต้นแบบต้องใช้เงิน 2-4 พันล้าน แต่ถ้าทำ CL ซื้อยาอินเดียใช้แค่ 300-900 ล้านบาท ประหยัดงบชาติร่วม 4 พันล้านบาท

วันที่ 7 มีนาคม ในการประชุมคณะทำงานศึกษาข้อมูลยามะเร็งที่มีการประกาศบังคับใช้สิทธิบัตร (ซีแอล) ได้สรุปขั้นสุดท้ายก่อนเสนอกระทรวงสาธารณสุขโดยมีตัวแทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตัวแทนจากสถาบันมะเร็ง โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เครือข่ายผู้ป่วย มูลนิธิผู้บริโภค ร่วมกันหาข้อสรุปจำนวนผู้ป่วยมะเร็งที่จำเป็นต้องใช้ยามะเร็ง 4 รายการ เพื่อเสนอ สธ.พิจารณาขั้นสุดท้าย

นพ.วินัย สวัสดิวร รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะรักษาการเลขาธิการ สปสช.กล่าวภายหลังการประชุมหารือคณะทำงานศึกษาข้อมูลยามะเร็งที่มีการประกาศบังคับใช้สิทธิบัตร ว่า ที่ประชุมได้สรุปยารักษาโรคมะเร็ง 3 รายการ คือ ยารักษามะเร็งปอดและเต้านม โดซีแท็กเซล ยารักษาโรคมะเร็งเต้านม เลทโทรโซล และ ยารักษาโรคมะเร็งปอด เออร์โลทินิบ โดยมีการสรุปผลและนำเสนอตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากนพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะมิสเตอร์ซีแอล ได้ทำหนังสือทักท้วงให้คณะทำงานสรุปข้อมูลโดยใช้ตัวเลขราคายาที่มีการต่อรองราคาแล้ว ไม่ใช่ข้อมูลก่อนการเจรจา

“เป็นเรื่องตลกหรือไม่ตลกไม่ทราบ แต่ สธ.มีการทำหนังสือมา ทั้งๆ ที่มีการสรุปผลข้อมูลทั้งหมดให้ไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น วัตถุประสงค์ของสธ.ที่สั่งให้แก้ไขข้อมูลใหม่ คงแล้วแต่เจตนาคนว่าจะใช้ตัวเลขอย่างไร เนื่องจากคณะทำงาน ทั้งนักวิชาการ สปสช. ภาคเอกชนได้สรุปตัวเลขให้เป็นตัวเลขเดียวกันแล้ว ซึ่งเราทำงานในเชิงวิชาการเท่านั้น ดังนั้น การจะใช้ยาตัวไหนตามหลักการก็ควรที่จะเลือกยาที่มีคุณภาพราคาต่ำ เพราะต้องดูแลประชาชนจำนวนมาก”นพ.วินัย กล่าว

นพ.วินัย กล่าวต่อว่า สำหรับยามะเร็ง 3 รายการ เมื่อคำนวณระยะเวลา 5 ปี ราคาบริษัทเจ้าของสิทธิบัตรก่อนต่อรองจะอยู่ที่ 3,746-9,376 ล้านบาท ราคาหลังต่อรองที่เสนอกระทรวง จำนวน 2,409-4,625 ล้านบาท ซึ่งจะประหยัดได้ 1,337-4,752 ล้านบาท แต่หากทำซีแอลโดยซื้อจากบริษัทอินเดีย เมื่อรวม 5 ปี มีมูลค่ารวมในการซื้อเพียง 321-909 ล้านบาทเท่านั้น ดังนั้น เมื่อเทียบกับยาเจ้าของสิทธิบัตรที่ต่อรองลง มาแล้วเทียบกับราคา ที่ทำ CL จะช่วยประหยัดงบประมาณได้ 2,088-3,748 ล้านบาท ซึ่งข้อสรุปที่ได้จากคณะทำงานฯในครั้งนี้จะนำเสนอกระทรวงสาธารณสุขพิจารณา

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบมูลค่ายา ทั้ง 3 ราคา แล้ว พบว่า ยาโดซีแท็กเซล ราคาเจ้าของบริษัทสิทธิบัตร 5 ปี จำนวน 1,435-3,683 ล้านบาท ราคาต่อรองที่เสนอกระทรวงสาธารณสุข คือ จำนวน 364-843 ล้านบาท ราคาต่อรองจากบริษัทอื่น 61-157 ล้านบาท ส่วนราคายาเลทโทรโซล ราคาเจ้าของบริษัทสิทธิบัตร 5 ปี จำนวน 1,681-3,222 ล้านบาท ราคาต่อรองบริษัทเสนอกระทรวงฯ จำนวน 1,611-2,078 ล้านบาท ราคาบริษัทอื่นจำนวน 91 ล้านบาท

สำหรับยาเออร์โลทินิบ ราคาเจ้าของบริษัทสิทธิบัตร 5 ปี จำนวน 631-2,472 ล้านบาท ราคาหลังต่อรองที่เสนอกระทรวงฯ 435-1,703 ล้านบาท ราคาบริษัทอื่น 169-661 ล้านบาท ทั้งนี้ ข้อมูลที่คณะทำงานเสนอก่อนหน้านี้ เป็นราคายาก่อนการต่อรอง สามารถช่วยประหยัดราคายาได้เกือบ 8,000 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น