xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข้อมูลทำซีแอลยามะเร็งสุดคุ้ม! ทุ่นเกือบ 8,000 ล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เผยผลสรุปประชุมขั้นสุดท้ายหารือข้อมูลทำซีแอลยามะเร็งก่อนเสนอ สธ. หมอวินัยเผยสุดคุ้ม หากต้องใช้ยาจากบริษัทอื่นที่ไม่ใช้เจ้าของสิทธิบัตรทั้ง 3 รายการแล้วจะลดค่าใช้จ่ายได้ ปี 2551 ลดได้ถึง 475-1,238 ล้านบาทใน ปี 2555 ลดได้ถึง 397-1,924 ล้านบาท รวม 5 ปี สามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 3,219-7,937 ล้านบาท

วันนี้ (29 ก.พ.) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)มีการประชุมคณะทำงานศึกษาข้อมูลยามะเร็งที่มีการประกาศบังคับใช้สิทธิบัตร(ซีแอล) ได้สรุปขั้นสุดท้ายก่อนเสนอกระทรวงสารณสุขโดยมีตัวแทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตัวแทนจากสถาบันมะเร็ง โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เครือข่ายผู้ป่วย มูลนิธิผู้บริโภค องค์กรหมอไร้พรมแดน- เบลเยี่ยม (ประเทศไทย) ร่วมกันหาข้อสรุปจำนวนผู้ป่วยมะเร็งที่จำเป็นต้องใช้ยามะเร็ง 3 รายการ เพื่อเสนอ รมว.สธ.พิจารณา

นพ.วินัย สวัสดิวร รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ในฐานะรักษาการเลขาธิการ สปสช.กล่าวภายหลังการประชุมหารือคณะทำงานศึกษาข้อมูลยามะเร็งที่มีการประกาศบังคับใช้สิทธิบัตรว่า หลังจากที่สปสช.ประชุมครั้งแรกไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยมอบหมายให้ตัวแทนแต่ละแห่งหาข้อมูลเกี่ยวกับการประมาณการการใช้ยาของผู้ป่วยมะเร็ง&# 3648;ฉพาะมะเร็ง 2 ชนิดคือมะเร็งปอดและมะเร็งเต้านม โดยคาดการณ์ต่อเนื่อง 5 ปี ทั้ง 3 รายการประกอบด้วย มะเร็งปอดและเต้านม ซึ่งใช้ยาโดซีแท็กเซลในการรักษา (DOCETAXEL) มะเร็งเต้านม ยาเลทโทรโซล(LETROZOLE ) และ มะเร็งปอด เออโลทินิบ (ERLOTINIB)

โดยที่ประชุมมีมติว่า จากการประมาณการของสถาบันมะเร็งและประมาณการทางระบาดวิทยาพบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ในปี 2551 จำนวนทั้งสิ้น 12,171 คน และในอนาคตอีก 5 ปีหรือปี 2555 จะมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านม เพิ่มขึ้นเป็น 14,421 ราย ขณะที่ปี 2551 จะมีผู้ป่วยที่เป็นมะเร็ง ปอดจำนวน 10,096 ราย และในปี 2555 จะมีผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดจำนวน 11,152 ราย

นพ.วินัยกล่าวต่อว่า จากการคำนวณของผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งจากสถาบันต่างๆ ได้ประมาณการณ์ตัวเลขจำนวนผู้ป่วยต่อเนื่อง 5 ปี โดยมีหลักการคำนวณจากผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดมีอัตราตายสูงโดยมีแนวทางการคำนวณจากตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่แต่ละปีติดต่อกัน 5 ปี ขณะที่จำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมใช้แนวทางการคำนวณคาดการณ์แบบสะสมตลอด 5 ปี เนื่องจากมีผู้ป่วยรายใหม่น้อยแต่มียอดสะสมจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม การคำนวณการสะสมของมะเร็งเต้านมต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากการเริ่มนับตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งตามความจริงจะมีผู้ป่วยสะสมก่อนปี 2550 จึงใช้วิธีการคำนวณแบบสะสมโดยใช้อัตราเพิ่มประมาณ 10 % พร้อมทั้งมีการประมาณการแบบต่ำสุดถึงสูงสุด

นพ.วินัยกล่าวว่า ข้อสรุปที่ได้พบว่า มีผู้ป่วยมะเร็งปอด และมะเร็งเต้านม ตั้งแต่ปี 2551 จำนวน 22,619 ราย ในอีก 5 ปีข้างหน้า คือในปี 2555 จะมีผู้ป่วยสะสมราว 61,786 ราย ทั้งนี้ หากแยกเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่จำเป็นต้องใช้ยาโดซีแท็กเซล ในปี 2551 โดยประมาณการณ์ พบว่ามีผู้ป่วยใช้ยาดังกล่าวจำนวนน้อยสุด-มากสุด คือ 487 ราย ถึง 1,461 ราย ขณะที่ในปี 2555 คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยใช้ยานี้ตั้งแต่ 577 ราย - 1,730 ราย สำหรับมะเร็งเต้านมในปี 2551 มีผู้ป่วยที่ต้องได้รับยา เล็ทโทรโซล จำนวน 4,071 ราย ขณะที่ในปี 2555 มีผู้ป่วยต้องได้รับยาทั้งสิ้นจำนวน 11,121ราย สำหรับผู้ป่วยมะเร็งปอดที่ควรได้รับยาโดซีแท็กเซลในปี 2551 มีจำนวน 1,211 - 2,847 ราย และในปี 2555 มีจำนวน 1,338 - 3,145 ราย ขณะที่ยามะเร็งปอด เออโลทินิบ ในปี 2551 มีผู้ป่วยต้องได้รับยา 363 - 1,424 ราย และอีก 5 ปี ในปี 2555 มีผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาอย่างน้อยสุด 401 -1,572 ราย

อย่างไรก็ตาม สำหรับงบประมาณที่จะใช้ในการซื้อยาทั้ง 3 รายการนี้หากต้องซื้อจากบริษัทเจ้าของสิทธิบัตรแล้วประมาณการณ์ว่าจะมีมูลค่ามหาศาลกล่าวคือ ยาโดซีแท็กเซล ในปี 2551 จะมีมูลค่าตั้งแต่ 269 - 690 ล้านบาท ในปี2555 ต้องจัดซื้อยานี้มูลค่า ตั้งแต่ 305 - 783 ล้านบาท เมื่อรวม 5 ปี (2551-2555) จะมีมูลค่าสูง 1,435 ล้านบาทถึง 3,683 ล้านบาท

สำหรับยารักษา เลทโทรโซล นั้นในปี 2551 จะต้องใช้ยามีมูลค่าตั้งแต่ 178- 342 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2555 ต้องใช้ยาดังกล่าวมีมูลค่า ตั้งแต่ 487 ล้านบาท ถึง 934 ล้านบาท เมื่อรวม 5 ปี มูลค่าตั้งแต่ 1,681 - 3,222 ล้านบาท ขณะที่ยาเออโลทินิบ ในปี 2551 ประมาณการณ์ว่าจะมีมูลค่ายาที่ต้องใช้ ตั้งแต่ 120 - 470 ล้านบาท ในปี 2555 มีมูลค่า ตั้งแต่ 132- 519 ล้านบาท เมื่อรวม 5 ปี จะมีมูลค่าตั้งแต่ 631 - 2,472 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากรวมยามะเร็งทั้ง 3 รายการแล้วในปี 2551 พบว่ามีมูลค่า ตั้งแต่ 567- 1,502 ล้านบาทขณะที่ในปี 2555 มีมูลค่า 924 – 2,236 ล้านบาท และเมื่อรวม 5 ปีแล้ว จะ มีมูลค่าตั้งแต่ 3,746 - 9,376 ล้านบาท

นพ.วินัยกล่าวย้ำว่า หากต้องใช้ยาจากบริษัทอื่นที่ไม่ใช้เจ้าของสิทธิบัตรทั้ง 3 รายการแล้วจะลดค่าใช้จ่ายได้จำนวนมากกล่าวคือ ปี 2551 ลดได้ถึง 475- 1,238 ล้านบาทใน ปี 2555 ลดได้ถึง 397-1,924 ล้านบาท รวม 5 ปี สามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 3,219 – 7,937 ล้านบาท ทั้งนี้ ข้อสรุปที่ได้จากคณะทำงานในครั้งนี้จะนำเสนอกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาต่อไป

อนึ่ง ตัวยา "อิมาทินิบ" ที่ใช้รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นยาที่ประกาศในซีแอล อย่างมีเงื่อนไข ขณะนี้บริษัทโนวาตีสให้การสนับสนุนยาดังกล่าว กับคนไข้ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทุกคนโดยไม่คิดมูลค่าซึ่งหากจำเป็นต้องซื้อยาอิมาทินิบ ซึ่งหากปี 2551 จะต้องใช้เงินงบประมาณ 580- 1,500 ล้านบาท และในปี 2555 จะต้องใช้เงินงบประมาณอีก 1,600- 4,400 ล้านบาท หากรวม 5 ปีจะต้องใช้เงินเป็นเงิน 5,600-15,000 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น