xs
xsm
sm
md
lg

คกก.วิเคราะห์ CL เผยยอดผู้ป่วยมะเร็งปอด-เต้านมรายใหม่ 1-2 หมื่นคนต่อปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คณะทำงานศึกษาข้อมูลยามะเร็ง เผย จะสรุปตัวเลขทั้งหมด 29 ก.พ.นี้ เบื้องต้นมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและมะเร็งปอดรายใหม่ 1-2 หมื่นคนต่อปี พร้อมชวนบริษัทยาสามัญมาขึ้นทะเบียนเพิ่มขึ้นเพื่อเดินหน้าทำซีแอลต่อได้ ขณะที่ เอ็นจีโอ นัดพบ “นพดล” สัปดาห์หน้า ขอฟังจากปากว่าสนับสนุนซีแอลจริง

นพ.วินัย สวัสดิวร รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะรักษาการเลาธิการ สปสช.กล่าวภายหลังการประชุมหารือคณะทำงานศึกษาข้อมูลยามะเร็งที่มีการประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) ว่า การประชุมครั้งนี้ เนื่องมาจากมติที่ประชุมให้ สปสช.เป็นเจ้าภาพในการรวบรวมข้อมูลยามะเร็ง 4 รายการ โดยร่วมหารือกับหลายหน่วยงาน ทั้งตั้งแทนจากสถาบันมะเร็ง โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เครือข่ายผู้ป่วย มูลนิธิผู้บริโภค องค์กรหมอไร้พรมแดน-เบลเยียม (ประเทศไทย) เพื่อร่วมกันหาข้อสรุปจำนวนผู้ป่วยมะเร็งที่จำเป็นต้องใช้ยามะเร็ง 4 รายการ โดยอ้างอิงตัวเลขจากหลายๆ แห่ง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน เป็นเพียงการประมาณการเบื้อต้นเท่านั้น เช่น มะเร็งปอด และเต้านม มีตัวเลขใกล้เคียงกัน คือ ผู้ป่วยรายใหม่ เฉลี่ยปีละ 10,000-12,000 คน ดังนั้น ที่ประชุมได้ให้การบ้านกับทุกฝ่ายไปประมาณการตัวเลขผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยามาอย่างชัดเจน โดยให้คาดการณ์ต่อเนื่องไปถึงอนาคตอีก 5 ปี รวมถึงคำนวณงบประมาณในการจัดซื้อยาด้วย โดยในวันที่ 29 ก.พ.นี้จะได้ข้อสรุปตัวเลขสุดท้าย และตัวเลขงบประมาณที่จะต้องใช้ในการดำเนินการ

“ที่ผ่านมา ไทยไม่มีการจัดทำระบบจัดเก็บประวัติผู้ป่วยมะเร็ง การจัดเก็บข้อมูลเป็นแบบแบ่งแยกแต่ละหน่วยงาน รวมถึงการสั่งซื้อยามะเร็งจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่จะเป็นผู้สั่งยาเอง สปสช. ไม่ได้จัดซื้อยารวม แต่เป็นหาเหมาจ่ายรายหัวให้กับแต่ละโรงพยาบาลที่จะไปจัดสรรงบประมาณเอง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแนวโน้มของผู้ป่วยมะเร็งทุกประเภทมีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ซึ่งหากตรวจพบโรคในระยะเริ่มต้นยิ่งเร็วเท่าไร ผู้ป่วยยิ่งมีอัตราการรักษาหาย หรือรอดชีวิตสูง เพราะเป็นโรคที่รักษาหายได้หากได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ซึ่งข้อมูลตรงนี้ น่าสนใจ เพราะจะทำให้อัตราการใช้ยารักษามะเร็งเต้านมเพิ่มสูงขึ้น” นพ.วินัย กล่าว

นพ.วินัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีมติเกี่ยวกับเรื่องการจะดำเนินการอย่างไรให้กระบวนการประกาศซีแอลเดินหน้าต่อ ซึ่งได้มีการเสนอให้สธ. ประกาศเชิญบริษัทยาสามัญที่สธ.ได้ประกาศซีแอลไปแล้วทั้งหมด ให้มายื่นขอขึ้นทะเบียนตำรับยากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการจัดซื้อยาในราคาถูกลงได้ เพราะเมื่อมีตัวเลือกมากขึ้น ก็จะมีการแข่งขันกันสูง ทำให้ราคาถูกลง

ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ในวันที่ 27 ก.พ.เวลา 16.30 น.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายผู้ป่วย จะเดินทางไปนี้ ยังกระทรวงต่างประเทศ เพื่อขอเข้าพบ นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและขอความชัดเจนเรื่องการสนับสนุนให้ทำซีแอล เพราะขณะนี้ทราบว่าทางกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และกรมสนธิสัญญา กระทรวงต่างประเทศ ได้มีหนังสือสรุปผลการดำเนินการซีแอลของไทยถึงนายนพดล ว่าการประกาศซีแอลเป็นไปด้วยความถูกต้อง

“ก่อนหน้านี้ รมว.ต่างประเทศ ได้รับปากว่าจะให้การสนับสนุนให้ผู้ป่วยเข้าถึงยา แต่เราต้องการฟังจากปากของคุณนภดลโดยตรงว่า จะสนับสนุนกระบวนการเข้าถึงยาของผู้ป่วย ทั้งนี้ ทราบมาว่าแม้แต่ทูตการค้าของสหรัฐก็ไม่ได้มีประสงค์ที่จะฟ้องร้องประเทศไทยในการทำซีแอล ขณะที่สภายุโรป (อียู) ก็มีมติเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ให้สนับสนุนทุกประเทศที่ใช้มาตรการยืนหยุ่นขององค์การการค้าโลกซึ่งรวมทั้งซีแอลในการเข้าถึงยา” นายนิมิตร์ กล่าว

ขณะที่นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศทำซีแอลยาต้านไวรัสเอดส์ 2 ตัวและยาโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) ที่ใช้ละลายลิ่มเลือดในผู้ป่วยโรคหัวใจ เมื่อเดือนมกราคม 2550 ในส่วนของยาโคลพิโดเกรล ขณะนี้องค์การเภสัชกรรมได้สั่งซื้อยาจากบริษัทคาดิล่า ฟาร์มาซูติคอล (Cadila Pharmaceutical) ประเทศอินเดีย รุ่นแรกจำนวน 2 ล้านเม็ด เพื่อให้ผู้ป่วยในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โครงการประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการได้ใช้ โดยเลื่อนกำหนดการส่งมอบเล็กน้อย จากเดือนมีนาคมเป็นเมษายน 2551 เพื่อตรวจสอบกระบวนการทางด้านกฎหมาย

สำหรับยาต้านไวรัสเอดส์ คือ เอฟฟาวิเรนซ์ (Efavirenz) ซึ่งนำเข้าตัวแรก จากบริษัทแรนเด็กซี่ (Randexy) ประเทศอินเดีย ประมาณ 260,000 ขวด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ได้นำไปใช้บริการผู้ป่วยโรคเอดส์แล้วเป็นจำนวนมาก ส่วนยาอลูเวียร์ (Aluvir) นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรมรุ่นแรก จากบริษัท แมททริกซ์ (Matrix) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 โดยผ่านการตรวจสอบคุณภาพ จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และจัดส่งให้โรงพยาบาลภาครัฐเรียบร้อยแล้วเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น