xs
xsm
sm
md
lg

ไม่เชื่อใจ “ไชยา” กลับลำทำซีแอล! ขอหนังสือคำสั่ง อภ.เป็นทางการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ไชยา” ลดกระแสถูกล่ารายชื่อถอดถอน ลนสั่งอภ.จัดซื้อยามะเร็งปอดโดซีแท็กเซลจาก บ.อินเดีย ล็อตแรกสำหรับผู้ป่วย 1,000 ราย งบ 15 ล้านบาท เครือข่ายฯเดินหน้าถอดถอนรายชื่อ ลั่นไม่เชื่อใจ ขอเห็นหนังสือคำสั่งเป็นทางการถึง อภ.

วันนี้ (10 มี.ค.) นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าภายหลังกลับลำทำซีแอลเพื่อลดกระแสการถูกล่าชื่อถอดถอนว่า ได้มอบหมายให้นพ.ไพจิตร์ นำข้อมูลเสนอนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้พิจารณาตัดสินใจ ในวันนี้ (11 มีนาคม 2551) และพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับการเจรจาต่อรองราคากับบริษัทยา ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ นอกจากนี้ได้พูดคุยกับนายนิมิตร เทียนอุดม ผู้แทนองค์กรเอกชน หรือ เอ็น จี โอ (NGO) แล้ว สรุปว่าสิ่งที่เอ็นจีโอต้องการก็คือกลัวว่าผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงยาได้ จึงขอยืนยันให้ทุกฝ่ายสบายใจว่าผู้ป่วยจะเข้าถึงยา และกระทรวงสาธารณสุขยังคงเดินหน้าทำซีแอลยารักษาโรคมะเร็งทั้ง 4 ตัวต่อไป

ต่อมาเวลา 14.30 น. นพไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะมิสเตอร์ซีแอล ได้แถลงข่าวว่า นายไชยาได้พิจารณาผลการประชุมของคณะทำงาน 3 ฝ่ายแล้ว และมีมติในเชิงนโยบายให้ สธ.เดินหน้าการทำซีแอลต่อไป ซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้ยึดพื้นฐานของความจำเป็นการเข้าถึงยาของผู้ป่วยเป็นหลัก รองลงมาคือปัญหางบประมาณราคายา

นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวนายไชยาได้หารือและแจ้งให้นายมิ่งขวัญ รับทราบแล้ว เพราะทั้ง 2 กระทรวงเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการเรื่องซีแอล ส่วนกระทรวงการต่างประเทศ มีหน้าที่เพียงแจ้งให้ต่างชาติรับทราบเท่านั้น ส่วนจะต้องมีการเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ แต่จากการให้สัมภาษณ์ของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เข้าใจว่า ท่านให้ไปหารือกันเอง ประกอบกับจะนำเข้า ครม. หรือไม่ก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะการทำซีแอลเป็นเรื่องที่ สธ.สามารถดำเนินการได้

“ขั้นตอนต่อไป ในวันนี้ (11 มีนาคม) จะทำหนังสือถึงองค์การเภสัชกรรม(อภ.) เพื่อแจ้งให้ทราบการตัดสินใจดังกล่าว เพื่อให้อภ. ดำเนินการกระบวนการจัดหายาซึ่งต้องได้ยาราคาถูก และมีคุณภาพดีมาให้กับผู้ป่วยต่อไป ส่วนกระทรวงพาณิชย์จะเจรจากับบริษัทยาอีกหรือไม่ ก็ไม่เกี่ยวกับสธ. อีกต่อไป เพราะอยู่คนละบทบาทหน้าที่” นพ.ไพจิตร์กล่าว

นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ปัญหาที่ผ่านมาผู้ป่วยโรคมะเร็งร้อยละ 80 มาพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ ซึ่งเซลล์มะเร็งลุกลามออกไปแล้ว ทำให้การรักษาได้ผลน้อยมาก โอกาสรอดชีวิตน้อยกว่าผู้ป่วยทั่วไป เสียชีวิตปีละกว่า 50,000 คน อัตราตายแสนละ 83 คน สูงที่สุดในกลุ่มของโรคเรื้อรัง จึงจะต้องปรับระบบบริการ โดยเน้นเชิงรุก ออกค้นหามะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เพื่อให้การรักษาอย่างรวดเร็วที่สุด ซึ่งในปีที่ผ่านมา สธ. ได้รณรงค์ตรวจมะเร็งเต้านมในหญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งมี 13 ล้านคนทั่วประเทศ ในจำนวนนี้ตรวจพบความผิดปกติประมาณ 29,260 คน หรือร้อยละ 0.3 ได้ให้การรักษาด้วยการผ่าตัดที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป หรือหากจำเป็นต้องฉายรังสี จะส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า อนาคตกระทรวงพาณิชย์จะออกมาคัดค้านการทำซีแอลอีกหรือไม่ นพ.ไพจิตร์กล่าวว่า เชื่อว่าการทำซีแอลยารักษาโรคมะเร็งคงจบแล้ว แต่สำหรับยารายการอื่น ผมไม่ทราบ อาจจะมีการคัดค้านหรือไม่มีก็ได้

วันเดียวกัน ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการจากหลายมหาวิทยาลัย และสถาบันต่างๆ 12 คน อาทิ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ เสวนาในประเด็น ชีวิต เงินตรา ธรรมาภิบาล เกี่ยวกับท่าทีของรัฐต่อการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) รวมทั้งมีการตั้งโต๊ะรวบรวมรายชื่อถอดถอนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่บริเวณอาคารคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีนักศึกษาสนใจเข้ามาสอบถามรายละเอียดและรวมลงรายชื่อด้วย

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า แม้ว่า นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สธ.มีคำสั่งให้เดินหน้าทำซีแอลต่อจริง ทางเครือข่ายฯ ก็ยังไม่มั่นใจ เนื่องจากรัฐมนตรี ปลัดสธ.และรองปลัดสธ.ในฐานะมิสเตอร์ซีแอล เพิ่งให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา ว่าจะเพิ่มเพดานการต่อรองราคายาจากเกณฑ์เดิม คือ ราคายาต้นแบบไม่สูงเกิน 5% ของราคายาสามัญ แต่กลับมาให้ข่าวใหม่ว่าจะเดินหน้าซีแอลต่อไป ดังนั้น หากเครือข่ายไม่ได้เห็นหนังสือคำสั่งเป็นทางการ ไปยังองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในการจัดให้มีการประมูลแข่งขันยามะเร็ง 3 รายการ พร้อมดำเนินการนำเข้ายาสามัญจากอินเดีย ดังนั้นจะต้องดูไปนานๆ ว่านายไชยา มีความจริงจังจริงใจมากน้อยแค่ไหน ซึ่งประชาชนจะเป็นผู้พิจารณาตัดสินเอง

“ถ้าทำอย่างที่พูดจริงก็น่าดีใจ ขอขอบคุณอย่างมาก แต่จะยุติการถอดถอน รัฐมนตรี หรือไม่ ส่วนตัวคงไม่สามารถบอกได้ เพราะการถอดถอนรัฐมนตรีไม่ได้ดำเนินการเพียงเครือข่ายเดียว จึงต้องหารือกับเครือข่ายอื่นๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม ตามหลักการคงไม่สามารถยุติการรวบรวมรายชื่อถอดถอน ได้เพราะตามรัฐธรรมนูญถือเป็นสิทธิของประชาชน ซึ่งไม่มีใครเป็นผู้ชี้ถูกผิด แต่จะดำเนินการรวบรวมรายชื่อทั้งหมด 20,000 รายชื่อ ให้เร็วที่สุดเสนอไปยังประธานวุฒิสภาทันที ซึ่งขั้นตอนต่อไปสำนักงานป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะเป็นผู้ต่สวนชี้มูลจากนั้นส่งเรื่องกับมาที่วุฒิสภาเป็นผู้พิจารณาตัดสินว่าสมควรที่จะถอดถอนรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งหรือไม่” น.ส. สารีกล่าว

น.ส.สารี กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ได้มีการรวบรวมรายชื่อได้ กว่า 3,000 รายชื่อแล้ว ซึ่งคาดว่าจะครบ 20,000 คน อย่างแน่นอน เพราะประชาชนจำนวนมากให้การสนับสนุนอยู่ นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ให้การสนับสนุนโดยการนำเอกสารการถอดถอนเพิ่มอีก 10,000 ชุด นักศึกษาแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิดีก็อาสาที่จะรวบรวมรายชื่อถอดถอนรัฐมนตรีด้วย

ต่อข้อถามว่า การที่รัฐมนตรีออกมาประกาศเดินหน้าซีแอล เพื่อไม่ให้มีการถอดถอนรายชื่อหรือไม่ น.ส.สาลีกล่าวว่า ตรงนี้เป็นคนละเรื่องกัน ขณะนี้ถือเป็นการจัดการแยกกลุ่มประชาชน เหมือนที่ชอบทำมาตลอดว่า การทบทวนซีแอลยามะเร็งไม่เกี่ยวกับผู้ป่วยเอดส์และโรคหัวใจ ดังนั้น ประชาชนจะต้องเป็นผู้พิจารณาเองว่า สิ่งที่เข้ารายชื่อถอดถอนควรดำเนินการหรือไม่ เพราะซีแอลไม่ใช่เพียงเรื่องเดียวที่มีการถอดถอน เพราะมีอีกหลายเรื่องที่เป็นสาเหตุให้ต้องถอดถอน ทั้งการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและการโยกย้ายข้ารากชารไม่เป็นธรรม

ด้านนพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา หน่วยมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เรื่องการลงชื่อถอดถอนรมว.สธ.ไม่ใช่เรื่องของแพทย์ชนบทหรือเครือข่ายผู้ป่วยฯ เท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทุกคน ไม่ใช่เรื่องของการไม่ชอบหน้า แล้วมาไล่กันแต่เนื่องมาจากการบริหารที่ผิดหลักธรรมาภิบาล โดยเฉพาะกรณีการโยกย้าย นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตเลขาธิการอย.ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข โดยที่ยังไม่เห็นการทำงาน เป็นความไม่ชอบธรรม ควรที่จะมีการโยกย้ายกลับมา โดยอาจให้ทดลองทำงาน 6 เดือน แล้วพิจารณาตัดสิน

“ไม่ว่าจะรวบรวมถอดถอนรายชื่อได้ครบ 20,000 รายชื่อหรือไม่ หรือรัฐสภา ส.ว.จะไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร เพียงแต่การกระทำครั้งนี้จะเป็นสิ่งสะท้อนให้รัฐมนตรีตระหนัก ปรับปรุงวิธีการปฏิบัติ ตนเองใหม่ ซึ่งเมื่องได้รับทราบเสียงของประชาชนท่านอาจจะเปลี่ยนใจก็ได้ โดยผลสุดท้ายทุกฝ่ายก็จะได้แบบวิน-วิน ความรู้สึกดีๆ อาจกลับคืนมา ทุกคนไม่ได้เกลียดรัฐมนตรี แต่ไม่พอใจในการทำงานที่ผ่านมา แต่ก็สามารถแก้ไขปรับเปลี่ยนได้ หากไม่ดื้อจนเกิดผลเสียต่อตนเองและประเทศชาติ” นพ.ตุลย์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น