xs
xsm
sm
md
lg

"เสธ.อู้" พร้อมนั่งปธ.วุฒิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กกต.พอใจยอดผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ว.55.61% เปิดยอด 3 จว.ใช้สิทธิน้อย กทม. สุมทรปราการ ชลบุรี ขณะที่ใช้สิทธิมากยังคงเป็นลำพูน ตามด้วยสิงห์บุรี พัทลุง เผยมีเรื่องร้องเรียน 30 เรื่อง เตรียมเร่งประกาศรับรองผล เพื่อเปิดประชุมนัดแรก ด้าน"พล.อ.เลิศรัตน์"ไม่ปฏิเสธเรื่องนัดส.ว.รับประทานอาหาร เผยพร้อมทำหน้าที่ประธานสภา หากสมาชิกมอบความไว้วางใจ

นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต. ด้านบริหารการเลือกตั้ง กล่าวว่า มีประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ว. กว่า 57 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 25 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับการออกเสียงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ โดยเหตุที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งน้อย อาจเพราะได้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งส.ส.ไปแล้ว รวมทั้งมีการเลือกตั้งท้องถิ่นในหลายจังหวัด หลายครั้ง

อย่างไรก็ตาม มีหลายพื้นที่ก็มีตัวเลขของผู้มาใช้สิทธิ์มาก อย่างจ. เชียงใหม่ ใช้สิทธิเกินกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่บางจังหวัดก็มีผู้มาใช้สิทธิ์เกิน 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนตัวเลขของผู้ไม่ประสงค์จะลงคะแนน หรือโนโหวตที่มีกว่า 2 ล้านคน หรือประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์นั้น อาจเพราะประชาชนไม่รู้จักผู้สมัคร จึงไม่รู้จะกาให้ใคร สำหรับจำนวนบัตรเสียที่มีกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ ที่ถือว่าเป็นตัวเลขที่มากกว่าจำนวนบัตรเสียในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งที่ผ่านมา ที่มีกว่า 2.5 เปอร์เซ็นต์นั้น โดยบัตรเสียส่วนใหญ่เกิดจากที่ประชาชนกากบาทให้กับผู้สมัครที่ถูกตัดสิทธิก่อนการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ กกต.จะเร่งพิจารณารับรองผลการเลือกตั้ง สำหรับบุคคลที่ไม่มีเรื่องร้องคัดค้าน คาดว่าจะรับรอง ส.ว.ได้ไม่เกินวันที่ 11 มี.ค. เพื่อให้ครบองค์ประกอบ 95 เปอร์เซ็นต์ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเพื่อให้เปิดประชุมวุฒิสภาได้

นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกกต. แถลงปิดศูนย์การเลือกตั้งส.ว. โดยกล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้ได้รับรายงานผลอย่างเป็นทางการจาก ผอ.การเลือกตั้งประจำจังหวัดครบทุกจังหวัดแล้ว ซึ่งขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกส่วนราชการ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่ช่วยสนับสนุนการเลือกตั้งส.ว.ครั้งนี้ ซึ่งการที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิถึง 55.6 เปอร์เซ็นต์ ตนพอใจ เพราะแสดงว่าประชาชนให้ความสนใจการเลือกตั้งและเชื่อใจกกต.

"ผมถือว่าทุกเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้บริสุทธิ์ อาจจะมีบ้างที่บางคนอาจจะพยายามซื้อเสียง ถ้าคนออกมาใช้สิทธิน้อยก็จะมีผล แต่นี่ประชาชนออกมาใช้สิทธิมาก ก็ช่วยขจัดเรื่องนี้ไปได้ และการเลือกตั้งครั้งนี่ ก็มีเรื่องร้องเรียนน้อยเมื่อเทียบกับการเลือกตั้ง ส.ส. โดยมีเพียง 30 เรื่อง ขณะนี้จึงถือว่าเราจัดการเลือกตั้งครบสมบรณ์แบบ ทั้งการเลือกตั้งส.ส. และส.ว.แล้ว ซึ่งคนที่ไม่มีเรื่องร้องเรียนกกต. จะพิจารณารับรองให้แล้วเสร็จภายใน 7 วันทำการ นับจากวันเลือกตั้งคือ ภายในวันที่ 11 มี.ค. นี้ ส่วนที่มีเรื่องร้องคัดค้าน ก็จะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง"

สำหรับสถิติการใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ว.จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 44,911,254 คน ออกมาใช้สิทธิจำนวน 24,976,472 คน คิดเป็น 55.61 เปอร์เซ็นต์ บัตรดี 21,983,000 บัตร คิดเป็น 88.01 เปอร์เซ็นต์ บัตรเสีย 914,229 บัตร คิดเป็น 3.66 เปอร์เซ็นต์ บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน 2,079,254 บัตร คิดเป็น 8.33 เปอร์เซ็นต์

นายอภิชาต ยังกล่าวด้วยว่า ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นส.ว. แม้ส่วนตัวจะไม่รู้จักทั้งหมด แต่ดูจากการที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามาแล้ว คิดว่าน่าเป็นคนที่สามารถทำงานในหน้าที่ ส.ว.ได้ดี

ส่วนที่นายประพันธ์ นัยโกวิท เสนอว่า ควรมีการแก้ไข ยกเลิกการห้ามจำหน่าย จ่ายแจก สุรา ในช่วงเลือกตั้งนั้น ส่วนตัวเห็นด้วยกับข้อห้ามที่บังคับใช้ในปัจจุบัน แต่การห้ามมีทั้ง ผลดี ผลเสีย โดยส่วนหนึ่งก็ต้องเห็นใจคนดื่มสุราเป็นอาจินต์ อย่างไรก็ตาม ก่อนปรับแก้เรื่องนี้ควรมีการพิจารณาอย่างละเ อียดรอบคอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถิติการใช้สิทธิเลือกตั้งส.ว.ในแต่ละจังหวัด พบว่า 3 จังหวัดแรกที่มีผู้มาใช้สิทธิมาที่สุด ได้แก่ ลำพูน 79.58 เปอร์เซ็นต์ สิงห์บุรี 77.79 เปอร์เซ็นต์ พัทลุง 72.23 เปอร์เซ็นต์ ส่วน 3 จังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิน้อยสุด ได้แก่ กทม. 40.05 เปอร์เซ็นต์ สุมทรปราการ 40.11 เปอร์เซ็นต์ และ ชลบุรี 44.11 เปอร์เซ็นต์

นายอภิชาต ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการสับเปลี่ยนตำแหน่งระหว่างกกต. ทั้ง 5 คน ว่า เรื่องนี้จะมีความชัดเจนภายในเดือนเม.ย.นี้แน่นอน เนื่องจากก่อนหน้านี้ กกต. เคยหารือกันหลายครั้งว่าจะสับเปลี่ยนตำแหน่งหลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง ส.ว. เบื้องต้นจะเป็นการสับเปลี่ยนเฉพาะกกต. ส่วน กกต.จังหวัดนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ทั้งนี้ส่วนงานแรกที่จะมีการสับเปลี่ยนคือ ฝ่ายสืบสวนสอบสวน ของนายสมชัย จึงประเสริฐ ที่พร้อมให้มีการปรับเปลี่ยนคนใหม่มาทำงานแทน ซึ่งจะสลับใครไปนั้น คงต้องยึดความเหมาะสมและความสมัครใจของกกต.แต่ละคนด้วย ทั้งนี้ยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเพียงการสับเปลี่ยนตำแหน่ง ยังไม่มีกกต.คนใดลาออกแน่นอน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ส่วนตัวในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง สนใจจะดูงานฝ่ายสืบสวนหรือไม่ นายอภิชาต กล่าวว่า ตามปกติตำแหน่งประธาน กกต. ก็ต้องรับผิดชอบงานทั่วไปอยู่แล้ว และเท่าที่ดู กกต. ทุกชุดที่ผ่านมาประธานต้องทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองด้วย ซึ่งที่จริงแล้วกฎหมายก็ไม่ได้ห้ามนายทะเบียนพรรคการเมืองไปยุ่งเกี่ยวกับฝ่ายสืบสวนสอบสวน แต่ถ้าถามว่าเหมาะสมหรือไม่ ส่วนตัวมองว่า ไม่เหมาะสม

เลขาวุฒิสภาพร้อมรับรายงานตัว

นางสุวิมล ภูมิสิงหราช เลขาธิการวุฒิสภา กล่าวถึงการเปิดประชุมวุฒิสภานัดแรกว่า หากกกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ก็สามารถมารายงานตัวกับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้ทันทีตั้งแต่ เวลา 08.00 -17.00 น. ทุกวัน เว้นวันหยุดราชการ ซึ่งตนคิดว่า กกต.คงเร่งดำเนินการ และน่าจะเสร็จภายใน 1 สัปดาห์นี้ เพราะวุฒิสภาจะเปิดประชุมได้ต่อเมื่อได้ส.ว.ครบร้อยละ 95 คาดว่าวันที่ 7 มี.ค. จะทราบแล้วว่า กกต.จะประกาศรับรองผลได้ครบหรือไม่ ซึ่งถ้าครบตามเกณฑ์ตนก็จะทำหนังสือเชิญประชุมนัดแรกทันที เพื่อเลือกประธานวุฒิสภา เพราะตอนนี้เกิดช่องว่าง เนื่องจาก สนช.สิ้นสุดไปแล้ว และนายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอหยุดการทำหน้าที่ชั่วคราว จึงต้องมี ประธานวุฒิสภาเพื่อทำหน้าที่เป็นรักษาการประธานรัฐสภาแทน

"เสธ.อู้"พร้อมนั่ง ปธ.วุฒิฯ

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. ที่มาจากการสรรหา กล่าวถึงกระแสข่าวที่เชิญ ส.ว.จำนวน 74 คน ไปร่วมรับประทานอาหาร ว่า ได้มีการนัดกันระหว่างไปรายงานตัวที่ได้รับการคัดเลือกเป็นส.ว. โดยไปรับประทานอาหารร่วมกัน 41 คน ซึ่งเป็นการไปรับประทานอาหารตามปกติ ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ เมื่อเป็นส.ว.ก็จะต้องรู้จักกัน ซึ่งผู้ที่เชิญคือ พล.อ.เกษมศักดิ์ ปลูกสวัสดิ์ อดีต ผบ.วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เพราะสว.ส่วนหนึ่งก็เป็นศิษย์เก่าของวปอ.

ส่วนที่มีข่าวว่าเป็นหนึ่งในตัวเก็ง ที่จะนั่งเก้าอี้ประธานวุฒิสภานั้น พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ก็ต้องดูว่าใครเหมาะสม ก็เสนอขึ้นมาและโหวตกัน คงไม่มีใครไปตั้งกลุ่ม ตั้งแก็งหรอก มันไม่เหมือนกับสมัยก่อน เพราะสมัยนี้มาจากถิ่นกำเนิดที่ต่างกัน และเป็นผู้ใหญ่กันทั้งนั้น เราคงไปกำหนดกฎเกณฑ์ไม่ได้ว่าจะต้องเป็นตนเอง หรือเลือกคนนั้นคนนี้ เมื่อรู้จักกันก็คงจะแสดงออกเองว่า ถึงเวลาแล้วควรจะเลือกใคร เราคงไม่ได้ไปควบคุมเสียง หรือไปสั่งให้ซ้ายหัน ขวาหัน คงเป็นไปไม่ได้

เมื่อถามว่า ได้หารือกับบรรดา ส.ว.บ้างหรือยัง เกี่ยวกับการทำงานแก้ไขปัญหาบ้านเมือง พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่าได้พูดคุยกันบ้างแล้ว เพราะทุกคนก็แนะนำตัว และประกาศว่า จะตั้งใจมาทำงานให้ดีที่สุด รวมถึงการแลกเปลี่ยนประวัติ และประสบการณ์ของแต่ละคน

ทั้งนี้ ตำแหน่งประธานวุฒิสภา คงยังทำอะไรไม่ได้ ต้องรอจนกว่า ส.ว.จากการเลือกตั้ง อีก 76 คน เข้ามารายงานตัวก่อน และพูดจากันใครเหมาะสมก็ว่ากันไป คงไม่มีการวิ่งเต้น หรือไปล็อบบี้อะไร เพราะทุกคนที่เข้ามาทำหน้าที่ ส.ว. มีเจตนารมณ์เดียวกัน

"ถึงเวลาคงจะมีการหารือ พูดคุยกันว่าใครจะเหมาะสมที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา ใครจะเหมาะสม หรือเป็นกันกี่ปี ก็ว่ากันไป ส.ว.ชุดนี้มีผู้ใหญ่เยอะมาก จะไปกำหนดกฎเกณฑ์ไม่ได้ จะต้องค่อยๆ ดูกัน และผลสุดท้ายก็ออกมาว่าจะเป็นใคร เรื่องนี้จะต้องว่ากันไปตามขั้นตอน" พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว

เมื่อถามว่า หลายคนวิจารณ์ว่า สนิทสนมกับพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า "จริงหรือเปล่า ทำไมเขาไม่เห็นตั้งพี่เป็นอะไรสักอย่างเลย ถามว่าสนิทคืออะไร ไม่มีอะไร รู้จักกันทั้งนั้น คนในระดับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ กับอดีตนายกรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ก็สนิทกันทุกคน

"ถ้าจะถามว่าเป็นพวก ทำไมไม่เห็นตั้งผมให้เป็นอะไรสักอย่าง และคนที่เป็น ผบ.เหล่าทัพ ปลัดกระทรวง ก็เป็นพวกพ.ต.ท.ทักษิณ หมดทุกคนหรือเปล่า ก็ไปพูดกันทั้งนั้น คนทุกคนในแต่ละครั้งแต่ละคราว การทำงาน ถ้าไม่ได้เป็นพวกกันจะทำงานกันได้อย่างไร" พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว

เมื่อถามว่า ทำไมถึงมีกระแสโจมตีช่วงนี้ เป็นเพราะว่าเป็นตัวเต็งที่จะได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒฺสภา ใช่หรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า คงต้องใช้คำของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสนช.ว่า อุเบกขา อย่าไปต่อล้อต่อเถียงดีกว่า คนไทยก็เป็นแบบนี้ ถึงไม่เกิดความสมานฉันท์เสียที ถ้าไปบอกว่าคนนั้นเป็นพวกคนนั้น คนนี้เป็นพวกคนนี้ คนนั้นแพ้ คนนี้ หรือ คนนั้นชนะคนนี้ และคนที่เขียน บางทีก็รู้นิดๆ หน่อยๆ หรือฟังมาจากคนเดียว หรือเขียนเพื่อต้องการตอกลิ่มความแตกแยกไม่ให้จบสิ้น ปัญหาของบ้านเมืองก็ไม่มีวันจบ เพราะเกิดจากความคิดของคนที่ต้องการแบ่งพวก แบ่งฝ่าย

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวด้วยว่า ปัญหาของบ้านเมืองสำคัญมาก อะไรที่ ส.ว.ทำได้ก็ต้องช่วยกัน เพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมือง เพราะมีกรอบที่ ส.ว.สามารถทำได้อยู่ ต้องถือว่าเมื่อเป็นนักการเมืองแล้ว เราก็จะต้องมีสิทธิ์ที่จะแสดงว่าคิดเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แม้ว่าจะไม่ใช่ในหน้าที่ของเรา เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เราไม่มีสิทธิ์ที่จะแก้ไขได้ แต่เราก็มีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็น เพราะเราเป็นกระบวนการหนึ่งที่จะให้การเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญคงจะริเริ่มจากองค์อื่น ซึ่งเป็นเรื่องที่เราจะต้องรับผิดชอบปัญหาของบ้านเมืองทุกปัญหาในฐานะที่เป็น สมาชิก ส.ว.คนหนึ่ง เรื่องความคิดเห็นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนเรื่องหน้าที่ความรับผิดชอบที่เราทำได้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เมื่อถามว่า จะมีการนัดหารือกับบรรดาส.ว.ชุดใหม่อย่างไร เพื่อให้เข้าใจบทบาทในการทำหน้าที่ เพื่อไปค้านอำนาจของรัฐบาล พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า มีเวลาอีกเยอะมาก เรื่องนี้อย่าเพิ่งไปห่วงเลย ขั้นตอนแรกจะต้องดูเลขาฯวุฒิสภาจะเรียกประชุมเมื่อไร และจะต้องดูว่าจะรายงานได้กี่คน มันจะต้องครบ 95 % ก่อน ถ้าครบ 95 % แล้ว ก็จะต้องนัดประชุมกันซึ่งอาจจะเป็นสัปดาห์หน้า หลังจากที่ ส.ว.เข้ามารายงานตัวครบ 95 % หลังจากนั้นก็คงจะเป็นขั้นตอนของการแบ่งกลุ่มในการทำงาน อย่าไปเร่งรัด เดี๋ยวสมาชิก ส.ว.ก็กลืนเข้าหากันเอง เพราะทุกคนตั้งใจที่จะเข้ามาทำงานให้กับบ้านเมืองกันทั้งนั้น

เมื่อถามว่า หากบรรดาสมาชิก ส.ว.โหวตให้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา พร้อมที่จะทำงานหรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า เราก็ทำงานมาเยอะ เป็นหัวหน้าหน่วยมาก็มาก เป็นประธานการประชุมก็มาเป็นแล้วเยอะแยะ คิดว่าถ้าเห็นว่าใครเหมาะสมคนนั้นก็ลองเป็นดู ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเรา เรามาดูตัวเองไม่ได้หรอก อยู่ที่ว่าสมาชิกมองว่าเราพร้อมหรือไม่ เป็นได้หรือไม่ เพียงแต่มาทำหน้าหน้าที่เป็นผู้นำ คงไม่มีบทบาทมากมายไปถึงกับชี้นำส.ว.ชุดใหม่ ไม่มีการเกาะกลุ่ม หรือ เกาะแก๊งกัน ทุกคนเป็นผู้ใหญ่ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน มีเจตนารมณ์เดียวกัน ไม่มีการแก่งแย่งตำแหน่งอะไรกัน ส่วนใครจะเหมาะสมขึ้นมาเป็น หรือเป็น 1-2 ปี หรือ ผลัดกันเป็นก็มีหลายอย่าง ดังนั้นเห็นว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร หากไม่ได้เป็นก็มีงานอย่างอื่น อาจจะไปเป็นประธานกรรมาธิการอย่างอื่น เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไร แต่เราก็จะต้องพร้อมทำในทุกหน้าที่ที่ทุกคนเห็นชอบ และเราก็ไม่ได้ไปวิ่งเต้นอะไรที่ไหน
กำลังโหลดความคิดเห็น