xs
xsm
sm
md
lg

อนาคตชายแดนใต้อยู่ในมือรัฐบาลใหม่- 6 ปีสังเวย 2,622 ศพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - แกนนำภาคเอกชนและนักวิชาการฟันธงตรงกันว่า อนาคตจังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2551 ทั้งด้านความมั่นคง สังคมและเศรษฐกิจ ขึ้นอยู่กับการเมืองหลังมีรัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านมา ด้าน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ามั่นใจสถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น เผยตัวเลขเหตุรุนแรงในพื้นที่ 6 ปี สังเวยแล้ว 2622 ศพ

นายศิริชัย ปิติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี กล่าวกับ "ผู้จัดการรายวัน" ถึงการประเมินสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2551 ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจและความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะเปลี่ยนแปลงไปสู่บรรยากาศที่ดีขึ้นหรือเลวลง ขึ้นอยู่กับการเมืองภายหลังการเลือกตั้งว่าจะมีรูปแบบออกมาเช่นไร หากการเมืองนิ่งเศรษฐกิจโดยรวมก็น่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นด้วย รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งจะเป็นตัวชี้อนาคตของการแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหากการเมืองไม่นิ่งและมีความวุ่นวาย เศรษฐกิจของประเทศก็จะแย่ การแก้ปัญหาความไม่สงบก็จะไม่สามารถทำได้ดีนัก อันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

"เท่าที่มองในตอนนี้เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดไม่ได้ถี่เหมือนเมื่อก่อน คาดว่าน่าจะค่อยๆ ดีขึ้นในอนาคต ขณะนี้ในส่วนของภาคธุรกิจซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐในเรื่องของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และการลดหย่อนภาษีซึ่งจะมีผลต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี 2552 ก็มีส่วนในการช่วยพยุงภาคธุรกิจให้อยู่รอดไปได้ในสถานการณ์แบบนี้ แต่สิ่งที่ประชาชนและนักธุรกิจทุกคนต้องการคืออยากให้ปัญหาความไม่สงบหมดไปมากกว่า ซึ่งภายหลังเลือกตั้งเมื่อเราทราบนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลแล้ว จะทำให้เรารู้ว่าควรจะนำเสนออะไรเพื่อให้รัฐบาลเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป" นายศิริชัย กล่าว

นายพจน์ ไพบูลย์เกษมสุทธิ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดยะลา กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนในท้องถิ่นยังมีความรู้สึกว่าขาดความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตประจำวัน สังเกตว่าที่ผ่านมา จ.ยะลา มีการก่อเหตุในตัวเมืองบ่อยมาก มีผู้ประกอบการร้านค้าถูกยิงเสียชีวิตคาร้านถึง 3 รายในเวลาห่างกันไม่นาน จึงยังทำให้ผู้ประกอบการและประชาชนยังรู้สึกไม่ปลอดภัย ประเด็นนี้ส่งผลโดยตรงต่อการประกอบธุรกิจในพื้นที่ ในส่วนของการแก้ปัญหาก็อยู่ที่รัฐบาลใหม่ว่าจะมีนโยบายอย่างไร ซึ่งต้องอาศัยเวลาในการแก้ปัญหาเหมือนที่ผ่านๆ มา

"แม้ขณะนี้หน่วยงานต่างๆ เช่น ศอ.บต.จะเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของประชาชนในพื้นที่ แต่พบว่าแม้จะมีการพยายามกระตุ้นให้ประชาชนผลิตสินค้าต่างๆ ออกมา แต่ปัญหาที่พบคือตลาดที่จะมารองรับสินค้าพวกนี้ยังมีน้อย และสินค้าที่ผลิตได้ เช่น ผลิตภัณฑ์โอทอป ก็มีรูปแบบที่ไม่แตกต่างกัน เกิดการแย่งตลาดกันเอง การส่งเสริมให้มีการผลิตจึงต้องมองปัญหาในส่วนนี้ด้วย ควรมีการพัฒนาสินค้าให้มีรูปแบบที่หลากหลาย" นายพจน์ กล่าวและว่า

ในส่วนของการแก้ปัญหาความไม่สงบ จากการที่ฝ่ายกองทัพใช้ยุทธวิธีล้อมจับ สามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้จำนวนมาก แต่ก็มีไม่น้อยที่ยังขาดหลักฐานทำให้ต้องปล่อยตัวไป จุดนี้สะท้อนประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้วย อย่างไรก็ตามแม้ปฏิบัติการดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนใจชื้นขึ้นมาบ้าง แต่ในส่วนของการลงทุนใหม่ๆ ยังไม่เกิดขึ้นในพื้นที่เพราะนักลงทุนไม่เชื่อมั่นในความปลอดภัย การลงทุนมีเพียงคนในท้องถิ่นที่ลงทุนในธุรกิจเล็ก ๆและเคลื่อนย้ายได้สะดวก ไม่มีการลงทุนใหญ่เกิดขึ้นนานแล้ว

ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู ผู้อำนวยการสถาบันสมุทรรัฐ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และกรรมการสภาที่ปรึกษา ศอ.บต. กล่าวว่า ทิศทางการแก้ปัญหาความไม่สงบภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2550 นั้น ขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองที่จะมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งหากนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เชื่อว่าจะเกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย หากนายบรรหาร ศิลปะอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย เป็นนายกรัฐมนตรี ก็อาจจะแก้ปัญหานำ ศอ.บต.ทำงานให้ผ่านไปได้

ทั้งนี้ หากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็แน่นอนว่าจะต้องมีการตั้งรองนายกฯ หรือรัฐมนตรีขึ้นมาดูแลแก้ปัญหาโดยตรง ซึ่งในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์นั้นคนในพื้นที่ส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ เพราะยุคที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้รุนแรงแบบนี้ แม้จะมีข้อเคลือบแคลงสงสัยจากนักการเมืองคนอื่นๆ ก็ตาม

"ไม่ว่าพรรคการเมืองใดชนะการเลือกตั้งหากรัฐบาลใหม่เน้นใช้นโยบายการเมืองนำการทหารโดยเพิ่มบทบาทให้พลเรือนเป็นส่วนนำในการแก้ปัญหาเชื่อว่าจะคลายความอึดอัดใจจากประชาชนได้มากขึ้น ในส่วนของผู้ก่อความไม่สงบคงไม่หยุดก่อเหตุง่ายๆ ถ้าประชาชนแกร่ง เชื่อว่าการก่อเหตุจะลดลง รัฐบาลใหม่ต้องสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชน ทหารต้องกล้าที่จะยอมรับในบทบาทของพลเรือน เพราะ 3 ปีกว่าๆ ที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าการใช้กำลังอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด ทั้งยังไปกระทบกับประชาชนผู้บริสุทธิ์บางส่วน บรรยากาศของความไม่ไว้วางใจกันยังคงมีอยู่ รัฐต้องให้เกียรติชาวบ้านให้มากกว่านี้" ผศ.ดร.วรวิทย์ กล่าว

ด้าน พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า การประเมินสถานการณ์ในปีต่อไปของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ทำโดยวิเคราะห์ข้อมูลในอดีตและปัจจุบันมาใช้ในการวิเคราะห์ ในปี 2547 จะเห็นว่ารัฐเองยังไม่รู้ว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุ ต่อมาในปี 2548 เกิดการปะทะกันถี่ขึ้นฝ่ายรัฐและฝ่ายผุ้ก่อความไม่สงบต่างฝ่ายต่างสูญเสีย จนกระทั่งปี 2549 สามารถจับกุมผู้กระทำความผิด และแนวร่วมได้มากขึ้น ผู้ต้องหาบางส่วนให้การรับสารภาพ และในปี 2550 เจ้าหน้าที่ใช้เวลาไม่นานในการจับกุมคนร้ายหลังการก่อเหตุ

"ในปี 2550 เราพบว่าเจ้าหน้าที่ดีรับความร่วมมือจากประชาชนมากขึ้น มีการโทรแจ้งเบาะแสต่างๆ ให้กับเจ้าหน้าที่ นำมาสู่การตรวจสอบ ตรวจค้น และจับกุมผู้ก่อเหตุได้หลายราย และในส่วนของกำลังพลเองนั้นจากที่ปี 2547 เจ้าหน้าที่ไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากขาดข้อมูลที่เพียงพอ ชกไม่ถูก แต่ขณะนี้เจ้าหน้าที่มีข้อมูลมากขึ้น มีความรู้ความเข้าใจในสถานการณ์มากกว่าก่อนหน้านี้ การปิดล้อมตรวจค้นทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ค่าตอบแทนและงบประมาณต่างๆ ก็เพียงพอ ปีต่อไปจึงเชื่อว่าสถานการณ์น่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดี"

พ.อ.อัคร กล่าวอีกว่า ในส่วนของความคิดเห็นขององค์กรมุสลิมโลกที่ได้เดินทางมาศึกษาปัญหาในพื้นที่ ก็ได้ข้อสรุปกลับไปแล้วว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งภายใน ไม่ใช่ประเด็นความขัดแย้งทางศาสนา ตรงนี้เป็นสิ่งบอกเหตุว่าปัญหาจะไม่ขยายลุกลามไปมากกว่านี้ แต่เราก็ประมาทไม่ได้เช่นกัน

"ผบ.ทบ.ประกาศชัดเจนว่าสันติสุขจะเกิดได้ประชาชนต้องมีส่วนร่วม ใน กอ.รมน.ภาค 4 เรามีคระทำงานหลายคณะที่เป็นพลเรือน คอยให้คำชี้แนะและคำปรึกษาในการแก้ปัญหา ซึ่งตรงนี้หลังจากที่มี พรบ.เรื่องความมั่นคงออกมาแล้วเชื่อว่าการจัดรูปแบบองค์กรจะชัดเจนมากขึ้น พลเรือนจะมีส่วนในการแก้ปัญหามากขึ้น ภายใต้ศูนย์การบริหารที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีการทำงานตั้งแต่การเฝ้าระวัง ไปจนถึงการแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น เป็นการมองปัญหาร่วมกันทุกภาคส่วน" พ.อ.อัคร กล่าว

ทั้งนี้ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการของศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) ระบุว่าในตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 17 ธันวาคม ปี 2550 มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการก่อความไม่สงบ เป็นทหาร 340 นาย ตำรวจ 188 นาย ประชาชน 1,254 คน มีผู้เสียชีวิตจากการก่อความไม่สงบ เป็นทหาร 79 นาย ตำรวจ 46 นาย ประชาชน 869 คน รวมบาดเจ็บทั้งหมด 1,782 คน เสียชีวิต 994 คน

ขณะที่ก่อนหน้านี้ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศวชต.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุว่าเหตุการณ์ความไม่สงบตั้งแต่เดือนมกราคม 2545-22 มกราคม 2550 เกิดเหตุความรุนแรง รวม 6,098 ครั้ง เฉลี่ยวันละประมาณ 3.5 เหตุการณ์ เหยื่อของความรุนแรงมีทั้งสิ้น 5,381 คน จำแนกเป็นเพศชาย 4,582 คน คิดเป็นร้อยละ 85.21 เพศหญิง 785 คน คิดเป็นร้อยละ 14.59 ข้อมูลไม่ระบุอีก 14 ราย และเหยื่อความรุนแรงที่เสียชีวิตมี 1,628 คน คิดเป็นร้อยละ 30.27 บาดเจ็บ 2,689 คน คิดเป็นร้อยละ 50 ปลอดภัย 613 คน คิดเป็นร้อยละ 11.4

เมื่อนำมารวมกับข้อมูลมารวมกับ ศปก.ตร.สน.พบว่าตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2545 ถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2550 มีผู้เสียชีวิตจากการก่อความไม่สงบแล้ว รวม 2,622 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น