xs
xsm
sm
md
lg

การเขียนจดหมาย

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

เมื่อเขียนเรื่อง “ของดีที่มีอยู่” แต่เวลานี้หายไปแล้วก็นึกถึงสิ่งที่หายไปหรือมีน้อยลงได้อีกหลายเรื่อง ของพวกนี้เป็นของดีที่เคยมีอยู่

อย่างแรกคือ การเขียนจดหมาย แต่ก่อนโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตยังไม่มี การสื่อสารต้องใช้การเขียนจดหมาย ผมเป็นคนที่เติบโตมาด้วย “วัฒนธรรมจดหมาย” จดหมายฉบับแรกที่ผมเขียนคือ เขียนไปถึงย่าขอให้นำของกินมาให้เพราะอยู่โรงเรียนประจำ ต่อมาไปเรียนที่เมืองบนเขาแถบดาร์จีลิง ผมก็เขียนจดหมายมาบ้านเป็นประจำ พ่อผมนั้นเวลาเขียนจดหมายก็จะมีก๊อบปี้ไว้ด้วย ตอนอยู่โรงเรียนประจำที่อินเดีย มีเพื่อนคนหนึ่งเกเรมาก ทางบ้านจึงส่งมาอยู่โรงเรียนนั้น เวลาแม่เขามีจดหมายมาจะลงท้ายว่า “จากแม่ผู้มีกรรม” ผมไม่ทราบว่าเพื่อนคนนี้ไปทำอะไรให้แม่ต้องเสียใจขนาดนั้น

ตอนผมเรียนอยู่ต่างประเทศ พ่อผมมีจดหมายไปบ่อยมากสั่งสอนไปด้วย แม่ผมจะเขียนไปเดือนละฉบับ เวลาอยู่เมืองนอก เราจะรอคอยจดหมาย บางวันได้ถึง 3 ฉบับก็อ่านกันเพลินไปเลย พอมีโทรศัพท์และอีเมลลักษณะของจดหมายก็ต่างกันไป จดหมายที่เป็นอีเมลนั้น บางทีก็เป็นเรื่องเล่า เรื่องตลกที่คนส่งมาให้เพื่อนๆ ได้อ่าน มีความเป็นส่วนตัวน้อยลง

ตอนผมอยู่นิวซีแลนด์ มีเพื่อนคนหนึ่งชอบมาขอจดหมายพ่อผมอ่าน เพราะจดหมายพ่อผมไม่ค่อยจะมีเรื่องส่วนตัว จะเป็นการเล่าข่าวคราว บางทีก็ส่งข่าวที่ตัดจากหนังสือพิมพ์ส่งมาด้วย เพื่อนคนนี้บอกว่าเขาไม่มีจดหมายจากทางบ้านเลย เพราะไปรษณีย์อยู่ไกล หากพ่อจะส่งจดหมายก็ต้องเดินมาแล้วเดินกลับไปหลายกิโล เพื่อนคนนี้บ้านอยู่จังหวัดบุรีรัมย์

คนไทยเราไม่ค่อยชอบตอบจดหมาย โดยเฉพาะจากเพื่อนฝรั่งหรือคนที่เคยรู้จักกัน ผมสร้างนิสัยในการตอบจดหมายทันที ทำให้เกิดความต่อเนื่องในความสัมพันธ์ระหว่างคนที่เคยรู้จักกันเป็นเวลานาน

การที่คนเราเขียนจดหมายถึงกันนั้น ก่อให้เกิดความรู้ที่ถ่ายทอดกันมา จดหมายที่เลื่องชื่อที่สุดก็คือ “สาส์นสมเด็จ” เต็มไปด้วยความรู้ เป็นจดหมายที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพกับสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทรงมีถึงกัน ใครอยากรู้เรื่องเก่าๆ ของไทยควรหาหนังสือนี้มาอ่าน

ตอนอาจารย์ผมที่วิสคอนซินตาย ทางมหาวิทยาลัยจัดงานพิธีไว้อาลัยให้ งานไว้อาลัยก็จะมีผู้ได้รับเชิญขึ้นมาพูด ส่วนมากเป็นคนใกล้ชิดผู้ตาย เสร็จแล้วก็มีงานเลี้ยงอาหารหรือของว่าง อาจารย์ผมตอนท่านเสียชีวิตนั้นอายุ 95 ปี ในระหว่างงานพอผู้ได้รับเชิญพูดจบ ก็มีอาจารย์หญิงอายุ 60 กว่าๆ ขึ้นมาอ่านจดหมายที่อาจารย์ผมเขียนถึง ปรากฏว่าเป็นจดหมายรักของคนวัย 90 กว่า ฟังแล้วก็ชื่นชมที่อาจารย์ผมเขียนจดหมายรักได้สละสลวยและซาบซึ้งมาก เสียดายที่ผมมัวแต่ตะลึงงงก็เลยไม่ได้ขอถ่ายสำเนามา

ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 จดหมายที่โด่งดัง และส่งผลสะเทือนทางการเมืองมากที่สุดก็คือ จดหมายถึงผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ (ทำนุ เกียรติก้อง) จากนายเข้ม เย็นยิ่ง ผู้เขียนคือ ท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญเป็นกติกาของบ้านเมือง จดหมายฉบับนี้เป็นกำลังใจให้พวกอาจารย์หนุ่ม-สาวมาก เพราะไม่เคยปรากฏว่าบุคคลผู้มีอาวุโสและเป็นที่นับหน้าถือตาระดับนั้น จะแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา จดหมายจากนายเข้ม เย็นยิ่ง ได้จุดประกายให้เกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐธรรมนูญในเวลาต่อมาอย่างกว้างขวาง

ก่อน พ.ศ. 2516 นักเรียนไทยในอเมริกาได้เขียนจดหมายจากอเมริกาบ้างอังกฤษบ้าง แสดงความคิดเห็นทางการเมือง นำโดย ดร.กมล สมวิเชียร คนอื่นๆ ที่จำได้ก็มี ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นต้น ดร.กมล เวลานี้หายหน้าหายตาไปจากเมืองไทย เข้าใจว่าเกษียณแล้ว หลังจากสอนอยู่ในมหาวิทยาลัยแถบแคลิฟอร์เนีย

การเขียนจดหมายเป็นการถ่ายทอดความรู้สึกที่กลั่นกรองแล้วลงไป และสิ่งที่เขียนก็จะติดตราไปนาน ผมเคยเขียนจดหมายดับความโกรธแล้วก็ฉีกทิ้ง ในระยะหลังๆ หากเผชิญกับปัญหาที่เรื้อรัง ผมก็เขียนจดหมายลาออก เช่น ตอนเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น การเขียนจดหมายเป็นการสะดวกและดีกว่าการให้สัมภาษณ์ เพราะจดหมายจะเป็นเครื่องยืนยันเจตนาของเรา ดีกว่าการให้สัมภาษณ์

พอมี e-mail บางคนแม้จะอยู่ใกล้กันก็ใช้ e-mail แทนที่จะขอนัดพบและเดินมาหา เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้รับ e-mail จากอาจารย์ฝรั่งที่วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เขียนมายาว เวลานี้ผมไปเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยการจัดการ เพิ่งเริ่มงานได้ไม่ถึงเดือน ก็ยังไม่ได้นัดพบกับคณาจารย์ คนนี้จึง e-mail มาในเรื่องเก่าๆ ที่ผมยังไม่เข้าใจ ผมคิดว่า หากเราอยู่ตึกเดียวกันมาคุยกันก็ยังได้ซักถามกันซึ่งๆ หน้า แทนที่จะ e-mail โต้ตอบกัน ผมอาจไม่ค่อยคุ้นกับวัฒนธรรม e-mail ก็เป็นได้ หรือเขาอาจจะรู้สึกสบายใจกว่าที่จะ e-mail มาก็เป็นได้

เจ้านายไทยสมัยก่อนที่เคยเป็นนักเรียนนอก มักมีจดหมายถึงกันเป็นภาษาอังกฤษ อาจเป็นเพราะการพูดความในใจเป็นภาษาอังกฤษ ทำได้สะดวกกว่าจะเขียนเป็นภาษาไทยก็เป็นได้

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชนิยมในการเขียนจดหมาย ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เวลานี้อาจารย์มาลิทัต พรหมทัตตเวที ได้แปลพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีถึง Mr.Wymess (อ่านว่า วีมส์) จะมีการพิมพ์เผยแพร่ในเร็วๆ นี้

การเขียนจดหมายมีความสำคัญต่อชีวิตผมมาก เวลาผมอยู่ไกล พ่อและแม่ก็ได้เขียนจดหมายอบรมสั่งสอนอย่างสม่ำเสมอ เป็นเครื่องเตือนใจ และเป็นสิ่งที่ทำให้เราประพฤติตัวดีมาโดยตลอด เพราะนึกถึงพ่อและแม่นั่นเอง

เมื่อผมออกมาจากวชิราวุธฯ เด็กๆ ทุกคนได้เขียนจดหมายถึงผม ทำให้ผมได้รู้ถึงความรู้สึกของเด็กๆ ที่มีต่อตัวผม เวลานี้ผมก็ยังเอามาอ่านเวลาว่าง

ผมหวังว่าในยุคอินเทอร์เน็ตนี้ การเขียนจดหมายถึงกันที่ไม่ใช่การส่ง e-mail ยังคงหลงเหลืออยู่บ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น