xs
xsm
sm
md
lg

กบฏหนุ่มสาว

เผยแพร่:   โดย: วรศักดิ์ มหัทธโนบล

สำหรับคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และมีการศึกษาในระดับหนึ่ง เชื่อว่า หากความทรงจำยังไม่เลอะเลือนไปตามวัยแล้วละก็ ย่อมต้องบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ทศวรรษที่ 60 ต่อ 70 ของศตวรรษที่แล้ว (20) เป็นช่วงเวลาที่อยู่ในความทรงจำมากที่สุด

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ทศวรรษดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่หลายๆ พื้นที่ในโลกได้เกิดการลุกฮือขึ้นมาประท้วงสังคมของคนหนุ่มสาว เรียกได้ว่าเป็นการลุกฮือของคนวัยนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนก็ว่าได้

ผมใช้คำว่า “ประท้วงสังคม” ในย่อหน้าข้างต้นในความหมายอย่างกว้าง โดยที่เมื่อพิจารณาแคบเข้ามาแล้ว การประท้วงของคนหนุ่มสาวเวลานั้นในแต่ละพื้นที่หรือประเทศจะมีเนื้อหารายละเอียดที่ต่างกัน แต่โดยรวมแล้วการประท้วงนั้นมักมีเป้าหมายในการ “โจมตี” ไปที่รัฐ

การพุ่งเป้าไปที่รัฐเช่นนั้นไม่ได้เป็นไปอย่างดาดๆ ที่สักแต่ว่าเมื่อคิดกล่าวโทษใครไม่ได้ก็โยนขี้ให้รัฐเป็นจำเลยด้วยความมักง่าย เพราะเมื่อหากพิจารณาถึงเหตุผลที่หนุ่มสาวยุคนั้นแถลงออกมาแล้ว ต้องยอมรับว่าต้นตอปัญหามาจากรัฐจริงๆ

จะเข้าใจเหตุผลที่ว่าได้ก็ต้องดูว่าหนุ่มสาวเวลานั้นประท้วงอะไร ครับ, เขาและเธอประท้วงกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่รัฐสร้างขึ้นมาให้คนในสังคมปฏิบัติตาม กฎเกณฑ์เหล่านี้อาจไม่ได้ถูกประกาศจากรัฐบาลโดยตรงเสมอไป เช่น อาจถูกประกาศและใช้โดยองค์กรเล็กๆ ของรัฐ หรือถ้าไม่ใช่องค์กรของรัฐโดยตรงก็จะเป็นองค์กรที่รับใช้นโยบายรัฐ เป็นต้น

ที่สำคัญคือ กฎเกณฑ์เหล่านี้ล้วนตั้งอยู่บนฐานคิดของลัทธิทุนนิยมทั้งสิ้น และกฎเกณฑ์บนฐานคิดนี้อาจจะไปปรากฏอยู่ในรัฐประชาธิปไตยหรือรัฐเผด็จการก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐทุนนิยมนั้นๆ ปกครองด้วยระบอบอะไร ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็นการลุกฮือขึ้นประท้วงของหนุ่มสาวยุคนั้นทั้งในรัฐประชาธิปไตยอย่างฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา หรือรัฐเผด็จการอย่างจีนและอีกบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กรณีจีนนี้หลายคนอาจจะงวยงงสงสัย ว่าเป็นเผด็จการคอมมิวนิสต์อยู่แท้ๆ แล้วมายุ่งอะไรกับเขาด้วย? ตรงนี้ต้องขอบอกว่า หนุ่มสาวจีนยุคนั้นลุกขึ้นมาประท้วงกฎเกณฑ์และนโยบายของ “รัฐ” จริงๆ ถึงแม้การลุกฮือขึ้นนั้นจะถูกชี้นำโดย เหมาเจ๋อตง ผู้นำตัวจริงขณะนั้นก็ตาม แต่เป้าหมายก็คือ “รัฐ” ที่หนุ่มสาวจีนเห็นว่ากำลังหันเหทิศทางไปสู่ลัทธิทุนนิยมมากขึ้น ดังนั้น จึงต้องลุกขึ้นมาประท้วงจึงเป็นการต่อสู้กับลัทธิทุนนิยมจริงๆ และก็ได้ผลทันตาเห็นเสียด้วย เพราะมีผู้นำจำนวนมากถูกหนุ่มสาวขณะนั้นจับมาลงทัณฑ์

กล่าวกันว่า การลุกฮือขึ้นมาประท้วงสังคม (รัฐ) ของหนุ่มสาวจีนขณะนั้น (1966) ส่งผลสะเทือนต่อการประท้วงของหนุ่มสาวฝรั่งเศสอยู่พอควร (1968) และเมื่อการประท้วงในทศวรรษดังกล่าวเกิดขึ้นในอีกหลายๆ ที่แล้ว ปฏิบัติของการประท้วงก็มิพักต้องถามถึงสิ่งที่เรียกว่า “กระบวนการยุติธรรม” อีกต่อไป แต่หากใครที่เรียกร้องกระบวนการที่ว่า หรือแม้แต่เรียกร้องความสงบสันติและไม่ใช้ความรุนแรง ก็แสดงว่าไม่เข้าใจสิ่ง “จริต” ของการ “ประท้วง”

เหตุดังนั้น การเรียกร้องให้เคารพกฎเกณฑ์ ความสงบสันติ หรือการไม่ใช้ความรุนแรง ฯลฯ บนฐานของความไม่เข้าใจ “จริต” ของการประท้วงจึงย่อมเป็น “จริต” อีกแบบหนึ่งที่ถูก “ดัด” จนดูดีกว่า “จริต” ของกลุ่มผู้ประท้วง

และเพราะดูดีกว่านี้เอง หนุ่มสาวที่ลุกฮือขึ้นมาประท้วงสังคมเวลานั้นจึงถูกตราหน้าว่าเป็น “กบฏ!”

คำว่า “กบฏ” เป็นคำที่แรงมาก แต่ประทานโทษ...ไม่เพียงหนุ่มสาวเวลานั้นจะยี่หระเท่านั้น หากแม้แต่คนที่ไม่ใช่หนุ่มสาวก็เทใจให้กับการประท้วงของหนุ่มสาวเสียเป็นส่วนใหญ่ การเป็นกบฏจึงเป็นสิ่งที่เท่ที่ใครๆ ก็อยากเป็น โดยลึกลงไปในก้นบึ้งความคิดแล้ว หนุ่มสาวยุคนั้นล้วนสามารถอธิบายการเป็นกบฏของตนได้อย่างมีเหตุมีผล มีความรู้จริง และที่สำคัญคือ เต็มไปด้วยพลังทั้งสิ้น

ผมควรกล่าวด้วยว่า การลุกฮือขึ้นประท้วงสังคมของหนุ่มสาวในทศวรรษที่ 60 นั้น ไม่ได้หมายเอาเฉพาะการเดินขบวนบนท้องถนน หรือการก่อจลาจลไปทั้งเมืองเท่านั้น หากในยามปกติ การลุกฮือประท้วงยังปรากฏผ่านการแสดงออกต่างๆ อยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิต การแต่งตัว การอยู่กิน การสร้างและเสพวรรณกรรมหรือกวี การร้องเพลง ฯลฯ ก็จัดเป็นส่วนหนึ่งของประท้วงที่ปรากฏอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันอีกด้วย

เรียกได้ว่า หนุ่มสาวยุคนั้นเป็นกบฏกันแทบถ้วนทั่วหน้า และเป็นกันต่อเนื่องมาจนถึงทศวรรษที่ 70 กระทั่งหลายคนถูกวิญญาณกบฏสิงอยู่ในร่างมาจนทุกวันนี้....

....ทุกวันนี้ที่หากนับย้อนหลังกลับไปแล้ว เวลาก็ล่วงเลยมาสามสี่สิบปีเข้านี่แล้ว คนในยุคนั้นที่ยังมีชีวิตอยู่ในเวลานี้จึงมีอายุล่วงเข้าวัยกลางคน และหากไม่นับการนั่งคิดถึงความหลังที่ยังอยู่ในความทรงจำแล้ว ผมไม่แน่ใจนักว่า ทุกวันนี้จะยังมีใครที่เฉลียวใจนึกถึงดอกผลจากการลุกฮือประท้วงของตนในครั้งนั้น ว่าชัยชนะที่ได้มานั้นได้ส่งผลให้หนุ่มสาวยุคนี้มีชีวิตอย่างที่เห็นและเป็นอยู่

คือมีชีวิตอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ดูอิสระเสรี แต่มีครอบครัวที่อาจอบอุ่นบ้าง ไม่อบอุ่นบ้าง คละเคล้ากันไป แต่ชีวิตที่ดูอิสระเสรีนี้ก็น่าสังเกตด้วยว่ามักจะเกิดกับหนุ่มสาวที่มาจากครอบครัวชนชั้นกลาง ที่บุพการีก็คือหนุ่มสาวในยุคทศวรรษที่ 60 และ 70 ซึ่งสามสี่สิบปีก่อนต้องปากกัดตีนถีบอยู่ท่ามกลางกระแสการลุกฮือประท้วงของคนวัยเดียวกับตน ซึ่งอาจมีตนอยู่ร่วมอยู่ในการประท้วงด้วยอย่างเอาการเอางาน

ชัยชนะที่ได้มาส่วนหนึ่งคือกฎเกณฑ์เก่าๆ ที่ตนประท้วงได้ถูกทำลายไป และกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ที่ได้มาจากการต่อสู้ก็ใช่จะมีแต่ประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพเท่านั้น หากยังมีประเด็นทางเศรษฐกิจอีกมากมาย ที่ซึ่งได้กลายเป็นบันไดที่ (อดีต) หนุ่มสาวเหล่านี้ใช้ไต่เต้าจนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางมาจนทุกวันนี้

และ ณ เวลานี้เขาและเธอก็คือ บุพการีของหนุ่มสาวในปัจจุบัน และเป็นหนุ่มสาวที่ดูเหมือนว่าจะรับเอาแต่อานิสงส์ของบุพการี มากกว่าจะรับเอาประวัติศาสตร์การเป็นกบฏมาด้วย ผมจึงไม่แปลกใจกับการใช้หรือการมีอิสระเสรีของหนุ่มสาวยุคนี้ แต่เพราะอิสระเสรีที่ว่าเช่นกันที่ทำให้ผมเห็นว่า หนุ่มสาวปัจจุบันเสพอิสระเสรีกันเพลิน จนไม่ได้หันมาดูกฎเกณฑ์อันมากมายที่สังคมทุนนิยมที่ตนสังกัดค่อยๆ ทยอยออกมาเพื่อกำหนดชีวิตของตนอีกชั้นหนึ่ง

หนุ่มสาวในวันนี้ไม่รู้ว่า กฎเกณฑ์เหล่านี้เป็นเครื่องมือหรือกลไกที่คอยกำหนดชีวิตของตน ในฐานะที่ตนคือ “ตลาด” ที่ทรงพลังที่สุดของสังคมทุนนิยม และเพราะไม่รู้ หนุ่มสาวในวันนี้จึงไม่เห็นว่านั่นคือกฎเกณฑ์ที่คอยมากำหนดชีวิตตน แต่ไพล่ไปคิดว่าคือกฎเกณฑ์ที่ทำให้ชีวิตสบายขึ้น ด้วยเหตุนี้ หนุ่มสาวจึงใช้มือถือกันเป็นว่าเล่นด้วยกฎเกณฑ์ที่ตนเข้าใจว่ามีแต่ได้กับได้ ไม่มีเสีย เป็นต้น

และก็เพราะเหตุนั้น หนุ่มสาวในมหาวิทยาลัยจึงเข้าใจว่าตนมีอิสระเสรีในการแต่งกายอย่างไรก็ได้ในการเข้าชั้นเรียน ไม่เว้นแม้แต่ชุดนอน และเมื่อมหาวิทยาลัยออกกฎเกณฑ์มาบังคับให้ตนต้องแต่งกายตามที่กำหนด หนุ่มสาวในมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้รู้สึกว่าจะลุกขึ้นมาประท้วงกฎเกณฑ์เหล่านั้น

และก็คงไม่ได้เสียดมเสียดายที่ไม่ได้ใส่ชุดนอนหรือชุดอะไรอื่นที่ตนชอบใส่มาเรียนอีก เพราะชุดเหล่านั้นไม่ได้ถูกใส่เพราะตนต้องการประท้วงหรือเป็นกบฏแต่อย่างใด หากแต่ใส่เพราะเข้าใจว่า สิทธิเสรีภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับความมักง่าย

ฉะนั้น อิสระเสรีของหนุ่มสาวทุกวันนี้จึงไม่ได้ตั้งอยู่บนสำนึกที่แยกแยะกฎเกณฑ์ การใช้ชีวิต การแสวงหาความรู้ใหม่ๆ การแสดงความคิดเห็นอย่างมีพลังและเหตุผล ฯลฯ ที่สำคัญคือ ใครจะออกกฎเกณฑ์มาอย่างไรไม่ว่ากัน ขอเพียงกฎเกณฑ์นั้นอย่าทำลายชีวิตในสังคมทุนนิยมก็แล้วกัน

ส่วน ปรีดี พนมยงค์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จะเป็นใคร เหตุการณ์การปฏิวัติ 2475, 14 ตุลา, 6 ตุลา, พฤษภาคม 2535 คืออะไร พันธมิตรฯ นปก. กำลังทำอะไร ฯลฯ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับภาระอันมากมายที่ตนต้องแบกรับจากความสุขสบาย

หนุ่มสาวยุคนี้จึงไม่ได้หายไปไหนอย่างที่มีหลายคนถามกัน หากแต่กำลังหลับใหลอยู่ในภวังค์ที่แสนสุข แถมหลับมายาวนานแล้วด้วย และไม่รู้อีกนานแค่ไหนที่ภวังค์นั้นจะเป็นภวังค์ที่แสนทุกข์ เพราะธรรมชาติมนุษย์นั้นทุกข์ขึ้นมาเมื่อไร วิญญาณกบฏก็จะเข้าสิงทันที

ว่าแต่ว่าตอนนี้วิญญาณกบฏล่องลอยอยู่ที่ไหน ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น