xs
xsm
sm
md
lg

สรรพากรใช้คำพิพากษาเรียกภาษีพี่ชายอ้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – เจอแล้ว ช่องทางเรียกเงินภาษีบรรณพจน์ 546.12 ล้านบาท กรมสรรพากรสบช่องแม้หมดอายุความ เหตุคำพิพากษาระบุ "จงใจให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี" รายงานความคืบหน้าให้อธิบดีทราบวันนี้ ส่วนภาษี “โอ๊ค-เอม” 1.2 หมื่นล้านอืด หลังคณะกรรมการอุทธรณ์ภาษีอ้างหลักฐานจดหมายสอบถามจาก “ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์” ครวญระบอบทักษิณเข้าแทรกแซงกระบวนการ

นายสาธิต รังคสิริ รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวถึงกรณีที่อธิบดีกรมสรรพากรแต่งตั้งนางเสาวนีย์ กมลบุตร ที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพ กรมสรรพากรให้เป็นประธานกรรมการสอบหาผู้รับผิดทางแพ่งกรณีทำให้กรมสรรพากรเสียหายไม่ได้รับเม็ดเงินภาษี จำนวน 546.12 ล้านบาท จาก นายบรรณพจน์ ในการซื้อขายหุ้นบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ กลับคืนมานั้นจะมีการสรุปรายงานความคืบหน้าให้อธิบดีรับทราบวันที่ 11 ส.ค.นี้ หลังจากที่ได้เริ่มกระบวนการทำงานมากว่า 2 เดือนและสามารถสรุปได้เร็วขึ้นหลังจากที่มีคำพิพากษาออกมาก่อนหน้านี้
แหล่งข่าวกล่าวว่า กรมสรรพากรอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดของคำพิพากษาศาลคดีเลี่ยงภาษีของ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เพื่อหาช่องทางฟ้องร้องเรียกคืนภาษีจำนวน 546.12 ล้านบาท โดยคำพิพากษาของศาลระบุชัดเจนว่า จำเลยทั้งสาม มีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1) , (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 38, 83 ฐานร่วมกันโดยความเท็จ โดยฉ้อโกง หรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ฐานโดยรู้อยู่แล้วหรือโดยจงใจ ร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร
“คำพิพากษาดังกล่าวจะเป็นช่องทางให้กรมฟ้องร้องทางแพ่งต่อจำเลยแม้ว่าคดีจะหมดอายุความไปแล้วก็ตาม เพราะศาลก็บอกแล้วว่าทั้ง 3 จงใจให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี กรมจึงเชื่อว่าต้องมีทางที่จะเอาเงินภาษีที่ควรเป็นของแผ่นดินกลับคืนได้แน่นอน โดยในสัปดาห์นี้น่าจะรู้ผลการสอบสวนในเบื้องต้นว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายคืน” แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ หากกรมสรรพากรไม่สามารถฟ้องร้องค่าเสียหายคืนจากจำเลยทั้งสามคนได้ก็ต้องมาพิจารณาขั้นตอนของคดีนี้ว่ามีเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรคนใดบ้างที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาความผิดในกระบวนการภาษีว่าต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายคืนจากใครได้บ้าง

***คดี “โอ๊ค-เอม” ส่อวืด
สำหรับกรณีการซื้อขายหุ้นของนายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อยู่ระหว่างการอุทธรณ์ภาษีกับกรมสรรพากร โดยเป็นเงินภาษีที่ต้องชำระพร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่มรวม 1.2 หมื่นล้านบาท ที่เกิดจากการซื้อขายหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) SHIN ของบุคคลทั้ง 2 กับบริษัท แอมเพิลริช อินเวสต์เมนต์ จำกัด นั้น กรมสรรพากรอยู่ระหว่างร่างสำนวนเพื่อส่งให้คณะกรรมการอุทธรณืภาษีเป็นผู้วินิจฉัยว่าบุคคลทั้งต้องเสียภาษีหรือไม่
แหล่งข่าวกล่าวว่า จากการพิจารณาสำนวนในเบื้องต้นพบว่ามีหลักฐานชิ้นสำคัญที่อาจทำให้คดีนี้ซ้ำรอยกับคดีของนายพรรณพจน์ได้คือจดหมายที่นางปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนสนิทของคุณหญิงพจมาน สอบถามมายังกรมสรรพากรว่ากรณีนี้ต้องเสียภาษีหรือไม่โดยอ้างว่าเป็นการถามโดยส่วนตัว ซึ่งเจ้าหน้าที่สรรพากรได้ตอบจดหมายไปว่าไม่ต้องมีภาระในการเสียภาษีโดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ได้ถูกไล่ออกจากราชการแล้ว
“หลักฐานนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้คณะกรรมการอุทธรณ์ชี้ว่ากรณีแอมเพิล ริชนี้ไม่ต้องเสียภาษีซ้ำรอยกันกับคดีนายบรรณพจน์ ซึ่งหากการพิจารณาดำเนินการเสร็จสิ้นตั้งแต่สมัยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ยังมีอำนาจเชื่อว่าคดีคงจบไปแล้วและกรมสรรพากรก็คงได้เงินภาษีพร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่ม 1.2 หมื่นล้านบาท นานแล้ว แต่เมื่อมาถึงรัฐบาลยุคที่พรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำเชื่องว่าคดีนี้อาจยื้อไปจนหมดอายุความในปี 2555” แหล่งข่าวกล่าว

***หวั่นแทรกแซงกรรมการอุทธรณ์
แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายนั้นมีหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดว่ากรณีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องภาษีต่างๆ ควรดำเนินการเช่นใด ซึ่งคณะกรรมการอุทธรณ์ภาษีประกอบไปด้วยตัวแทนจากอัยการสูงสุดและกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นฝ่ายปกครอง และเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าข้าราชการไทยส่วนหนึ่งยอมสยบต่ออำนาจทางการเมืองที่อาจส่งผลในทางดีหรือทางร้ายต่อตำแหน่งหน้าที่การงานได้
โดยหากระบอบทักษิณส่งคนเข้ามาแทรกแซงกรณีนี้ผ่านทางคณะกรรมการอุทธรณ์ภาษีทั้งจากฝ่ายอัยการสูงสุดและกระทรวงมหาดไทยก็ไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด และการวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ภาษีก็ไม่ต้องมีความรับผิดหรือรับชอบตามกฎหมายแต่อย่างใด จึงทำให้ข้าราชการในกรมสรรพากรเป็นห่วงว่ากรณีนี้จะซ้ำรอยกับคดีของนายบรรณพจน์ก็จะทำให้สิ่งที่ทำไปทั้งหลายสูญเปล่า
“คณะกรรมการอุทธรณ์ภาษีตั้งขึ้นโดยอิสระไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ตามกฎหมายการตัดสินใจใดๆ ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการ ซึ่งหากตัวแทนที่มากจากมหาดไทยและอัยการสูงสุดทุกอย่างก็เหมือนเดิม ถ้าอยากให้มีความยุติธรรมเกิดขึ้นในระบบภาษีของประเทศก็ควรยกเลิกคณะกรรมการอุทธรณ์ภาษีไปเลยจะดีกว่า” แหล่งข่าวกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น