xs
xsm
sm
md
lg

สรรพากรมีลุ้นภาษี 546 ล้าน คำพิพากษามัด “บรรณพจน์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจอแล้ว ช่องทางเรียกเงินภาษีบรรณพจน์ 546.12 ล้านบาท กรมสรรพากรสบช่อง แม้หมดอายุความ เหตุคำพิพากษา ระบุ “จงใจให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี” รายงานความคืบหน้าให้อธิบดีทราบวันนี้ ส่วนภาษี “โอ๊ค-เอม” 1.2 หมื่นล้าน อืด หลังคณะกรรมการอุทธรณ์ภาษีอ้างหลักฐานจดหมายสอบถามจาก “ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์” ครวญระบอบทักษิณเข้าแทรกแซงกระบวนการ

นายสาธิต รังคสิริ รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวถึงกรณีที่อธิบดีกรมสรรพากร แต่งตั้ง นางเสาวนีย์ กมลบุตร ที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพ กรมสรรพากร ให้เป็นประธานกรรมการสอบหาผู้รับผิดทางแพ่งกรณี ทำให้กรมสรรพากรเสียหายไม่ได้รับเม็ดเงินภาษี จำนวน 546.12 ล้านบาท จาก นายบรรณพจน์ ในการซื้อขายหุ้นบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ กลับคืนมานั้น จะมีการสรุปรายงานความคืบหน้าให้อธิบดีรับทราบวันที่ 11 ส.ค.นี้ หลังจากที่ได้เริ่มกระบวนการทำงานมากว่า 2 เดือน และสามารถสรุปได้เร็วขึ้นหลังจากที่มีคำพิพากษาออกมาก่อนหน้านี้

แหล่งข่าวกล่าวว่า กรมสรรพากรอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดของคำพิพากษาศาลคดีเลี่ยงภาษีของ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร นางกาญจนาภา หงส์เหิน เพื่อหาช่องทางฟ้องร้องเรียกคืนภาษีจำนวน 546.12 ล้านบาท โดยคำพิพากษาของศาลระบุชัดเจนว่า จำเลยทั้งสาม มีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37(1), (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 38, 83 ฐานร่วมกันโดยความเท็จ โดยฉ้อโกง หรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ฐานโดยรู้อยู่แล้วหรือโดยจงใจ ร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร

“คำพิพากษาดังกล่าวจะเป็นช่องทางให้กรมฟ้องร้องทางแพ่งต่อจำเลย แม้ว่าคดีจะหมดอายุความไปแล้วก็ตาม เพราะศาลก็บอกแล้วว่าทั้ง 3 จงใจให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี กรมจึงเชื่อว่าต้องมีทางที่จะเอาเงินภาษีที่ควรเป็นของแผ่นดินกลับคืนได้แน่นอน โดยในสัปดาห์นี้น่าจะรู้ผลการสอบสวนในเบื้องต้นว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายคืน” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ หากกรมสรรพากรไม่สามารถฟ้องร้องค่าเสียหายคืนจากจำเลยทั้ง 3 คนได้ ก็ต้องมาพิจารณาขั้นตอนของคดีนี้ ว่า มีเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรคนใดบ้างที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาความผิดในกระบวนการภาษีว่าต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายคืนจากใครได้บ้าง

***คดี “โอ๊ค-เอม” ส่อวืด

สำหรับกรณีการซื้อขายหุ้นของ นายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อยู่ระหว่างการอุทธรณ์ภาษีกับกรมสรรพากร โดยเป็นเงินภาษีที่ต้องชำระพร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่มรวม 1.2 หมื่นล้านบาท ที่เกิดจากการซื้อขายหุ้น บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) SHIN ของบุคคลทั้ง 2 กับบริษัท แอมเพิลริช อินเวสต์เมนต์ จำกัด นั้น กรมสรรพากรอยู่ระหว่างร่างสำนวนเพื่อส่งให้คณะกรรมการอุทธรณืภาษีเป็นผู้วินิจฉัยว่าบุคคลทั้งต้องเสียภาษีหรือไม่

แหล่งข่าวกล่าวว่า จากการพิจารณาสำนวนในเบื้องต้น พบว่า มีหลักฐานชิ้นสำคัญที่อาจทำให้คดีนี้ซ้ำรอยกับคดีของนายพรรณพจน์ได้คือจดหมายที่ นางปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนสนิทของคุณหญิงพจมาน สอบถามมายังกรมสรรพากรว่ากรณีนี้ต้องเสียภาษีหรือไม่โดยอ้างว่าเป็นการถามโดยส่วนตัว ซึ่งเจ้าหน้าที่สรรพากรได้ตอบจดหมายไปว่าไม่ต้องมีภาระในการเสียภาษีโดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ได้ถูกไล่ออกจากราชการแล้ว

“หลักฐานนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้คณะกรรมการอุทธรณ์ ชี้ว่า กรณี แอมเพิล ริช นี้ ไม่ต้องเสียภาษีซ้ำรอยกันกับคดีนายบรรณพจน์ ซึ่งหากการพิจารณาดำเนินการเสร็จสิ้นตั้งแต่สมัยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ยังมีอำนาจเชื่อว่าคดีคงจบไปแล้วและกรมสรรพากรก็คงได้เงินภาษีพร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่ม 1.2 หมื่นล้านบาท นานแล้ว แต่เมื่อมาถึงรัฐบาลยุคที่พรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำเชื่องว่าคดีนี้อาจยื้อไปจนหมดอายุความในปี 2555” แหล่งข่าวกล่าว

***หวั่นแทรกแซงกรรมการอุทธรณ์

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายนั้นมีหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดว่ากรณีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องภาษีต่างๆ ควรดำเนินการเช่นใด ซึ่งคณะกรรมการอุทธรณ์ภาษีประกอบไปด้วยตัวแทนจากอัยการสูงสุดและกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นฝ่ายปกครอง และเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าข้าราชการไทยส่วนหนึ่งยอมสยบต่ออำนาจทางการเมืองที่อาจส่งผลในทางดีหรือทางร้ายต่อตำแหน่งหน้าที่การงานได้

โดยหากระบอบทักษิณส่งคนเข้ามาแทรกแซงกรณีนี้ ผ่านทางคณะกรรมการอุทธรณ์ภาษีทั้งจากฝ่ายอัยการสูงสุดและกระทรวงมหาดไทยก็ไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด และการวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ภาษีก็ไม่ต้องมีความรับผิดหรือรับชอบตามกฎหมายแต่อย่างใด จึงทำให้ข้าราชการในกรมสรรพากรเป็นห่วงว่ากรณีนี้จะซ้ำรอยกับคดีของนายบรรณพจน์ก็จะทำให้สิ่งที่ทำไปทั้งหลายสูญเปล่า

“คณะกรรมการอุทธรณ์ภาษี ตั้งขึ้นโดยอิสระไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ตามกฎหมายการตัดสินใจใดๆ ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะกรรมการ ซึ่งหากตัวแทนที่มากจากมหาดไทยและอัยการสูงสุดทุกอย่างก็เหมือนเดิม ถ้าอยากให้มีความยุติธรรมเกิดขึ้นในระบบภาษีของประเทศก็ควรยกเลิกคณะกรรมการอุทธรณ์ภาษีไปเลยจะดีกว่า” แหล่งข่าวกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น