xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลขนมสมน้ำยา : ใหญ่โต มโหฬาร ผลาญงบ จบที่เจ๊ากับเจ๊ง

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ


ท่านผู้อ่านที่เคารพ โปรดดูภาพคณะรัฐมนตรีประเทศผู้นำโลกด้านแสนยานุภาพและเศรษฐกิจ คือสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ประชากรของสหรัฐฯ คือ 301 ล้านคน ญี่ปุ่น 127 ล้านคน ลองเทียบกับของไทยเราดูเอาเองเถิด

ผมเคยพูด เขียน และวิเคราะห์ให้ฟังอยู่เสมอว่า ลักษณะของระบบการเมืองที่ด้อยพัฒนาล้าหลังอันมีหลายลักษณะนั้น ตัวบ่งชี้อันหนึ่ง ก็คือ ความใหญ่โตมโหฬารและผลาญงบของรัฐบาลและระบบราชการ ซึ่งของไทยเราติดอันดับท็อปไม่มีผู้ใดเทียมทาน ทีแรกก็พอจะเทียบได้บ้างกับประเทศคอมมิวนิสต์ เช่น จีน ลาวและเวียดนาม ที่เขามีคณะรัฐมนตรีขนาดใหญ่ มีรองนายกรัฐมนตรีแทบจะนับไม่ถ้วน แต่เดี๋ยวนี้เขาพัฒนาหนีพ้นเราไปแล้ว

คณะรัฐมนตรีไทย หรือแม้แต่กระทรวงศึกษาไทย ใหญ่โตที่สุดในโลก ทั้งจำนวนจริง และเปรียบเทียบอัตราส่วนกับจำนวนประชากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ผมนึกไม่ออกว่าประเทศประชาธิปไตยที่ไหนเขามีเกิน 1 คน ขณะนี้อังกฤษและญี่ปุ่นเขาไม่มีรองนายกรัฐมนตรีเลย อเมริกาเขามิใช่ระบบรัฐสภา แต่เขาก็มีรองประธานาธิบดีคนเดียว เลือกตั้งติดก้นประธานาธิบดีมา

ท่านผู้อ่านอาจจะนึกไม่ถึงว่า สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลก มีคณะรัฐมนตรีที่เรียกว่า cabinet เพียง 15 คนเท่านั้น ที่เหลืออีก 5-6 คนรวมทั้งรองประธานาธิบดีถือว่าเทียบเท่าและให้เข้าประชุมด้วยเป็นเรื่องๆ

ส่วนของอังกฤษ ที่เราคุยโม้นักหนาว่าเป็นแม่แบบให้เราลอกเอามา เขามี Cabinet Ministers กินเงินเดือนตามตำแหน่งและเข้าประชุมเป็นทางการ 23 คนเท่านั้น ในจำนวนนี้เป็นผู้แทนราษฎร 21 คน เป็นสมาชิกสภาขุนนาง 2 คน นอกนั้นเป็นรัฐมนตรีเฉยๆ หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เข้าร่วมประชุม เมื่อมีวาระที่เกี่ยวกับงานที่ตนรับผิดชอบ

ของญี่ปุ่น Cabinet Ministers หรือ ครม.เขามีเพียง 22 คน ทั้ง 3 ประเทศที่ผมยกมาเป็นตัวอย่างนี้ เป็นสมาชิกประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจหรือ G7 ของโลก ทั้ง 7 ประเทศก็คล้ายกันหมด ส่วน G8 คือ รัสเซียซึ่งเพิ่งผนวกเข้าไปไม่นานมานี้ ผมยังมิได้สำรวจ

ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ทำไมจำนวนคณะรัฐมนตรีเขาจึงน้อยเหลือเกิน เมื่อเทียบกับของเรา รัฐบาลของเขามีงานและความรับผิดชอบน้อยกว่าของเรากระนั้นหรือ หามิได้ ของเขามีความสำคัญ มีเกียรติยศและมีภารกิจมหาศาลเราเทียบไม่ติด แต่เขามีความลงตัวในระบบการเมือง ไม่ต้องเอาเสือสิงห์กระทิงแรดที่ไหนเข้ามาเป็นโขยง เพราะความจำเป็นในการต่อรองผลประโยชน์ ซึ่งผันแปรไปแต่ละสมัยเลือกตั้ง ไม่มีความตายตัวหรือลงตัว การออกแบบในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายเลือกตั้งของไทยจึงแกว่งไปมามิได้ยึดหลักประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่เป็นคณาธิปไตยผูกขาด นับวันก็จะยิ่งหนักหนาไปเรื่อยๆ อยากที่จะแก้ไขได้

หากผมจะพูดว่า มาตรฐานของรัฐบาล คณะรัฐมนตรี พรรคการเมือง และรัฐสภา ในปัจจุบันเลวและต่ำลงเรื่อยๆ สู้ในอดีตไม่ได้ ท่านผู้อ่านก็คงไม่อยากเชื่อ ก็เห็นจะต้องโทษความล้าหลังทางวิชาการ การศึกษา และสื่อ ไปพร้อมๆ กันที่ไม่สามารถให้ข้อมูลและความคิดที่ถูกต้องแก่สังคมได้

ที่ผมพูดอย่างนั้นเอาอะไรมาเป็นตัวชี้วัด หากจะตอบเป็นวิชาการก็ต้องบอกว่า เอาระบบและระบบมาตรฐานเป็นเครื่องวัด พูดแบบนี้หลายคนก็อาจจะไม่เข้าใจอยู่ดี จึงจำเป็นต้องพูดแบบชาวบ้านว่าเอาผลงานมาวัด คือดูว่าประเทศชาติก้าวหน้าขึ้นทัดเทียมเขาหรือไม่ ประชาชนอยู่ดีกินดีมีความสุขขึ้นมากกว่าเดิมหรือไม่ พฤติกรรมของนักการเมืองทั้งการอภิปรายและประชุมในสภา การจัดตั้งรัฐบาล การตรวจสอบและการบริหารเป็นอย่างไร อย่างเช่นรัฐบาลปัจจุบันนี้ เพียงไม่กี่วัน ก็จะเห็นได้ว่ามันขี้เหร่กว่าเดิมอย่างชัดเจน แม้แต่นายกรัฐมนตรีก็ยังยอมรับถึงความขี้เหร่ดังกล่าว

ทำไมจึงเป็นเช่นนี้เล่า เราไม่มีปัญญาจะทำให้ดีขึ้นกว่าเก่าหรือ คิดอะไรให้มันดีขึ้นกว่าเก่าบ้างไม่ได้หรือ คิดนะคิดได้ แต่หากจะทำตามที่คิดนะซีมันไม่ได้ ที่ไม่ได้ก็เพราะโครงสร้างมันไม่เอื้ออำนวย มันบีบบังคับ มันขัดขืน

โอ้โฮ ไอ้โครงสร้างนี่มันเก่งยังงั้นเชียวหรือ มันคืออะไรกันแน่ ขอตอบว่าโครงสร้างนี่มันเก่งกว่าตัวบุคคลและมันมีอายุยืนยาวน้องๆ มหาอมตะนิรันดรทีเดียว เพราะโครงสร้างคือระบบพฤติกรรมในสังคมหรือสถาบันที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ โดยมีระบบหรือองค์ความคิด (รวมทั้งผลประโยชน์) องค์บุคคล และองค์ประกอบ เป็นเครื่องค้ำยันเกื้อหนุน

ถามว่าโครงสร้างอะไรที่มันขึงพืดหรือค้ำคอนายสมัครจนเขาไม่สามารถหลีกเลี่ยงการแต่งตั้ง ครม.ขี้เหร่ก็ดี พ่อเนวินเป็นประธานวิปก็ดี หรือลูกเฉลิมเป็นเลขานุการรัฐมนตรีก็ดี ทั้งๆ ที่เขาแสดงให้รู้ว่าถ้าเขามีอำนาจหรือเลือกได้เขาไม่เอาพวกนี้แน่ เอามาทำไมพวกยี้ ทำให้บั่นทอนชื่อเสียงหรือการทำงานของเขาเปล่าๆ

ตอบกว้างๆ อุปสรรคของประเทศไทยหรืออุปสรรคของสมัครก็คือ โครงสร้างทางการเมืองของระบบการเมืองไทย อันประกอบด้วยองค์ความคิดของชนชั้นปกครอง+ชนชั้นกลาง+รากหญ้า+องค์ความรู้หรือวิชาการของสังคม องค์บุคคลก็คือประชาชนกับนักการเมือง และองค์ประกอบก็คือตัวจริงและตัวตนของสถาบันต่างๆ ที่มีส่วนร่วมในทางการเมืองอย่างแท้จริง ถ้าจะกล่าวให้แคบลงไปก็คือโครงสร้างหรือระบบพรรคการเมือง กับการเลือกตั้งและผลของการเลือกตั้งที่ครอบสมัครอยู่ ถึงสมัครจะเก่งอย่างไรหรือต้องการอิสระหรือปฏิรูปอย่างจริงจังแค่ไหน เขาก็ไม่มีปัญญาทำได้ นอกจากเขาจะต้องประกาศอิสรภาพจากโครงสร้างเสียก่อน แล้วระดมองค์ความคิด องค์บุคคลและองค์ประกอบที่สอดคล้องกับเขาให้เกิดขึ้นและมีพลัง ขณะนี้สมัครก็เหมือนนายกรัฐมนตรีคนก่อนๆ ก็คือเป็นตัวหมากชั่วคราวในโครงสร้างถาวรของการเมืองไทยเท่านั้น

ท่านผู้อ่านคงจะเข้าใจคำว่าขนมผสมน้ำยาดี คำนี้ค่อนข้างจะมีความหมายกลางๆ ไม่เหมือนกับฝนตกขี้หมูไหล ซึ่งเป็นคำสรุปเยาะเย้ยว่า คนจัญไรมาพบกัน ขนมผสมน้ำยาในการเมืองไทยนี้ อาจจะอธิบายได้ว่า เมื่อผู้เลือกตั้งเป็นอย่างนี้ ก็จะต้องได้ผู้แทนหรือรัฐบาลอย่างนี้ จะให้มันวิเศษไปกว่านี้ก็จะฝืนธรรมชาติไป การคิดเช่นนี้ค่อนข้างจะหมดอาลัยตายอยากไปสักนิด เพราะแท้จริงแล้วการเมืองก็เหมือนเรื่องอื่นๆ ที่ตกอยู่ภายใต้กฎความเป็นอนิจจังทั้งสิ้น

ภาษาฝรั่งเขาอธิบายได้ดีกว่าเราหน่อย เขาบอกว่า People deserve their government แปลความได้ว่า ราษฎรเป็นอย่างไรก็ (สมควร) จะได้รัฐบาลอย่างนั้น หรือแปลโหดๆ ว่า สมน้ำหน้า พวกแกโง่ก็ต้องได้ประธานาธิบดีโง่ๆ อย่างบุชนี่แหละ หรือว่าสมน้ำหน้า อยากพากันขายเสียงดีนัก ก็ต้องได้ผู้แทนขายตัวอย่างนี้หละ เป็นต้น

แต่ในระบอบประชาธิปไตยนั้น เขาถือว่าเสียงของประชาชนเป็นเสียงสวรรค์ เขาต้องมีวิธีป้องกันมิให้ผู้แทนของประชาชนเอานรกมาให้ วิธีป้องกันดังกล่าวก็คือต้องให้มีเสรีภาพอย่างแท้จริงในเรื่องข้อมูลข่าวสาร และต้องส่งเสริมให้อำนาจกับความรู้และการมีส่วนร่วมหรือการเมืองภาคประชาชนอย่างแท้จริง

ในประเทศที่เจริญเขารู้แล้วว่าอำนาจมากก็คอร์รัปชันมาก รัฐบาลใหญ่มากก็หมดเปลืองมากและประสิทธิภาพน้อยลง เขาจึงมีรัฐบาลที่มีขนาดพอตัวและลงตัว ต่างกับของเราที่ไปลอกเขามาแบบเก่งกว่าครูหรือขี้ก้อนใหญ่กว่าช้า เพราะสังคมไทยหลงผิดว่ารัฐบาลหรือตำแหน่งหน้าที่เป็นอำนาจแบบ “สมบัติผลัดกันชม” จึงต่อสู้แก่งแย่งกันทุกวิถีทาง ไม่คำนึงถึงความพอเพียงและเหมาะสมที่ลงตัว เราจึงพัฒนาระบบการเมืองแบบชนะไหนเข้าด้วยช่วยกระพือ หรือแบบด้านได้อายอด ผู้นำรัฐบาลถ้าหากอยากเป็นก็จำต้องยื่นหมูยื่นแมวกันเสียก่อน นั่นก็คือคำตอบว่าทำไมเราจึงต้องมีรองนายกรัฐมนตรีถึง 6 คน และมีคณะรัฐมนตรีใหญ่กว่าของมหาประเทศทุกประเทศถึง 2 เท่า

รัฐบาลของสมัคร สุนทรเวช เป็นรัฐบาลที่ได้ประยุกต์ศิลปะแห่งการต่อรองอย่างสูงสุด เป็นรัฐบาลขนมผสมน้ำยา ซึ่งมีลักษณะใหญ่โตมโหฬาร ผลาญงบอย่างสมบูรณ์

อนาคตของรัฐบาลนี้จะจบลงอย่างที่ผมทำนายรัฐบาล คมช.ไว้ว่า ถ้าไม่เจ๊าก็เจ๊งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าขนมจะผสมน้ำยา ตามโครงสร้างของการเมืองไทยอย่างเดิมหรือไม่ หรือว่าจะขึ้นกับฝีมือของนายสมัครและการตัดสินของการเมืองภาคประชาชนซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปตามกฎแห่งความเป็นอนิจจังแห่งสังคม.

กำลังโหลดความคิดเห็น