xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : จับตา “ครม.หมัก 1”…จะช่วยชาติ หรือช่วยใคร?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน


“ครม.หมัก 1” ไม่เพียงกำลังถูกบันทึกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่า เอา “หมอ-พยาบาล” มาแก้วิกฤต ศก. แต่ยังเอา “นักกฎหมาย” มาดูการศึกษาของชาติอีกด้วย นี่ยังไม่รวมการปูนบำเหน็จ-ตบรางวัลเป็นตำแหน่งรัฐมนตรีให้เด็กในคาถาทักษิณ-ญาติสนิทมิตรสหายที่ร่วมต่อสู้กันมาอีกหลายตำแหน่ง ก่อนจะได้เห็นผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอันของ ครม.ชุดนี้ที่ได้ฉายาว่า “ครม.หลงทำเนียบ” เราลองมาหยั่งกระแสสังคมต่อโฉมหน้า ครม.ชุดนี้หน่อยเป็นไร ว่าจะเป็นที่คาดหวังได้แค่ไหน? หรือใครจะมีข้อคิด-ข้อแนะนำแก่ รบ.ชุดนี้อย่างไร?

 คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ 

หลังสาธารณชนได้เห็นโฉมหน้า ครม.ยุคนอมินีทักษิณ ภายใต้การนำของสมัคร สุนทรเวชอย่างชัดเจนแล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่า นอกจากจะเป็น “ครม.ขี้เหร่” อย่างที่นายสมัครหลุดปากตอนแรกแล้ว ยังเป็น “ครม.ปูนบำเหน็จ” หรือ “ครม.ตอบแทนทางการเมือง” อีกด้วย เพราะใครที่เป็นเด็กนายหรือญาตินายหรือคนที่เคยช่วยเหลือต่อสู้เพื่อนายอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต่างได้ดิบได้ดีกันถ้วนหน้า โดยไม่ต้องสนใจว่าบุคคลนั้นจะมีคุณสมบัติ-ความสามารถเหมาะกับตำแหน่งรัฐมนตรีที่ได้รับหรือไม่?

สังคมจึงได้เห็นอะไรแปลกๆ จาก ครม.ชุดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเอา “หมอ-พยาบาล” มาดูแลเศรษฐกิจ (นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกฯ และ รมว.คลัง/ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี(เป็นพยาบาล) รมช.คลัง) ,เอานักกฎหมายที่พ่วงดีกรีน้องเขย พ.ต.ท.ทักษิณ (สมชาย วงศ์สวัสดิ์ สามีนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์) มาดูกระทรวงศึกษาธิการ, เอาทนายความตระกูลชินวัตร อย่าง นพดล ปัทมะ มาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ และเอาอดีตแกนนำ นปก.ที่ต่อสู้เพื่อทักษิณอย่าง จักรภพ เพ็ญแข มาเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เพื่อคุมสื่อ-จัดระเบียบสื่อ เป็นต้น

นอกจากการวางคนไม่ตรงตำแหน่งแล้ว บางตำแหน่งยังดูเหมือนมีการวางหมากไว้ลึกๆ เพื่อหวังผลบางอย่างของใครบางคน เช่น การไม่ให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม และน้องเขย พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม เพราะกลัวถูกครหาว่าอาจเข้ามาแทรกแซงคดีต่างๆ ของ พ.ต.ท.ทักษิณที่อยู่ในศาล โดยเลี่ยงให้นายสมชายมานั่งตำแหน่งรองนายกฯ ควบรัฐมนตรีศึกษาธิการ ซึ่งดูเหมือนจะทำให้ภาพดีขึ้น แต่ในที่สุดนายสมชายก็ได้เป็นรองนายกฯ อันดับ 1 และได้คุมกระทรวงยุติธรรมอยู่ดี!

หรือแม้แต่การวางนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ และทนายความตระกูลชินวัตร ให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เป็นไปได้หรือที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะไม่ได้หวังผลจากการให้นายนพดลนั่งตำแหน่งนี้ ทั้งที่ตอนแรกมีข่าวว่านายนพดลอยากนั่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการมากกว่า และแม้นายนพดลจะยืนยันว่าได้ลาออกจากการเป็นทนายความตระกูลชินวัตรแล้ว และจะวางตัวเป็นกลางไม่เข้าไปยุ่งหรือสั่งให้กระทรวงการต่างประเทศคืนพาสปอร์ตแดง (หนังสือเดินทางทูต) ที่ พ.ต.ท.ทักษิณถูกเพิกถอนหลังต้องคดีทุจริตหลายคดี แต่นายนพดลก็ได้พูดเชิงชี้นำกระทรวงการต่างประเทศว่าการเพิกถอนหนังสือเดินทางดังกล่าวเป็นไปโดยมิชอบ ขัดต่อระเบียบ แต่ตนจะไม่เข้าไปแทรกแซง เป็นเรื่องของข้าราชการที่จะดำเนินการ

ยกตัวอย่างการวางตัวรัฐมนตรีใน ครม.สมัคร สุนทรเวช พอเป็นน้ำจิ้มแล้ว ลองไปฟังความรู้สึกของหลายๆ ฝ่ายต่อโฉมหน้า ครม.ชุดนี้กันบ้างว่าจะน่าพอใจและคาดหวังได้แค่ไหน หรือจะมีข้อเสนอแนะต่อ ครม.ชุดนี้อย่างไร?

เริ่มด้วย อ.ปรีชา สุวรรณทัต นายกสภามหาวิทยาลัยวงศ์ชวลิตกุล นครราชสีมา และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า ไม่อยากพูดถึงโฉมหน้า ครม.ชุดนี้ เพราะอย่างที่รู้ๆ กัน แต่อยากแนะนำรัฐมนตรีกระทรวงที่สำคัญที่สุด คือกระทรวงการคลัง เพราะเป็นกระทรวงที่ต้องดูแลรักษาเงินของแผ่นดิน ดังนั้น รัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยคลัง ต้องเป็นคนที่มีหลักการ มีวินัย ไม่หาผลประโยชน์จากเงินของแผ่นดิน ไม่อนุมัติงบให้กระทรวงอื่นง่ายๆ แบบไร้เหตุผล อ.ปรีชายกตัวอย่างคุณสมบัติของรัฐมนตรีคลังที่ปูชนียบุคคลทางการคลังหลายๆ ท่านในอดีตได้เคยแนะนำไว้

“อาจารย์เก่าแก่ของเรา 2 คนสมัยดั้งเดิมธรรมศาสตร์ ท่านหนึ่งก็คือ ดร.ทวี ตะเวทิกุล อีกคน อ.วิจิตร ลุลิตานนท์ ตำราของท่าน ท่านใช้คำว่าอย่างนี้ คุณสมบัติของรัฐมนตรีคลังในระบอบประชาธิปไตย ผมไปเจอคำคำหนึ่ง รัฐมนตรีคลังที่มีนิสัยเลว เอ๊ะ! มันอะไร? ปรากฏว่าท่านก็ยกตัวอย่างมา ในประเทศประชาธิปไตย เช่น ประเทศอังกฤษรัฐมนตรีคลัง โดยทั่วไป รัฐมนตรีคนอื่นๆ จะไม่ชอบ เพราะเมื่อมาขอเงินแล้ว คนนี้ก็จะมีหลักการ ก็จะไม่ค่อยให้เท่าไหร่ ให้ไปก็ลำบากใจ ไม่ให้ก็ลำบากใจ ก็จะมีอะไรขัดข้องอยู่เสมอ ก็เลยได้รับสมญานามว่า เป็น รมต.ที่มีนิสัยเลว ก็ปรากฏว่าก็มีโปรเฟสเซอร์หลายคน บอก คำว่า รัฐมนตรีที่มีนิสัยเลวนั่นแหละคือรัฐมนตรีที่ดีเลิศในเรื่องนี้ ใครที่ได้รับชื่อว่าเป็นรัฐมนตรีที่มีนิสัยเลว รัฐมนตรีคลังคนนั้นจะมีความภาคภูมิใจมากที่สุด”

“(ถาม-แล้ว อ.คิดว่า รัฐมนตรีคลังยุคนี้จะเป็นแบบนั้นเหรอ? ยาก (ถาม-แล้วอะไรทำให้ อ.คิดว่า รัฐมนตรียุคนี้จะไม่มีคุณสมบัติอย่างที่กล่าวมา?) มันจะมีคุณสมบัติอย่างนั้นไม่ได้หรอก ก็มันเป็นนอมินีของคุณทักษิณนี่ มันเป็นอย่างนั้นไม่ได้เลย แล้วนี่โครงการเมกะโปรเจกต์มันก็เริ่มผุดมาแล้ว มันก็จะต้องใช้จ่ายเงินอย่างมากเลย มันก็จะได้ผลประโยชน์ในด้านนี้แหละ (ถาม-แล้ว อ.ไม่คิดว่า ครม.ชุดนี้จะทำงานด้วยความซื่อสัตย์ตามที่ได้ปฏิญาณกับในหลวงเหรอ?) ถ้าเปรียบเทียบหน้ากันนี่ หน้าแต่ละคน 35-36 คนเนี่ย ผมคิดว่าหน้าตาที่พอจะเชื่อได้ ไม่รู้นะ ผมมองในขณะนี้นะ มันเปลี่ยนๆ ไป น่าจะได้จากคุณสมัครคนเดียว คนอื่นผมคิดว่าแทบจะเชื่อถืออะไรไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นอยู่ที่สมัครคนเดียว ถ้าสมัครกลับเนื้อกลับใจ มันก็อาจจะมีสิ่งที่ดีเกิดขึ้น แต่ถ้าสมัครไม่กลับเนื้อกลับใจ อย่างว่าอย่างที่บอก มันก็หายนะกันทั้งหมดน่ะ”

ด้าน ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลัง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ไม่ขอพูดถึงโฉมหน้า ครม.ชุดนี้ แต่ขอแนะนำนโยบายที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการและแก้ไขปัญหา 4 ร.ต่อไปนี้ 1.เรียกความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาโดยเร็วที่สุด เช่น สร้างความเข้าใจและความชัดเจนเกี่ยวกับ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เพราะต่างชาติยังสับสนอยู่ 2.รับมือปัญหาเศรษฐกิจครั้งใหม่ที่จะมาจากต่างประเทศ ตั้งแต่ปัญหาซับไพรมส์(วิกฤตสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ) ที่อาจจะส่งผลกระทบมายังสถาบันการเงินในบ้านเราด้วย และปัญหาเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้ามาอย่างรวดเร็วจากเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัว รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจถดถอยที่อาจจะเกิดขึ้นทั่วโลก 3.เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเร็วที่สุด ถ้าช้าไปเศรษฐกิจจะทรุด เพราะขณะนี้เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าใครเพื่อนในบรรดาประเทศอาเซียนแล้ว และสุดท้าย ร.ที่ 4.รีบแก้ปัญหาพื้นฐานของประเทศ ซึ่ง อ.วรพล ไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาน้ำในภาคอีสานด้วยโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐบาลจะสร้างอุโมงค์น้ำ รวมทั้งนโยบายการพักชำระหนี้

“ปัญหาหนี้สิน ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ปชช.มีหนี้สินมาก เกษตรกรมีหนี้สินเยอะ การพักชำระหนี้ไม่เกิด ประโยชน์อะไร ถ้าไม่แก้ไขสิ่งอื่นๆ ด้วยพร้อมกัน จึงไม่ค่อยเห็นด้วยนัก ที่จะพักชำระหนี้อย่างเดียว เพราะหนี้ยังมีอยู่ต่อไป ต้องปรับโครงสร้างปรับปรุงหนี้เขา ให้เขาหนี้หมดในวันหนึ่งข้างหน้าให้ได้ ซึ่งหลายอย่างอาจจะต้องปรับลดให้เขา หลายอย่างอาจจะต้องหาทางหารายได้มาเสริม สร้างกลไกในการที่เขาจะเชื่อมโยงการมีรายได้มาชำระหนี้ สร้างงาน สร้างองค์ประกอบของงาน สร้างโอกาสในการทำงาน เขาจะได้มีเงินมาชำระหนี้เหล่านั้นให้หมดไป”

“ส่วนอันที่ต้องเร่งฟื้นฟูอีกหลายเรื่อง ก็คงเป็นเรื่องโครงการสาธารณูปโภค แต่ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับโครงการโครงสร้างพื้นฐานในส่วนของระบบน้ำขนาดใหญ่ในภาคอีสานที่จะทำนั้น แต่เห็นว่าควรจะลงทุนในเรื่องของโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน แต่การจัดการทรัพยากรน้ำนั้นจำเป็นต้องบริหารจัดการให้ดีและถูกวิธีด้วย แต่การทำอุโมงค์น้ำนั้นได้ผลไม่คุ้มค่า ซึ่งประเทศของเรา พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น มีพื้นที่หลายแบบ มีทั้งภูเขา เช่น ชัยภูมิ เป็นต้น มีทั้งที่ลุ่ม มีทั้งเขาและที่ลุ่มไปพร้อมกันก็มี เพราะฉะนั้นโครงการขนาดใหญ่เพียงอันเดียวคงจะใช้ไม่ได้ และจะเกิดผลการไม่คุ้มค่า ควรเป็นโครงการขนาดเล็กมากกว่า โครงการระบบชลประทานแบบคลองขวาง จะช่วยรับน้ำไว้ได้ และกระจายเข้าพื้นที่เกษตรกรรมของเราได้ การลงทุนพัฒนาคลองขวางจะเป็นประโยชน์กว่า ประโยชน์หลายอย่างและคุ้มค่ากว่า และก็ไม่ใช้เงินมากอะไร”


ขณะที่ นายสุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูตไทยหลายประเทศ และรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (รัฐบาลสุรยุทธ์) พูดถึงโฉมหน้า ครม.ชุดนี้ว่า ไม่ได้ประหลาดใจอะไร เป็นไปตามที่สื่อคาดการณ์อยู่แล้วว่าต้องออกมาแบบนี้ และว่า ภาพรวม ครม.มีลักษณะตอบแทนทางการเมืองหรือให้รางวัลทางการเมืองแก่ผู้ที่สนับสนุนพรรค ซึ่งแม้แต่ประเทศที่ประชาธิปไตยเจริญแล้ว ก็มีการใช้วิธีนี้ อย่างไรก็ตาม นายสุรพงษ์ บอกว่า ไม่อยากให้คนไทยเข้าใจว่า ประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งเท่านั้น และใครชนะเลือกตั้งมาแล้ว จะทำอะไรที่ไม่ถูกต้องก็ได้ ไม่เป็นไร ซึ่งเป็นความเข้าใจที่น่าห่วง

อดีตเอกอัครราชทูตไทย ยังกล่าวถึงกรณีที่นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้นั่งรัฐมนตรีต่างประเทศด้วยว่า คงต้องมีวาระบางอย่าง ภารกิจบางอย่างที่นายนพดลต้องทำเพื่อตอบสนอง พ.ต.ท.ทักษิณแน่ ส่วนกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ประกาศว่า เมื่อรัฐบาลมาได้ครึ่งทาง อาจจะมีการนิรโทษกรรม 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยนั้น นายสุรพงษ์ บอกว่า คงไม่ใช่เรื่องที่คิดอยากจะทำ ก็ทำได้ง่ายๆ และต้องฟังเสียงของประชาชนด้วย

“กรณีคุณสมัครว่าจะหาทางนิรโทษกรรม 111 คนหลังจาก 2 ปีไปแล้ว อันนี้ผมคิดว่าความประสงค์ท่าทีที่อยากจะนิรโทษกรรมมันก็มีความประสงค์ได้ แต่กระบวนการที่จะให้นิรโทษกรรม คงไม่ใช่คุณสมัคร จู่ๆ เอาแผ่นกระดาษมาแผ่นหนึ่งแล้วก็เซ็นชื่อบอกว่า บัดนี้ 111 คน ผมใช้อำนาจบริหารนิรโทษกรรมให้หมด มันคงไม่ใช่ บ้านเมืองปกครองในระบอบประชาธิปไตยมันต้องมีกลไก หลักนิติรัฐ หลักนิติธรรมที่จะต้องดำเนินการ ตามกระบวนการ และต้องมีการออกกฎหมายต้องผ่านสภา ใช่มั้ย มันไม่ใช่ จู่ๆ อยากจะนิรโทษกรรม ก็นิรโทษกรรมได้ 2.ก็ต้องฟังประชาชนด้วย เมื่อคุณเป็น รบ.ในระบอบประชาธิปไตยแล้ว เสียงที่ใหญ่สุดของระบอบประชาธิปไตยก็คือเสียงของประชาชน เขาก็ต้องฟังประชาชน เพราะถ้าบอกว่าความรู้สึกของสังคมไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม รัฐบาลจะฝืนทำ แน่นอน การฝืนคงไม่นำไปสู่ความสงบเรียบร้อยหรือความเป็นปกติสุข ใช่มั้ย มันก็นำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นอีกได้ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าอันนี้มันคงไม่ใช่เรื่องง่ายหรอกที่อยากจะทำเรื่องนิรโทษกรรม แล้วก็ทำได้เลย”

ด้าน พญ.กมลพรรณ ชีวพันธุ์ศรี ประธานเครือข่ายพ่อแม่เยาวชนเพื่อการปฏิรูปการศึกษา และนายกสมาคมเครือข่ายผู้ปกครองแห่งชาติ พูดถึงโฉมหน้า ครม.ชุดนี้ โดยเฉพาะการนำนักกฎหมาย(นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์) มาเป็นรัฐมนตรีว่า จริงๆ แล้วเรื่องการศึกษา ตนไม่ค่อยได้คาดหวังกับรัฐบาลทุกรัฐบาลอยู่แล้ว เพราะยังไม่เห็นว่ารัฐบาลไหนจะมีความจริงใจแก้ปัญหาเรื่องการศึกษา ไม่ว่าจะเรื่องมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ-เรื่องแอดมิสชั่นส์(ระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาใหม่) หรือเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ดังนั้นใครจะไปจะมา จึงไม่อยากฝากความหวังสักเท่าไหร่ แต่ถึงกระนั้น ตน-อาจารย์-เด็กๆ ส่วนหนึ่งก็จะไปยื่นหนังสือให้รัฐมนตรีศึกษาธิการในเร็วๆ นี้ เพื่อขอให้ทบทวนเรื่องแอดมิสชั่นส์ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองและเยาวชนได้มีส่วนร่วมประชาพิจารณ์การแก้ไขหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่ประชาพิจารณ์ครูอย่างเดียว

พญ.กมลพรรณ บอกด้วยว่า นอกจากการยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีศึกษาธิการแล้ว ยังจะจับตาต่อไปด้วยว่า การทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีศึกษาธิการของนายสมชาย มีภรรยา(นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์)เป็นแบ็กอัพหรือไม่ ถ้าใช่ อนาคตการศึกษาคงไปไม่ถึงไหน

“ภูมิหลังของรัฐมนตรีช่วยศึกษาฯ 2 คน(บุญลือ ประเสริฐโสภา-พงศกร อรรณพพร) เราก็ไม่รู้จักนะ ว่าเขารู้เรื่องการศึกษายังไง แต่ก็เห็นว่ามีคนหนึ่งเป็นรัฐมนตรีที่อายุ 40 ใช่มั้ย(บุญลือ ประเสริฐโสภา) รัฐมนตรีช่วยฯ ก็คิดว่าน่าจะมีแนวคิดใหม่ๆ ให้กับการศึกษาชาตินะ คือมองในแง่ดีไว้ก่อน คือพูดกับอาจารย์มหาวิทยาลัยว่า คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีศึกษาฯ เนี่ย เมียของแกก็คือ คุณเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ก็เคยเป็นเลขาฯ ที่กระทรวงศึกษาฯ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่า ภาพของคุณเยาวภาเนี่ยจะอยู่แบคหลังของคุณสมชายหรือเปล่า ซึ่งถ้ามาอยู่เนี่ย ถ้าคอยกำกับคุณสมชาย เราก็รู้สึกว่าทำนายได้เลยว่า อนาคตการศึกษามันไม่ไปถึงไหน”

“(ถาม-เป็นเพราะคุณเยาวภาเคยมีผลงานอะไรเหรอ?) คุณเยาวภา สังคมก็จะรู้ว่าภาพลักษณ์แกไม่ดี ภาพลักษณ์แกไม่ดีในเรื่องของผลประโยชน์ ไม่ว่าบริษัทเรียลเอสเตท บริษัทเกี่ยวกับเรื่องก่อสร้างของลูกสาวแก ว่าเงินมาจากไหนหลายหมื่นล้านอะไรอย่างนี้ แล้วยิ่งมาอยู่กระทรวงศึกษาฯ เนี่ย เราก็ไม่ได้คาดหวังว่าสิ่งที่เราเรียกร้องออกไปที่จะไปทำหนังสือเนี่ย มันจะประสบความสำเร็จ แต่เราก็ต้องทำ ดีกว่าเราอยู่เฉยๆ แต่เราก็ไม่ได้คาดหวังว่า จะได้ แต่ถ้าเกิดปาฏิหาริย์ คุณสมชายอยากจะแก้ภาพพจน์ของพรรคไทยรักไทยอยากแก้ภาพพจน์ของคุณทักษิณ อยากจะฟื้นการศึกษาของชาติให้กับชาติจริงๆ อย่างที่ทุกคนพูดสมานฉันท์เพื่อชาติ เขาจะแก้ตามที่เราเรียกร้องกันมั้ย ถ้าแก้ก็ดี ทำให้ภาพพจน์เขาดีขึ้น”


ขณะที่ รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงโฉมหน้า ครม.ชุดนี้ว่า เมื่อเสียงข้างมากเลือกมาแบบนี้ ก็ต้องเป็นแบบนี้ไป ซึ่งคงต้องให้โอกาสรัฐบาลนี้ทำงาน แต่ถ้าทำงานแล้วเล่นกลหรือคอร์รัปชั่น ก็คงต้องนัดเจอกันบนท้องถนน อ.ไชยันต์ ยังชวนให้จับตาการทำงานของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะรองนายกฯ ที่คุมกระทรวงยุติธรรมด้วยว่า จะมีการแทรกแซงคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การได้นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของนายนพดล ปัทมะ ก็สะท้อนว่า พ.ต.ท.ทักษิณลงทุนไปมากกับการเลือกตั้งที่ผ่านมา

“ตอนแรกผมไม่คิดว่าคุณนพดลจะอยากจะอยู่ ก.ตปท.เห็นมีข่าวว่าแกอยากไปอยู่ ก.ศึกษาฯ เพราะในแง่หนึ่ง กระทรวงศึกษาฯ แกก็ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน แต่คิดว่าแกอยากได้กระทรวงศึกษาฯ เพราะเป็นอะไรที่ทำให้เกิดฐานเสียงได้ เรื่องครู แต่กระทรวงต่างประเทศนี่ไม่มีฐานเสียง มีแต่ชนชั้นกลางขึ้นไปที่จะสนใจกระทรวงต่างประเทศ ทีนี้การที่คุณนพดลมาอยู่ตรงนี้ก็ชัดเจนเลยว่า คุณทักษิณลงทุนมากกับการเลือกตั้งที่ผ่านมา ลงทุนมากเพื่อจะทำให้ทุกอย่างช่วยตัวแกเอง เช่น หน้าตาแก การไม่เป็นผู้ร้ายข้ามแดน ที่จะเสียหน้าเสียตา ก็มารับภารกิจตรงนี้โดยตรง”

“(ถาม-คิดว่าการที่ รบ.ให้คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นรองนายกฯ ที่คุมกระทรวงยุติธรรม จะมีการแทรกแซงคดีคุณทักษิณมั้ย?) ผมว่า แน่นอนก็ต้องมีส่วน ก็ต้องจับตาดูให้ดี อันนี้เขาวางหมากทำเป็นเอาคุณสมพงษ์ไปอยู่ตรงยุติธรรม แต่คุณสมชายไปอยู่รองนายกฯ ดูแลกระทรวงยุติธรรมอย่างนี้ ก็ต้องคอยจับตา ถ้าทำอะไรที่ไม่ชอบมาพากล ก็เจอกันสนามหลวงน่ะ (ถาม-อยากฝากอะไรเพิ่มเติมกับรัฐบาลนี้?) ก็ให้โอกาสเขาเถอะ ผมก็เป็นกำลังใจให้นะ ในฐานะที่คุณได้รับเลือกตั้งมา คุณก็ต้องพยายามขวนขวายหาความรู้ข้อมูลและพยายามตั้งหน้าตั้งตาแก้ปัญหาวิกฤต ศก.กับปัญหาชายแดนภาคใต้ซะ อย่าเพิ่งไปสนใจเรื่องอื่น คุณก็จะได้ความนิยมของประชาชนมาเอง และตอนนี้บ้านเมืองอยู่ในมือคุณแล้ว ประชาชนก็คอยจับตาดูนะ ถ้าแบบจะมาเล่นกลหรือคอร์รัปชันหรือจะมาทำให้กระบวนการยุติธรรมต้องหยุดชะงัก เราคงจะต้องนัดๆ ไปเจอกันที่ท้องถนนกันดีกว่า”


อ.ไชยันต์ ยังทิ้งท้ายถึงกรณีที่สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ในยุคเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่นี้ ไม่อนุมัติงบให้คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ด้วยว่า ส่วนหนึ่งถือเป็นความผิดพลาดของรัฐบาลสุรยุทธ์ที่ไม่อนุมัติงบให้ตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ส่วนรัฐบาลนายสมัคร ก็ควรจะคิดให้ดีดีว่า รัฐบาลส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมอย่างที่ปากว่าหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่า ถ้า คตส.ต้องไปเปิดรับบริจาคเงินจากประชาชน รับรองมีคนบริจาคเยอะแน่ แต่รัฐบาลอยากเห็นภาพอย่างนั้นหรือ? รัฐบาลอยากให้เกิดเรื่องวิกฤตหรือเกิดกระแสอะไรที่ทำให้ คตส.ต้องกลายเป็น “ศูนย์รวม” ขับเคลื่อนเรื่องการเมืองบนท้องถนนอย่างนั้นหรือ?





กำลังโหลดความคิดเห็น