“หมอเลี้ยบ” ทำมึน ยัน “เวปไฮ-ทักษิณ” ไม่ใช่เวปของ พปช. อ้างพวกโพสต์ด่ากันเป็นคนนอก โยงระบบอ่อนแอทำให้ได้ “ที่ปรึกษา-เลขาฯ” ขี้เหร่ เฉไฉขนาด “หัวหน้า-เลขาฯ พรรค” ยังชี้ขาดอะไรไม่ได้
วานนี้ ( 22 ก.พ.) น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชาชน กล่าวถึงความขัดแย้งในพรรคพลังประชาชนที่มาการโพสต์ข้อความต่อว่ากันผ่านเว็บไฮ-ทักษิณ ว่า เรื่องความขัดแย้งหากมาจากเว็บไฮ-ทักษิณ คงไม่มี เพราะเว็บไฮ-ทักษิณไม่ใช่เว็บไซต์ของพรรคพลังประชาชน และความเห็นต่างๆ ก็เป็นความเห็นของผู้ที่เขียนบทความในเว็บ และที่มีความกังวลว่าเป็นความเห็นของคนในพรรค ขอยืนยันว่าไม่ใช่
“เรื่องการแต่งตั้งที่ปรึกษา และเลขานุการคณะรัฐมนตรี หรือคณะกรรมการต่างๆ ของรัฐสภา เป็นเรื่องที่จะมีการพูดคุยกันในพรรค ต้องยอมรับว่าพรรคพลังประชาชนมีผู้แทนราษฎรจำนวนมาก ฉะนั้นจึงมีผู้เสนอตัวเข้ามามากกว่าตำแหน่งที่มีอยู่ จึงเป็นหน้าที่ของกรรมการบริหารที่จะต้องรวบรวมข้อเสนอเพื่อพิจารณาตัดสินใจ และเมื่อตัดสินอย่างไร ก็ถือว่าเป็นที่สุด แน่นอนว่าต้องมีผู้ไม่เห็นด้วยเป็นธรรมดา หากต้องการให้พรรคพลังประชาชนเป็นสถาบันทางการเมือง การทำงานต้องมีระบบ มีการตัดสินใจของกรรมการบริหารพรรค และมีวินัย โดยต้องยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น”น.พ.สุรพงษ์ กล่าว
เมื่อถามว่า มีคนเสนอเข้ามารับตำแหน่งจำนวนมาก แต่ทำไมเลือกคนที่สังคมต้องข้อสังเกตว่าไม่เหมาะสม น.พ.สุรพงษ์ กล่าวว่า เรื่องการตัดสินใจต่างๆ เป็นการตัดสินใจมาจากที่ประชุม ดังนั้นถ้าถามว่าตนตัดสินใจเหมือนเป็นการตัดสินใจครั้งสุดท้ายของกรรมการบริหารหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ และเลขาธิการพรรคในยุคนี้ ไม่ใช่ผู้ที่จะไปสั่งการ ถ้าหากต้องการให้พรรคมีระบบ ก็ต้องอาศัยเสียงข้างมาก
ส่วนระบบที่เป็นอยู่อย่างนี้ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ก็ระบุว่าน่าจะมีปรับปรุงแก้ไข แล้วจะมีการทบทวนหรือไม่ น.พ.สุรพงษ์ กล่าวว่า แม้แต่หัวหน้าพรรคก็มีเพียงเสียงเดียวในกรรมการบริหารพรรค ไม่ได้หมายความว่าหัวหน้าพรรค หรือเลขาธิการพรรคตัดสินใจอย่างไร แล้วจะต้องเป็นไปตามนั้น ซึ่งเราจะมีการพูดคุย และแสดงเหตุผล สุดท้ายเมื่อมีการตัดสินออกมาอย่างนี้ ก็เป็นมติต้องยอมรับ
เมื่ออีกว่า กังวลหรือไม่หากเกิดกับเหตุการณ์ที่ขัดความรู้สึกกับสังคมบ่อยๆ แล้วจะกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลหรือไม่ น.พ.สุรพงษ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่พรรคต้องรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ ข้อเสนอแนะทั้งหมด และการตัดสินใจครั้งต่อไปก็ต้องนำเอาคำวิจารณ์มาประกอบในการตัดสินใจ หลายเรื่องยอมรับว่าการตัดสินใจผิดพลาด ซึ่งจะทำให้เกิดการแก้ไขในโอกาสต่อไป
ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลได้พูดคุยหรือไม่ ว่าหากจะทำให้อะไรให้คำนึงถึงหน้าตารัฐบาล น.พ.สุรพงษ์ กล่าวว่า พรรคร่วมรัฐบาลเรามาทำหน้าที่ด้วยกัน เรามองการทำงานเป็นทีม มีพุดคุยกับแกนนำของพรรคร่วมหลายครั้ง โดยพยายามทำอะไรออกมาให้เกิดการยอมรับการตัดสินใจของเรา นี่เป็นผลพวงของระบบที่อ่อนแอ ไม่สามารถสร้างพรรคการเมืองที่เข้มแข็งภายใต้กติกาที่เป็นอยู่ในเป็นในปัจจุบัน จึงเป็นเรื่องที่เราอยากจะแก้ไขในโอกาสต่อไป และจะมีการพูดคุยในพรรคว่า อะไรเป็นปัญหาที่เราเล็งเห็นว่ามันมีผลกระทบต่อการทำงานในระบบพรรค
เมื่อถามว่า กรณีพรรคร่วมหลายพรรค ตอนเปิดตัวครั้งแรกมีคนมีฝีมือจำนวนมาก แต่ทำไมไม่ได้เข้ามาทำงาน น.พ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ข้อจำกัดของการเมืองเราก็ทำเท่าที่ทำได้ เราคาดหวังว่าระบบการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีอยู่ จะได้รับการแก้ไขในโอกาสต่อไป เพื่อทำให้สิ่งที่ประชาชนคาดหวังสามารถเติบโตพัฒนาต่อไปได้