xs
xsm
sm
md
lg

ปัดข้อเสนอหมัก"คีรี"ขอซบ กทม.ลุย BTS เส้นใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“คีรี กาญจนพาสน์” ปัดข้อเสนอ "สมัคร 1 " เล็งฮุบโครงการรถไฟฟ้าBTS ระบุไม่ได้กู้เงินจากรัฐบาลมาทำ แนะแค่รัฐช่วยลงทุนขยายเส้น พร้อมเตรียมเสนอตัวขอ กทม. เดินรถส่วนต่อขยายและประมูลเดินรถในเส้นทางใหม่ พร้อมทุ่ม 60 ล้านบาทซื้อรถไฟฟ้า 12 ขบวนนำเข้าปีหน้า เผยเตรียมยื่นศาลขอออกจากแผนฟื้นฟูฯ กลางเดือนเม.ย. ฟุ้งสถาบันการเงินนอก สนร่วมทุนแล้ว 4 ราย

โครงการลงทุนรถไฟฟ้า 9 สาย หนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลหุ่นเชิด โดยเฉพาะนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่จะนำรถไฟฟ้าBTSเข้ามาดำเนินการภายใต้การดูแลของรัฐบาล ควบคู่ไปกับการเพิ่มส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าBTS จาก 3 ปลายทางออกไปอีกปลายทางละ 30 กิโลเมตร ซึ่งนักวิชาการได้ตั้งข้อสังเกตวิธีการของนายกรัฐมนตรี ต้องการเข้ามาดำเนินการและจัดการโครงการถไฟฟ้า 9 สาย และส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าBTSอย่างเบ็ดเสร็จ หรือ รวบรัดเพื่อให้ดำเนินการสะดวกและง่าย เหตุการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้ว ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่พยายามรวมเอารถไฟฟ้า BTS เข้ามาบริหารเอง โดยจะขอซื้อคืนสัมปทานการเดินรถและการบริหารจัดการทั้งหมดต่อจาก บริษัท ธนายง จำกัด (มหาชน) มาแล้วครั้งหนึ่ง

ล่าสุด นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เชื่อว่า เป็นความปรารถนาดีของรัฐบาลที่จะดำเนินการ เพราะกว่าบริษัทจะทำความเข้าใจกับระบบ และมีความเชี่ยวชาญต้องใช้เวลานานถึง 8 ปี นอกจากนี้ ทางบริษัทฯยังมีแผนไปลงทุนยังต่างประเทศ จึงคิดว่าการนำBTS เข้าไปร่วมกับรัฐบาลคงเป็นไปได้ยาก

“เข้าใจความปรารถนาดีของรัฐบาล แต่จะให้ดีรัฐบาลควรลงทุนขยายเส้นทางจะดีกว่า รัฐบาลควรสนับสนุนให้เราทำเอง BTS ไม่ได้ขอเงินรัฐบาลมาทำ เราลงทุนเองมาตลอด แค่ให้การสนับสนุนเราก็พอแล้ว” นายคีรี กล่าว

ในปีที่ผ่านมา BTS มีรายได้จากการให้บริการรถไฟฟ้า BTS เฉลี่ยวันละ 6 ล้านบาท หรือประมาณ 4.4-4.5 แสนคนต่อวันเนื่องจากนักท่องเที่ยวลดลงไปจำนวนมาก แต่ปัจจุบันกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว จึงเชื่อว่าจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้

สำหรับเส้นทางส่วนต่อขยาย BTS สาทร-ตากสิน- และอ่อนนุช – แบริ่ง ที่ปัจจุบันการก่อสร้างระบบรางใกล้เสร็จเรียบร้อย เหลืองานระบบและการเดินรถ ซึ่งบริษัทมีความยินดีที่จะเข้าร่วมดำเนินการ หากกรุงเพทมหกานคร(กทม.)ต้องการ แต่ขณะนี้ทางกรุงเทพฯยังไม่มีข้อสรุปออกมาว่า จะให้ใครเป็นผู้ดำเนินการต่อ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ บริษัทฯได้สั่งซื้อขบวนรถไฟฟ้าจากประเทศจีนแล้ว 12 ขบวนๆ ละ 4 ตู้ มูลค่า 60 ล้านบาท จะนำเข้ามาในปีหน้า เพื่อรองรับการขยายตัวของผู้ใช้บริการและรองรับส่วนต่อขยายด้วย

ประธานกรรมการบริหารบริษัทฯ กล่าวถึงความคืบหน้าของแผนฟื้นฟูกิจการว่า ทุกอย่างจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยในกลางเดือนมีนาคม 51 จะทำการยื่นต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ คาดว่าศาลจะอนุมัติได้ประมาณกลางเดือนเมษายน และหลังจากนั้นจะนำบริษัทฯกลับเข้าไปซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์โดยเร็วที่สุด

“ที่ผ่านมา BTS ประสบปัญหา เจ้าหนี้คัดค้านการออกจากแผน ซึ่งเราก็ได้กลับไปแก้ไขจนเรียบร้อยแล้ว จึงคิดว่ากลางเดือนมีนาคมนี้จะขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ ส่วนจะมีเจ้าหนี้รายใดมาคัดค้านอีก ก็เชื่อว่าคงไม่มีปัญหา เพราะเราคิดว่าได้ดำเนินการครบทุกอย่างหมดแล้ว ไม่มีอะไรต้องทำอีก” นายคีรี กล่าว

ส่วนแผนการดำเนินงานหลังออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทจะทำเริ่มขบวนการกระจายหุ้นให้กลับประชาชนทั่วไป (IPO) ประมาณ 15-20% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และดอยซ์แบงก์ โดยจะกระจายหุ้นให้แก่นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ ในสัดส่วน 60 : 40 ซึ่งภายหลังกระจายหุ้นแล้วจะทำให้บริษัทมีหนี้สินต่อทุนลดลงมาเหลือ 0.3 : 1 เท่านั้น

“ ตอนนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยในรายละเอียดได้มากนัก ต้องรอให้ออกจากแผนฟื้นฟูให้เรียบร้อยก่อน และหุ้นที่จะนำมากระจายนั้นมีขนาดไม่เล็กอย่างแน่นอน นอกจากนี้ บริษัทยังประสบความสำเร็จในการเจรจาผู้ร่วมทุน ซึ่งจะเข้ามาร่วมทุนหลังกระหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งได้แก่ ออสเตรเลีย , ญี่ปุ่น และอเมริกา 2 ราย ซึ่งพันธมิตรดังกล่าวเป็นสถาบันการเงินรายใหญ่ทั้งหมด”

ก่อนหน้านี้ BTS ได้ทำการลดทุนจดทะเบียนจาก 12,000 ล้านบาท ลงมาเหลือ 1,210 ล้านบาท ซึ่งภายหลังจากฟื้นฟูกิจการ BTS จะทำการเพิ่มทุนจดทะเบียนมาเป็น 16,400 ล้านบาท หรือจำนวนที่ต้องเพิ่มทุน 15,190 ล้านบาท โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนที่ต้องแปลงหนี้เป็นทุนจำนวน 1,200 ล้านบาท ทำให้เหลือเงินที่ต้องเพิ่มทุนจำนวน 13,990 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น