xs
xsm
sm
md
lg

การันตีระบบตั๋วร่วมสำเร็จ ค่าโดยสารรถไฟฟ้าลดลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน- “คีรี”เชื่อหลังพัฒนาระบบตั๋วร่วมกับรถไฟฟ้าใต้ดินสำเร็จ ค่าโดยสารจะลดลงแน่นอน “บีทีเอส-บีเอ็มซีแอล”เตรียมหาที่ปรึกษาปรับระบบซอฟต์แวร์และเดินหน้าตั้ง บริษัทกลาง (Clearing house) รฟม.ยันเป็นธุรกิจขนส่งไม่ใช่การเงินไม่เข้าข่ายประกาศแบงก์ชาติทุนจดทะเบียนไม่เกิน 200 ล. ด้านบีเอ็มซีแอลเตรียมขึ้นค่าโดยสาร 3 ก.ค.51 นี้ ตามสัญญา จาก 15-39 บาทเป็น 16-40 บาท

นายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อการศึกษาและทดลองใช้ระบบบัตรโดยสารร่วมกันระหว่างรถไฟฟี้ทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดิน วานนี้ (23 ม.ค.) ว่า เป็นการพัฒนาระบบบัตรโดยสารร่วมของระบบขนส่งมวลชนให้สามารถใช้ร่วมกัน ซึ่งทั้ง 2 บริษัทได้มีการศึกษาข้อมูลบัตร มูลค่าบัตร วิธีการปฎิบัติ การให้บริการร่วมกันและการใช้ร่วมกับระบบขนส่งอื่นๆ ในอนาคต โดยกระทรวงคมนาคมจะให้การสนับสนุนในการแก้ปัญหาที่เกินขีดความสามารถของเอกชนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี) กล่าวว่า ในการใช้บัตรโดยสารข้ามระบบค่าโดยสารยังเป็นอัตราเดิมแต่เมื่อทำเป็นตั๋วร่วม Common Ticketing แล้วเชื่อว่า ทั้ง 2 บริษัทจะร่วมกันหาวิธีที่ทำให้ค่าโดยสารลดลงเช่น การทำโปรโมชั่น ซึ่งในส่วนของบีทีเอสจะคล่องตัวกว่าเพราะลงทุนทั้งโครงสร้างและระบบเองทั้งหมด ไม่ต้องมีการแบ่งรายได้ให้กทม.ดังนั้นค่าโดยสารมีโอกาสลดลงจากเดิมแน่นอน

ซึ่งทั้งบีทีเอสและบีเอ็มซีแอลเข้าใจดีว่า ถ้าค่าโดยสารแพงผู้โดยสารไปใช้ระบบขนส่งอื่นแทนได้เพราะ รถไฟฟ้าเป็นทางเลือก ดังนั้น การการทำตั๋วร่วมเพื่อให้ผู้ใช้สะดวกมากขึ้นและทำให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นนำไปสู่รายได้ที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะต้องลดราคาลงและยิ่งมีการเชื่อมต่อโครงข่ายให้สมบูรณ์มากขึ้นก็จะยิ่งทำให้การลดราคาทำได้ง่ายขึ้น

นายอาณัติ อาภาภิรม ที่ปรึกษาคณะกรรมการ บีทีเอสซีกล่าวว่า จากการตกลงร่วมกันเบื้องต้นจะแบ่งการทำงานเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1. การใช้บัตรโดยสารข้ามระบบ (Interoperability) คือบัตรของรถใต้ดินสามารถใช้ได้กับรถบีทีเอสและบัตรของบีทีเอสใช้กับรถใต้ดินได้ ซึ่งคาดว่าจะปรับระบบเสร็จประมาณ 6 เดือน
ระยะที่ 2 ระบบตั๋วร่วม(Common Ticketing) ที่เป็นตั๋วใบเดียวใช้ได้ทั้ง 2 ระบบ และรองรับกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ เช่น ทางด่วน เรือโดยสาร รถเมล์และร้านค้าต่างๆ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1ปีครึ่ง-2ปี โดยจะต้องมีการตั้ง บริษัทกลาง (Clearing house) เพื่อเป็นตัวกลางในการแบ่งรายได้

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการและผู้อำนวยการมใหญ่สายปฎิบัติการ บีทีเอสซี กล่าวว่า คาดว่าจะเลือกบริษัทที่ปรึกษาได้ในเดือนก.พ.นี้ ซึ่งจะเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ในการทำระบบตั๋วร่วม โดยใช้วิธีการเชิญเข้ามา เพื่อนำข้อมูลของทั้งบีทีเอสและบีเอ็มซีแอลที่มีว่าถูกต้องแค่ไหน และต้องปรับอะไรบ้าง โดยการใช้บัตรข้ามระบบช่วงแรก จะเขียนซอฟต์แวร์ขึ้นมาอีกโมดูหนึ่งเพื่อเป็นตัวแปลงข้อมูลในบัตรที่ต่างระบบกันให้ระบบเดิมสามารถอ่านข้อมูลภายในได้ โดยจะให้ธนาคารที่เป็นแหล่งเงินของทั้งบีทีเอสและบีเอ็มซีแอลเข้ามาร่วมด้วยเพื่อเคลียร์ข้อมูลการใช้บัตรที่เกิดขึ้นแบบวันต่อวัน ยอมรับว่า ด้านเทคนิคไม่ยุ่งยากแต่ะในเรื่องการปฎิบัติ (Operation) ต้องหารือกันอีก เช่น กรณีบัตรของบีทีเอสไปเสียในขณะใช้ที่รถไฟใต้ดิน หรือ การทำโปรโมชั่นที่ต่างกัน เป็นต้น

นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ระบบตั๋วร่วมจะไม่ได้ทำให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มเพราะปัจจัยหลักคือการต่อขยายเส้นทางให้เป็นโครงข่ายมากขึ้น ซึ่งเป้าหมายของตั๋วร่วมคือทำให้เกิดความสะดวก โดยใช้ตั๋วใบเดียวกับทุกระบบ นอกจากนี้และจะเร่งหารือกันกรณีที่การตั้งบริษัทร่วมเป็นกิจการด้านขนส่งไม่ใช่ด้านการเงินจึงไม่น่าจะเข้าประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กำหนดให้มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท

นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเอ็มซีแอล กล่าวว่า ในวันที่ 3 ก.ค.51 นี้ จะปรับเพิ่มอัตราค่าโดยสารตามสัญญาสัมปทาน(ทุก 2 ปี) ซึ่งได้แจ้งอัตราค่าโดยสารที่เพิ่มขึ้นให้ รฟม. ทราบแล้ว คาดว่าหลังจากได้ปรับเพิ่มแล้วจะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นอีก 6% ทั้งนี้การปรับค่าโดยสาร เพื่อคงมูลค่า ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ จากราคาที่ 15-39 บาทเป็น 16-40 บาท โดยในปี 2551 ตั้งเป้าหมายว่าจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากปี 2550 อีก 2 หมื่นคนต่อวัน จาก 1.9 แสนเป็น 2.1 แสนคนต่อวัน โดยปัจจุบันมีรายจ่ายวันละ ประมาณ 4 ล้านบาท มียอดขาดทุนสะสมรวมประมาณ 5 พันล้านบาท และคาดว่าในปี 2554 จะมีกำไร โดยจะสามารถนำมาจ่ายชดเชยการขาดทุนสะสมหมดภายใน 3 ปี หลังจากปี 2554
กำลังโหลดความคิดเห็น