xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.สับนโยบายเศรษฐกิจแฉเซ็งลี้เก้าอี้ ปธ.บอร์ด 30 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปชป.รุมสับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ไม่ชัดเจน เรื่องการกระจายรายได้ และการแก้ปัญหาสิ้นค้าอุปโภค บริโภคราคาแพง รวมทั้งนโยบายด้าน ICT ที่ได้รัฐมนตรีไม่ตรงกับงาน แฉมือที่มองไม่เห็นเตรียมเซ็งลี้ เก้าอี้ประธานบอร์ด กสท.-ทศท. ตัวละ 30 ล้าน ด้าน"มั่น" ลงทุนสาบาน ไม่เคยรับเงินรับทอง

การประชุมสมาชิกรัฐสภาเพื่อแถลงนโยบายรัฐบาลในวันที่สอง เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 10.00 น. วานนี้ (19ก.พ.) โดยสมาชิกส่วนใหญ่ ยังคงอภิปรายแสดงความเห็นต่อเนื่องจากการอภิปรายวันแรก ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจมหาภาค และภาคการเกษตรเป็นหลัก

นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รมว.เงา เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงภาพรวมนโยบายรัฐบาลที่แถลง ถือว่าใช้ได้ มีการระบุเป้าหมายเศรษฐกิจว่าจะทำให้เศรษฐกิจเจริญขึ้น แต่ยังไม่มีการพูดถึงการจัดสรรทรัพยากร มีเพียงแค่ระบุถึงการป้องกันการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ยังไม่มีนโยบายเรื่องการกระจายรายได้ ทั้งที่มีระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ และสภาพปัจจุบันประเทศไทยติดอันกลุ่มเลวร้ายที่สุดในโลก ในเรื่องการกระจายรายได้ ใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศละตินอเมริกา เม็กซิโก อาร์เจนตินา โดยกลุ่มผู้มีรายได้มากสุด 20% ของประเทศ มีรายได้มากกว่า กลุ่มของผู้มีรายได้ต่ำสุด 20% ของประเทศถึง 12 เท่า

นายไตรรงค์ กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้นจากปัจจัยโลกร้อน และ ราคาน้ำมันสูงขึ้น จนคนหันมาปลูกพืชเพื่อผลิตไบโอดีเซลมากขึ้น แต่รายได้ของเกษตรกรกลับไม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า และมีผลต่อการส่งออกสินค้าเกษตร ดังนั้นรัฐบาลควรต้องเข้าไปดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ว่าควรจะให้อยู่ระดับที่เหมาะสมอย่างไร ไม่ใช่ปล่อยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้กำหนดแต่เพียงผู้เดียว รัฐบาลต้องเข้าไปร่วมกำหนดด้วย

นายไตรรงค์ กล่าวว่า รมว.คลัง จะต้องศึกษาการกำหนดนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นในลักษณะของการให้เสรีภาพในการเลือกเครื่องมือที่จะมาบริหารนโยบายของธปท. แต่ที่ผ่านมา กลับดำเนินการแบบปนเปกันหมด เพราะถ้าหากตนเป็นรัฐบาล จะขอให้ปฏิบัติทันที โดยการลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อเป็นการส่งเสริมการลงทุน จากการซื้อเครื่องจักร ซึ่งตรงนี้ รมว.คลัง จะต้องกำหนดเป็นนโยบายให้ได้ แต่ตนก็เป็นห่วงอนาคตของประเทศ โดยเฉพาะโครงสร้างของการคลัง ที่จะรับแรงกดดันทั้งจากรัฐธรรมนูญนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ แรงกดดันจากนโยบายประชานิยม ที่ต้องใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมาก

ขณะเดียวกันรายได้ของรัฐบาลขณะนี้ มาจากภาษี 90% โดยเป็นภาษีทางตรง 24% ภาษีทางอ้อม 60 กว่า% ทั้งที่ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ภาษีทางอ้อม ซึ่งไม่ได้มาจากการสร้างงาน จะมีจำนวนน้อยกว่า อยู่ที่ 30% หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านจะอยู่ 50% อย่างไรก็ตาม ในภาษีทางตรงในส่วนของภาษีจากนิติบุคคล กว่า 90% มาจากบริษัท เพียง 5 พันบริษัทเท่านั้น หากเป็นเช่นนี้คงจะพัฒนาไปได้อีกไม่กี่ปี จำเป็นต้องเพิ่มฐานภาษีใหม่ให้กว้างขึ้นกว่านี้ เพื่อประโยชน์ในอนาคต

แนะปรับโครงสร้างเกษตรก่อน

นายณรงค์ โชควัฒนา สมาชิก สนช. ทำหน้าที่ส.ว. อภิปรายท้วงติงนโยบายที่จะชูให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอาหารโลกว่า วันนี้ประเทศไทยส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่เกษตรกร ยังมีหนี้สิน ดังนั้นเป้าหมายเราจะต้องปรับโครงสร้างทางการเกษตร เพื่อให้มีผลผลิตต่อไร่สูงๆ ซึ่งต้องใช้และเพิ่มปุ๋ยจำนวนมาก สุดท้ายทำให้ต้นทุนสูงกว่าราคาตลาด ส่งผลให้เกษตรกร ขาดทุนจึงต้องเร่งแก้ไขเรื่องนี้

นอกจากนี้ เรื่องค่าเงินก็มีผลมากกับรายได้ของคนไทย ถ้าค่าเงินแข็ง คนรวยได้ประโยชน์ เพราะมีทรัพย์สินมาก เอาเงินไปช้อปปิ้งต่างประเทศในราคาถูก ขณะที่ผลกระทบจะเกิดกับคนจนที่มีรายได้น้อย วันนี้ค่าเงินเราแข็งว่าทุกประเทศในภูมิภาคนี้ และประเทศคู่ค้า ดังนั้นรัฐบาลต้องดูแลค่าเงินบาทอย่าให้แข็งเกินไป หรืออ่อนตัวเกินไป

อย่าคิดถึงแต่เรื่องส่งออก

นายณรงค์ กล่าวว่า ไม่ต้องการให้รัฐบาลมุ่งส่งเสริมกลุ่มผู้ส่งออกมากเกินไป เนื่องจากเมื่อค่าเงินบาทแข็งตัว กลุ่มนี้ก็จะปรับตัวเป็นนำเข้าสินค้ามาขายประเทศ ในขณะที่ผู้ผลิตในประเทศยังคงต้องแบกรับต้นทุนที่สูงอยู่ ไม่สามารถไปแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดได้ เพราะต้นทุนสูงกว่าราคาขาย เมื่อขาดทุนก็กู้เงินธนาคารก็ไม่ได้ เพราะธนาคารจะปล่อยเงินกู้ให้เฉพาะรายที่มีกำไร ซึ่งนอกจากจะไม่ให้กู้แล้วยังเรียกเงินคืนอีก ดังนั้นจึงไม่อยากเน้นการส่งออกสินค้าตามความต้องการของตลาด เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วต้องการสินค้าราถูกๆจากประเทศกำลังพัฒนา เพื่อขายสินค้าเทคโนโลยีสูงกลับคืนมา หากเราผลิตสินค้าราคาถูกๆ เราจะได้เงินเพียงนิดเดียว จึงต้องกำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์ราคการเกษตรให้แข่งขันกับต่างประเทศในโลกได้

"เสี่ยธวัชชัย"มอบโคตรพลอยให้สภา

นายธวัชชัย อนามพงษ์ ส.ส.จันทบุรี พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ที่ผ่านมาการทำธุรกิจอัญมณีใน จ.จันทบุรีทำรายได้ ให้กับประเทศ ถึง 2.5 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่ขณะนี้ราคาพลอยในประเทศตกต่ำเพราะสินค้าส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลมีมาตรการพยุงราคาหรือเพิ่มราคาอัญมณีให้สูงขึ้นเหมือนในอดีต
 
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจการค้าพลอยยังประสบกับปัญหาการนำเข้าพลอยดิบจากต่างประเทศ ที่แม้จะไม่มีการเสียภาษี แต่ยังมีปัญหามากมายเช่น การต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ จึงต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาตรงนี้ ซึ่งส่งผลต่อการค้าพลอยในประเทศไทย หากทำได้ก็พร้อมที่จะสนับสนุนนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีให้เป็นนายกฯ ให้นาน แต่ถ้าทำไม่ได้ขอให้เป็นแค่ 5 เดือน แล้วให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกฯ แทนจะขอบคุณมาก

ทั้งนี้ นายธวัชชัย ได้มอบพลอยอัดกระจก 3 ชนิดได้แก่ ทับทิม บุษราคัม ไพลิน ขนาด 2,500 กะรัต ซึ่งหากเป็นของจริง จะมีมูลค่าถึง 25,000 ล้านบาท ที่นำมาเป็นตัวอย่างระหว่างการอภิปราย มอบแก่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภาฯ ในขณะที่ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยนายมีชัย กล่าวว่า จะมอบให้กับสภาต่อไป

เร่งเยียวยาเหยื่อ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน

นพ.แวมะฮาดี แวดาโอะ ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อแผ่นดิน อภิปรายนโยบายแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ ไม่ร่วมมือด้วยเหตุผล 5 ประการ 1. ประชาชนไม่มีศักดิ์ศรี 2. ไม่มีความภาคภูมิใจ 3. ไม่มีโอกาสในทุกด้านโดยเฉพาะคุณภาพชีวิต 4.ไม่ได้รับความยุติธรรม และ 5. ไม่มั่นใจที่จะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วจะได้รับความปลอดภัยจากการปองร้าย

ทั้งนี้ ตนชื่นชมนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการยุติธรรม จนบรรจุเป็นนโยบายเร่งด่วน ที่จะต้องทำในปีแรก โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎหมายต่างๆ แต่ไม่มีการพูดถึงการเยียวยา เพราะนอกจากกฎหมาย ป.วิอาญา ที่ใช้ในการนำคนผิดมาดำเนินคดีแล้ว ยังมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่มีผลกระทบต่อผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก ทำให้ขาดความเท่าเทียมในการดำเนินคดี หรือ ทำให้เกิดความล่าใช้ในการเยียวยา

ดังนั้นจึงอยากฝากให้รัฐบาลเร่งเยียวยาเรื่องนี้โดยด่วน โดยกำหนดมาตรฐานและบรรทัดฐานให้ชัดเจนในการบังคับใช้ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน เพราะจากรายงานผลการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาใน 3 จังหวัดภาคใต้ พบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐใช้กฎหมายนี้เข้าไปควบคุมประชาชนจำนวนมากจนนำไปสู่การฟ้องร้องเพื่อให้ยกเลิกกการใช้กฎหมายดังกล่าว

แก้ของแพงเพื่อคนกินข้าวแกง

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอภิปรายถึงเรื่องปัญหาของแพงว่า ขณะนี้ประชาชนประสบปัญหาราคาสินค้าแพง แต่รัฐบาลเขียนเรื่องนี้ไว้เป็นนโยบายกว้างๆ เพียงสองข้อที่เป็นนามธรรม จนเกิดคำถามว่าจะทำได้อย่างไรและเมื่อไร จึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์ออกมาประกาศให้ความชัดเจน เรื่องสินค้าควบคุมทั้ง 33 ตัวว่าจะปรับลดราคาลงเมื่อไร และพรรคประชาธิปัตย์จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ว่าจะทำได้จริงหรือทำได้เพียงแค่จิตวิทยา และอย่าใช้วิธีการตลาดเล่นกล ที่ไม่ลดราคา แต่กลับลดปริมาณแทน รวมถึงทฤษฎีเศษสตางค์ ที่นายกฯ บอกว่าจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ นั้นเป็นเรื่องที่นายกฯเสนอบนเวทีปราศรัย มาเป็นสิบๆปีแล้ว ตนไม่อยากรู้ว่าแปลว่าอะไรแต่อยากรู้ว่าเมื่อไหร่จะทำได้สำเร็จ

"วันนี้นายกฯ รัฐมนตรีกินข้าวแกง คณะรัฐมนตรีก็ทำท่าว่าจะกินข้าวแกงตามด้วย ส่วนมื้ออื่นผมไม่รู้ แต่อยากให้ชาวบ้านที่กินข้าวแกงทั่วไป ได้กินของถูก และอยากรู้ว่าเมื่อไหร่ ที่แม่บ้านตื่นมาจะเจอของถูก มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งขอให้ทำให้สำเร็จ" นายสาทิตย์ กล่าว

แฉเซ็งลี้เก้าอี้ ปธ.ทีโอที-กสท 30 ล้าน

นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายถึงนโยบายด้านไอที ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายด้านนี้น้อยมาก ขณะที่รายงานของอังค์ถัด ระบุว่า เทคโนโลยีสาระสนเทศ เป็น ปัจจัยสำคัญต่อการเจิรญเติบโตของประเทศ แต่พบว่าประเทศไทยมีเครือข่ายบอร์ดแบนด์ เพียงแค่ 3% เป็นสถานการณ์น่าเป็นห่วง

นอกจากนี้ คนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงนี้ จะต้องสร้างความเชื่อมั่นกับคนในแวดวงเทคโนโลยีฯ และข้าราชการ แต่วันแรกที่เข้าทำงาน กลับออกมาสารภาพว่า ไม่ได้ตั้งใจที่จะมารับตำแหน่งนี้ และจะช่วยงานได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

"เป็นที่รู้ดีว่ากระทรวงนี้เกิดมาเพื่อแก้ปัญหาให้กับบริษัทมือถือยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งผมไม่ได้มีอคติกับบริษัทนี้ แต่กระทรวงนี้ ตั้งขึ้นมาเพื่อเจตนานี้จริง ๆ มีการแก้กฎหมาย พ.ร.ก. ภาษีสรรพสามิต และถือเป็นผลงานชิ้นโบแดง เจ้าของกระทรวงเดิม ได้บำเหน็จเป็นเลขาธิการพรรค และเป็นรมว.คลัง ควบรองนายกฯปัจจุบัน ประชาธิปัตย์พยายามคัดค้านมาตลอดตั้งแต่ตั้งกระทรวง"

นายศิริโชค กล่าวว่า ขอคำยืนยันจากนายมั่น พัฒโนทัย รมว.ไอซีที ว่ากล้ายืนยันหรือไม่ว่าจะยืนตามมติของรัฐบาลคมช. ที่ปรับลดการเสียภาษีกิจการโทรคมนาคม 0% โดยให้เหตุผลว่า 4 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐจ่ายภาษีจำนวนเกินกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ทำให้เกิดความเสียเปรียบต่อภาคเอกชน จึงอยากรู้จะยืนตามมตินี้หรือ แก้มตินี้เพื่อประโยชน์กับเอกชน

นอกจากนี้ กฤษฎีกายังได้ตีความกฎหมาย และสัญญาหลายฉบับว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น สัญญาร่วมทุน จัสมิน กับทรู ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเหลืออีกหลายฉบับ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา เช่นสัญญากับ เอไอเอส กับ แทค เกี่ยวกับอายุสัมปทาน และส่วนแบ่งรายได้ เรื่องนี้รัฐมนตรีจัดการอย่างไร

นายศิริโชค กล่าวว่า จากตัวอย่าง ที่ตนได้รับเอกสารลับ ลงวันที่ 12 ธ.ค. 50 ลงเลขที่ ทีโอที ชท./584 รายงานผลการจัดหางานจ้างเหมาโครงข่ายติดตั้งระบบโทรคมนาคม ซึ่งจะใช้เป็นจุดศูนย์รวมหน่วยงานราชการ มีการวางระบบเครือข่ายสื่อสารโดยจะแล้วเสร็จในเดือน เม.ย. 51 นี้ โดยสำนักงานศาลปกครอง จะต้องเข้ามาใช้ฯ เป็นหน่วยงานแรก โดยคณะกรรมการจัดซื้อได้สรุปให้จัดซื้อกับบริษัทแห่งหนึ่ง แต่มีปัญหาขัดผลประโยชน์กัน เพราะผู้มีอำนาจจ้องให้ล้ม จนขณะนี้ก็ยังไม่มีการจัดซื้อจัดจ้าง

"ยังไม่รวมอีกหลายโครงการเช่น ขณะนี้มีข่าวลือเกิดในกระะทรวงนี้เยอะมาก เพราะเกี่ยวข้องประโยชน์มหาศาล มีข่าวถึงหูว่าจะมีการเซ็งลี้ตำแหน่งประธาน ทีโอที และ กสท โดยมีการวิ่งเต้นขอเงินค่าตำแหน่งละ 30 ล้านบาท ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นเช่นไร แต่ภาพลักษณ์นี้ควรจะจัดการให้เรียบร้อย

"มั่น"สาบานเรื่องลงขันเพื่อนั่ง รมว.

ด้านนายมั่น พัฒโนทัย กล่าวชี้แจงว่า ข้อกล่าวหาเรื่องการลงขันเพื่อเข้ามารับตำแหน่ง รมว.ไอซีที ของตนที่ฮ่องกงนั้น ตนขอสาบานต่อหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ว่าไม่เป็นความจริง ตนอยู่ในพรรค และเป็นผู้ใหญ่ที่ได้รับการยอมรับนับถือจึงได้รับการจัดสรรจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยไม่มีการต่อรองตำแหน่งใดๆ

นอกจากนี้ ในกรณีที่กล่าวหาว่าตนไม่มีความรู้ด้านไอทีนั้น ขอยอมรับว่า เป็นความจริง แต่เมื่อรู้ว่ามารับกระทรวงนี้ รู้ว่ามีปัญหามาก ซึ่งตนจบด้านกฎหมาย แต่รู้ตัวว่ามีทั้งจุดอ่อน และจุดแข็ง คือไม่รู้เรื่องไอที ว่าเขาไปถึงไหน แต่จุดแข็งคือไม่มีเบื้องหลังว่า ใครมาเป็นแบ็ก ไม่มีบริษัทมือถือ หรือผู้ประกอบการรายใดมาเป็นแบ็ค จึงต้องการมาเคลียร์ใจกับนายศิริโชคในเรื่องนี้ และจะใช้จุดแข็งทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

ส่วนกรณีเรื่องวิ่งเต้นเรื่องตำแหน่งบอร์ดทั้งสององค์กรนั้น ตนยอมรับว่า ขณะนี้ บางหน่วยงานมีการลาออกจริง เช่น ทีโอที แต่ยืนยันว่าไม่ได้มีการกดดัน และบอกว่าถ้าอยู่ร่วมกันได้ จุดเชื่อมต่อก็จะไม่สะดุด แต่ตั้งใจว่า เมื่อนโยบายผ่านสภาแล้ว คณะกรรมการของกระทรวงการคลัง ก็จะเดินหน้าสรรหา คณะกรรมการชุดใหม่โดยไม่มีเงินเข้ามาเกี่ยวข้องสาบานได้ พรรคได้ส่งตนมาทำหน้าที่จะถูกใจประชาชนแค่ไหนก็ต้องดูต่อไป

"วุฒิพงษ์"ด่ากราดนักการเมือง

นายวุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ สนช. อภิปรายว่า ตนเป็นห่วงรัฐบาล และผู้นำรัฐบาลอาจจะตีโจทย์เหมือนรัฐบาลที่แล้ว ซึ่งโจทย์นี้ไม่ใช่โจทย์ 4 ปี แต่เป็นโจทย์ที่ทำใน 9 เดือนเท่านั้น ตนขอพยากรณ์ โดยการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ และทางโหราศาสตร์ ว่าไม่เกินสิ้นปีนี้ คงจะต้องมีรัฐบาลใหม่ และอายุรัฐบาลคงจะไม่ยืนยาวเท่าอายุนายกฯ

ทั้งนี้รัฐบาลอาจจะจบลงได้ 3 ทาง คือ 1 ผู้นำรัฐบาลต้องประกาศยุบสภา 2. มีสาเหตุมาจากความวุ่นวายจากการเป็นรัฐบาลผสมทั้ง 6 พรรค และไม่เกินสิ้นปีนี้ จะเห็นคนมาชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน หรือ ท้องสนามหลวง และ 3. เกิดการปฎิวัติอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงที่นายวุฒิพงษ์ อภิปรายอยู่นั้น ส.ส.พรรคพลังประชาชน หลายคน ได้ลุกขึ้นประท้วงเป็นระยะๆ โดยให้นายวุฒิพงศ์ อภิปรายในประเด็นเรื่องนโยบาย และไม่ควรกล่าวเสียดสีบุคคลอื่น

นายจตุพร พรหมพันธ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคพลังประชาชน กล่าวว่า นายวุฒิพงษ์ ได้พูดในสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับคำแถลงนโยบายของรัฐบาล ซึ่งในความเป็นจริงให้ นายวุฒิพงษ์ พูดสั่งลาก็ได้ เพราะจะทำหน้าที่อีกเพียงไม่กี่วัน ซึ่งนายวุฒิพงษ์ เองเป็นคนเขียนหนังสือคู่มือทรราช แต่ 19 กันยายน ก็ไปอยู่กับทรราช และยังอยู่ในบอร์ดของ บ.ทีโอที รวมถึงยังมีปัญหากับ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร รองปลัดกระทรวงกลาโหม อีกด้วย เรื่องนี้คนเขารู้กันทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตามนายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภา ขอความร่วมมือนายวุฒิพงษ์ ให้อภิปรายในประเด็น ส่วนเรื่องความคิดเห็นทางการเมืองนั้น ควรที่จะไปเสนอความเห็นที่รายการวิทยุของรัฐสภา เนื่องจากเวลาการอภิปรายมีจำกัด

นายวุฒิพงศ์ ยังคงอภิปรายในประเด็นทางเมืองต่อไป โดยกล่าวว่า ตนเป็นนักต่อสู้ทางการเมือง ไม่ใช่นักการเมือง เพราะนักการเมืองต่อสู้เพื่อแสวงหาตำแหน่ง และผลประโยชน์ แต่นักต่อสู้ทางการเมืองต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ฉะนั้นความเห็นอาจจะแตกต่างกันได้ ซึ่งเมื่อถึงช่วงนี้ ร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ ส.ส.สัดส่วนพรรคพลังประชาชน ได้ลุกขึ้นประท้วง และขอให้ถอนคำพูดดังกล่าว เพราะตนทำงานทางการเมืองมากว่า 32 ปี ประวัติไม่มีด่างพร้อย และไม่เคยทำอย่างที่นายวุฒิพงษ์พูดแต่อย่างใด และการอภิปรายในสภา ไม่ควรยืนล้วงกระเป๋า เหมือนนักเลงอย่างนี้

ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกขึ้นอภิปรายว่า เราหลายคนที่นั่งอยู่ในที่นี้ ประกอบอาชีพนักการเมือง ทุกอาชีพต้องมีทั้งคนดี และไม่ดี ไม่ได้มองว่าคนที่ประท้วงท่าน หรือตัวท่าน ใครเลวกว่ากันแน่ แต่เราต้องพูดกันในหลักการ เพราะเท่าที่ตนมาทำหน้าที่นักการเมือง 15 ปี ไม่เคยแสวงหาผลประโยชน์ ตนได้ตำแหน่งมาอย่างถูกต้อง ซึ่งยอมรับว่าช่วงปฏิวัติ ยืนอยู่คนละข้างกับรัฐบาลชุดที่ผ่านมา แต่ก็ไม่มีแนวคิดที่จะสนับสนุน การเปลี่ยนแปลงนอกระบบ ถึงให้ตำแหน่งก็ไม่เอา ดังนั้น นักการเมืองต้องสำรวจตัวเอง การที่มาสรุปที่ว่า พวกเราขาดๆเกิน แม้ว่ากติกาของเราจะขาดเกินไปบ้าง แต่เราก็มีนักการเมืองที่ดีมาบริหารประเทศ

"อย่างกรณีลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ก็ยังมีเสียงที่โนโหวต ซึ่งเสียงเหล่านั้น คนที่เป็นนักการเมืองก็ต้องรับฟัง แต่คิดว่าเป็นคนละเรื่องที่จะมาดูหมิ่นดูแคลนกัน ถ้าท่านลองมาทำพรรคการเมือง จะทราบว่า ยากลำบากแค่ไหนในการที่จะได้บุคคลกรที่ดี ดูอย่างพอเปิดให้มีการสรรหา ส.ว. คนลงเลือกตั้งไม่ถึง 30 คน วิ่งไปสรรหาเป็นพัน เพราะทราบว่า 1 คะแนน กว่าจะได้มา มันหนักหนาสาหัส ไม่ว่าคนที่อยู่ในพรรคผมหรือคนที่อยู่คนละฝั่งกับพรรคประชาธิปัตย์ อย่างน้อยผมก็เคารพในความมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะยึดถือวิธีทางที่ยึดโยงกับประชาชน"นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าจะเสนอเรื่องการปฎิรูปการเมือง หรืออะไรก็ตาม ก็เป็นสิทธิ์ และโอกาสดีกว่าพวกตนในปีที่ผ่านมา การมีส่วนร่วมในการเขียนกติกาทั้งหมด เราแทบไม่มีโอกาส แต่ก็พยายามประคับประคองให้สู่กระบวนการที่ถูกในระยะ 1 ปี แล้วให้ประชาชนตัดสิน ที่ตนลุกขึ้นมา ไม่ได้ประสงค์ที่จะเป็นเรื่องตอบโต้ไม่จบ แต่ขอความกรุณาให้ความเป็นธรรมกับพวกเราบ้าง ไม่ใช่ทุกคนที่เลวร้าย

นโยบายด้านสื่อต้องชัดเจน

นายภัทระ คำพิทักษ์ สนช. กล่าวในการอภิปรายนโยบายรัฐบาลตอนหนึ่งว่า การสร้างประชาธิปไตย ต้องได้รับความร่วมมือจากสื่อมวลชน ทั้งนี้ส่วนตัวขอสนับสนุนแนวคิดที่รัฐบาลจะปรับปรุงช่อง 11 ให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น อย่างไรก็ตามไรก็ตาม ท่าทีของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และนายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เกี่ยวกับการจัดระบบสื่อ ยังไม่มีความชัดเจนจนทำให้เกิดความแคลงใจในสังคม เพราะประชาชนรู้สึกว่ารัฐบาลที่เข้าบริหารประเทศมักจะใช้สื่อของรัฐมาเป็นเครื่องมือของพรรคการเมือง รวมทั้งสื่อมวลชนก็ยังคลางแคลงใจว่า ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพหรือไม่เช่นกัน

ดังนั้น การจัดระเบียบสื่อของรัฐจะไม่เป็นปัญหาเลย หากรัฐบาลตั้งอยู่บนหลักการว่าจะให้เป็นเสรีภาพของประชาชนที่นำหน้าโดยเสรีภาพของสื่อมวลชน

"แต่ดูเหมือนว่าทั้งนายกฯ และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ต้องการที่จัดระบบสื่อด้วยการเปลี่ยนแปลงทัศคติมากกว่า โดยเน้นที่จะเพิ่มตัวละคร และผู้เล่นมากขึ้น เพื่อให้มีความเป็นกลาง และเป็นธรรม แต่ถามว่าจะเป็นกลาง และเป็นธรรมในทัศนะของนายกฯ จะเป็นความเป็นกลางและเป็นธรรมในสายตาของคนอื่นด้วยหรือไม่ เช่น หากมีเวลาให้ฝ่ายรัฐบาลแล้วจะมีเวลาให้ฝ่ายค้านหรือเปล่า ดังนั้น อยากให้รัฐบาลปล่อยเรื่องทัศนคติไป แต่ไปเน้นเรื่องการปรับปรุงทางโครงสร้างดีกว่า ซึ่งทาง สนช.ได้วางโครงสร้างเรื่องนี้ไว้ด้วยการยกเลิกกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนหลายฉบับ อาทิ พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 และคำสั่งคณะปฏิวัติหลายฉบับ" นายภัทระกล่าว

นายภัทระ กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวรู้สึกประหลาดใจที่นายสมัคร ยืนยันและสาบานว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา มีคนตายเพียงคนเดียว โดยส่วนตัวเห็นว่า นายกฯ ควรตระหนักว่าสังคมอยากให้ท่านเป็นตัวของตัวเอง และเปลี่ยนแปลง ดังนั้นหากนายกฯ พูดผิดก็ขอให้พูดคำว่า ขอโทษ หากนายกฯ มีท่าทีต่อความเป็นจริง และนึกถึงความคาดหวังของประชาชนเชื่อว่าจะทำให้การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเป็นไปด้วยดีด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น