xs
xsm
sm
md
lg

"ปราโมช"เบรกหมักผุดทีวี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์สอนมวย "สมัคร" ระบุกม.คลื่นความถี่ มาตรา 80 ห้ามตั้งทีวีใหม่ ต้องรอ กสช.เกิดก่อน ย้ำแปลงทีไอทีวีเป็นทีวีสาธารณะทำตามกฎหมายไม่ได้เข้าข้างใคร ปลงชีวิตก็เป็นอย่างนี้ เมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นก็ลำบาก "สมเกียรติ" ตอกซ้ำ ยันทีไอทีวีถูกยึดสัมปทานก่อนมาเป็นทีวีสาธารณะ การันตีข่าวเป็นกลางเพราะกฎหมายกำหนด ปชป.ชี้นายกฯเปิดทีวีช่องใหม่หวังให้เป็นกระบอกเสียงตัวเอง TPBS สู้ตาย “ขวัญสรวง”ยินดี “หมัก-เพ็ญ” ตั้งทีวีเสรี ลั่น เดินหน้าตั้งไข่ช่องสาธารณะ เชื่อประชาชนให้กำลังใจ แนะสมุนแม้วกลับไปดูเหตุยุบทีไอทีวีก่อนพูด ชี้ มีกฎหมายคุ้มกบาลรัฐห้ามล้วง

นายปราโมช รัฐวินิช อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้ารับทราบนโยบายจากนายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี วานนี้ (11 ก.พ.) ว่า ผู้บริหารของกรมประชาสัมพันธ์มาพบผู้บังคับบัญชาเพื่อรับนโยบายและแนวทางการดำเนินการ ส่วนรายละเอียดก็ต้องรอรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง คงเร็วไปหากจะบอกว่าขั้นตอนและแนวทางอาจจะไม่ตรงกับแนวทางเดิม ซึ่งกรมประชาสัมพันธ์นั้นเป็นประชาสัมพันธ์ของรัฐก็ต้องทำหน้าที่ สนองนโยบายและสร้างความเข้าใจกับประชาชนในแนวนโยบายของรัฐบาล

นายปราโมช กล่าวถึงแนวคิดการเปิดทีวีเสรีอีกช่องหนึ่งของรัฐบาล ตามที่ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีระบุว่า อาจจะเปิดขึ้นและรับพนักงานทีไอทีวีเดิมกลับเข้ามาทำงานว่า ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ก่อนจึงจะสามารถพิจารณาตั้งสถานีโทรทัศน์ใหม่ได้ แม้วันนี้จะมีคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) แล้วแต่ก็ยังเป็นการจัดการทางด้านเทคนิคเท่านั้น แต่ยังอนุญาตให้จัดตั้งสถานีไม่ได้

"เนื่องจาก พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. 2543 ยังบังคับใช้อยู่ คือมอบหมายให้หน่วยราชการที่รับผิดชอบดำเนินการไปตามกฎหมายในระหว่างที่ยังไม่มี กสช.ซึ่งในมาตรา 80 นั้น ห้ามอนุญาตให้จัดตั้งสถานีใหม่ ห้ามอนุญาต ให้ใช้คลื่นความถี่และห้ามอนุญาตให้ขยายบริการเพิ่มเติม ซึ่งเป็นอำนาจของ กสช. โดยขณะนี้กฎหมายประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติมาแล้ว กำลังอยู่ในขั้นตอนของการลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯ จึงต้องใช้กฎหมายเดิม ในการดำเนินการ และหากมีการแก้ไขกฎหมายก็ต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร

"อย่างเรื่องของการทำงานของสื่อสารธารณะ ที่โอนมาจากทีไอทีวี ผมก็ดำเนินการตามกฎหมายเพราะในวันนั้นกฎหมายมีผลบังคับใช้ เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา เจ้าหน้าที่ก็ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย"

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกรัฐมนตรีระบุว่าการแปลงทีไอทีวีเป็นทีวีสาธารณะนั้น ไม่เป็นธรรมกับคนทำงาน นายปราโมช กล่าวว่า เมื่อ 2-3 เดือนที่แล้วก็เป็นมุมมองจากผู้คนเสนอกันอย่างหลากหลาย แต่เมื่อเป็นกฎหมายที่ผ่าน สนช.ทั้ง 3 วาระในฐานะภาครัฐก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายไม่ปฏิบัติตามกฎหมายได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้กรมประชาสัมพันธ์อยู่ในฐานะที่ลำบากหรือไม่ นายปราโมช กล่าวว่า ชีวิตก็เป็นอย่างนี้ มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเป็นปกติ ผู้ใหญ่คงเข้าใจบทบาทและหน้าที่เป็นอย่างไร ก็ต้องขอเวลาดูอีกระยะหนึ่ง

นายปราโมชกล่าวถึงการดำเนินการกับการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ ดาวเทียมพีทีวีว่าขณะนี้ยังไม่มี กสช. กรมประชาสัมพันธ์ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่ากฎหมายประเทศไทยบังคับใช้ไม่ทันเทคโนโลยีที่ออกมา ทำให้เกิดปัญหา หากผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมพีทีวีจะดำเนินการฟ้องร้องตนที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่กับสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมอื่นๆ นั้นกรมประชาสัมพันธ์เคยตรวจสอบตักเตือนมาหลายสถานีแล้ว ไม่ใช่เฉพาะสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเท่านั้นรวมไปถึงวิทยุชุมชนและเคเบิ้ลทีวีด้วย

ปัดยึดทีไอทีวีมาเป็นทีวีสาธารณะ

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจสารสนเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีระบุว่า กฎหมายทีวีสาธารณะหรือ พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยเป็นกฎหมายที่เขียนขึ้นมาเพื่อยึดทีไอทีวีว่า กฎหมายดังกล่าว ไม่เกี่ยวกับการยกเลิกสัมปทานทีไอทีวี เนื่องจากการยกเลิกสัมปทานทีไอทีวีนั้นมีมาก่อนแล้ว

"กฎหมายฉบับนี้เพียงนำเอาทีไอทีวีซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกรมประชาสัมพันธ์เรียบร้อยแล้ว มาเปลี่ยนรูปให้มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างครบถ้วน เป็นกลาง ไม่ใช่การออกกฎหมายไปยึดทีไอทีวีมา แล้วผู้ใดที่คิดว่าได้รับความเสียหายจากกรณีนี้ ก็ยังมีกระบวนการทางศาล ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ไปตัดสิทธิดำเนินการใดๆ เลย"

กม.บังคับทีวีสาธารณะต้องเป็นกลาง

นายสมเกียรติ กล่าวว่าทีวีสาธารณะไม่มีหน้าที่ที่ต้องไปต่อต้านหรือสนับสนุนพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใดๆ เนื่องจากกฎหมายเขียนเอาไว้ชัดเจนว่า การนำเสนอข้อมูลข่าวสารต้องมีความเที่ยงตรง เป็นกลางและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะการนำเสนอรายการที่เกี่ยวกับการเมือง ต้องนำเสนอข้อมูลความเห็น อย่างครบถ้วนรอบด้าน เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องห่วงเรื่องการที่ทีวีสาธารณะจะไม่เป็นกลาง แต่หากพบว่ามีอะไรไม่เป็นไปตามหลักการดังกล่าว ก็จะมีช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน

"ถ้ารัฐบาลหรือใครพบเห็นว่า เมื่อช่องนี้ออกอากาศอย่างเต็มรูปแบบแล้ว รายการไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ก็ไปร้องเรียนได้ แล้วข้อร้องเรียนนี้ ในกฎหมายก็กำหนดไว้แล้วว่าจะต้องมีการทำรายงานเสนอต่อรัฐสภาประจำทุกปี เพื่อให้ตรวจสอบได้ว่ามีเรื่องร้องเรียนใดบ้าง"

นายสมเกียรติกล่าวว่า ในบทเฉพาะกาลกำหนดให้ตั้งคณะกรรมการนโยบายชั่วคราวขึ้นมา เพื่อดำเนินการในการเปลี่ยนผ่านให้เริ่มมีทีวีสาธารณะและหลังจากนั้นก็มีกระบวนการสรรหากรรมการองค์การที่น่าเชื่อถือ เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่ถูกการเมืองแทรกแซง เพราะการทำหน้าที่สื่อมวลชนที่จะได้รับความน่าเชื่อถือได้นั้น ต้องไม่มีการเมืองเข้ามาแทรกแซงและนำเสนอใต้กรอบจริยธรรมที่กฎหมายกำหนดไว้

"อยากฝากบอกว่า ให้รัฐบาลสบายใจ ช่องนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ตั้งขึ้นมา เพื่อเลือกข้างทางการเมืองใดๆทั้งสิ้น เป็นเพียงช่องที่จะมาเสนอข้อมูลข่าวสาร อย่างครบถ้วนรอบด้านให้แก่ประชาชน แล้วก็เป็นทางเลือกใหม่ให้กับเด็ก เยาวชน รวมถึงประชาชนไทยที่ขาดโอกาสในการรับชมรายการดีๆ ส่วนรัฐบาลเองก็มีช่องทาง สื่อสารของรัฐบาลอยู่แล้ว เช่น ทีวีช่อง 11 ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลไกหนึ่งในการประชาสัมพันธ์ระหว่างความคิดเห็นของรัฐบาลไปสู่ประชาชนได้อยู่แล้ว"

เชื่อ "สมัคร" หวังตั้งทีวีเพื่อเป็นกระบอกเสียง

นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าแนวทางที่ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ประกาศจะจัดตั้งสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ เพื่อให้อดีตพนักงานทีไอทีวีเข้าทำงานเป็นแนวทางเดียวกับที่นายจักรภพ เคยออกมาพูดก่อนหน้านี้ว่าจะฟื้นสถานีโทรทัศน์แบบทีไอทีวีขึ้นมา ซึ่งไม่ว่าจะออกมาแบบไหน หรือช่องทางใด สะท้อนชัดเจนว่านายสมัครและรัฐบาลต้องการ สถานีโทรทัศน์ส่วนตัวที่พร้อมจะเป็นกระบอกเสียงทางการเมือง ได้ทุกเมื่อ มากกว่าที่จะส่งเสริมให้สื่อได้ทำหน้าที่อย่างเที่ยงธรรมตามหลักจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ

นายอภิชาต กล่าวว่า ที่ผ่านมาสังคมข้องใจมากกับท่าทีของสถานีโทรทัศน์ ไอทีวีหรือทีไอทีวีช่วงที่ถูกบริหารโดยเครือชินคอร์ปและคนของพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ท่าทีที่แสดงออกโดยผ่านทางพิธีกร ผู้ประกาศข่าว หรือรายการข่าวในหลายช่วงตอน เห็นชัดว่ามีวาระซ่อนเร้น และไม่เป็นกลาง แต่คนเหล่านั้นคือคนมีฝีมือในสายตาของ นายสมัครและนายจักรภพที่จะต้องเรียกมาใช้งานอีกครั้ง นอกจากนี้การที่นายสมัครพูดชัดว่ารับไม่ได้กับการจัดตั้งไทยพีบีเอส ก็ยิ่งน่าห่วงว่าสถานีโทรทัศน์เพื่อประโยชน์สาธารณะแห่งแรกของประเทศไทยมีอุปสรรคมากกว่าที่คิด

"ความคิดเรื่องการมีกระบอกเสียงส่วนตัวของนายสมัครไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่ได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่เป็น รมว.มหาดไทยหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ออกหนังสือพิมพ์เจ้าพระยา ต่อมาออกหนังสือพิมพ์เดลิมิเรอร์ ช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกม็อบขับไล่ ก็ได้จัดรายการโทรทัศน์เชียร์ พ.ต.ท.ทักษิณสุดลิ่มทิ่มประตู มาถึงวันนี้มีอำนาจรัฐอยู่ในมือแล้ว ใช้สื่อในเครือกรมประชาสัมพันธ์ออกรายการจ้อฝ่ายเดียวไม่พอ คิดไกลจะตั้งสถานีโทรทัศน์ส่วนตัวขึ้นมาอีก นายสมัครและนายจักรภพอยากเห็น สื่อของรัฐทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง และเป็นธรรมจริงอย่างที่พูด ก็ควรจะใจกว้างจัดเวลาให้กับฝ่ายอื่นๆ ที่คิดต่างกับรัฐบาลด้วย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน หรือภาคประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิรับรู้ข้อมูลครบถ้วนอย่างแท้จริง"

"จักรภพ"ขอตั้ง กก.ศึกษาเปิดทีวีใหม่

นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าแนวคิดของ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมที่จะตั้งฟรีทีวีเพิ่มขึ้นอีกช่อง เป็นการพูดถึงทางเลือกที่สำคัญ ซึ่งอยู่ในแผนการแก้ไขเรื่องการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ของประชาชน แต่ขณะนี้คงต้องฟังอีกหลายความคิดเห็นหากจะเพิ่มสถานีโทรทัศน์

"เราต้องแยกสื่อออกเป็น 2 กลุ่มคือ สื่อสิ่งพิมพ์ที่รัฐบาลไม่มีอะไรเลยที่จะเข้าไปเกี่ยวข้อง และสื่อวิทยุโทรทัศน์ ที่เป็นของรัฐ เราจะเดินหน้าไปสู่การประเมินว่า ประชาชนได้รับความเป็นธรรมในเรื่องของมูลข่าวสารในช่วงเวลาที่ผ่านมาหรือไม่ หากพบว่าประชาชนได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วนทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ เราก็จะแก้ไขและสิ่งที่นายกรัฐมนตรีพูดเป็นวิธีการหนึ่งที่จะใช้ในการแก้ไข"

นายจักรภพ กล่าวว่า จะตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาการรับรู้และความสมดุลย์ของ ข่าวสารหรือคณะกรรมการอาจจะศึกษาและนำเสนอนโยบายซึ่งถือว่าเป็นการเปิด โอกาส ให้หลายฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นและรับทราบความคิดเห็นของฝ่ายต่าง ๆ ก่อนที่จะตัดสินใจ

อ้างเอาปัญหาเป็นตัวตั้งไม่ใช่เอา กม.

ส่วนจะเปิดสถานีโทรทัศน์ระบบ UHF เพิ่มหรือไม่นั้น นายจักรภพ กล่าวว่า เป็นทางเลือกหนึ่ง โดยในการพิจารณาจะเอาปัญหาของประชาชนเป็นตัวตั้ง อย่าไปเอา ทรัพยากรในวงการสื่อ หรืออย่าไปคิดว่า มีคลื่นหรือไม่มีคลื่น มีกฎหมาย หรือไม่มีกฎหมายเป็นตัวตั้ง เพราะอย่าลืมว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา เราอยู่ในช่วงเผด็จการก็ยังเคารพกฎหมาย เมื่อมาเป็นรัฐบาลในยุคประชาธิปไตย จึงจำเป็นต้องประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเผด็จการว่ามีการดำเนินการ โดยอ้างคำว่า กฎหมายหรือเป็นการใช้อำนาจรัฐที่เป็นเผด็จการหรือไม่ รวมถึงการเกิดขึ้นของสื่อในระหว่างนั้นด้วย

"แนวความคิดนี้ยังต้องมีการปรึกษาหารือ โดยเฉพาะการลงทุนทำสถานีโทรทัศน์ ที่เป็นการลงทุนของรัฐ จึงต้องมองหลายมิติเพราะฉะนั้นทุกอย่างจะเกิดขึ้นหลังจากที่ได้มีการประเมินและศึกษาก่อน โดยภายในหนึ่งเดือนนี้หลังจากที่ได้รับผิดชอบงานจะมีการชี้แจงให้สื่อรับทราบว่าจะมีแนวทางการดำเนินงานและระยะเวลาที่ชัดเจน"

พร้อมรื้อ กม.ทั้งระบบหากไม่เป็นธรรม

ผู้สื่อข่าวถามว่า การพิจารณาจะรวมถึงสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมพีทีวี เข้ามาด้วยหรือไม่ นายจักรภพ กล่าวว่า จะรวมมาพิจารณาด้วย ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับสื่อ จะนำมาพิจารณาทั้งหมด ที่ผ่านมาเราใช้เวลากับการบริหารงานสื่อของรัฐในลักษณะสมบัติผลัดกันชม ทำให้ไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน จึงต้องประเมินในภาพรวมกันใหม่ทั้งหมด เช่น สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 เป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีเครือข่ายกว้างขวางที่สุด แต่มีปัญหาเรื่องคุณภาพ

ส่วนที่มีกระแสข่าวสถานีโทรทัศน์พีทีวี จะออกอากาศวันที่ 15 ก.พ.นี้นั้น นายจักรภพ ยืนยันว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานีพีทีวีทั้งในเรื่องของหุ้น การบริหาร หรือความสัมพันธ์ส่วนตัว ยังต้องเพิ่มความระมัดระวัง เพื่อให้เกิดความกังวลว่าจะเข้าไปเอื้อประโยชน์ให้กับคนที่รู้จักกัน เพราะฉะนั้นพีทีวีจะเปิดหรือไม่เปิดเป็น เรื่องของพีทีวี นอกจากนั้นพีทีวีอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของการบริหารงานสื่อภาครัฐ เช่นเดียวกับสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมอื่น ๆ ตนจะให้ความเป็นธรรมกับทุกคนตามกรอบของกฎหมาย หากกฏหมายไม่เป็นธรรม ก็ต้องแก้ไขทั้งระบบไม่ใช่เพื่อสถานีโทรทัศน์ใดสถานีโทรทัศน์หนึ่งเท่านั้น

ยังกั๊กเด้ง-ไม่เด้งอธิบดีกรมกร๊วก

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการปรับย้ายนายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาถูกวิจารณ์ว่าเอนเอียงเข้าข้าง คมช. นายจักรภพกล่าวว่า จะแยกแยะข้าราชการเป็น 2 กลุ่มคือ 1.กลุ่มที่ปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลเผด็จการหรือประชาธิปไตยเข้ามาบริหาร เขาก็ต้องทำตามนโยบาย ไม่อย่างนั้นจะขัดระเบียบวินัยข้าราชการ ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเห็นใจ 2.ข้าราชการบางส่วนที่มีความ เอนเอียงอย่างชัดเจน พูดง่ายๆ คือทำนอกหน้าที่ ก็ต้องพิจารณาอีกแง่หนึ่ง ส่วนกรณีของ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นแบบไหนนั้น ยังไม่ได้พิจารณา

นายจักรภพ ปฎิเสธข่าวที่ว่าได้ลงนามคำสั่งให้นายปราโมช รัฐวินิช อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ออกจากตำแหน่ง โดยยืนยันว่า เป็นเพียงข่าวลือ นายปราโมช ยังคงทำหน้าที่อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ต่อ

แหล่งข่าวระดับสูงในกรมประชาสัมพันธ์ เปิดเผยว่าข่าวการปลดนายปราโมชนั้น มีแนวโน้มเป็นไปได้สูง เนื่องจากพบว่า นายปราโมชเข้าไปเกี่ยวข้องกับความไม่ชอบมาพากลในหลายเรื่อง และยังพบว่าน่าจะมีรายได้จากบริษัทค่ายเพลงยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง จึงมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการสั่งย้ายไม่เกิน วันที่ 1 มี.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าวันเดียวกันนี้ นายปราโมชได้เดินทาง เข้าพบนายจักรภพ ถึง 2 ครั้ง โดยในช่วงเช้าเป็นการนำข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์เข้าแสดงความยินดี ขณะที่ในช่วงเย็น เวลา 17.30 น.นายปราโมชได้เดินทาง เข้าพบ นายจักรภพอีกครั้งภายหลังมีข่าวลือในตลาดหลักทรัพย์ว่าได้มีการลงนามคำสั่งปลดนายปราโมชแล้ว และทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่านายปราโมชมีสีหน้าไม่สู้ดีนัก

"ณัฐวุฒิ" ยันพีทีวีพร้อมเป็นฟรีทีวีได้

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมพีทีวี กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าอีก 1-2 วันจะมีทีวีช่องใหม่เกิดขึ้นจนถูกมองว่า อาจจะเป็นสถานีโทรทัศน์พีทีวีว่า พีทีวีพร้อมที่จะออกอากาศมานานแล้ว เดิมตั้งใจจะออกอากาศในวันที่ 1 มี.ค.2550 แต่ถูกสกัดจากฝ่ายที่ยึดอำนาจ เมื่อบ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติอีกครั้งก็น่าจะออกอากาศได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็ออกอากาศบ้าง 4-5 ชั่วโมง โดยเช่าช่วงเวลาของทีวีดามเทียมช่องเอ็มวี หลังจากนั้นก็อยู่ระหว่างเตรียความพร้อมในทุกๆ ด้าน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตน และนายจตุพร พรหมพันธ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน และนายจักรภพ ได้ออกจากพีทีวีมานานแล้วเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จึงไม่ทราบว่าผู้ใหญ่ในรัฐบาลติดต่อเพื่อให้ออกอากาศเป็นฟรีทีวีหรือไม่ ทั้งนี้หากในอนาคตหากได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ภาพไม่ว่าจะเป็นรูปแบบทีวีผ่านดาวเทียมหรือฟรีทีวีเชื่อว่าพีทีวีมีความพร้อมทั้งในส่วนของเนื้อหารายการและในส่วนของเทคนิค

ด้าน นายจตุพร กล่าวว่า เบื้องต้นทราบมาว่า พีทีวีจะมีการทดลองออกอากาศ อีกครั้งในวันที่ 15 ก.พ.ทางช่องเอ็มวีซึ่งเป็นช่องทีวีดาวเทียม ส่วนทีวีช่องใหม่ที่ นายสมัครระบุจะหมายถึงพีทีวีหรือไม่ตนไม่ทราบ แต่บังเอิญพีทีวีจะมีการออกอากาศ ในวันที่ 15 ก.พ. ซึ่งตนมองว่าเป็นเรื่องที่ชอบธรรม เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า พีทีวีถูกสกัดกั้นจากทหารมาตลอดแต่เมื่อวันนี้บ้านเมืองมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น สถานการณ์เปลี่ยนไป ผู้บริหารพีทีวีก็ย่อมมีการปรับเปลี่ยนเป็นธรรมดา ส่วนจะเป็นฟรีทีวีเหมือนกับสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 , 5 , 7 , 9 ได้หรือไม่นั้นตนไม่ทราบ

จี้ "สมัคร" พูดให้ชัดทิศทางทีวีสาธารณะ

นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทุกรัฐบาลก็เข้ามาจัดระเบียบสื่อของรัฐอยู่แล้ว และไม่เคยให้เสรีกับสื่อภาครัฐ ทุกช่องที่เป็นสื่อของรัฐไม่ว่าจะโทรทัศน์หรือวิทยุ ส่วนใหญ่เหมือนกับการเป็นกระบอกเสียงในการทำประชาสัมพันธ์ โฆษณาผลงานของรัฐบาลเกือบจะฝ่ายเดียว

นายไชยยงค์ กล่าวว่า ถ้านายจักรภพ จะมาจัดระเบียบสื่อของรัฐให้เข้มข้น มากกว่านี้ ตนมองไม่ออกว่าต่อไปสื่อของรัฐจะไม่นำเสนอข่าวที่เป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาลเลยหรืออย่างไร ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้เท่ากับว่าสื่อของรัฐไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรให้กับประชาชนเลย เป็นกระบอกเสียงให้กับรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นสิ่งที่ ไม่ถูกต้อง และไม่ควรเกิดขึ้นหรือไม่ควรกระทำในยุคที่เราบอกว่าประเทศเรากำลังก้าวไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง

นายไชยยงค์ กล่าวว่า ขณะนี้เรามีทีวีสาธารณะแล้วแต่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์สร้างเงื่อนไข และความไม่มั่นใจให้กับประชาชนว่าทีวีสาธารณะภายใต้การดูแลของรัฐบาลชุดนี้จะเป็ตไปตามที่รัฐบาลชุดที่แล้ววางไว้หรือไม่ เพราะฟังจากนายกรัฐมนตรีดูเหมือนว่าไม่เห็นด้วยกับทีวีสาธารณะ ทั้งที่ทีวีสาธารณะควรมีมานานแล้ว เพราะหลายประเทศที่เจริญเขาก็มีสื่อสาธารณะให้เป็นทางเลือกของประชาชน ตนจึงต้องการเห็นความชัดเจนของรัฐบาลชุดนี้ต่อทิศทางของทีวีสาธารณะ

แนะสมุนแม้วดูเหตุยุบทีไอทีวี

นายขวัญสรวง อติโพธิ ประธานคณะกรรมการชั่วคราวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส(TPBS)หรือทีวีสาธารณะ ให้สัมภาษณ์กับรายการจมูกมดทางช่อง 7 ถึงการที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีมีแนวคิดจะตั้งทีวีเสรีขึ้นมาอีกหนึ่งช่องว่า ตนรู้สึกว่าขณะนี้คล้ายกับมีโต๊ะและที่นั่งอยู่หนึ่งชุดแล้ว ตอนนี้ผู้คนกับกิจการเก่าก็ได้ออกไป ฉะนั้นขณะนี้มีสถานีที่เป็นของประชาชน พวกเราเพียงมาในชาติใหม่แต่โต๊ะเดิมก็มาทำทีวีสาธารณะ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพวกเก่ากับผู้คนเดิม จะมาโยงกันระหว่างไอทีวี ทีไอทีวี และไทยพีบีเอสมันไม่ได้ เราต้องทำหน้าที่ของเราไป

ผู้ดำเนินรายการถามว่าทีพีบีเอสสามารถล้มได้ใช่หรือไม่ นายขวัญสรวง กล่าวว่า ได้ทางนิติบัญญัติ แต่ถ้าถามว่าจะโดนล้มหรือไม่นั้นตนตอบไม่ได้ แต่ทั้งนี้ขณะนี้ยังไม่มีใครมาพูดกับทีพีบีเอส ส่วนกรณีที่นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีบอกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงพ.ร.บ.กระจายเสียงก็แล้วแต่ท่าน เพราะเราก็ทำงานของเรา

เมื่อถามว่าถ้าจะเปลี่ยนแปลงอะไรในทีพีบีเอสต้องเปลี่ยนกฎหมายใช่หรือไม่ นายขวัญสรวง กล่าวว่า ถูกต้อง แต่ทั้งนี้ในเมื่อมันเป็นโต๊ะสาธารณะแล้วเขาเขียนในมาตรา 24 เรื่องการจะพ้นตำแหน่งของกรรมการนโยบายก็มีเต่เรื่องตาย ลาออก ทำผิดกฎหมาย คุณสมบัติไม่ถูกต้อง รวมทั้งกรรมการสรรหาชุดใหม่เขาก็ตั้งมาตั้งแต่ต้นในกฎหมาย เขาจะสรรหามา 9 คน

“ในมาตรา 56 ก็เขียนป้องกันไว้ชัดเจนนะครับว่าทางฝั่งรัฐจะก้าวล่วงมาไม่ได้ ยังไงก็แล้วแต่ฟังดูว่าจะหลุดลอยไปจากควบคุมคงไม่ใช่นะครับ เพราะเขาเปิดให้สาธารณะชนเข้ามาควบคุมดูแลเต็มที่ มีสภาผู้ชม มีการร้องเรียน มีกฎจรรยาบรรณ”นายขวัญสรวง กล่าว

นอกจากนี้ ทางเราก็วางคนนอกเข้ามาในโครงสร้างของเราเต็มไปหมด เขาเขียนความสัมพันธ์ไว้ว่าต่อปีก็ต้องไปรายงานต่อสภาอย่างถี่ถ้วน ตนคิดว่ามันก็เป็นทีวีชนิดที่สาม ทีวีสาธารณะที่เข้ามาเสริมกับทีวีของรัฐและทีวีพาณิชย์ มันจะทำให้การรับรู้สื่อของผู้คนในชีวิตประจำวันมันก็น่าจะสมดุลและครบเครื่องขึ้น ซึ่งตนก็ไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องไปเป็นขั้ว หรือไปอยู่ตรงกันข้ามอะไรกับใครเขา

เมื่อถามว่ารับคนเก่าของทีไอทีวีมากี่คนแล้ว นายขวัญสรวง กล่าวว่า รับเข้ามาตั้ง 4-5 ร้อยคนแล้ว อย่างไรก็ตามในในช่วง 3 เดือนเป็นการจ้างชั่วคราวตามเนื้องาน และเมื่อพ้น 3 เดือน คือเดือนพ.ค.เป็นต้นไปก็จะคัดสรรคนที่ได้เข้ามาสมัคร ซึ่งมีคนทีไอทีวี 800 กว่าคนก็อยู่ในนั้นด้วย ก็จะรับมาทำและทำระยะยาว

กรณีที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าจะหาช่องให้กับคนเก่าของทีไอทีวีได้ทำและอาจจะมีการนำมาเปรียบเทียบกับทีวีสาธารณะว่าใครจะเก่งกว่ากัน นายขวัญสรวง กล่าวว่า “ยินดีเลยครับ ก็ผมบอกแล้วไงว่ามันจะได้ครบเรื่องขึ้น” เพราะโดยทางข่าวถ้ามุ่งไปที่คำว่าเป็นกลางตนคิดว่ามันเด๋อ ทั้งที่จริงควรจะมุ่งว่าทำอย่างไรให้ผู้คนในบ้านเมืองรับข่าวรอบด้านเป็นการดีที่สุด ก็จะทำให้คนมีวุฒิภาวะในการตัดสินใจเรื่องบ้านเมืองของเขาเองได้ ซึ่งขณะนี้เรามุ่งไปตรงนั้น

“ถ้าตัวสื่อไปตั้งหลักที่นู่น ที่นี่เอง อันนี้ถือว่าพลาดแล้วหละ และผมก็ไม่รู้ว่าความเก่งนี่หมายถึงอะไร แต่ของเราเรามุ่งไปทางนั้น”นายขวัญสรวง กล่าว

เมื่อถามว่ากรรมการทั้ง 5 คนได้มีการพูดกันและวางกลยุทธ์ตั้งรับหรือยัง นายขวัญสรวง กล่าวว่า แน่นอนมันเป็นเรื่องที่ต้องจับตาและสนใจเพราะมีความเกี่ยวข้อง โดยมีการตั้งหลักกันอยู่ว่ากฎหมายเขาเขียนเว้นไว้ให้เราทำงานได้ และผู้คนก็เริ่มผูกพันให้กำลังใจเข้ามา เราก็จะลุยของเราไปอย่างนี้

ต่อคำถามที่ว่า ทั้งนายกฯและนายจักรภพติดใจที่มาที่เอาทีวีมาแปรสภาพ นายขวัญสรวง กล่าวว่า โต๊ะตัวก่อนมันเป็นชาติก่อน และลองย้อนกลับดูภูมิสิว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วพวกตนเองก็มีพระราชบัญญัติเรียบร้อยแล้วเราถือว่าเป็นชาติใหม่ภพใหม่

เมื่อถามว่าขณะนี้เป็นคณะกรรมการชั่วคราวแล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่าคณะกรรมการถาวรรัฐบาลจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแต่งตั้ง นายขวัญสรวง กล่าวว่า ต้องให้เกียรติชุดของคณะกรรมการสรรหาที่ตั้งมา 15 คนด้วยกัน ซึ่งมีการประชุมมา 2 ครั้ง ได้ประธานคือนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ ซึ่งจากนี้มีเวลาอีก 5 เดือนที่จะต้องคัดสรรกรรมการชุดใหม่อีก 9 คน ส่วนพวกตนก็วางเขตอีก 5 เดือนและก็จะลุยเต็มที่
กำลังโหลดความคิดเห็น