xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นผลศาลวันนี้TITVอยู่หรือไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - จับตาศาลปค.มีคำสั่งวันนี้ ( 17 ม.ค.) กรณีให้ทีไอทีวียุติการแพร่ภาพ ด้านคกก.ชั่วคราว ทีพีบีเอส แจงหากปล่อยให้แพร่ภาพต่อ อาจมีปัญหาข้อ กม. ด้านขวัญสรวงรับหนักใจงานครั้งนี้ เผยมีคนขอใบสมัครกว่า 1,000 รายแล้ว ส่วน“ทิพาวดี”รับ กปส.โอนเงิน 500 ล้านให้ ไทยพีบีเอส เพื่อบริหารจัดการช่วงเปลี่ยนผ่านแล้ว พร้อมสั่ง สปน.ตั้งกก.ผู้ทรงคุณวุฒิ 15 คน เป็นกรรมการสรรหาบอร์ดถาวร 9 คน

วานนี้ ( 16 ม.ค.) นาย ชาชิวัฒน์ ศรีแก้ว ตุลาการเจ้าของสำนวน ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนฉุกเฉินกรณีที่พนักงานบริษัททีไอทีวียื่นคำห้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 25/2551 ลงวันที่ 14 ม.ค. ที่ลงนามโดยนาย ปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ที่ให้สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวียุติการแพร่ภาพตั้งแต่เวลา 24.00 น. วันที่ 14 ม.ค. 51 โดยฝ่ายกรมประชาสัมพันธ์ มีนาย ปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นผู้มาให้ถ้อยคำ ในขณะที่ฝ่ายพนักงานทีไอทีวี ส่งตัวแทน 5 คน ประกอบด้วย นายพีระวัฒน์โชติธรรมโม บก.ข่าวเช้า นาย จาตุรงค์ สุขเอียด บก.ข่าวเฉพาะกิจ นาย อลงกรณ์ เหมือนดาว บก.บห. นาย ฉัตรชัย ตะวันธรงค์ รองผอ.ฝ่ายข่าว และน.ส. ตวงพร อัศววิไล บก.ข่าวประจำวัน เข้าให้ถ้อยคำ
ก่อนการไต่สวน นายปราโมช กล่าวว่า ประเด็นที่จะนำเสนอต่อศาล จะชี้แจงว่าการสั่งให้สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวียุติการออกอากาศเป็นอำนาจตามกฎหมายของอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เพราะตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 50 สำนักปลัดสำนักนายกฯมอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์เข้าไปกำกับดูแลสถานีทีไอทีวี จากนั้นจึงมีการเสนอแก้ไขพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการของกรมให้ความถี่นี้อยู่ในความรับผิดชอบและกำกับดูแลของกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อเป็นหน่วยราชการหน่วยหนึ่งในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ อำนาจในการกำกับดูแลจึงเป็นของอธิบดี และอีกอำนาจหนึ่งที่ตนมีคือตามพ.ร.บ.วิทยุโทรทัศน์ กำหนดให้อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เป็นเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตและควบคุมกำกับดูแลให้กิจการทั้งหมดเป็นไปตามกฎหมายใดๆก็ตามที่เกี่ยวข้อง
“ตอนนี้ถือว่าตนในฐานะอธิบดีกมประชาสัมพันธ์ได้หมดหน้าที่ในการควบคุมสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีตั้งแต่มีคณะกรรมการชุดนี้แล้ว” นายปราโมชกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการไต่สวนฉุกเฉิน มีประชาชนที่มาให้กำลังใจกับอดีตพนักงานทีไอทีวีประมาณ 100 คน รวมทั้งผู้จัดรายการของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี อาทิ นายไตรภพ ลิมปพัทธ์ เจ้าของบริษัทบอร์น คอร์ปอเรชั่น จำกัด ทั้งนี้ในคดีดังกล่าวมีอดีตพนักงานทีไอทีวี และประชาชน ยื่นคำร้องเป็นผู้ร้องสอดจำนวน 105 คน รวมทั้งน.พ.เหวง โตจิราการ และนางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ แกนนำสมาพันธ์ประชาธิปไตยด้วย
สำหรับในการไต่สวนครั้งนี้ ทางตุลาการศาลปกครองกลางได้ออกหมายเรียกคณะกรรมการชั่วคราวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสมาให้ถ้อยคำในฐานะพยานด้วย ซึ่งทางคณะกรรมการชั่วคราวฯได้มอบหมายให้นายณรงค์ ใจหาญ เป็นตัวแทนชี้แจงต่อศาล
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการไต่สวนคณะตุลาการได้ตั้งประเด็นคำถามถึงความเสียหายของหน่วยงานของรัฐ หากไม่มีคำสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ว่าจะส่งผลกระทบอย่างใดหรือไม่ รวมทั้งการสั่งการปิดสถานีใช้อำนาจตามกฎหมายใดมาบังคับใช้ ทั้งนี้คณะตุลาการได้เริ่มจากการสอบถามนายพุฒิศักดิ์ นามเดช ผู้ตรวจราชการ สปน. ซึ่งเป็นตัวแทนของสปน. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และนายปราโมทย์ รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จากนั้นจึงได้สอบถามฝั่งผู้ฟ้องคดีที่ได้มอบหมายให้นายพีระวัฒน์โชติธรรมโม บก.ข่าวเช้า เป็นผู้ชี้แจงต่อศาล โดยมีผู้ร้องอีก 4 คนร่วมเสริมประเด็นข้อสงสัย และได้สอบถามตัวแทนประชาชนซึ่งเป็นผู้ร้องสอด โดยมีนางประทีป อึ๊งทรงธรรม ฮาตะ เป็นตัวแทน จากนั้นคณะตุลาการจึงได้สอบถามนายณรงค์ ใจหาญ ตัวแทนจากคณะกรรมการชั่วคราวกำหนดนโยบาย ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นการไต่สวน คณะตุลาการมีคำสั่งพักการพิจารณา 30 นาที ในเวลา 17.00 น. โดยใช้เวลาไต่สวนพยานไปทั้งหมดประมาณ 4 ชั่วโมง 30 นาที
ด้านนายณรงค์ กล่าวถึงการชี้แจงต่อคณะตุลาการฯว่า ศาลได้สงสัยถึงประเด็นความเดือดร้อนเสียหายของคณะกรรมการฯหากปล่อยให้มีการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ซึ่งก็ได้ชี้แจงว่าหากให้มีการออกอากาศต่อไปจะมีปัญหาด้านการจัดผังรายการ รวมทั้งมีข้อถกเถียงด้านกฎหมาย เพราะตามกฎหมายสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีถือว่าไม่มีอยู่แล้ว พนักงานของสถานีก็ไม่มี แต่ทุกอย่างโอนกลับมาอยู่กับสถานีไทยพีบีเอส ทั้งอุปกรณ์ สำนักงาน ซึ่งหากให้ออกอากาศก็จะมีประเด็นคำถามว่า ใครจะเป็นคนดำเนินการ ใช้พนักงานที่ไหนมา และอุปกรณ์ออกอากาศใช้ที่ไหน อย่างไรก็ตามทั้งหมดอยู่ที่ดุลพินิจของศาล หากมีผลอย่างไร ตนจะนำคำสั่งศาลฯไปปรึกษากับคณะกรรมการทั้ง 5 คนอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตามการประชุมของคณะกรรมการฯ ขณะนี้ได้ดำเนินอย่างต่อเนื่อง โดยเบื้องต้นไปใช้สำนักงานที่ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ แต่มีความเป็นไปได้สูงที่จะกลับไปใช้สำนักงานของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีเดิม ที่ตึกชินวัตร 3 เพราะยังมีสัญญาเช่าสำนักงานอยู่จนถึงเดือนพ.ย. 51 รวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆก็มีอยู่พร้อมอยู่แล้ว
ทั้งนี้หลังครบเวลาพักการไต่สวน คณะตุลาการฯได้ออกนั่งบัลลังก์และแจ้งให้คู่ความทราบว่า ช่วงบ่ายของวันที่ 17 ม.ค. ศาลจะมีคำสั่งออกมา โดยจะแจ้งให้คู่ความทราบทางโทรสารไปยังสำนักงานของผู้ฟ้องคดี และผู้ถูกฟ้องคดี
***คณะกรรมการฯ5คนเร่งประชุม
นายอภิชาติ ทองอยู่ โฆษกคณะกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือสถานีโทรทัศน์สาธารณะ ไทยพีบีเอส (TPBS) เปิดเผยว่า ในวันนี้ (16 ม.ค.) ทางคณะกรรมการฯได้มีการประชุมร่วมกัน เพื่อให้สถานีโทรทัศน์สาธารณะ ไทยพีบีเอส ออกอากาศได้เร็วที่สุด ซึ่งวันนี้ได้ประชุมกันในเรื่องของธุรการและด้านการบริหาร รวมถึงเรื่องของการรับถ่ายโอนทรัพย์สิน จากทางกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อนำไปจัดการให้สามารถออกอากาศได้นอกจากนี้ทางคณะกรรมการฯก็ยังเฝ้าดูสถานการณ์ โดยรอฟังคำสั่งศาลปกครอง มีการไต่สวนคุ้มครองฉุกเฉินทีไอทีวีอีกด้วยว่าจะออกมาในทิศทางใด
“ถึงแม้ว่าองค์การทีวีสาธารณะ จะไม่ได้มีส่วนข้องเกี่ยวกับทางสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี แต่คณะกรรมการฯทุกคนล้วนแต่มีความเป็นห่วงว่าพนักงานทีไอทีวีจะอยู่กันอย่างไร ทั้งนี้หากทางศาลปกครอง มีคำตัดสินคุ้มครองให้ทีไอทีวีออกอากาศได้ต่อไป ทางคณะกรรมการฯก็ต้องมาพิจารณาถึงข้อกฏหมายอย่างรอบครอบว่าเป็นไปตามกฏหมายหรือไม่”
นายอภิชาติ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้หากศาลมีคำตัดสินคุ้มครองจริง ผู้ที่ต้องรับผิดชอบครั้งนี้ คือทางกรมประชาสัมพันธ์ ในการที่จะจัดสรรคลื่นความถี่ไหนให้ทีไอทีวีออกอากาศต่อไป โดยที่ไม่สามารถนำคลื่นของการจัดทำทีวีสาธารณะครั้งนี้ไปใช้ได้ เพราะทางกรมประชาสัมพันธ์ไม่มีสิทธิในคลื่นดังกล่าว ตั้งแต่ พรบ.องค์การการจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม ที่ผ่านมาแล้ว
อย่างไรก็ตามวานนี้ (16 ม.ค.) ทางองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ได้ประกาศรับสมัครพนักงานชั่วคราว เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 ทั้งหมด 13 ตำแหน่ง โดยไม่ได้ระบุจำนวนที่ต้องการรับดังนี้ คือ 1.ตำแหน่งผู้สื่อข่าว 2.พิธีกรข่าว 3.เจ้าหน้าที่กราฟฟิค 4.เจ้าหน้าที่ศิลปกรรม 5.เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 6.เลขานุการฝ่ายการบริหาร 7.โปรดิวเซอร์ข่าว 8.ช่างภาพ 9.เจ้าหน้าที่ตัดต่อ 10. เจ้าหน้าที่ออกอากาศ 11.เจ้าหน้าที่ถ่ายทอดสด 12.เจ้าหน้าที่กำกับรายการ และ 13.ช่างเทคนิคด้านต่างๆ
**ขวัญสรวงรับหนักใจ**
นายขวัญสรวง อติโพธิ ประธาน คณะกรรมการนโยบายชั่วคราว ขององค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะ กล่าวว่า ยอมรับว่ามีความหนักใจกับการเข้ามารับตำแหน่งประธานฯ ที่จะต้องทำทีวีสาธารณะให้เกิดให้ได้ เพราะเป็นความหวังของสังคมที่ต้องการให้ทีวีสาธารณะเกิดขึ้นในเมืองไทย
สำหรับบรรยากาศของการเปิดรับสมัครพนักงานวันแรกของ ไทยพีบีเอส ที่กรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์ นั้น ปรากฎว่ามีผู้ให้ความสนใจเดินทางมาขอรับใบสมัคร 1,000 กว่าคน แต่มีผู้ที่สมัครภายในวันแรกนี้ประมาณ 200 กว่าราย ส่วนใหญ่เป็นบุคคลภายนอกและอยู่ในแวดวงสื่อมวลชน แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่ปรากฏว่ามีกลุ่มพนักงานเดิมของทีไอทีวีเดินทางสมัครงานแต่อย่างใด แต่ปรากฏว่ามีนางลีน่า จังจรรจา เดินทางมาสมัครงานร่วมกับคนอื่นด้วย โดยระบุว่าต้องการสมัครงานตำแหน่งผู้ประกาศข่าว
**ทิพาวดีสั่ง สปน.ตั้งกก.ผู้ทรงคุณวุฒิ 15 คน
คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ นายจุลยุทธ์ หิรัญยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ให้ไปดำเนินการกำหนดระเบียบการตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 15 คน เพื่อมาเป็นคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการนโยบายเพื่อทำหน้าที่บริหารสถานีโทรทัศน์สาธารณะ หรือ องค์การกระจายเสียงและเผยแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส จำนวน 9 คน ตามพ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและเผยแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551
ทั้งนี้ สปน. จะเป็นผู้เตรียมระบบและทำการเชิญประชุมคณะกรรมการสรรหาซึ่ง วานนี้ (16 ม.ค.) ตนได้สั่งการไปยังปลัดสปน.ให้กำหนดฝ่ายเลขานุการออกเป็นสองกลุ่ม ประกอบด้วย 1. ตั้งฝ่ายเลขานุการประสานงานกับคณะกรรมการบริหารนโยบายทีวีสาธารณะชั่วคราวทั้ง 5 คน ที่ครม.แต่งตั้งไปแล้ว จนกว่าองค์กรถาวรจะสามารถดำเนินการได้ และ 2. ตั้งฝ่ายเลขานุการเพื่อดำเนินการสรรหาคณะกรรมการโดยคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 15 คน ซึ่งจะมีหน้าที่กำหนดวิธีการสรรหา ร่วมกับสปน.เพื่อทำหน้าที่สรรหาบอร์ดนโยบายทั้ง 9 คน ทั้งนี้ กรรมการสรรหาจะต้องเลือกประธาน พร้อมกับร่วมกันสอบประวัติ ซึ่งสปน.จะเป็นผู้กำหนดวิธีการว่าจะเปิดรับสมัคร หรือ ใช้กระบวนการสรรหาด้วยตนเอง หรือเป็นอย่างอื่นก็ได้แล้วแต่จะตกลงกัน
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 ม.ค. นายปราโมช ได้รายงานกับตนว่า ขณะนี้ ได้ถ่ายโอนเงินที่เป็นรายได้จากค่าโฆษณาของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี จำนวน 10 เดือน จำนวน 500 ล้านบาท รวมทั้งอุปกรณ์ เอกสารต่างๆ ให้กับสถานีไทยพีบีเอสแล้ว ดังนั้นทำให้หน้าที่ของรัฐมนตรี และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ (กปส.)ในการกำกับดูแลหมดลง
มีรายงานข่าวแจ้งว่า ในส่วนของรายได้ จำนวน 500 ล้านบาท ที่ได้จากค่าโฆษณาของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ซึ่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ได้เปิดบัญชีไว้ที่ธนาคารกรุงเทพไว้ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่สถานีไอทีวีแปลงสภาพเป็นสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ตั้งแต่ 10 เดือนที่ผ่านมา ได้โอนมายังสถานีไทยพีบีเอสแล้ว โดยเงินส่วนนี้จะนำมาบริหารจัดการสถานีไทยพีบีเอสในช่วงเปลี่ยนผ่าน ก่อนที่จะมีการจัดสรรงบประมาณรายได้จากภาษีสรรพสามิตมาใช้ในลำดับต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น