xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นผลศาลวันนี้ TITV อยู่หรือไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - จับตาศาลปค.มีคำสั่งวันนี้ ( 17 ม.ค.) กรณีให้ทีไอทีวียุติการแพร่ภาพ ด้านคกก.ชั่วคราว ทีพีบีเอส แจงหากปล่อยให้แพร่ภาพต่อ อาจมีปัญหาข้อ กม. ด้านขวัญสรวงรับหนักใจงานครั้งนี้ เผยมีคนขอใบสมัครกว่า 1,000 รายแล้ว ส่วน“ทิพาวดี”รับ กปส.โอนเงิน 500 ล้านให้ ไทยพีบีเอส เพื่อบริหารจัดการช่วงเปลี่ยนผ่านแล้ว พร้อมสั่ง สปน.ตั้งกก.ผู้ทรงคุณวุฒิ 15 คน เป็นกรรมการสรรหาบอร์ดถาวร 9 คน

วานนี้ ( 16 ม.ค.) นาย ชาชิวัฒน์ ศรีแก้ว ตุลาการเจ้าของสำนวน ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนฉุกเฉินกรณีที่พนักงานบริษัททีไอทีวียื่นคำห้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 25/2551 ลงวันที่ 14 ม.ค. ที่ลงนามโดยนาย ปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ที่ให้สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวียุติการแพร่ภาพตั้งแต่เวลา 24.00 น. วันที่ 14 ม.ค. 51 โดยฝ่ายกรมประชาสัมพันธ์ มีนาย ปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นผู้มาให้ถ้อยคำ ในขณะที่ฝ่ายพนักงานทีไอทีวี ส่งตัวแทน 5 คน ประกอบด้วย นายพีระวัฒน์โชติธรรมโม บก.ข่าวเช้า นาย จาตุรงค์ สุขเอียด บก.ข่าวเฉพาะกิจ นาย อลงกรณ์ เหมือนดาว บก.บห. นาย ฉัตรชัย ตะวันธรงค์ รองผอ.ฝ่ายข่าว และน.ส. ตวงพร อัศววิไล บก.ข่าวประจำวัน เข้าให้ถ้อยคำ

ก่อนการไต่สวน นายปราโมช กล่าวว่า ประเด็นที่จะนำเสนอต่อศาล จะชี้แจงว่าการสั่งให้สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวียุติการออกอากาศเป็นอำนาจตามกฎหมายของอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เพราะตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 50 สำนักปลัดสำนักนายกฯมอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์เข้าไปกำกับดูแลสถานีทีไอทีวี จากนั้นจึงมีการเสนอแก้ไขพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการของกรมให้ความถี่นี้อยู่ในความรับผิดชอบและกำกับดูแลของกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อเป็นหน่วยราชการหน่วยหนึ่งในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ อำนาจในการกำกับดูแลจึงเป็นของอธิบดี และอีกอำนาจหนึ่งที่ตนมีคือตามพ.ร.บ.วิทยุโทรทัศน์ กำหนดให้อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เป็นเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตและควบคุมกำกับดูแลให้กิจการทั้งหมดเป็นไปตามกฎหมายใดๆก็ตามที่เกี่ยวข้อง

“ตอนนี้ถือว่าตนในฐานะอธิบดีกมประชาสัมพันธ์ได้หมดหน้าที่ในการควบคุมสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีตั้งแต่มีคณะกรรมการชุดนี้แล้ว”นายปราโมช กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการไต่สวนฉุกเฉิน มีประชาชนที่มาให้กำลังใจกับอดีตพนักงานทีไอทีวีประมาณ 100 คน รวมทั้งผู้จัดรายการของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี อาทิ นายไตรภพ ลิมปพัทธ์ เจ้าของบริษัทบอร์น คอร์ปอเรชั่น จำกัด ทั้งนี้ในคดีดังกล่าวมีอดีตพนักงานทีไอทีวี และประชาชน ยื่นคำร้องเป็นผู้ร้องสอดจำนวน 105 คน รวมทั้ง น.พ.เหวง โตจิราการ และนางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ แกนนำสมาพันธ์ประชาธิปไตยด้วย

สำหรับในการไต่สวนครั้งนี้ ทางตุลาการศาลปกครองกลางได้ออกหมายเรียกคณะกรรมการชั่วคราวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสมาให้ถ้อยคำในฐานะพยานด้วย ซึ่งทางคณะกรรมการชั่วคราวฯได้มอบหมายให้นายณรงค์ ใจหาญ เป็นตัวแทนชี้แจงต่อศาล

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการไต่สวนคณะตุลาการได้ตั้งประเด็นคำถามถึงความเสียหายของหน่วยงานของรัฐ หากไม่มีคำสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ว่าจะส่งผลกระทบอย่างใดหรือไม่ รวมทั้งการสั่งการปิดสถานีใช้อำนาจตามกฎหมายใดมาบังคับใช้ ทั้งนี้คณะตุลาการได้เริ่มจากการสอบถามนายพุฒิศักดิ์ นามเดช ผู้ตรวจราชการ สปน. ซึ่งเป็นตัวแทนของสปน. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และนายปราโมทย์ รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จากนั้นจึงได้สอบถามฝั่งผู้ฟ้องคดีที่ได้มอบหมายให้นายพีระวัฒน์โชติธรรมโม บก.ข่าวเช้า เป็นผู้ชี้แจงต่อศาล โดยมีผู้ร้องอีก 4 คนร่วมเสริมประเด็นข้อสงสัย และได้สอบถามตัวแทนประชาชนซึ่งเป็นผู้ร้องสอด โดยมีนางประทีป อึ๊งทรงธรรม ฮาตะ เป็นตัวแทน จากนั้นคณะตุลาการจึงได้สอบถามนายณรงค์ ใจหาญ ตัวแทนจากคณะกรรมการชั่วคราวกำหนดนโยบาย ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นการไต่สวน คณะตุลาการมีคำสั่งพักการพิจารณา 30 นาที ในเวลา 17.00 น. โดยใช้เวลาไต่สวนพยานไปทั้งหมดประมาณ 4 ชั่วโมง 30 นาที

ด้าน นายณรงค์ กล่าวถึงการชี้แจงต่อคณะตุลาการฯว่า ศาลได้สงสัยถึงประเด็นความเดือดร้อนเสียหายของคณะกรรมการฯหากปล่อยให้มีการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ซึ่งก็ได้ชี้แจงว่าหากให้มีการออกอากาศต่อไปจะมีปัญหาด้านการจัดผังรายการ รวมทั้งมีข้อถกเถียงด้านกฎหมาย เพราะตามกฎหมายสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีถือว่าไม่มีอยู่แล้ว พนักงานของสถานีก็ไม่มี แต่ทุกอย่างโอนกลับมาอยู่กับสถานีไทยพีบีเอส ทั้งอุปกรณ์ สำนักงาน ซึ่งหากให้ออกอากาศก็จะมีประเด็นคำถามว่า ใครจะเป็นคนดำเนินการ ใช้พนักงานที่ไหนมา และอุปกรณ์ออกอากาศใช้ที่ไหน อย่างไรก็ตามทั้งหมดอยู่ที่ดุลพินิจของศาล หากมีผลอย่างไร ตนจะนำคำสั่งศาลฯไปปรึกษากับคณะกรรมการทั้ง 5 คนอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตามการประชุมของคณะกรรมการฯ ขณะนี้ได้ดำเนินอย่างต่อเนื่อง โดยเบื้องต้นไปใช้สำนักงานที่ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ แต่มีความเป็นไปได้สูงที่จะกลับไปใช้สำนักงานของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีเดิม ที่ตึกชินวัตร 3 เพราะยังมีสัญญาเช่าสำนักงานอยู่จนถึงเดือนพ.ย. 51 รวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆก็มีอยู่พร้อมอยู่แล้ว

ทั้งนี้หลังครบเวลาพักการไต่สวน คณะตุลาการฯได้ออกนั่งบัลลังก์และแจ้งให้คู่ความทราบว่า ช่วงบ่ายของวันที่ 17 ม.ค. ศาลจะมีคำสั่งออกมา โดยจะแจ้งให้คู่ความทราบทางโทรสารไปยังสำนักงานของผู้ฟ้องคดี และผู้ถูกฟ้องคดี

คณะกรรมการฯ 5 คนเร่งประชุม

นายอภิชาติ ทองอยู่ โฆษกคณะกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือสถานีโทรทัศน์สาธารณะ ไทยพีบีเอส (TPBS) เปิดเผยว่า ในวันนี้ (16 ม.ค.) ทางคณะกรรมการฯได้มีการประชุมร่วมกัน เพื่อให้สถานีโทรทัศน์สาธารณะ ไทยพีบีเอส ออกอากาศได้เร็วที่สุด ซึ่งวันนี้ได้ประชุมกันในเรื่องของธุรการและด้านการบริหาร รวมถึงเรื่องของการรับถ่ายโอนทรัพย์สิน จากทางกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อนำไปจัดการให้สามารถออกอากาศได้นอกจากนี้ทางคณะกรรมการฯก็ยังเฝ้าดูสถานการณ์ โดยรอฟังคำสั่งศาลปกครอง มีการไต่สวนคุ้มครองฉุกเฉินทีไอทีวีอีกด้วยว่าจะออกมาในทิศทางใด

"ถึงแม้ว่าองค์การทีวีสาธารณะ จะไม่ได้มีส่วนข้องเกี่ยวกับทางสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี แต่คณะกรรมการฯทุกคนล้วนแต่มีความเป็นห่วงว่าพนักงานทีไอทีวีจะอยู่กันอย่างไร ทั้งนี้หากทางศาลปกครอง มีคำตัดสินคุ้มครองให้ทีไอทีวีออกอากาศได้ต่อไป ทางคณะกรรมการฯก็ต้องมาพิจารณาถึงข้อกฏหมายอย่างรอบครอบว่าเป็นไปตามกฏหมายหรือไม่"

นายอภิชาติ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้หากศาลมีคำตัดสินคุ้มครองจริง ผู้ที่ต้องรับผิดชอบครั้งนี้ คือทางกรมประชาสัมพันธ์ ในการที่จะจัดสรรคลื่นความถี่ไหนให้ทีไอทีวีออกอากาศต่อไป โดยที่ไม่สามารถนำคลื่นของการจัดทำทีวีสาธารณะครั้งนี้ไปใช้ได้ เพราะทางกรมประชาสัมพันธ์ไม่มีสิทธิในคลื่นดังกล่าว ตั้งแต่ พรบ.องค์การการจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม ที่ผ่านมาแล้ว

อย่างไรก็ตามวานนี้ (16 ม.ค.) ทางองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ได้ประกาศรับสมัครพนักงานชั่วคราว เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 ทั้งหมด 13 ตำแหน่ง โดยไม่ได้ระบุจำนวนที่ต้องการรับดังนี้ คือ 1.ตำแหน่งผู้สื่อข่าว 2.พิธีกรข่าว 3.เจ้าหน้าที่กราฟฟิค 4.เจ้าหน้าที่ศิลปกรรม 5.เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 6.เลขานุการฝ่ายการบริหาร 7.โปรดิวเซอร์ข่าว 8.ช่างภาพ 9.เจ้าหน้าที่ตัดต่อ 10. เจ้าหน้าที่ออกอากาศ 11.เจ้าหน้าที่ถ่ายทอดสด 12.เจ้าหน้าที่กำกับรายการ และ 13.ช่างเทคนิคด้านต่างๆ

"ขวัญสรวง"รับหนักใจ

นายขวัญสรวง อติโพธิ ประธาน คณะกรรมการนโยบายชั่วคราว ขององค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะ กล่าวว่า ยอมรับว่ามีความหนักใจกับการเข้ามารับตำแหน่งประธานฯ ที่จะต้องทำทีวีสาธารณะให้เกิดให้ได้ เพราะเป็นความหวังของสังคมที่ต้องการให้ทีวีสาธารณะเกิดขึ้นในเมืองไทย

สำหรับบรรยากาศของการเปิดรับสมัครพนักงานวันแรกของ ไทยพีบีเอส ที่กรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์ นั้น ปรากฎว่ามีผู้ให้ความสนใจเดินทางมาขอรับใบสมัคร 1,000 กว่าคน แต่มีผู้ที่สมัครภายในวันแรกนี้ประมาณ 200 กว่าราย ส่วนใหญ่เป็นบุคคลภายนอกและอยู่ในแวดวงสื่อมวลชน แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่ปรากฏว่ามีกลุ่มพนักงานเดิมของทีไอทีวีเดินทางสมัครงานแต่อย่างใด แต่ปรากฏว่ามีนางลีน่า จังจรรจา เดินทางมาสมัครงานร่วมกับคนอื่นด้วย โดยระบุว่าต้องการสมัครงานตำแหน่งผู้ประกาศข่าว

"ทิพาวดี"สั่ง สปน.ตั้งกก.ผู้ทรงคุณวุฒิ 15 คน

คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ นายจุลยุทธ์ หิรัญยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ให้ไปดำเนินการกำหนดระเบียบการตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 15 คน เพื่อมาเป็นคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการนโยบายเพื่อทำหน้าที่บริหารสถานีโทรทัศน์สาธารณะ หรือ องค์การกระจายเสียงและเผยแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส จำนวน 9 คน ตามพ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและเผยแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551

ทั้งนี้ สปน. จะเป็นผู้เตรียมระบบและทำการเชิญประชุมคณะกรรมการสรรหาซึ่ง วานนี้ (16 ม.ค.) ตนได้สั่งการไปยังปลัดสปน.ให้กำหนดฝ่ายเลขานุการออกเป็นสองกลุ่ม ประกอบด้วย 1. ตั้งฝ่ายเลขานุการประสานงานกับคณะกรรมการบริหารนโยบายทีวีสาธารณะชั่วคราวทั้ง 5 คน ที่ครม.แต่งตั้งไปแล้ว จนกว่าองค์กรถาวรจะสามารถดำเนินการได้ และ 2. ตั้งฝ่ายเลขานุการเพื่อดำเนินการสรรหาคณะกรรมการโดยคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 15 คน ซึ่งจะมีหน้าที่กำหนดวิธีการสรรหา ร่วมกับสปน.เพื่อทำหน้าที่สรรหาบอร์ดนโยบายทั้ง 9 คน ทั้งนี้ กรรมการสรรหาจะต้องเลือกประธาน พร้อมกับร่วมกันสอบประวัติ ซึ่งสปน.จะเป็นผู้กำหนดวิธีการว่าจะเปิดรับสมัคร หรือ ใช้กระบวนการสรรหาด้วยตนเอง หรือเป็นอย่างอื่นก็ได้แล้วแต่จะตกลงกัน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 ม.ค. นายปราโมช ได้รายงานกับตนว่า ขณะนี้ ได้ถ่ายโอนเงินที่เป็นรายได้จากค่าโฆษณาของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี จำนวน 10 เดือน จำนวน 500 ล้านบาท รวมทั้งอุปกรณ์ เอกสารต่างๆ ให้กับสถานีไทยพีบีเอสแล้ว ดังนั้นทำให้หน้าที่ของรัฐมนตรี และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ (กปส.)ในการกำกับดูแลหมดลง

มีรายงานข่าวแจ้งว่า ในส่วนของรายได้ จำนวน 500 ล้านบาท ที่ได้จากค่าโฆษณาของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ซึ่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ได้เปิดบัญชีไว้ที่ธนาคารกรุงเทพไว้ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่สถานีไอทีวีแปลงสภาพเป็นสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ตั้งแต่ 10 เดือนที่ผ่านมา ได้โอนมายังสถานีไทยพีบีเอสแล้ว โดยเงินส่วนนี้จะนำมาบริหารจัดการสถานีไทยพีบีเอสในช่วงเปลี่ยนผ่าน ก่อนที่จะมีการจัดสรรงบประมาณรายได้จากภาษีสรรพสามิตมาใช้ในลำดับต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น