xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฯ นัดฟังคำสั่งคุ้มครอง TITV หรือไม่ บ่ายพรุ่งนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศาลปกครองนัดฟังคำสั่งคุ้มครอง “ทีไอทีวี” หรือไม่ ช่วงบ่ายพรุ่งนี้ เผยศาลฯ ไต่สวนประเด็นความเสียหายหากไม่ให้หยุดแพร่ภาพ “เหวง-ประทีป” โผล่ขอสอดเป็นผู้ร้องร่วม ด้าน คกก.ชั่วคราวทีพีบีเอส แจงหากปล่อยให้แพร่ภาพต่อ มีปัญหาข้อกฎหมายแน่

วันนี้ (16 ม.ค.) นายชาชิวัฒน์ ศรีแก้ว ตุลาการเจ้าของสำนวน ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนฉุกเฉินกรณีที่พนักงานบริษัท ทีไอทีวี ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 25/2551 ลงวันที่ 14 ม.ค.ที่ลงนามโดย นายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ที่ให้สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวียุติการแพร่ภาพตั้งแต่เวลา 24.00 น.วันที่ 14 ม.ค.2551 หลังจากกฎหมายทีวีสาธารณะมีผลบังคับใช้ โดยฝ่ายกรมประชาสัมพันธ์ มี นายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นผู้มาให้ถ้อยคำ ในขณะที่ฝ่ายพนักงานทีไอทีวี ส่งตัวแทน 5 คน ประกอบด้วย นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม บก.ข่าวเช้า นายจาตุรงค์ สุขเอียด บก.ข่าวเฉพาะกิจ นายอลงกรณ์ เหมือนดาว บก.บห.นายฉัตรชัย ตะวันธรงค์ รอง ผอ.ฝ่ายข่าว และ น.ส.ตวงพร อัศววิไล บก.ข่าวประจำวัน เข้าให้ถ้อยคำ

ก่อนการไต่สวน นายปราโมช กล่าวว่า ประเด็นที่จะนำเสนอต่อศาล จะชี้แจงว่าการสั่งให้สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวียุติการออกอากาศเป็นอำนาจตามกฎหมายของอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เพราะตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.2550 สำนักปลัดสำนักนายกฯมอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์เข้าไปกำกับดูแลสถานีทีไอทีวี จากนั้นจึงมีการเสนอแก้ไขพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการของกรมให้ความถี่นี้อยู่ในความรับผิดชอบและกำกับดูแลของกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อเป็นหน่วยราชการหน่วยหนึ่งในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ อำนาจในการกำกับดูแล จึงเป็นของอธิบดี และอีกอำนาจหนึ่งที่ตนมี คือ ตาม พ.ร.บ.วิทยุโทรทัศน์ กำหนดให้อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เป็นเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต และควบคุมกำกับดูแลให้กิจการทั้งหมดเป็นไปตามกฎหมายใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น กระบวนการดังกล่าวจึงเป็นไปตามกฎหมาย และเมื่อพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการของกรมประชาสัมพันธ์ใหม่ ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 14 ม.ค.และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 ม.ค.รวมทั้งในบทเฉพาะกาลมาตรา 57 ยังระบุให้กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ทันทีในการถ่ายโอนทรัพย์สิน ไม่มีเวลาเปลี่ยนผ่าน จึงกำหนดให้เราต้องมีประกาศยุติการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีโดยกะทันหัน ซึ่งประเด็นสำคัญของเรื่อง คือ สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีถือเป็นส่วนราชการหนึ่งของกรมประชาสัมพันธ์

เมื่อถามว่า เหตุใดก่อนที่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาถ่ายโอนหน่วยงานในราชกิจจานุเบกษา จึงไม่มีการประสานกับพนักงานสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีก่อน ว่า จะมีการยุติการออกอากาศกะทันหัน นายปราโมช กล่าวว่า มีการแจ้งให้ทราบโดยตลอดเวลา ในใบสัญญาในเงื่อนไข ทั้งของพนักงานและผู้ผลิตรายการ ก็ระบุชัดเจนว่า เมื่อกฎหมายสื่อสาธารณะมีผลบังคับใช้ ทุกอย่างจะต้องยกเลิก และถ่ายโอนให้สื่อสาธารณะโดยทันที นอกจากนี้ กฎหมายตัวนี้ก็เป็นข่าวมาโดยตลอด

เมื่อถามถึงการเสนอชื่อคณะกรรมการนโยบายชั่วคราวสถานีทีพีบีเอส นายปราโมช กล่าวว่า การเสนอชื่อบอร์ดทั้ง 5 คน เป็นอำนาจของคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ที่เสนอให้ ครม.พิจารณา ซึ่งไม่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตน ตอนนี้ถือว่าตนในฐานะอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ได้หมดหน้าที่ในการควบคุมสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีตั้งแต่มีคณะกรรมการชุดนี้แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการไต่สวนฉุกเฉิน มีประชาชนที่มาให้กำลังใจกับอดีตพนักงานทีไอทีวีประมาณ 100 คน รวมทั้งผู้จัดรายการของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี อาทิ นายไตรภพ ลิมปพัทธ์ เจ้าของบริษัท บอร์น คอร์ปอเรชั่น จำกัด ทั้งนี้ ในคดีดังกล่าวมีอดีตพนักงานทีไอทีวี และประชาชน ยื่นคำร้องเป็นผู้ร้องสอดจำนวน 105 คน รวมทั้ง นพ.เหวง โตจิราการ และนางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ แกนนำสมาพันธ์ประชาธิปไตยด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับในการไต่สวนครั้งนี้ ทางตุลาการศาลปกครองกลางได้ออกหมายเรียกคณะกรรมการชั่วคราวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส มาให้ถ้อยคำในฐานะพยานด้วย ซึ่งทางคณะกรรมการชั่วคราวได้มอบหมายให้ นายณรงค์ ใจหาญ เป็นตัวแทนชี้แจงต่อศาล

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการไต่สวนคณะตุลาการได้ตั้งประเด็นคำถามถึงความเสียหายของหน่วยงานของรัฐ หากไม่มีคำสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ว่า จะส่งผลกระทบอย่างใดหรือไม่ รวมทั้งการสั่งการปิดสถานีใช้อำนาจตามกฎหมายใดมาบังคับใช้ ทั้งนี้ คณะตุลาการได้เริ่มจากการสอบถาม นายพุฒิศักดิ์ นามเดช ผู้ตรวจราชการ สปน.ซึ่งเป็นตัวแทนของ สปน.ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ นายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จากนั้นจึงได้สอบถามฝั่งผู้ฟ้องคดีที่ได้มอบหมายให้ นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม บก.ข่าวเช้า เป็นผู้ชี้แจงต่อศาล โดยมีผู้ร้องอีก 4 คนร่วมเสริมประเด็นข้อสงสัย และได้สอบถามตัวแทนประชาชน ซึ่งเป็นผู้ร้องสอด โดยมี นางประทีป อึ๊งทรงธรรม ฮาตะ เป็นตัวแทน จากนั้นคณะตุลาการจึงได้สอบถามนายณรงค์ ใจหาญ ตัวแทนจากคณะกรรมการชั่วคราวกำหนดนโยบาย ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นการไต่สวน คณะตุลาการมีคำสั่งพักการพิจารณา 30 นาที ในเวลา 17.00 น.โดยใช้เวลาไต่สวนพยานไปทั้งหมดประมาณ 4 ชั่วโมง 30 นาที

ด้าน นายณรงค์ กล่าวถึงการชี้แจงต่อคณะตุลาการฯ ว่า ศาลได้สงสัยถึงประเด็นความเดือดร้อนเสียหายของคณะกรรมการ หากปล่อยให้มีการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ซึ่งก็ได้ชี้แจงว่า หากให้มีการออกอากาศต่อไปจะมีปัญหาด้านการจัดผังรายการ รวมทั้งมีข้อถกเถียงด้านกฎหมาย เพราะตามกฎหมายทีวีสาธารณะ ถือว่าขณะนี้สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีไม่มีอยู่แล้ว พนักงานของสถานีก็ไม่มี แต่ทุกอย่างโอนกลับมาอยู่กับสถานีไทยพีบีเอส ทั้งอุปกรณ์ สำนักงาน ซึ่งหากให้ออกอากาศก็จะมีประเด็นคำถามว่า ใครจะเป็นคนดำเนินการ ใช้พนักงานที่ไหนมา และอุปกรณ์ออกอากาศใช้ที่ไหน อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดอยู่ที่ดุลพินิจของศาลฯ หากมีผลอย่างไร ตนจะนำคำสั่งศาลฯ ไปปรึกษากับคณะกรรมการทั้ง 5 คนอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การประชุมของคณะกรรมการขณะนี้ได้ดำเนินอย่างต่อเนื่อง โดยเบื้องต้นไปใช้สำนักงานที่ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ แต่มีความเป็นไปได้สูงที่จะกลับไปใช้สำนักงานของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีเดิม ที่ตึกชินวัตร 3 เพราะยังมีสัญญาเช่าสำนักงานอยู่จนถึงเดือน พ.ย.2551 รวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ก็มีอยู่พร้อมอยู่แล้ว ซึ่งอีกวันหรือ 2 วันคงจะสามารถเข้าไปทำงานได้ทันที ซึ่งภารกิจเร่งด่วน ก็คือ การจัดผังรายการ รวมทั้งการจ้างพนักงาน และระดับหัวหน้าข่าว ซึ่งคณะกรรมการมอบให้เป็นอำนาจของ นายเทพชัย หย่อง รักษาการ ผอ.สถานี เป็นผู้รับผิดชอบ

ทั้งนี้ หลังครบเวลาพักการไต่สวน คณะตุลาการฯได้ออกนั่งบัลลังก์และแจ้งให้คู่ความทราบว่า ช่วงบ่ายของวันที่ 17 ม.ค.ศาลฯจะมีคำสั่งออกมา โดยจะแจ้งให้คู่ความทราบทางโทรสารไปยังสำนักงานของผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดี

กำลังโหลดความคิดเห็น