xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองสั่งไม่คุ้มครอง ปิดตายทีไอทีวี-TPBSออนแอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปิดฉากทีไอทีวี ศาลปกครองไม่สั่งยกเลิกการห้ามแพร่ภาพของอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ระบุเป็นหน้าที่คณะกรรมการนโยบายชั่วคราวที่จะต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรเกี่ยวกับสัญญาการออกอากาศเดิมของผู้จัดรายการ-อนาคตพนักงาน “ณรงค์” ให้คำมั่นศาล 1 ก.พ.ออกอากาศ แถมผังรายการใหม่เสร็จสมบูรณ์ใน 3 เดือน ด้านทีไอทีวีตีความคือพันธะผูกพัน ศาลปกครองชี้ชัดว่ารวมถึงพนักงานทีไอทีวีด้วย ส่วนคณะกรรมการฯประชุมหาแนวทางทำงาน พร้อมเผยแพร่ภาพครั้งแรก ไทยพีบีเอส วานนี้

วานนี้ (17 ม.ค.) ศาลปกครองกลาง โดยนายชาวัฒน์ ศรีแก้ว ตุลาการเจ้าของสำนวน ได้มีคำสั่งยกคำขอการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม บรรณาธิการข่าวเช้าและพนักงานไอทีวี รวม 105 คน ขอให้ศาลสั่งให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีดำเนินการให้บริการสาธารณะด้านกิจการวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟเป็นไปอย่างต่อเนื่อง หรือมอบให้ผู้อื่นดำเนินการแทนก็ได้ตามสมควรจนกว่าคดีที่ยื่นฟ้องอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 25/2551 ลงวันที่ 14 ม.ค. 51 เรื่องให้สถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟปฏิบัติตามพ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 โดยสั่งให้ทีไอทีวี ยุติการแพร่ภาพ ตั้งแต่เวลา 24.00 น.ของวันที่ 14 ม.ค. 51 จะถึงที่สุดหรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ทั้งนี้ เหตุผลที่ศาลไม่มีคำสั่งคุ้มครองตามที่พนักงานไอทีวีขอระบุว่า ขอเท็จจริงจากการไต่สวนของศาลฟังได้ว่าที่นายพีระวัฒน์และพวกรวม 105 คน ฟ้องว่าการที่อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ได้มีคำสั่งที่ 25/2551 ลงวันที่ 14 ม.ค. 51 เรื่องให้สถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟปฏิบัติตามพ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 โดยสั่งให้ทีไอทีวี ยุติการแพร่ภาพ ตั้งแต่เวลา 24.00 น.ของวันที่ 14 ม.ค. 51 เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะรวมทั้งผู้ฟ้องคดีทั้งหมดกรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่ในการพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งศาลได้มีคำสั่งรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณา แต่ที่นายพีระวัฒน์ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ที่ 25/2551 นั้น ศาลเห็นว่าในชั้นนี้ยังไม่ปรากฎพยานหลักฐานอย่างชัดแจ้งที่จะรับฟังคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นอกจากนี้เมื่อพิจารณามาตรา 57 พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย 2551 แล้ว เห็นว่า กฎหมายได้บัญญัติให้โอนบรรดากิจการอำนาจหน้าที่ทรัพย์สินงบประมาณ หนี้ สิทธิ คลื่นความถี่ และภาระผูกพันของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับการดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ และในส่วนของสำนักงานกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ(เฉพาะกิจ) ที่อยู่ในความดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรีและกรมประชาสัมพันธ์ในวันที่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับไปเป็นขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย

บทบัญญัติดังกล่าวย่อมมีผลให้บรรดากิจการอำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ สิทธิคลื่นความถี่ และภาระผูกพันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกอากาศรายการต่างๆ ตามกำหนดไว้เดิม ทั้งรายการที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ทีไอทีวีดำเนินการเองหรือรายการที่มีสัญญาผูกพันกับบุคคลภายนอก หรือหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับสถานภาพของพนักงานที่ได้ยื่นความประสงค์จะต่อสัญญาไว้ตามประกาศกรมประชาสัมพันธ์ ลงวันที่ 19 ธ.ค.50 โอนไปเป็นขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย โดยผลของกฎหมายทันที

คำสั่งยังระบุอีกว่าการบริหารกิจการขององค์การฯดังกล่าวย่อมเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่ครม.แต่งตั้งขึ้น เพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็นคณะกรรมการนโยบายชั่วคราว โดยมีสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นธุรการ ตามมาตรา 58 ของพ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงฯ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายชั่วคราวที่จะหยิบยกภาระผูกพันในการออกอากาศรายการที่ล่วงเลยกำหนดเวลาออกอากาศตามสัญญาเดิมไปแล้ว และสัญญาต่างๆ ที่ยังไม่ออกอากาศมาพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

โดยคำนึงถึงบทบัญญัติของพ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงฯ ส่วนภาระผูกพันที่เกี่ยวกับสถานภาพของพนักงานทีไอทีวีที่ได้ยื่นความประสงค์และต่อสัญญาจ้างไว้นั้นก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายชั่วคราวที่จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาดำเนินการต่อไปหรือไม่เช่นกัน ซึ่งนายณรงค์ ใจหาญ หนึ่งในคณะกรรมการนโยบายชั่วคราว ให้ถ้อยคำต่อศาลว่าคณะกรรมการนโยบายชั่วคราวสามารถออกผังรายการของสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟในวันที่ 1 ก.พ. 51 และผังรายการจะเสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน จึงเห็นได้ว่าคณะกรรมการฯดังกล่าวย่อมมีอำนาจในการดำเนินการกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย รวมทั้งจัดทำผังรายการ และดำเนินการออกอากาศอย่างต่อเนื่องต่อไปตามพ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงฯ ดังนั้นจึงไม่มีเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามที่ร้องขอ

ทีไอทีวีตีความต่าง

หลังจากที่ทางศาลปกครองกลางส่งหนังสือแจ้งคำสั่งศาลมายังสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี เมื่อเวลาประมาณ 19.00น. ทางทีไอทีวีได้มีการเรียกรวมพนักงานยังห้องส่ง ชั้น 13 ของตึกชินวัตร 3 โดยมีจำนวนพนักงานทีไอทีวีและสื่อมวลชนจากหลายหน่วยงานเข้าร่วมประมาณ 300-400 คน

โดยระยะเวลาที่พนักงานทยอยเข้ามาในห้องดังกล่าว ได้มีการนำรายการถ่ายทอดสดจาก ช่อง TNN ของทางทรูวิชั่น ยูบีซี โดยมีนายเทพชัย หย่อง คณะกรรมการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย และรักษาการผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์สาธารณะ ไทยพีบีเอส เป็นแขกรับเชิญในรายการ

ในระหว่างนั้นทั้งพนักงานและสื่อมวลชนต่างได้ฟังคำสัมภาษณ์ พร้อมรับทราบจากรายการดังกล่าวถึงคำสั่งศาล โดยสรุปว่าศาลมีคำสั่ง ให้ยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งของผู้ฟ้องคดีทั้งหนึ่งร้อยห้าของทีไอทีวี ส่งผลให้พนักงานทีไอทีวีอยู่ในอาการเศร้าลงอย่างเห็นได้ชัด แต่หลังจากที่ผู้บริหารของทีไอทีวี ประกอบด้วย นายอัชฌา สุวรรณปากแพรก นายอลงกรณ์ เหมือนดาว นายฉัตรชัย ตะวันธรงค์ และนายไตรภพ ลิมปพัทธ์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายการได้ขึ้นชี้แจงและตีความคำสั่งศาลออกมาอย่างคร่าวๆ ทำให้พนักงานมีสีหน้าและความรู้สึกที่ดีขึ้น

สำหรับคำตีความที่ได้ชี้แจงกับพนักงานครั้งนี้ โดยสรุป คือ พันธะผูกพัน ศาลปกครองชี้ชัดว่า รวมถึง พนักงานทีไอทีวีด้วย จากเดิมที่ทางคณะกรรมการฯทั้ง 5 เคยกล่าวว่า ไม่รวมถึงพนักงาน ตามที่กรมประชาสัมพันธ์ได้แจ้งให้ทางองค์การกระจายเสียงฯรับทราบเบื้องต้น ซึ่งเมื่อศาลพิจารณาออกมาแบบนี้ จึงทำให้ศาลเห็นสมควรว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคุ้มครอง เพราะพนักงานทีไอทีวี ถือเป็นพันธะผูกพันที่ทางทีวีสาธารณะต้องรับไปด้วย

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับทางคณะกรรมการนโยบายชั่วคราวทั้ง 5 ท่านว่าจะพิจารณาถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไรต่อไป ส่วนทางทีไอทีวี เตรียมที่จะให้ฝ่ายกฎหมายตีความคำสั่งศาลอย่างละเอียดอีกครั้ง พร้อมทั้งต้องให้ฝ่ายกฏหมายได้ร่วมพูดคุยกับทางกฎหมายทั้งของทีวีสาธารณะและกรมประชาสัมพันธ์ ถึงแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น กับจำนวนพนักงานทีไอทีวีกว่า 835 คน ขณะที่ทีวีสาธารณะได้เปิดรับสมัครพนักงานไปแล้วกว่า 1,000 คน   ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด

ทีพีบีเอสแพร่ภาพครั้งแรกแล้ว

สำหรับสถานการณ์ของสถานีโทรทัศน์ ไทย พีบีเอส เมื่อวานนี้ปรากฏว่า ช่วงเวลา 15.40 น. โดยประมาณ ได้มีการแพร่ภาพรายการสด “นับหนึ่งโทรทัศน์สาธารณะไทย TPBS” ซึ่งออกอากาศนานถึงประมาณช่วงเวลา 17.00 น.โดยประมาณ

นายเทพชัย หย่อง คณะกรรมการคณะกรรมการนโยบายองค์การการกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย และรักษาการผู้อำนวยการ สถานีโทรทัศน์สาธารณะ ไทย พีบีเอส (TPBS) กล่าวว่า รายการสด “นับหนึ่งโทรทัศน์สาธารณะไทย TPBS” ที่ออกอากาศวานนี้ ภายใต้สถานีโทรทัศน์สาธารณะ ไทยพีบีเอส เป็นรายการที่ได้รับความร่วมมือจากทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ทั้งในด้านอุปกรณ์ เครื่องมือและ เจ้าหน้าที่ ในการออกอากาศ ณ ห้องส่ง สถานีโทรทัศน์ ช่อง 11 ถ. วิภาวดี ทั้งนี้ได้เตรียมที่จะนำเทปรายการดังกล่าว นำมาออกอากาศอีกระยะหนึ่ง หรือจนกว่าจะถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ของการออกอากาศบางส่วน ตามแผนที่วางไว้

นายณรงค์ ใจหาญ คณะกรรมการนโยบายองค์การการกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ดูแลด้านกฏหมาย กล่าวเสริมว่า รายการดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่ทางคณะกรรมการฯทั้ง 5 ได้มีการประชุมร่วมกัน โดยมีความเห็นตรงกันว่าควรจะมีการออกอากาศเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการแนะนำสถานีสาธารณะไทยพีบีเอส และพร้อมแจงข้อสงสัยต่างๆที่เกิดขึ้นระหว่างนี้ ซึ่งหลังจากประชุมเสร็จ ใน 2-3 ชั่วโมงต่อมา จึงมีการออกอากาศรายการดังกล่าวทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า รายการดังกล่าว ดำเนินรายการโดยนางสาวนาตยา แวววีระคุปต์ อดีตผู้สื่อข่าวไอทีวีและอดีตผู้ประกาศข่าวช่อง 11 ซึ่งเพิ่งจะได้รับการติดต่อให้มาดำเนินรายการก่อนหน้าเพียงแค่ 2 ชั่วโมงเท่านั้น โดยมีผู้ร่วมรายการคือ นายขวัญสรวง อติโพธิ ประธานคณะกรรมการนโยบายชั่วคราว องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (THAI PBS) นายอภิชาติ ทองอยู่ กรรมการฯ และอีก 2 คนคือ นายฉัตรชัย เชื้อรามัญ ตัวแทนจากองค์กรเครือข่ายเพื่อนทีวีสาธารณะ และนายอนุสรณ์ ศรีแก้ว คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยเนื้อหาในรายการหลักๆก็เป็นการอธิบายและพูดถึงนโยบายรวมทั้งแนวทางของการดำเนินงานของไทยพีบีเอส

ทั้งนี้คณะกรรมการฯได้มีการประชุมกันเมื่อวานนี้อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกหลังจากที่ได้มีการแต่งตั้งกรรมการฯชุดนี้ขึ้นมา ซึ่งกรอบการประชุมมีการพิจารณาหลายเรื่องเช่น การจัดหาสถานที่ตั้งของสถานีไทยพีบีเอส งบประมาณการดำเนินงาน การถ่ายโอนทรัพย์สินจากทีไอทีวี การออกอากาศของรายการไทยพีบีเอส

ขณะที่สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี พนักงานทุกคนต่างยืนดูรายการพิเศษ "นับหนึ่งโทรทัศน์สาธารณะไทย TPBS" ผ่านช่องทีไอทีวีเดิม ซึ่งเป็นรายการสัมภาษณ์คณะกรรมการนโยบายชั่วคราวองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย โดยพนักงานทีไอทีวีต่างแสดงความไม่พอใจ เนื่องจากมีการแพร่ภาพของ THAI PBS ทั้งที่ศาลปกครองยังไม่มีผลวินิจฉัยว่าจะมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวยกเลิกคำสั่งกรมประชาสัมพันธ์ที่ให้ทีไอทีวียุติการแพร่ภาพหรือไม่

ส่วนการเปิดรับสมัครงานของไทยพีบีเอส เมื่อวานนี้ที่กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งถือเป็นวันที่สองปรากฏว่าก็ยังคงมีผู้สนใจเดินทางมาสมัครอย่างต่อเนื่อง มีอดีตพนักงานไอทีวี หรือทีไอทีวี 2 คน ซึ่งได้ลาออกไปก่อนหน้านี้แล้วไปเป็นผู้ประกาศข่าวทางสถานีโทรทัศน์ TNN หรือ UBC เดิม คือ นายชัยรัตน์ ถมยา และ นางสาวประวีณมัย บ่ายคล้อย ได้เดินทางมาสมัครงานในตำแหน่งผู้สื่อข่าว และพิธีกรข่าวด้วย นอกจากนี้ยังมีผู้ประกาศข่าว และช่างภาพจากสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ,ผู้สื่อข่าวจากสถานีโทรทัศน์ ASTV โดยมียอดผู้สมัครกว่า 400 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น