พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ผ่านราชกิจจานุเบกษาแล้ว ทีไอทีวีสู่การเป็นทีวีสาธารณะทันที “อัชฌา” วอนคณะกรรมการชั่วคราวทั้ง 5 ทำงานอย่างโปร่งใส ย้ำชัดช่วงเปลี่ยนถ่ายทีไอทีวียังออกอากาศเหมือนเดิม ด้าน “คุณหญิงทิพาวดี” ย้ำคนในอย่าตีตนไปก่อนไข้ รับเตรียมเสนอ 5 กก.ทีวีสาธารณะชั่วคราว เข้าครม.วันนี้ ยันกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว แต่ “จอไม่มืด” ชี้ กก.5 คนมีอำนาจพิจารณารับพนักงานเก่า ลั่น!! ไม่กลัวรัฐบาลใหม่เปลี่ยนตัว ขณะที่ “เทพชัย-สมเกียรติ” มีชื่อโผล่แคนดิเดต ผอ.สถานี
วานนี้ (14 ม.ค.) หลังจากที่มีประกาศออกมาว่า พระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) พ.ศ.2551 ผ่านราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันถัดไป คือ ในวันนี้ (15 ม.ค.) ได้เปลี่ยนสถานะของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี สู่ทีวีสาธารณะเช่นกัน ซึ่งภายหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ ทางทีมผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ประกอบด้วย นายอัชฌา สุวรรณปากแพรก ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว, นายฉัตรชัย ตะวันธรงค์ รองผู้อำนวยการฝ่ายข่าว, นายอลงกรณ์ เหมือนดาว บรรณาธิการบริหาร, นายจอม เพ็ชรประดับ บรรณาธิการอาวุโส และ นางสาวตวงพร อัศววิไล บรรณาธิการรายวัน ได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงจุดยืนของทางทีไอทีวีว่าจะออกมาในทิศทางใด
นายอัชฌา สุวรรณปากแพรก ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ ทีไอทีวี เปิดเผยว่า หลังจากที่ทราบเรื่องพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) พ.ศ.2551 ผ่านราชกิจจานุเบกษา ที่จะมีผลบังคับใช้วันนี้ (15 ม.ค.) ส่งผลให้สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี กลายเป็นองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ ตามกฎหมายทันที แต่ในทางปฏิบัติ ยังต้องมีขั้นตอนการเปลี่ยนถ่ายเสียก่อน
โดยในวันนี้ (15 ม.ค.) เชื่อมั่นว่า ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชั่วคราวขึ้นมา เพื่อมีหน้าที่ดูแลการทำงานในช่วงเปลี่ยนถ่ายจากทีไอทีวีสู่ความเป็นทีวีสาธารณะ รวมทั้งมีหน้าที่ในการสรรหาผู้อำนวยการชั่วคราว เพื่อมาดูแลการทำงานระหว่างนี้ด้วย ซึ่งระหว่างนี้พนักงานทีไอทีวีทุกคน ยังคงทำงานไปตามปกติ เพราะยังมีพันธสัญญาผูกพันและภาระหน้าที่ตามกฎหมายมาตรา 57 ให้โอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ สิทธิ คลื่นความถี่ และภาระผูกพัน
“คณะกรรมการชั่วคราวมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการกำหนดแนวทางนโยบายของการปฏิบัติงาน จากการเป็นทีวีสาธารณะอย่างเต็มที่ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคณะกรรมการชั่วคราวดังกล่าว จะมีการทำงานที่โปร่งใส สู่การเป็นทีวีสาธารณะอย่างแท้จริง”
นายอัชฌา กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีการโฆษณาที่ยังเป็นที่สงสัยว่า หากเปลี่ยนเป็นทีวีสาธารณะแล้วจะออกในรูปแบบใด ขอชี้แจงว่า จากกฎหมายมาตรา 57 ว่าด้วยเรื่องของพันธสัญญาผูกพันและภาระหน้าที่ ทางสถานีจะยังคงมีการออกอากาศโฆษณาเช่นเดิม จนกว่าจะมีคำสั่งจากผู้มีอำนาจรับผิดชอบ หรือจากคณะกรรมการชั่วคราวให้มีการระงับ จึงจะหยุดการออกอากาศโฆษณา แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามสัญญากับคู่ค้า ที่ต้องมีการแจ้งล่วงหน้าตามที่ในสัญญาว่าไว้
ด้าน นายจอม เพ็ชรประดับ บรรณาธิการอาวุโส กล่าวว่า อยากให้คณะกรรมการชั่วคราวทั้ง 5 ท่าน ร่วมกันร่างแผนการทำงานของการเป็นทีวีสาธารณะตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ อย่างโปร่งใสและเป็นอิสระ นอกจากนี้ ยังขอเรียกร้องให้การเปลี่ยนถ่ายสู่การเป็นทีวีสาธารณะครั้งนี้ มีหลักประกันเกี่ยวกับฝ่ายข่าวให้มีการทำงานได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งให้พื้นที่ในการเสนอข่าวให้มากพอที่จะทำงานได้ และต้องการให้การเป็นทีวีสาธารณะครั้งนี้ ทำให้สถานีขึ้นเป็นอันดับ 1 ไม่ว่าจะเป็นรายการประเภทใดก็ตาม
นางสาวตวงพร อัศววิไล บรรณาธิการข่าวประจำวัน กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา ทีไอทีวียังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมโครงการโทรทัศน์สาธารณะ ไม่ใช่มีแต่จะหาข้อกล่าวหาใหม่ๆ ให้ฝ่ายข่าวทีไอทีวี มีความน่าเชื่อถือลดลง จากประเด็นที่ทางสื่อมวลชนได้นำเสนอไป เช่น เรื่องแผนบันได 3 ขั้น จากอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โครงการทีไอทีวี เอเวอเรสต์ และข่าวการออกรอบตีกอล์ฟกับนักการเมือง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการแถลงข่าวเรียบร้อย ทางสถานีจะมีการเรียกพนักงานเข้าประชุมต่อด้วย เพื่อให้พนักงานรับทราบถึงการเปลี่ยนแปลงและการทำงานต่อไป
**แจงข้อสงสัยถูกมองในด้านลบ**
นายอัชฌา สุวรรณปากแพรก ได้ตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับการออกรอบตีกอล์ฟกับนักการเมืองด้วยว่า ไม่เป็นความจริงแต่อย่างไร ส่วนเรื่องแผนบันได 3 ขั้น จากอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จากกรณีที่ นายจอม เพ็ชรประดับ และช่างภาพอีก 1 คน เดินทางไปสัมภาษณ์อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ไม่เป็นความจริงเช่นกัน เพียงแต่ต้องการนำเสนอข่าวตามหน้าที่สื่อมวลชนเท่านั้น
**ทิพาวดียันจอไม่มืด
คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการเตรียมความพร้อมการเปลี่ยนผ่านสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี เป็นสถานีทีวีสาธารณะ กล่าวยอมรับว่า จะนำรายชื่อ 5 คณะกรรมการนโยบายชั่วคราวเพื่อกำกับองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) เข้าเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ (15 ม.ค.) ภายหลัง พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 14 ม.ค.นี้ เพื่อทำหน้าที่คณะกรรมการนโยบายชั่วคราวฯ โดยให้องค์กรทีวีสาธารณะเดินหน้าต่อไปได้ และที่สำคัญจะต้องไม่ให้จอมืด
สำหรับพนักงานทีไอทีวี 800 คน ตอนนี้ไม่ใช่พนักงาน แต่เป็นเพียงพนักงานที่จ้างเหมาทำงานให้กรมประชาสัมพันธ์เท่านั้น แต่ ส.ส.ท.เป็นองค์กรใหม่ การทำงานต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด ซึ่งกระบวนการสรรหาบุคลากรในการทำงานต่างๆ หรือเจ้าหน้าที่ประจำขององค์กรนั้นจะต้องเปิดรับสมัครอย่างกว้างขวางใหม่ทั้งหมด ดังนั้น ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้คณะกรรมการชั่วคราว 5 คนจะต้องเป็นผู้ตัดสินว่า จะดำเนินการต่อไปอย่างไร ตนได้เตรียมการทางกฎหมายให้เท่านั้น ส่วนการรับตัดสินใจรับพนักงานเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการชั่วคราว 5 คน
“นี่เป็นแค่การเตรียมการเท่านั้น คนในอย่าตีตนไปก่อนไข้ ควรจะมาเอาใจช่วย เพื่อให้ทีวีสาธารณะเกิดขึ้นได้” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
เมื่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้ว ก็มีผลว่าทีวีสาธารณะที่เกิดขึ้นนี้เป็นองค์กรใหม่ ทุกอย่างจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ดังนั้น หน้าที่ของตนจึงยุติเพียงเท่านี้ในการลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายชั่วคราว ส่วนการตัดสินใจต่างๆ เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการทั้ง 5 คน สำหรับรายชื่อคณะกรรมการนโยบายชั่วคราว 5 คน นั้นยังตอบไม่ได้ แต่จะต้องรอเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในวันที่ 15 ม.ค.นี้
“รายชื่อที่มีการกล่าวถึงในสื่อ เป็นเพียงการคาดการณ์ทั้งสิ้น ยังไม่เป็นจริง แต่ยืนยันว่า ดิฉันไม่ได้เป็นผู้วาง แต่ดิฉันทำหน้าที่เพียงผู้เตรียมการทุกอย่างเท่านั้น ดังนั้น จากนี้ไปทีวีสาธารณะจะไม่มีโฆษณา เพราะเป็นไปตามอัตโนมัติของกระบวนการทางกฎหมาย และไม่รู้สึกกังวลว่ารัฐบาลใหม่จะออกมติ ครม.เพื่อเปลี่ยนตัวคณะกรรมการนโยบายชั่วคราว 5 คน เพราะเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย”
สำหรับผู้อำนวยการสถานีทีวีสาธารณะ ที่จะมาจากการแต่งตั้งของคณะกรรมการนโยบายชั่วคราวทั้ง 5 คน ก่อนจะมีการสรรหาคณะกรรมการนโยบายทีวีสาธารณะชุดใหญ่ 9 คน มีการคาดการณ์ว่า นายเทพชัย หย่อง บรรณาธิการเครือเนชั่น หรือ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ จะเข้ามาเป็นผู้อำนวยการชั่วคราว ในช่วงสรรหาคณะกรรมการชุดใหญ่จำนวน 180 วัน
ขณะเดียวกัน ยังไม่มีการยืนยันว่า คณะกรรมการนโยบายชั่วคราว ทั้ง 5 คน จะเป็นไปตามกระแสข่าวเดิมหรือไม่ โดยคาดว่าผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้ง เช่น นายไชยา ยิ้มวิไล โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน รศ.นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายขวัญสรวง อติโพธิ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ นายเจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม นายอภิชาติ ทองอยู่ นักวิชาการอิสระ และ ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจตน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม ซึ่งทั้งหมดถูกทาบทามมาตั้งแต่ปีที่แล้ว
**ปลัดฯ สปน.ยันคดีไอทีวี-สปน.ไม่เกี่ยว ตั้งสื่อสาธารณะ
นายจุลยุทธ์ หิรัญยวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภายหลัง พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 14 ม.ค.นี้ นั้น จะไม่มีผลเกี่ยวกับคดีการค้างค่าปรับและค่าสัมปทานกว่า 1 แสนล้านบาท ระหว่าง สปน.กับบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เพราะเป็นคนละเรื่องกัน เนื่องจากขณะนี้มีการตั้งคณะอนุญาโตตุลาการของ ทั้ง 2 ฝ่าย และอนุญาโตตุลาการคนกกลาง ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด
**ผู้ถือหุ้นทักษิณทีวี ยื่น ป.ป.ช.ขวางทีวีสาธารณะ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าวันเดียวกัน กลุ่มผู้ถือหุ้นไอทีวีเดิมจำนวนหนึ่ง ได้เข้ายื่นหนังสือยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเอาผิดกับคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายจุลยุทธ์ หิรัญยวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และ นายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ โดยกล่าวหาว่า ร่วมกันนำทรัพย์สินของเอกชนไปแปลงสภาพ เพื่อพรรคพวกตัวเอง ขณะเดียวกัน ผู้บริหารและฝ่ายข่าวทีไอทีวี ระบุว่า จะมายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีในวันประชุมคณะรัฐมนตรีในกรณีเดียวกันนี้ด้วย