xs
xsm
sm
md
lg

“ไม่เห็นเหตุผลที่ฝ่ายการเมืองจะมาแทรกแซงทีวีสาธารณะ ยกเว้นว่าฝ่ายการเมืองไม่แคร์เสียงของสังคมต้องการเพียงจะเข้ามากุมสถานีนี้ให้ได้เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง” เทพชัย หย่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เทพชัย หย่อง
นักเลือกตั้งกำลังวิ่งเต้นขอตำแหน่งกันขาขวิด คณะกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยและผู้อำนวยการสถานีทีวีสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย หรือทีพีบีเอส (TPBS: Thai Public Broadcasting Service) ก็กำลังเร่งมือเพื่อให้สามารถถ่ายทอดรายการทันตามกำหนด

เทพชัย หย่อง ผู้ที่เข้ามารับหน้าคณะกรรมการฯ และผู้อำนวยการชั่วคราว ไม่มีใครข้องใจในความสามารถของเขา แต่ภาพของเขากับเครือเนชั่นก็ทำให้เกิดคำถามอยู่ไม่น้อย แต่เรื่องนี้ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าเขาจะนำพาทีวีสาธารณะแห่งนี้ให้เป็นจริงได้อย่างไร ท่ามกลางอุปสรรคสารพัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากน้ำมือการเมืองที่จะเข้ามาแทรกแซง เพราะมีข่าวออกมาบ้างแล้วว่าถ้า ‘มือที่มองเห็น’ กลับมา อาจถึงขั้นเปลี่ยนกฎหมายเพื่อดึงสถานีช่องนี้กลับคืน

รายชื่อคณะกรรมการที่ออกมาช่วงๆ แรกไม่มีชื่อคุณ แต่พอคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติออกมาปรากฏว่ามีชื่อคุณเทพชัยอยู่ในนั้นด้วย

อันดับแรกผมคงไปตอบไม่ได้นะ เพราะผมไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการสรรหา แต่สิ่งที่ผมบอกได้ก็คือว่ามีการมาทาบทามผมอย่างไม่เป็นทางการประมาณเดือนหนึ่งล่วงหน้า ซึ่งช่วงนั้นโดยหลักการแล้วใจผมค่อนข้างเทมาทางด้านนี้อยู่ เพราะผมคิดว่าผมอยู่เนชั่นมาตั้ง 30 ปีแล้ว ความท้าทายก็มีไม่มาก จึงคิดว่าการทำทีวีสาธารณะนี่ก็เป็นสิ่งที่ท้าทาย และจากประสบการณ์ความสามารถที่เรามีอยู่ก็คิดว่าจะนำมาใช้เป็นประโยชน์ได้ ผมก็ตอบในทางบวกไปว่าผมจะพิจารณา แต่ก็ไม่ได้เป็นการตกปากรับคำ จนกระทั่งผมไปอเมริกาทำข่าวเลือกตั้งประธานธิบดี ก็มีคนโทรไปประมาณต้นเดือนมกราคมบอกว่าขอทาบทามอย่างเป็นทางการ คนที่ถูกทาบทามให้เป็นกรรมการที่เหลือเขาเห็นพ้องกันว่าในบรรดาคนที่ควรจะมาเป็นผู้อำนวยการควรจะเป็นผม อยากให้ผมนั่งเป็นกรรมการชุดนี้ด้วย ก็เลยรับทั้งสองตำแหน่ง ผมรู้เท่านั้นแหละ ส่วนที่มีชื่อเป็นคนอื่น ผมไม่รู้

คุณรู้ใช่มั้ยครับว่าการเข้ามาตรงนี้จะต้องเกิดคำถามจากคนที่อยู่เดิมและจากสังคม

หนึ่ง-ผมมีความมั่นใจในความตั้งใจของตัวเองและผมไม่มีความคิด ไม่มีความหวั่นวิตก ว่าจะมีประเด็นไหนที่ผมจะตกเป็นเป้าตรวจสอบ ผมคาดการณ์ได้ว่าจะมีคำถามแน่ แต่ว่าผมก็รู้ว่าถ้ามีคำถามและมีการตรวจสอบในทุกแง่มุมเกี่ยวกับตัวผมและความสัมพันธ์ของผมกับใครก็ตาม การตรวจสอบจะมีความกระจ่างในตัวมันเองว่ามันไม่มีอะไรแอบแฝง จนถึงทุกวันนี้ผมก็ยังไม่รู้ว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อผมมันไปโยงกับประเด็นไหนที่ทำให้คนสงสัยว่าผมเหมาะสม ไม่เหมาะสมยังไง มีผลประโยชน์ทับซ้อนตรงไหน ผมก็พยายามดูว่าใครที่จะสามารถชี้ให้เห็นได้ว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน

จึงเป็นที่มาของการลาออกจากเนชั่นและขายหุ้นเนชั่น

ต้องมีคำถามแน่ว่าถ้าผมมา เนชั่นได้ประโยชน์หรือเปล่า เพราะก็มีคนของเนชั่นไปทำทีวีอยู่หลายช่อง เอาประเด็นเนชั่นก่อนว่าทำไมจึงถูกมองอย่างนั้น ผมก็ต้องถามกลับว่าทำไมเขาถึงมาหาเนชั่นล่ะ เนชั่นไม่ได้ไปหาเขานะ คนของเนชั่นถูกผู้บริหารของทีวีแต่ละช่องเป็นคนทาบทามทั้งสิ้น เนชั่นไม่ได้ไปเสนอตัว เสนอรายการทั้งสิ้น ทั้งหมดนี้มันอธิบายได้ว่าทำไมเนชั่นจึงได้ปรากฏอยู่ทุกช่อง ไม่ใช่เพราะเนชั่นมีอิทธิพลไปบังคับใครได้

กลับมาเรื่องประเด็นของผมที่เกี่ยวกับเนชั่น ตอนที่ผมได้รับการทาบทาม ผมไม่ได้พูดกับใครที่ไหน ไม่ได้ปรึกษาใครในเนชั่นแม้แต่คนเดียวเพราะผมถือว่านี่เป็นเรื่องส่วนตัวของผม เป็นอนาคตของผม และเป็นความปรารถนาส่วนตัวของผมที่อยากทำทีวีสาธารณะช่องนี้ วันที่ผมบอกคุณสุทธิชัยว่าผมลาออกก็คือว่าจันทร์ หนึ่งวันก่อนที่ ครม. จะพิจารณารายชื่อ และก็เป็นหนึ่งวันที่ผมกลับมาจากอเมริกา มาถึงคนที่ดำเนินการเรื่องนี้อยู่บอกว่าต้องการคำตอบวันนี้เลยเพราะชื่อเข้า ครม. วันพรุ่งนี้แล้ว ผมก็คุยกับคุณสุทธิชัยวันนั้นเลยว่าผมตัดสินใจแล้วนะว่าผมจะไปบริหารทีวีช่องนี้

แต่ผมก็รู้ดีว่าผมต้องแฟร์กับเนชั่นด้วย เพราะมันต้องมีข้อกล่าวหาแน่ว่าเนชั่นได้ประโยชน์เพราะผมเป็นตัวแทนเนชั่น เพื่อให้ทุกอย่างมันกระจ่าง ไม่ต้องมีความสงสัย มีคำครหา ผมเลยลาออกดีกว่า แล้วก็ลาออกแบบเด็ดขาดเลยคือเกษียณก่อนกำหนด กลับไปไม่ได้แล้ว รับเงินชดเชยไปทั้งหมด ขายหุ้นด้วย มันก็ตัดขาดชัดเจน

มีข้อกังขาบางข้อจากสังคมว่าทำไมพนักงานไอทีวีช่วงที่เปลี่ยนมาเป็นทีไอทีวีได้รับเงินชดเชย แล้วจากทีไอทีวีมาเป็นทีพีบีเอสก็จะได้รับเงินชดเชยและรับเข้าทำงานอีก

อันดับแรกเลยก็คือที่ชดเชยกันก่อนหน้านี้ ผมไม่ได้มีส่วนร่วม เป็นการตกลงกันระหว่างทีไอทีวีกับพนักงาน แต่ในส่วนพนักงานทีไอทีวีที่ค้างมาถึงทุกวันนี้ก็ต้องย้อนไปดูประวัติศาสตร์สั้นๆ ของมันว่าทั้งหมดนี้เป็นผลพวงการบริหารของกรมประชาสัมพันธ์ที่เข้าไป แต่ในส่วนของคณะกรรมการทั้ง 5 คน รวมทั้งผมในฐานะผู้อำนวยการสถานีด้วย เราไม่มีพันธะผูกพันกับข้อตกลงที่กรมประชาฯ ทำกับพนักงานทีไอทีวี เพราะฉะนั้นทางเราจะไม่เกี่ยวข้องกับการชดเชยใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าภาระทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาเป็นสิ่งที่กรมประชาฯ ต้องไปสะสางกับพนักงานทีไอทีวี

การที่พนักงานทีไอทีวีบางคน บางกลุ่มเข้ามาทำงานในทีพีบีเอส ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีวัฒนธรรมการทำงานบางประเภทที่ติดตัวมา ในระยะยาวคิดว่าตัววัฒนธรรมนี้จะส่งผลต่อทีพีบีเอสมั้ย

มี 2 ส่วนที่อยากจะพูดถึงคือเรื่องวัฒนธรรมการทำงาน พนักงานส่วนใหญ่ของทีไอทีวีก็เป็นคนที่ผมรู้จัก เคยทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กันมาสัก 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่ประวัติการทำงานดี ขยันขันแข็ง รับผิดชอบ และมีทัศนคติที่บวกมากๆ กับทีวีสาธารณะ และมีความรู้สึกว่าเขาจะสามารถกลับไปทำข่าวหรือสารคดีเหมือนกับที่ครั้งหนึ่งไอทีวีเคยทำได้ หลายคนยอมรับว่าอึดอัดใจในช่วงที่ไอทีวีถูกชินคอร์ปเข้าไปเทคโอเวอร์และถูกแปรสภาพให้เป็นทีวีที่เน้นความบันเทิง ในหลายกรณีก็ถูกกล่าวหาว่าตกเป็นเครื่องมือของพรรคการเมืองหรือนักการเมือง ซึ่งฝ่ายข่าวส่วนใหญ่ที่เขามีจุดยืนในการทำข่าว เขามีความอึดอัดใจนะ พอรู้ว่าจะได้มาทำทีวีสาธารณะที่ปลอดจากการถูกแทรกแซง เขาก็ยินดี เพราะฉะนั้นผมไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องวัฒนธรรมการทำงาน แต่เป็นเรื่องของทัศนคติ จุดยืนต่อการทำหน้าที่ของตัวเองด้วย ซึ่งผมคิดว่าส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยน ยังเหมือนเดิมอยู่ เพียงแต่ว่าสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมามันบีบบังคับให้เขาไม่สามารถแสดงออกในสิ่งที่เขาคิดว่าควรจะทำได้

สอง-เนื่องจากเราจะออกอากาศวันที่ 1 กุมภาพันธ์ แต่ว่าจะเป็นการออกอากาศที่เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งเพื่อที่จะไม่ให้หน้าจอเป็นอย่างทุกวันนี้ เราวางไว้ว่าจะมีรายการที่มีภาพของการเป็นทีวีสาธารณะระดับหนึ่งก่อน ในช่วงระหว่าง 6 โมงเย็นถึงเที่ยงคืน ทั้งหมดนี้จะสอดคล้องกับการเป็นทีวีสาธารณะ หลายรายการเป็นสิ่งทางทีไอทีวีเก่าได้ไปตกลงทำสัญญากับเขาไว้แล้ว ผลิตแล้วแต่ยังไม่ได้จ่ายตังค์หรือว่าค้างหนี้เขาอยู่ เราลองดูเนื้อหาแต่ละรายการดู ถ้ารายการไหนมีเนื้อหาที่เข้ากับคอนเซ็ปต์เราก็เอามาออกอากาศก่อน ซึ่งทั้งหมดที่ดูมานี้ก็ใช้ได้ ฉะนั้น นี่จึงเป็นการชิมลางดู แต่ยังไม่มีรายการข่าวเพราะอย่างที่รู้กันว่าความไม่พร้อมในการรับพนักงานก็ยังคาราคาซังอยู่ พอ 15 กุมภาพันธ์ก็จะพร้อมที่จะมีรายการข่าวเช้าได้

แต่ว่าพนักงานทุกคนที่จะว่าจ้าง จะว่าจ้างในฐานะลูกจ้างชั่วคราวแค่ 3 เดือน ก็พูดตรงๆ ว่าส่วนใหญ่คงจะเป็นพนักงานทีไอทีวีเดิม จะมีคนนอกเข้ามาเสริมด้วยส่วนหนึ่ง แต่ว่าความกระชั้นของเวลามันทำให้เราไม่สามารถดึงคนข้างนอกเข้ามาในจำนวนมากเท่าที่เราอยากจะให้มี แต่ทั้งหมดนี้เงื่อนไขคือ 3 เดือน และในระหว่าง 3 เดือน เราก็จะเริ่มกระบวนการคัดสรรคนที่สมัครมา ทั้งคนทีไอทีวีเก่า คนข้างนอก คราวนี้ไม่มีการแบ่งโควต้าแล้วว่าทีไอทีวีกี่เปอร์เซ็นต์ คนนอกกี่เปอร์เซ็นต์ โดยเราจะให้คณะกรรมการสรรหาคนขึ้นมา มีบริษัทเอกชนที่เป็นกลางเข้ามาช่วย โดยยึดใบสมัครเป็นที่ตั้ง ซึ่งหมายความว่าหลังจาก 3 เดือนไปแล้วพนักงานของทีวีสาธารณะช่องนี้ก็จะหมดความเป็นทีไอทีวี จะเป็นคนที่เข้ามาในกรอบใหม่แล้ว

ตัวคุณและคณะกรรมการมีฐานคิดอย่างไรในการจัดผังรายการ จัดสรรความสมดุลระหว่างเนื้อหาสาระต่างๆ

ต้องไปดูเจตนารมณ์หลักของทีวีสาธารณะ เป้าหมายคือทีวีที่สะท้อนสังคมที่หลากหลาย ต้องอย่าลืมว่าทีวีทั่วๆ ไปบ้านเราจะสะท้อนความเป็นเมืองหลวงค่อนข้างเยอะ แม้แต่ข่าว-รายการทั้งหลายก็สะท้อนมุมมองของสังคมที่มีไม่กี่มุม ข่าวเกือบทุกช่องวาระของข่าวจะถูกกำหนดด้วยตัวละครทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจไม่กี่คน มีแต่หน้าซ้ำๆ ออกมาและคนเหล่านี้เป็นคนกำหนดวาระข่าว แล้วทีวีทุกช่องก็เต้นตามคนเหล่านี้

แต่ทีวีช่องนี้จะต้องเป็นทีวีที่วาระข่าวมันถูกกำหนดด้วยสภาพและตัวละครของสังคมที่มันหลากหลายมากขึ้น เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยเรื่องของนายกรัฐมนตรีว่าวันนี้ทำอะไร ไปไหน อาจจะเริ่มต้นด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นที่โคราชที่เราคิดว่ามันมีสาระเพียงพอที่คนในสังคมอยากจะรับรู้ ซึ่งหมายความว่ามุมมองของการทำข่าว ของนักข่าวจะต้องมาทำความเข้าใจกันเพื่อหลอมรวม นี่คือส่วนของฝ่ายข่าวที่ผมคิดว่าจะต้องเป็นไปตามทางนี้เพื่อให้ทุกคนในสังคมมีโอกาสเป็นข่าวในทีวีได้ ไม่ใช่ให้คนไม่กี่คนกุมวาระข่าว

ส่วนรายการก็เหมือนกัน มันต้องมีความหลากหลายมากขึ้น คอนเซ็ปต์นี้จะเป็นตัวกำหนดว่าแต่ละช่วงของรายการจะเป็นยังไง จริงๆ ที่ผ่านมาเราก็ตั้งวงเสวนากับคนในวงการต่างๆ เช่น กลุ่มเอ็นจีโอ กลุ่มภาคประชาชน กลุ่มผลิตรายการเด็กและครอบครัว มันต้องเป็นเวทีที่เปิดช่องให้กับผู้ผลิตทุกระดับ เพื่อที่จะออกรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ตอบสนองความต้องการของคนที่มีหลากหลาย

ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมได้ยังไงบ้าง เพราะข่าวที่ออกมาตอนนี้เป็นข่าวการทำงานของคณะกรรมการเพียงฝ่ายเดียว

ก็ต้องเข้าใจหน่อยว่าเราเพิ่งเริ่มทำงานได้ไม่กี่วัน แต่กระบวนการการมีส่วนร่วมเราก็ทำในกรอบเท่าที่เราจะทำได้ เราเดินออกไปตั้งวงคุยกับกลุ่มผู้ผลิตรายการ ภาคประชาชน มีหลายกลุ่มติดต่อเข้ามา มีอาจารย์ขวัญสรวง (อตีโพธิ) อาจารย์อภิชาติ (ทองอยู่) ที่ค่อนข้างมีเครือข่ายภาคประชาชนที่กว้างขวาง ในเบื้องต้นนี้ก็เป็นช่องทางหนึ่ง ในระยะยาว แน่นอนว่าเราจะต้องจัดเวทีที่ไปตามภูมิภาคมากขึ้น คุยกับกลุ่มคนต่างๆ ว่าเขาอยากเห็นรายการแบบไหน อย่างไร การมีส่วนร่วมต้องเกิดขึ้นแน่นอน แต่ว่าเราเพิ่งจะเริ่มทำ ฉะนั้น จึงอาจจะยังไม่เป็นการดำเนินการที่เป็นระบบมากนัก ตอนนี้ภาระกิจเฉพาะหน้าของเราคือทำอย่างไรจึงออกอากาศให้ได้ตามกำหนดเวลา นี่คือภารกิจสำคัญของเรา มันค้ำคออยู่ เราต้องทุ่มสรรพกำลังทั้งหมดมาใน 2 ส่วนนี้ก่อน

เห็นภาพการเมือง ภาพรัฐบาลแล้ว ไม่จำเป็นต้องถามว่าการเมืองจะเข้าหาทีพีบีเอสหรือเปล่านะครับ แต่อยากทราบว่าคุณมอง คิด หรือหาวิธีการที่จะปะทะกับแรงเสียดสีทางการเมืองบ้างหรือยัง

ผมคิดว่าคนทางด้านการเมืองคงต้องทำความเข้ากับทีวีช่องนี้ก่อน ไม่ควรจะกลัวว่าฝ่ายการเมืองจะเข้ามาแทรกแซงหรือตั้งป้อม แต่นั่นก็หมายความว่าตัวทีพีบีเอสจะต้องวางจุดยืนให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ด้วย คือเราไม่ได้จำเป็นต้องเป็นกลางทางด้านการเมืองทุกๆ ด้าน ...ก็มีความกลัวอยู่ แต่ยังมองไม่เห็นเหตุผลที่ฝ่ายการเมืองจะมาแทรกแซง ยกเว้นว่าฝ่ายการเมืองไม่แคร์เสียงของสังคม ต้องการเพียงจะเข้ามากุมสถานีนี้ให้ได้เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองซึ่งผมก็ยังไม่เชื่อว่ามันจะเกิดขึ้น

ความเป็นกลางของทีพีบีเอสจะมีหน้าตาแบบไหน เพราะบางทีคนมักจะคิดว่าความเป็นกลางคือต้องค้าน ต้องด่ารัฐบาลทุกเรื่อง

อันดับแรกคือเราคงไม่ด่าใครทั้งสิ้น หน้าที่ของเราคือให้ข้อมูลก่อน รายงานความเป็นไปในประเด็นที่เราคิดว่ามีประโยชน์ต่อสังคม แต่ว่าหน้าที่ที่มีความสำคัญพอๆ กันก็คือการตรวจสอบ ตรงนี้แหละอาจจะทำให้เกิดคำถามว่าจะตรอวจสอบลึกแค่ไหน ตรวจสอบแล้วเจอตอแล้วจะทำยังไง จะทำให้คนมีความรู้สึกว่า เอ๊ย คุณเจตนาตรวจสอบเฉพาะกลุ่มนี้ คนนี้ พรรคนี้หรือเปล่า ซึ่งตรงนี้เราต้องระวัง เราต้องไม่ให้มีใครกล่าวหาเราได้ว่าเราเป็นทีวีที่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่งหรือต่อต้านกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ผมว่าจุดยืนของผมและคณะกรรมการชั่วคราวและที่จะมอบให้กับคนทำข่าว เราชัดเจนมากว่าเราจะต้องไม่มีภาพว่าเราเป็นทีวีของใคร กลุ่มไหน ผมก็รู้ว่ามีคนตั้งข้อสังเกตว่านี่เป็นทีวีที่ตั้งขึ้นมาเพื่อจะชนกับใครหรือเปล่า เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือเปล่า ซึ่งผมคิดว่าทีวีช่องนี้ถึงแม้ว่า สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) จะมีหรือไม่มี็น็มันก็ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้วไม่ช้าก็เร็ว แต่บังเอิญมันไปเกี่ยวโยงกับทีไอทีวีที่เคยเป็นสมบัติอันห่วงแหนของคนบางคน มันก็เลยถูกตั้งเป็นประเด็นขึ้นมา แค่นั้นเอง ถามผม ผมว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่เราเคยคุยกันเลย ไม่เคยมองว่าทีวีช่องนี้จะต้องสู้กับใคร เราเป็นทีวีสาธารณะ หน้าที่ของเราคือการตอบสนองความต้องการทางด้านข้อมูลข่าวสารของประชาชน ของสังคมที่หลากหลาย

อย่างข่าวที่มีการปล่อยออกมาว่าถ้าใครบางคนกลับมาก็จะมีการเปลี่ยนกฎหมายทีวีสาธารณะ

มันก็เป็นแค่กระแสข่าวลือ ถ้าจะเปลี่ยนกฎหมายก็ต้องมีเหตุผลว่าเปลี่ยนเพราะอะไร การเปลี่ยนจากไอทีวีเป็นทีวีสาธารณะมันมีเหตุผลชัดเจนของมันอยู่ ถ้าจะเปลี่ยนกลับไปก็ต้องมีเหตุผลอธิบาย แต่จริงๆ แล้วความสำคัญมันอยู่ที่ตัวทีพีบีเอสเองว่าสามารถพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นทีวีสาธารณะจริงๆ ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือเปล่า สามารถพิสูจน์ตัวเองได้ว่าเป็นทีวีที่ประชาชนศรัทธาและต้องการจะปกป้องหรือเปล่า ถ้าทีพีบีเอสทำตามเจตนารมณ์ได้ดี ผมก็เชื่อว่าฝ่ายการเมืองคงจะต้องคิดหนักถ้าจะมาแทรกแซง แต่ถ้าเราเหลาะแหละ ไม่ได้มีเนื้อหาสาระมากนัก ประชาชนก็คงเฉยๆ เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าความสำคัญอยู่ที่ทีพีบีเอสว่าสามารถทำให้มันมีเกราะป้องกันตัวเองผ่านทางคุณภาพของรายการที่ออกไปแค่ไหน

ความนิ่งของสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี (สปน.) ที่ยังไม่เริ่มเดินหน้าเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายทั้ง 9 คน จนคุณสมชาย แสวงการต้องออกมากระทุ้งเตือน ในจุดนี้คุณคิดว่ามีนัยอะไรที่น่าห่วงมั้ย

ผมคิดว่า สปน. เองเขาก็มองกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ 180 วัน หรือ 6 เดือน เขาคงคิดว่ายังมีเวลาอยู่ ตราบใดที่ยังมีเวลาอยู่และรักษากรอบเวลานี้ไว้ ผมก็ยังมองไม่เห็นผลว่าทำไมเขาจะไม่ทำ เพียงแต่เขาอาจจะมองว่าการเมืองช่วงนี้ยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อก็เลยไม่รู้จะดำเนินการอย่างไร ผมเดานะ ในส่วนคุณสมชาย ผมก็วิเคราะห์เอาว่าเขาคงเป็นห่วง ถ้ามันล่าช้าไปอาจจะมีการแทรกแซงกรรมการบริหารชั่วคราวนี้ก็ได้ เพราะถ้ากระบวนการสรรหากรรมการถาวรเกิดขึ้นเร็วเท่าไหร่ มันก็จะเป็นเกราะป้องกันสถานีช่องนี้ได้

พ.ร.บ.ประกอบกิจการที่มีอยู่มาตราหนึ่งระบุว่าหากเกิดภัยพิบัติ เหตุฉุกเฉิน หรือ ‘เหตุจำเป็นอื่นๆ’ หน่วยงานของรัฐและรัฐบาลสามารถร้องขอให้สื่อสาธารณะออกรายการที่ต้องการได้ หรือประเด็นที่ กสช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ) สามารถโทรกริ๊งกร๊างเข้ามาสั่งให้ระงับการออกอากาศได้ทันที ตรงนี้ก็มีความเป็นห่วงว่าทีพีบีเอสจะถูกแทรกแซงด้วยกฎหมายนี้

เรื่องนี้ทางผมและสมาคมนักข่าวไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว ผมคิดว่าคนที่ร่างกฎหมายหรือคนที่อยู่เบื้องหลังคนร่างกฎหมายมาตรานี้ยังมองว่าสื่อคงไม่สนใจเรื่องภัยพิบัติประชาชนหรอก แต่ดูสิ ทุกครั้งที่มีภัยพิบัติ เหตุการณ์ใหญ่ๆ เกิดขึ้น ต้องร้องขอสื่อมั้ย กลับทำเร็วกว่าช่องรัฐบาลด้วยซ้ำไป ผมคิดว่าเป็นแนวความคิดที่ล้าสมัยมากเลยที่จะต้องใช้กฎกระทรวง กฎระเบียบมาบีบังคับสื่อให้ต้องทำตามแนวทางที่ราชการต้องการ หรือที่กริ๊งกร๊างมาเบรกก็เหมือนกัน ยังคิดว่าสื่อจะทำอะไรบ้าๆ บอๆ กลางอากาศ จึงต้องมีอำนาจในการสั่งเบรกได้จึงจะแก้ปัญหาได้ ผมเองพยามยามเข้าไปมีส่วนในการร่างกฎหมายนี้มาตั้งแต่ต้น เราค้านมาตรานี้มาตลอด

ตอนนี้มันมีความพยายามที่ชัดเจนอยู่อันหนึ่งคือเราจะต้องสร้างกลไกบางอย่างที่เรียกว่าสภาวิชาชีพ ผมคิดว่าองค์กรไหนที่เกี่ยวกับวิชาชีพ ไม่ควรให้องค์กรอื่นมีอำนาจทางกฎหมายในการลงโทษ ควรเป็นองค์กรที่สามารถดูแลกันเองได้ อย่างเช่นการถ่ายทอดเรื่องภัยพิบัติก็ควรจะเป็นวิจารณญาณของสถานีทั้งหลาย และถ้าทำแล้วไม่เหมาะสมก็ดูแลกันเอง ให้สังคมลงโทษกันเอง ตรงนี้ต่างหากที่จะเป็นคำตอบที่จะทำให้สถานีโทรทัศน์ทั้งหลายมีกลไกในการตรวจสอบกันเองได้ โดยไม่อยู่ภายใต้การควบคุมขององค์กรที่มีอำนาจทางกฎหมายแบบ กสช. ซึ่งควรมีหน้าที่ในการจัดสรรคลื่นความถี่และดูแลให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎกติกาก็พอแล้ว ไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นช่องทางให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงได้

เรื่องสภาผู้ชมผู้ฟัง?

ก็ถือว่าเป็นภารกิจอันหนึ่ง ก็ได้คุยกันเยอะแล้ว กำลังจะเริ่มต้นกระบวนการที่จะนำไปสู่การตั้งสภาผู้ชม และเราเชื่อว่าสภาผู้ชมควรจะมีบทบาทจริงๆ ในกฎหมายเขียนบทบาทสภาผู้ชมไว้ค่อนข้างน้อยมาก ประชุมปีละครั้งเดียวเองนะและเสนอความคิดเห็นมายังคณะทำงานบริหาร ผมว่ามันไม่พอ สภาผู้ชมควรเป็นเครือข่ายที่มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา มีการประชุมกันบ่อยครั้ง เสนอรายงานความคิดเห็น รับฟังและเป็นปากเสียงแทนประชาชน เราอยากให้มีเร็วที่สุด มีความหลากหลายมากที่สุด ตอนนี้เพิ่งจะเริ่มเพราะมีภารกิจเฉพาะหน้าเยอะ

ถามไถ่กันด้วยความห่วงใยสวัสดิภาพของทีพีบีเอสว่าด้วยสภาพการเมืองที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ถึงที่สุดแล้วทีวีสาธารณะในเมืองไทยมันจะเป็นจริงมั้ย

โดยส่วนตัวนะ ผมเชื่อว่ามันเป็นไปได้และมันควรจะเป็นไปได้ด้วย โอเคล่ะ มันเป็นสิ่งที่ใหม่ ผมก็ยอมรับ แต่มันก็สำคัญที่คนที่มาทำงาน โดยเฉพาะชุดแรกๆ ที่มาทำ ถ้าปีแรกออกมาดีสัก 80 เปอร์เซ็นต์ก็พอนะ ตรงนี้แหละที่จะเป็นสิ่งบอกได้ว่ามันจะอยู่หรือจะไป

หลังจากหมดวาระการเป็นคณะกรรมการและผู้อำนวยการชั่วคราว คุณคิดไว้หรือยังว่าจะสมัครตำแหน่งผู้อำนวยการทีพีบีเอสต่อเพื่อสานงานที่ทำไว้

ยังไม่ได้คิดจริงๆ นะ เพราะภารกิจที่รอผมอยู่ข้างหน้านี้มันค่อนข้างจะหนักมาก 6 เดือนแล้วอาจจะหมดแรงก็ได้ หรือถ้ามันยังมีความท้าทายอยู่ก็ไม่แน่ ตอนนี้ยังไม่ได้คิด

************************
เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล



กำลังโหลดความคิดเห็น