xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.แถลงทิศทางนโยบายการเงิน วันนี้ จับตาตัวเลขหนี้เสีย-ต้นทุนดันเงินเฟ้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จับตา ผู้ว่าการ ธปท.แถลงทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินปีนี้ รวมถึงมาตรการรับมือผลกระทบเศรษฐกิจโลก เวลา 14.00 น.คาดภาวะหนี้เสียระดับครัวเรือน และภาวะเงินเฟ้อจากต้นทุนผลัก กำลังเป็นแรงกดดันสำคัญ คาด บอร์ด กนง.หั่นดอกเบี้ยแรงตามเฟด ขณะที่ปัญหาสินเชื่อบัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคล เริ่มส่งผลต่อเสถียรภาพระบบการเงินภายในประเทศที่เปราะบาง

มีรายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ (28 ม.ค.) ในเวลา 14.00 น.นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะแถลงข่าวกับสื่อมวลชนในรอบปี เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินในปีนี้ รวมถึงความเสี่ยง และปัจจัยลบต่างๆ ที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญ ณ ห้องผู้สื่อข่าว ชั้น G ธนาคารแห่งประเทศไทย

ก่อนหน้านี้ น.ส.ดวงมณี วงศ์ประทีป ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท.ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชน โดยระบุว่า เสถียรภาพโดยรวมของภาคครัวเรือนอยู่ในเกณฑ์ดี โดยสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังอยู่ในระดับต่ำ ส่วนกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง พบว่า ยังคงมีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ในส่วนของสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล ซึ่งเป็นประเด็นจำเป็นที่ ธปท.ต้องติดตามให้มั่นใจว่าจะสร้างปัญหาต่อเนื่องต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินทั้งระบบ

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้รายงานในแนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนมกราคม 2551 ระบุว่า ช่วงไตรมาส 3 ของปี 2550 ที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางมีอัตราการผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน คณะกรรมการ กนง.จึงประเมินว่า การผิดนัดชำระหนี้น่าจะเกิดในระยะสั้น เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว โดยมีปัจจัยบวกจากความชัดเจนทางการเมืองที่มีมากขึ้นกว่าในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการให้ติดตามความเปราะบางที่เกิดขึ้นต่อไปอีกระยะหนึ่ง

นอกจากนี้ รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อของ ธปท.ฉบับเดือน ม.ค.ปีนี้ ระบุว่า ข้อมูลสินเชื่อในเดือน พ.ย.ปี 2550 ที่ผ่านมา พบว่า สินเชื่อที่ให้กับภาคธุรกิจมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น หลังหดตัวมาตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากได้แรงหนุนจากสินเชื่อภาคครัวเรือนเป็นสำคัญ

สำหรับสินเชื่อภาคเอกชน หากจัดผลของการตัดสินเชื่อออกจากบัญชี และการโอนสินเชื่อไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ออกไป จะพบว่า สินเชื่อเดือน พ.ย.เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าขยายตัว 3.6% สูงขึ้นจากช่วงสิ้นไตรมาส 3 ปีเดียวกันที่ 3.1%

นอกจากนี้ ธปท.ยังได้รายงานยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ล่าสุดเดือน ธ.ค.2550 พบว่า สถาบันการเงินทั้งระบบมียอดเอ็นพีแอลทั้งสิ้น 237,887.59 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 22,834.59 ล้านบาท หรือ 3.95% หรือคิดเป็น 3.95% ของสินเชื่อรวม โดยเป็นการลดของทุกสถาบันการเงิน

ประเด็นดังกล่าวแยกเป็นเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ 232,458.34 ล้านบาท สาขาธนาคารต่างประเทศ 3,244.60 ล้านบาท ธนาคารพาณิชย์ 235,702.94 ล้านบาท บริษัทเงินทุน (บง.) 1,881.49 ล้านบาท สถาบันการเงิน 237,584.43 ล้านบาท และบริษัท เครดิตฟองซิเอร์ 303.17 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากเทียบยอดเอ็นพีแอลช่วงเดียวกัน พบว่า สถาบันการเงินไทยทุกประเภทมียอดเอ็นพีแอลลดลงทั้งสิ้นโดยเป็นการลดลงของสถาบันการเงินมากที่สุดถึง 22,855.58 ล้านบาท หรือลดลง 8.77% รองลงมา คือ ธนาคารพาณิชย์ลดลง 22,751.97 ล้านบาท หรือ 8.86% ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ 22,326.07 ล้านบาท หรือ 8.76% สาขาธนาคารต่างประเทศ 425.89 ล้านบาท หรือ 11.6% บง.103.61 ล้านบาท หรือ 5.21% และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 21.21 ล้านบาท หรือ 7.52% ของสินเชื่อรวม

นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยธนาคาร กล่าวว่า เท่าที่ติดตามดูการผิดนัดชำระหนี้ของธนาคารพาณิชย์ในช่วงนี้พบว่าเพิ่มขึ้นไม่มาก ในทิศทางกลับกันกับพบว่าโดยรวมลดลงด้วยซ้ำ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากธนาคารมีการปรับโครงสร้างหนี้จำนวนมาก ขณะเดียวกัน การปล่อยสินเชื่อก็เข้มงวดขึ้นมาก ดังนั้น ในระยะต่อไปมองว่าการฟื้นตัวที่ชัดเจนของเศรษฐกิจจะช่วยให้สินเชื่อขยายตัวตามได้
กำลังโหลดความคิดเห็น