xs
xsm
sm
md
lg

ใช้จ่ายผ่านบัตรลด-หนี้ค้างเพิ่ม ธปท.ไม่หวั่นเชื่อธุรกิจขยายตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้บริหาร ธปท.มองภาพธุรกิจบัตรเครดิตยังขยายตัวได้ดีอยู่ ขณะที่เอ็นพีแอลอยู่ที่ 3% ทรงตัวมาตั้งแต่ปี 49 เผยหากมีการผ่อนเกณฑ์ในช่วงเศรษฐกิจชะลอ จะเป็นการซ้ำเติมผู้ถือบัตร ด้านยอดคงค้างบัตรเครดิตล่าสุดในเดือน พ.ย.มีปริมาณการใช้จ่ายลดลงกว่า 800 ล้านบาทจากเดือนก่อน โดยเฉพาะยอดการใช้จ่ายในประเทศลดลงถึง 684 ล้านบาท ส่วนยอดคงค้างสินเชื่อกลับเพิ่มขึ้น 1,508 ล้านบาท และมีปริมาณบัตรเครดิตภายในเดือนเดียวพุ่งกว่า 6 หมื่นบัตร

นายเกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ธุรกิจบัตรเครดิตมีการขยายตัวทรงๆ กับช่วงที่ผ่านมา เพราะลูกค้าส่วนใหญ่มีความระมัดระวังมากขึ้นในการใช้จ่ายจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ยังไม่เห็นสัญญาณที่แสดงความผิดปกติสำหรับธุรกิจนี้ โดยอัตราการผิดนัดชำระหนี้อยู่ที่ระดับ 3% ของยอดสินเชื่อคงค้าง ซึ่งก็ทรงตัวในระดับนี้มาตั้งแต่ในปี 2549 เป็นต้นมา ขณะที่หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของบัตรเครดิตก็มีประมาณ 3% ถือว่าไม่มากนัก เพราะผู้ประกอบการเองมีการตัดหนี้สูญทันที จึงทำให้ภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตยังคงดีอยู่

“สายนโยบายสถาบันการเงินของ ธปท.ก็มีการหารือภายใน ธปท.กันตลอด ซึ่งก็เห็นว่าไม่มีปัญหาอะไรที่น่าห่วง โดยเฉพาะยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตไม่ได้ขยายตัวหรือหดตัวแบบก้าวกระโดดจนน่าตกใจ ส่วนปริมาณการใช้จ่ายโดยรวมที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงบางในบางเดือนก็เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอ ทำให้ผู้ถือบัตรเครดิตมีการระวังตัวในการใช้จ่ายมากขึ้น และหากจะถามว่าในช่วงที่เศรษฐกิจเป็นแบบนี้ ธปท.จะมีการผ่อนเกณฑ์อะไรไหนที่ช่วยเหลือผู้ถือบัตรเครดิตคงจะไม่มี เพราะเขาก็ดูแลตัวเองดีอยู่ และหากเรายิ่งผ่อนปรนมากเกินไปก็อาจยิ่งทำให้ผู้ถือบัตรเครดิตตายเร็วขึ้น เพราะเขาจะไม่มีวินัยในการใช้จ่ายเงิน” ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

รายงานข่าวจาก ธปท.แจ้งว่า สายนโยบายสถาบันการเงินได้ประกาศยอดคงค้างบัตรเครดิตล่าสุด ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2550 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า ในระบบเศรษฐกิจมียอดสินเชื่อคงค้างทั้งสิ้น 175,401 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,508 ล้านบาท คิดเป็น 0.87% โดยแบ่งเป็นสินเชื่อคงค้างของบริษัทประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) จำนวน 80,862 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นมากที่สุดในระบบ 1,010 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่วนธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศมีจำนวน 59,475 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 402 ล้านบาท และสาขาธนาคารต่างประเทศ 35,065 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 96 ล้านบาท

ขณะที่ปริมาณบัตรเครดิตในระบบมีจำนวนทั้งสิ้น 11,923,010 บัตร เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 64,799 บัตร คิดเป็น 0.55% โดยแบ่งเป็นบัตรเครดิตในส่วนของนอนแบงก์ 5,952,457 บัตร ซึ่งเพิ่มขึ้นมากที่สุดในระบบถึง 47,704 บัตร ส่วนธนาคารพาณิชย์ มีจำนวน 4,673,146 บัตร หรือเพิ่มขึ้น 12,249 บัตร และสาขาธนาคารต่างชาติอีก 1,297,407 บัตร เพิ่มขึ้น 4,846 บัตร

สำหรับปริมาณการใช้จ่ายโดยรวมผ่านบัตรเครดิตในระบบทั้งสิ้น 74,550 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อน 803 ล้านบาท หรือลดลง 1.07% โดยปริมาณการใช้จ่ายในประเทศมีจำนวน 54,277 ล้านบาทในเดือนนี้ หรือลดลง 684 ล้านบาท ปริมาณการใช้จ่ายในต่างประเทศ 2,563 ล้านบาท ลดลง 590 ล้านบาท และการเบิกเงินสดล่วงหน้า 17,710 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 470 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและค่าครองชีพที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทั้งราคาสินค้า และราคาน้ำมันส่งผลต่อกำลังซื้อและความเชื่อมั่นในการบริโภคของประชาชน ขณะที่ผู้ถือบัตรเครดิตจำนวนหนึ่งใช้สินเชื่อบัตรเครดิตจนเต็มวงเงินแล้ว ทำให้ไม่สามารถใช้จ่าย หรือกดเงินสดล่วงหน้าจากบัตรเครดิตได้อีก ขณะที่อีกส่วนหนึ่งมาจากธนาคารพาณิชย์เจ้าของบัตรและบริษัทผู้ให้บริการบัตรเครดิตเริ่มมีความระมัดระวังในการเพิ่มวงเงินสินเชื่อให้กับลูกค้าบัตรเครดิตมากขึ้น หลังจากเห็นยอดการผิดนัดชำระหนี้ และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้น โดยได้มีคำสั่งให้พิจารณาการเพิ่มวงเงินบัตรเครดิตของลูกค้าให้รอบคอบเป็นพิเศษ หากไม่มีประวัติที่ดีจริงๆ ไม่ควรเพิ่มวงเงินการใช้จ่ายให้
กำลังโหลดความคิดเห็น