xs
xsm
sm
md
lg

ผวาNPLรายย่อย-ครัวเรือน แบงก์ใช้ทางลัดตัดหนี้สูญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอ็นพีแอลรายย่อยไตรมาส 2 ลดลงทั้งของบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล เหตุแบงก์พาณิชย์มีการตัดหนี้สูญออกจากบัญชีในงวดครึ่งปี เตือนเพิ่มความระมัดระวังในการก่อหนี้ของครัวเรือน บิ๊ก ธปท.หวังปัญหาหนี้เสียมาจากธนาคารพาณิชย์แข่งปล่อยกู้ส่งผลฐานสินเชื่อขยายตัวมากขึ้น

รายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาวะโดยรวมของธุรกิจบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลล่าสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ พบว่า สินเชื่อส่วนบุคลรวมของธนาคารพาณิชย์ และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) สิ้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 11,112,479 บัญชี เทียบกับไตรมาสแรกที่มี 10,846,204 บัญชี เพิ่มขึ้น 266,137 บัญชี หรือเพิ่มขึ้น 2.45%

โดยมียอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคลรวม 213,643 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกของปีนี้ 7,084 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.42% แบ่งเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ไทย 98,784ล้านบาท เป็นสินเชื่อของนอนแบงก์ 92,838 ล้านบาท ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศลดลง โดยมียอดคงค้างอยู่ที่ 22,057 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อเทียบสัดส่วนการเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสินเชื่อบุคคลของระบบรวม ณ สิ้นเดือนมิ.ย..51 ที่มียอดคงค้างหนี้เอ็นพีแอลทั้งสิ้น 9,336 ล้านบาท เทียบกับเดือนมี.ค. พบว่า มีหนี้เอ็นพีแอลลดลง 244 ล้านบาท หรือลดลง 2.54% โดยเป็นหนี้เอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ไทย 4,228 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 365 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9.44% ขณะที่หนี้เอ็นพีแอลสินเชื่อส่วนบุคคลของนอนแบงก์มีทั้งสิ้น 3,537 ล้านบาท ลดลง 548 ล้านบาท หรือลดลง 13.41% ยอดหนี้เอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศลดลง 3.73% มียอดคงค้างที่ 1,571 ล้านบาท

นอกจากนี้ ธปท.ยังได้รายงานการให้บริการบัตรเครดิต และสินเชื่อบัตรเครดิตของระบบรวมด้วยว่า สิ้นไตรมาสสองของปีนี้ ผู้ให้บริการบัตรเครดิตทั้งหมดมีบัตรเครดิตอยู่ในระบบทั้งสิ้น 12,358,383 บัตร เทียบกับไตรมาสแรกที่มี 12,064,293 บัตร เพิ่มขึ้น 294,090 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.43% ขณะที่มียอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตรวม สิ้นเดือนมิ.ย. มีทั้งสิ้น 179,096.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,331.07 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.47% โดยสินเชื่อของบัตรเครดิตธนาคารพาณิชย์ไทยลดลง 1,959.33 ล้านบาท หรือลดลง 3.27% เป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อนอนแบงก์ 1,781.56 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 2.21% และเป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อบัตรเครดิตธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ 589.97ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.70%

อย่างไรก็ตาม ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในเดือนมี.ค.มียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตรวม 74,994.42 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสแรก 5,153.16 ล้านบาท หรือลดลง 6.42% และมียอดการเบิกเงินสดผ่านบัตรทั้งสิ้น 16,329.52 ล้านบาท ลดลง 2,259.63 ล้านบาท หรือลดลง 12.15%

ขณะเดียวกัน ยอดคงค้างเหนี้เอ็นพีแอลของสินเชื่อบัตรเครดิต ได้ปรับลดลงเช่นเดียวกับสินเชื่อส่วนบุคคล โดยสิ้นเดือนมิ.ย.มีหนี้เอ็นพีแอลรวมทั้งสิ้น 5,497 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสแรก 537 ล้านบาท หรือลดลง 8.89% โดยเป็นสินเชื่อเอ็นพีแอลของบัตรเครดิตธนาคารพาณิชย์ไทย 2,059 ล้านบาท ลดลง 214 ล้านบาท หรือลดลง 9.41% หนี้เอ็นพีแอลของบัตรเครดิตนอนแบงก์ มีทั้งสิ้น 2,000 ล้านบาท ลดลง 202 ล้านบาท หรือลดลง 9.17% ขณะที่เอ็นพีแอลของบัตรเครดิตธนาคารต่างประเทศมียอดคงค้าง 1,438 ล้านบาท ลดลง 121 ล้านบาท หรือลดลง 0.07%

นายเกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สาเหตุที่เอ็นพีแอลของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ในไตรมาสที่ 2 ปรับลดลง เนื่องจากเป็นช่วงครึ่งปีที่แบงก์พาณิชย์มีการปิดงวดบัญชีครึ่งปี ซึ่งมีการตัดหนี้สูญออกจากบัญชี โดยตัวเลขเอ็นพีแอลของสินเชื่อบัตรเครดิต ณ สิ้นเดือนมิ.ย. ลดลงมาอยู่ที่ 3.1% เทียบกับสิ้นเดือนมี.ค.อยู่ที่ 3.5% ของสินเชื่อรวม

ขณะที่เอ็นพีแอลของสินเชื่อบุคคลภายใต้กำกับของนอนแบงก์สิ้นเดือนมิ.ย.ปรับลดลงมาอยู่ที่ 4.4% เทียบกับเดือนมี.ค. 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งมีเอ็นพีแอล 4.6% ของสินเชื่อรวม

“ตัวเลขเอ็นพีแอลไม่มีอะไรน่าตกใจ การที่ยอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้น ขณะที่เอ็นพีแอลลดลง ไม่ได้หมายว่าคนไม่ยอมจ่ายหนี้ แต่อาจมาจากธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันทางด้านการปล่อยสินเชื่อสูง ทำให้ฐานสินเชื่อขยายตัวมากขึ้นด้วย ส่วนแนวโน้มเอ็นพีแอลเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการบัตรเครดิตและผู้ใช้บริการ แต่เท่าที่ดูขณะนี้ยังไม่มีปัญหาอะไรให้น่าห่วง” นายเกริก กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีการประเมินว่าถึงแม้ภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นจะทำให้ค่าครองชีพของภาคครัวเรือนสูงขึ้นค่อนข้างมาก แต่ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ สะท้อนจากข้อมูลสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่ได้เร่งตัวขึ้น ประกอบกับการเพิ่มความระมัดระวังในการก่อหนี้ของครัวเรือน ส่งผลให้อัตราการผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่ 1-3 เดือนเริ่มมีแนวโน้มลดลง ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อเสถียรภาพภาคครัวเรือน

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจอาจฟื้นตัวกว่าที่คาดไว้เดิม และอัตราเงินเฟ้อที่น่าจะอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนี่ง ทำให้ธปท.ต้องติดตามผลกระทบต่อรายได้ที่แท้จริงและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนที่อาจลดลงในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น