xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เกาะติดสินเชื่อบริโภค ผวาค่าครองชีพสูงดัน NPL

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ชาติไม่ประมาท เกาะติดคุณภาพหนี้และการขยายตัวสินเชื่อบุคคล หวั่นสร้างหนี้ให้กลุ่มสินเชื่ออุปโภคบริโภคพุ่ง ยอมรับรายจ่ายที่สูงขึ้นตามการครองชีพที่เพิ่มขึ้นอาจสร้างแรงกดดันให้การผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นได้ และเป็นเรื่องลำบากใจในการตัดสินใจให้สินเชื่อของแบงก์

นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ทิศทางการขยายตัวของสินเชื่ออุปโภคบริโภคในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัวสูงขึ้นถึงตัวเลข 2 หลัก แต่การใช้จ่ายในด้านนี้ก็มีความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการติดตามต่อไปว่าแรงกดดันคุณภาพหนี้และการขยายตัวสินเชื่อบุคคลจะก่อให้เกิดหนี้เอ็นพีแอลเกิดขึ้นกับสินเชื่ออุปโภคบริโภคหรือไม่ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์มีการแก้ไขปัญหาโดยการตัดหนี้สูญได้รวดเร็ว ทำให้ตัวเลขเอ็นพีแอลของสินเชื่อประเภทนี้เพิ่มขึ้นไม่ชัดเจน

“รายจ่ายเพิ่มขึ้นตามการครองชีพที่สูงขึ้นในขณะนี้อาจมีผลกระทบการชำระหนี้ของทั้งลูกค้ารายเก่าและรายใหม่ หรือก่อให้เกิดหนี้เอ็นพีแอลในระบบเพิ่มขึ้นได้นั้นเชื่อว่าแบงก์พาณิชย์จะนำปัจจัยเหล่านี้มาประกอบการพิจารณาการให้สินเชื่อด้วย และผู้กู้เองก็จะมีความระมัดระวังมากขึ้นเช่นกัน”

สำหรับยอดคงค้างหนี้เอ็นพีแอลที่ยังไม่ได้หักการกันสำรอง (Gross NPL) เพิ่มขึ้น 1.18 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของหนี้ทั้งในส่วนของลูกหนี้รายใหม่และลูกหนี้เก่าที่ปรับปรุงโครงหนี้แล้วย้อนกลับมาเป็นเอ็นพีแอลใหม่ (รีเอ็นทรี) โดยในส่วนของลูกหนี้รายใหม่ยังคงเกิดจากภาคอุตสาหกรรม เช่น ธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม สิ่งทอ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์น้ำมัน

ทั้งนี้ ธปท.ได้รายงานยอดคงค้างหนี้เอ็นพีแอล(Gross NPL) ของสถาบันการเงินในระบบล่าสุดไตรมาสแรกของปีนี้มีจำนวน 469,850.74 ล้านบาท คิดเป็น 6.83%ของสินเชื่อรวม หรือเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 11,859.72 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ 452,882.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,284.3 ล้านบาท สาขาธนาคารต่างชาติ 12,323.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 517.17 ล้านบาท บริษัทเงินทุน(บง.) 4,243.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59.71 ล้านบาท และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์(บค.) 401.21 ล้านบาท ซึ่งมียอดหนี้ลดลง 1.45 ล้านบาท

ขณะที่เอ็นพีแอลที่มีการหักการกันสำรองแล้ว (Net NPL) มีจำนวน 249,705.57 ล้านบาท คิดเป็น 3.76% เพิ่มขึ้น 11,707.77 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ 244,463.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,997.28 ล้านบาท บง. 1,928.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.99 ล้านบาท ส่วนสาขาธนาคารต่างชาติมียอดหนี้ 3,011.45 ล้านบาท ลดลง 335.05 ล้านบาท เช่นเดียวกับบค.มีหนี้ลดลง 1.45 ล้านบาท จากยอดหนี้ที่มี 301.72 ล้านบาท

“แม้ปริมาณหนี้เอ็นพีแอลจะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของสินเชื่อโดยรวม แต่ขณะนี้อัตราส่วนของเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 7.3% ในไตรมาส 4 ของปีก่อน ปรับมาอยู่ที่ระดับ 6.8% ในไตรมาสแรกของปีนี้ ถือเป็นแนวโน้มที่ดีและน่าพอใจ และหากต่อไปเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวต่อเนื่องและแบงก์เองก็มีการระมัดระวังการปล่อยกู้และให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเอ็นพีแอลเชื่อว่าอัตราส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อจะลดลงได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ถือเป็นพื้นฐานที่ดีต่อระบบเศรษฐกิจและการเงิน” รองผู้ว่าธปท.กล่าว

ส่วนภาพรวมของผลการดำเนินงานธนาคารพาณิชย์ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ รองผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยทั้งระบบมีกำไรจากการดำเนินงานทั้งสิ้น 4.8 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัว 31.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน 3 ไตรมาสที่ผ่าน ขณะที่กำไรสุทธิก็มีจำนวน 2.6 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัว 28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

“ปัจจัยด้านสินเชื่อโดยรวมมีการขยายตัวถึง 7.3% ถือว่าเป็นตัวช่วยส่งผลดีต่อกำไรสุทธิของระบบแบงก์พาณิชย์ให้เพิ่มขึ้น ประกอบกับความสามารถในการทำกำไร โดยมีดอกเบี้ยรับสุทธิเพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนที่มาจากดอกเบี้ยจ่ายลดลง รวมทั้งภาระในการกันสำรองตามมาตรฐานการบัญชีการเงินระหว่างประเทศ (IAS39) เมื่อเทียบกับปีก่อนลดลงมาก”

ทั้งนี้ สินเชื่อที่เร่งตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ของปีก่อน คือ สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อธุรกิจ โดยจากการสำรวจล่าสุดช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสนี้ พบว่า ธุรกิจมีการขอสินเชื่อโครงการและสินเชื่อสภาพคล่องระยะสั้นมากที่สุดในสัดส่วน 2.6% และ 11% ตามลำดับ ถือเป็นแนวโน้มที่ดี หลังจากปีก่อนที่สินเชื่อองค์กร (Corporate Loan) ขยายตัวค่อนข้างต่ำในช่วงปีก่อน จึงเชื่อว่าการเติบโตของสินเชื่อดังกล่าวจะเป็นตัวส่งเสริมการฟื้นตัวการใช้จ่ายในประเทศต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น