xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เตือนแบงก์พาณิชย์เข้มปล่อยกู้ ผวาตัวเลข Q1/51 หนี้เน่าพุ่ง 10-19%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธปท.ผวาเอ็นพีแอลย้อนกลับ สั่งแบงก์พาณิชย์ระมัดระวังการอนุมัติสินเชื่อ ห่วงภาวะหนี้เน่าเพิ่มสูงขึ้น ระบุ ไตรมาส 1 มีสัญญาณน่าเป็นห่วง ระบุ 5 แบงก์ใหญ่ ตัวเลขหนี้เสียพุ่ง 10-19% พร้อมแฉพฤติกรรมโรงสีโกงแบงก์หมื่นล. ใช้เงินกู้ผิดวัตถุประสงค์

วันนี้(27 เม.ย.) นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ช่วงไตรมาสแรกของปี ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยทั้งระบบมีกำไรจากการดำเนินงานทั้งสิ้น 48,000 ล้านบาท เร่งตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน 31.4% หรือมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 26,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 28% ซึ่งเป็นกำไรต่อเนื่อง 3 ไตรมาสติดต่อกัน

ทั้งนี้ มีสาเหตุจากการขยายตัวสินเชื่อซึ่งสูงถึง 7.3อ% โดยสินเชื่อโครงการและสินเชื่อหมุนเวียนเดือน ก. พ.เพิ่มขึ้นถึง 26% และ 11%ตามลำดับ ขณะเดียวกันยังเป็นผลจากความสามารถทำกำไรที่สูงขึ้นของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ และภาระการกันสำรองหนี้เสีย (NPL) ในช่วงไตรมาสนี้ปรับลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน

รองผู้ว่า ธปท. กล่าวว่า อัตราการขยายตัวสินเชื่อทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในระยะต่อไปอาจเติบโตขึ้นไม่มาก เทียบกับไตรมาสแรกปีนี้ซึ่งขยายตัวได้สูงถึง 7.3% เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังในการอนุมติสินเชื่อมากขึ้น ตามภาวะรายจ่ายและค่าครองชีพของประชาชนที่สูงในปัจจุบัน

ขณะที่รายได้ของธนาคารพาณิชย์กลับทรงตัว ซึ่งกระทบต่อความสามารถการผ่อนชำระหนี้ของลูกหนี้ทั้งรายเก่าและรายใหม่ลดลงจนก่อตัวเป็นปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)กระทบต่อเสถียรภาพของฐานะธนาคารพาณิชย์

"การแข่งขันจะเป็นปัจจัยช่วยการเติบโตของสินเชื่อ แต่แบงก์ชาติพูดเสมอว่าอยากให้แบงก์รักษาคุณภาพสินเชื่อ เพื่อไม่ให้ปัญหา NPL เร่งตัวขึ้นแต่ แต่ก็เชื่อว่า NPL จะทยอยลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี"

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมี NPL คงค้างทั้งสิ้น 244,463 ล้านบาทคิดเป็น 4.09% ของสินเชื่อรวม เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อน 11,997 ล้านบาทหรือ 5.16% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นทั้ง NPLรายใหม่ และ NPL ที่ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้(Re-Entry) ตามภาวะเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องเป็นห่วง แม้ว่าระดับ NPL ที่ยังไม่หักการกันสำรองเทียบกับสินเชื่อรวมในไตรมาสนี้จะปรับลดลงมาอยู่ที่ 6.8% จาก 7.3% ในไตรมาส 4 ปี 2550 ก็ตาม

ทั้งนี้ ตามรายงานตัวเลข NPL ของ ธปท.ช่วงเดียวกันธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่พบการเร่งตัวขึ้น โดยธนาคารกรุงเทพมี NPL 37,315 ล้านบาท เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อน 2,925 ล้านบาท หรือ 8.5% ธนาคารกรุงไทย 72,308 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 4,817 ล้านบาทหรือ 7.13% ธนาคารกสิกรไทย 18,818 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,042 ล้านบาทหรือ 19.28% ธนาคารไทยธนาคาร 4,053 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 496 ล้านบาทหรือ 13.94% และธนาคารนครหลวงไทย 9,173 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 1,210 ล้านบาทหรือ 15.19%

**แฉต้นตอหนี้เสีย โรงสีพุ่งกว่าหมื่นล.

แหล่งข่าวระดับสูงจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ยอมรับว่า ขณะนี้ธนาคารสมาชิกสมาคมธนาคารไทยอยู่ระหว่างการหารือร่วมกัน เนื่องจากเห็นว่าตัวเลขหนี้ NPL ในเดือน ม.ค. และเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา สะท้อนหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์ ในไตรมาสแรกของปีนี้ ที่เพิ่มขึ้นจากปลายปีก่อน

ถึงแม้ว่า แนวโน้ม NPL ที่เพิ่มขึ้น ยังกระจายตัวในทุกอุตสาหกรรม แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นอันดับต้นๆ คือ หนี้โรงสีข้าวที่ยังไหลกลับมาเป็น NPL และเป็นปัญหาของธนาคารหลายแห่ง โดยเฉพาะการปล่อยกู้โดยธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย ซึ่งพบว่ายังไม่มีแนวทางในการจัดการแบบเบ็ดเสร็จ

"ยอมรับว่าปัญหาโรงสีข้าวเกิดขึ้นมาหลายปีจริง แต่ปัญหาดังกล่าวเริ่มปรากฏออกมา และขยายวงกว้างขึ้น รวมถึงขนาดความเสียหายมากขึ้น เห็นได้จากลูกหนี้ที่มีปัญหาเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีพฤติกรรมเลียนแบบที่ระบาด โดยตั้งกันเป็นกลุ่มเพื่อโกงธนาคารซึ่งเป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ ยกตัวอย่าง รูปแบบของพฤติกรรมเลียนแบบที่เกิดขึ้น เช่น นำสต๊อกของแบงก์ออกไปขายโดยไม่มีเงินมาชำระคืน กรณีที่ธนาคารใหญ่เคยเจอ วงเงินจำนำสต๊อก 400-500 ล้านบาทต่อรายหายหมด แม้แต่ตัวของลูกค้าที่กู้เงินจากธนาคารเองก็ยอมรับว่ามีการนำสต๊อกไปขายแต่ก็ไม่มีเงินมาชำระคืน

แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ ขนาดกลางอีกแห่งหนึ่ง ก็ออกมายอมรับว่า หนี้เสียของแบงก์พาณิชย์ที่เกิดจากโรงสีไหลกลับมาจริง แม้จะเป็นช่วงที่สถานการณ์แนวโน้มราคาข้าวดี แต่โรงสีที่เป็นหนี้เสียเหล่านี้เป็นหนี้เสียมานาน เป็นผลจากโครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาลชุดก่อน ซึ่งในช่วงที่ราคาข้าวตกต่ำทำให้โรงสีข้าวส่วนใหญ่ต้องขโมยข้าวไปขายเพื่อชำระดอกเบี้ย แต่เมื่อราคาข้าวปรับตัวดีขึ้น ทำให้โรงสีเหล่านี้นอกจากจะไม่มีข้าวขายแล้วยังไม่มีเงินใหม่ที่จะซื้อข้าวเพื่อมาทำธุรกิจต่อ บางแห่งย่ำแย่จนถึงขั้นต้องปิดกิจการ และยังเป็นหนี้เสียของแบงก์

"ผมเชื่อว่าโดยภาพรวมของการปล่อยสินเชื่อให้แก่โรงสี อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบเป็นหลักหมื่นล้านบาท จากโรงสีข้าวประมาณ 50-60 แห่งที่ใช้สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงสีที่มีขนาด 100 เกวียน แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโรงสีข้าวที่ยังดีอยู่โดยไม่มีภาระหนี้ ก็ยังมีกำไรเป็นกอบเป็นกำ"

นอกจากนี้ ยังพบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจากโรงสีข้าวมีทั้งกรณีการใช้เงินกู้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น ขอกู้เงินไปเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนซื้อข้าว แต่กลับนำไปสร้างโกดัง ทำให้ไม่มีเงินซื้อข้าวและไม่มีรายได้ ส่งผลต่อการค้างชำระหนี้กับธนาคารพาณิชย์ รวมถึงผลจากราคาข้าวที่ปรับราคาสูงขึ้น ทำให้วงเงินที่เตรียมไว้ในจำนวนเท่าเดิมสามารถซื้อข้าวได้ในปริมาณที่ลดลง แต่อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังธนาคารเริ่มเข้มงวดในเรื่องของวงเงินที่ปล่อยสินเชื่อ
กำลังโหลดความคิดเห็น