xs
xsm
sm
md
lg

สินเชื่อธุรกิจ Q4 ส่งสัญญาณฟื้น อุปโภคบริโภคพุ่ง-อสังหาฯยังทรุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธปท.เผยยอดสินเชื่อรายธุรกิจสิ้นปีที่ผ่านมา เริ่มผงกหัวขึ้นแล้ว โดยล่าสุดไตรมาส 4 ของปี 50 มียอดสินเชื่อเพิ่มขึ้นกว่า 1.5 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.56% จากยอดสินเชื่อคงค้างทั้งระบบทั้งสิ้น 6.2 ล้านล้านบาท โดยสินเชื่ออุปโภคบริโภคมียอดเพิ่มขึ้นมากที่สุดในระบบกว่า 7 หมื่นล้านบาท ขณะที่สินเชื่อให้แก่ภาคครัวเรือนกลับมีสัดส่วนลดลงมากที่สุดในระบบถึง 75% และธุรกิจก่อสร้างขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินลดลง 16,131 ล้านบาท หรือ 8.51%

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า สายนโยบายสถาบันการเงินของธปท.ได้ประกาศตัวเลขเงินให้สินเชื่อแยกตามประเภทธุรกิจล่าสุด ณ สิ้นเดือนธันวาคม หรือไตรมาสที่ 4 ของปี 2550 พบว่า ระบบสถาบันการเงินได้ให้สินเชื่อภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 155,279 ล้านบาท หรือ 2.56% จากยอดคงค้างที่มีทั้งสิ้น 6,228,981 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นยอดคงค้างสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์จำนวน 5,651,285 ล้านบาท และยอดคงค้างของสาขาธนาคารต่างประเทศ 577,698 ล้านบาท เป็นผลจากสถานการณ์การเมืองเริ่มมีความชัดเจนขึ้น และความต้องการในประเทศกระเตื้องขึ้นบ้าง รวมทั้งจากการเบิกจ่ายงบประมาณไตรมาสแรกของภาครัฐบาล ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อระบบเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ ธุรกิจมีการขอสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ได้แก่ ธุรกิจอุปโภคบริโภคได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นมากที่สุดในระบบถึง 70,708 ล้านบาท คิดเป็น 5.27% จากยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อในปัจจุบัน 1,412,883 ล้านบาท รองลงมาเป็นธุรกิจการผลิตเพิ่มขึ้น 57,731 ล้านบาท คิดเป็น 3.74% จากยอดคงค้าง 1,603,308 ล้านบาท และธุรกิจการขายส่ง การขายปลีก และซ่อมแซมยานยนต์ จักรยานยนต์ของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น 39,373 ล้านบาท คิดเป็น 4.05% จากยอดคงค้าง 1,011,102 ล้านบาท

ส่วนธุรกิจการขนส่ง สถานที่เก็บสินค้า และการคมนาคม เพิ่มขึ้น 28,941 ล้านบาท คิดเป็น 14.62% ธุรกิจบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่า และบริการทางธุรกิจเพิ่มขึ้น 9,778 ล้านบาท คิดเป็น 2.14% ธุรกิจการไฟฟ้า แก๊ส และการประปาเพิ่มขึ้น 3,672 ล้านบาท คิดเป็น 2.77% และธุรกิจเกษตรกรรม การล่าสัตว์ และการป่าไม้เพิ่มขึ้น 2,866 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.40%

ขณะเดียวกัน บางธุรกิจมีการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินลดลง โดยธุรกิจก่อสร้างลดลงจากไตรมาสก่อนมากที่สุดในระบบถึง 16,131 ล้านบาท หรือลดลง 8.51% จากปัจจุบันที่มียอดคงค้าง 173,335 ล้านบาท รองลงมา ธุรกิจโรงแรมและภัตตาคารลดลง 12,459 ล้านบาท คิดเป็น 5.35% จากยอดคงค้าง 220,381 ล้านบาท และธุรกิจการบริหารราชการ และการป้องกันประเทศ รวมทั้งการประกันสังคมภาคบังคับลดลง 11,797 ล้านบาท ลดลง 32.37% จากยอดคงค้าง 24,650 ล้านบาท

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจตัวกลางทางการเงินยอดขอสินเชื่อลดลง 8,547 ล้านบาท คิดเป็น 1.17% ส่วนธุรกิจการให้บริการชุมชน สังคม และบริการส่วนบุคคลอื่นๆ ลดลง 6,042 ล้านบาท คิดเป็น 9.42% ธุรกิจการศึกษาลดลง 765 ล้านบาท คิดเป็น 4.16% ธุรกิจการทำเหมืองแร่และถ่านหินลดลง 721 ล้านบาท คิดเป็น 3.70%

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้สถาบันการเงินยังให้เงินสินเชื่อแก่ธุรกิจอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลยังดีอยู่ แต่ในของเงินสินเชื่อที่ให้แก่ธุรกิจลูกจ้างในครัวเรือนส่วนบุคคลกลับลดลงอย่างมาก โดยธุรกิจลูกจ้างในครัวเรือนส่วนบุคคลจะมียอดสินเชื่อลดลง 493 ล้านบาท รวมทั้งสัดส่วนกลับลดลงมากที่สุดในระบบถึง 75.40% ส่วนธุรกิจการบริการด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ลดลง 489 ล้านบาท คิดเป็น 1.28% ธุรกิจการประมงลดลง 344 ล้านบาท คิดเป็น 2.32% และธุรกิจองค์การระหว่างประเทศและองค์การต่างประเทศอื่นๆ และสมาชิกลดลง 2 ล้านบาท หรือลดลง 2.66%
กำลังโหลดความคิดเห็น