xs
xsm
sm
md
lg

ยอดขอสินเชื่อQ1เพิ่ม6แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธปท.เผย ภาคธุรกิจมีการขอสินเชื่อแบงก์เพิ่มขึ้นกว่า 6 แสนล้านบาท หรือ 9.82% เทียบกับไตรมาสก่อน ภายใต้สถานการณ์แบงก์เข้มงวดให้สินเชื่อมากขึ้น โดยธุรกิจตัวกลางทางการเงินมีสัดส่วนการขอสินเชื่อจากแบงก์มากที่สุดถึง 76% ขณะที่ธุรกิจเกี่ยวกับองค์กรระหว่างประเทศ บริการชุมชน ระบบขนส่ง และการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์กลับลดลง ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นกว่าหมื่นล้านบาทได้รับแรงส่งจากธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์

รายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)แจ้งว่า สายนโยบายสถาบันการเงินของธปท.ได้ประกาศยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อแยกตามประเภทธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบล่าสุด ณ สิ้นไตรมาสแรกของปีนี้ พบว่า มียอดคงค้างทั้งสิ้น 6,840,880 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 899,716 ล้านบาท คิดเป็น 0.15% และหากเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นจำนวน 611,899 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9.82%

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจต่างๆในระบบเศรษฐกิจมีการขอสินเชื่อมากขึ้น หากพิจารณาสัดส่วนการเปลี่ยนแปลงการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในรายธุรกิจต่างๆ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนพบว่า ธุรกิจตัวกลางทางการเงินมีสัดส่วนการขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นมากที่สุดในระบบถึง 76.64% หรือคิดเป็นมูลค่า 5.52 แสนล้านบาท จากปัจจุบันที่มียอดคงค้าง 1.27 ล้านล้านบาท รองลงมาเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับลูกจ้างในครัวเรือนส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 59.63% แม้มูลค่าจะเพิ่มขึ้นไม่มาก คือ 96 ล้านบาท จากยอดคงค้าง 257 ล้านบาท

และอันดับ 3 ธุรกิจเกษตรกรรม การล่าสัตว์ และการป่าไม้สัดส่วนการขอสินเชื่อเพิ่มขึ้น 15.51% หรือเพิ่มขึ้น 1.35 หมื่นล้านบาท จากยอดคงค้างที่มีอยู่ 1.01 แสนล้านบาท และอันดับ 4 ธุรกิจการบริหารราชการ และการป้องกันประเทศ รวมทั้งการประกันสังคมภาคบังคับเพิ่มขึ้น 14.39% หรือเพิ่มขึ้น 3.55 พันล้านบาท จากยอดคงค้างล่าสุดมีอยู่ 2.8 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ธุรกิจที่มีสัดส่วนการขอสินเชื่อลดลงในระบบ ซึ่งสวนกระแสระบบมีแค่ 4 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจองค์การระหว่างประเทศ และองค์การต่างๆ ประเทศอื่นๆและสมาชิกลดลง 18.99% หรือคิดเป็นมูลค่าลดลง 15 ล้านบาท จากยอดคงค้างที่มีอยู่ในปัจจุบัน 64 ล้านบาท ส่วนธุรกิจการให้บริการชุมชน สังคม และบริการส่วนบุคคลอื่นๆ ลดลง 11.42% หรือลดลง 4.29 พันล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมียอดคงค้าง 3.33 หมื่นล้านบาท รวมถึงธุรกิจการขนส่ง สถานที่เก็บสินค้า และคมนาคมลดลง 3.65% หรือลดลง 8.29 พันล้านบาท ยอดคงค้าง 2.19 หมื่นล้านบาท ขณะที่ธุรกิจบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่า และบริการทางธุรกิจลดลง 0.96% หรือลดลง 4.50 พันล้านบาท ซึ่งมียอดคงค้างในปัจจุบัน 4.63 แสนล้านบาท
ส่วนธุรกิจอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 1.18 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 0.84% จากยอดคงค้างที่มีอยู่ 1.42 ล้านล้านบาท โดยส่วนใหญ่ธุรกิจที่จัดอยู่ในประเภทนี้ต่างมียอดการขอสินเชื่อที่ลดลง มีเพียงธุรกิจการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น 1.51 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 5.18% และธุรกิจการจัดหาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 6.6 พันล้านบาท คิดเป็น 0.9%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ทีมวิเคราะห์สนเทศธุรกิจ และทีมวิเคราะห์เสถียรภาพเศรษฐกิจ สายนโยบายการเงิน ธปท.ได้สำรวจแนวโน้มภาวะสินเชื่อของสถาบันการเงินในไตรมาส 1 ปี 2551 พบว่า ความต้องการสินเชื่อภาคธุรกิจและสินเชื่อภาคครัวเรือนยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นผลจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน

โดยแนวโน้มความต้องการสินเชื่อในช่วงไตรมาสแรกของปี 2551 สถาบันการเงินมองว่า ความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจโดยรวมยังโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ของปีก่อน 40.6% โดยความต้องการสินเชื่อ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(เอสเอ็มอี) เพิ่มขึ้น 37.5% สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น 44.1% สินเชื่อระยะสั้น 33.2% และสินเชื่อระยะยาว 46.2% เช่นเดียวกับแนวโน้มความต้องการสินเชื่อของภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะความต้องสินเชื่อครัวเรือนอื่นๆโดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 28.2% สินเชื่อบัตรเครดิต 29.8% และสินเชื่อครัวเรือนอื่น 43.7%

อย่างไรก็ดี มาตรการให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจโดยรวมยังมีแนวโน้มที่จะเข้มงวดขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมาตรการปล่อยสินเชื่อระยะยาว และสินเชื่อที่ให้แก่ธุรกิจขนาดใหญ่ นอกจากนี้สถาบันการเงินยังได้แสดงความกังวลใจเกี่ยวกับแนวโน้มคุณภาพสินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะในบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก

ในส่วนของสินเชื่อที่ให้แก่ภาคครัวเรือน พบว่า สถาบันการเงินมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความเข้มงวดมาตรฐานการให้สินเชื่อเช่นกัน โดยมีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพสินเชื่อในไตรมาส 1ปีนี้ โดยเฉพาะสินเชื่อภาคครัวเรือนประเภทอื่นๆ ลดลงอยู่ที่ 41.7% สินเชื่อบัตรเครดิต 34.9% และสินเชื่อที่อยู่อาศัย 11.7% ขณะที่ความกังวลต่อสินเชื่อภาคธุรกิจโดยรวมลดลงอยู่ที่ 51.6%เอสเอ็มอี 62.1% และสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ลดลงอยู่ที่ 47.1%.
กำลังโหลดความคิดเห็น