xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เผยไตรมาส3สินเชื่อเพิ่ม17% เหตุต้นทุนวัตถุดิบ-ขนส่งพุ่งกระฉูด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธปท.เผยไตรมาส 3 แบงก์มีการปล่อยกู้ภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น 1.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.92%เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เหตุผู้ประกอบการมีความต้องการเงินทุนไปดูแลธุรกิจในช่วงที่ต้นทุนพุ่ง โดยธุรกิจลูกจ้างในครัวเรือนส่วนบุคคลลดลงมากสุดถึง 97.55% ขณะที่ธุรกิจการบริหารราชการ และการป้องกันประเทศ รวมทั้งการประกันสังคมภาคบังคับเพิ่มขึ้นมากสุดถึง 105.48% ส่วนภาคก่อสร้างและประมงได้รับสินเชื่อน้อยลงทั้งเทียบไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้แบงก์ระมัดระวังในการปล่อยกู้มากขึ้น

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แจ้งว่า สายนโยบายสถาบันการเงินได้ประกาศยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อแยกตามประเภทธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบล่าสุดเดือนก.ย. หรือไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 พบว่า มีปริมาณทั้งสิ้น 7.16 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.09 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 17.92% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 2.04 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.94% ซึ่งสะท้อนความต้องการเงินทุนหมุนเวียนตามต้นทุนวัตถุดิบ และค่าขนส่งที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์มียอดการปล่อยกู้ให้แก่ธุรกิจในสัดส่วนที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ได้แก่ ลูกจ้างในครัวเรือนส่วนบุคคลลดลง 97.55% รองลงมาเป็นองค์การระหว่างประเทศ และองค์การต่างประเทศอื่นๆ และสมาชิก 27.16% อันดับ 3 ก่อสร้าง 23.13% หรือลดลงมูลค่า 4.38 หมื่นล้านบาท ถือเป็นธุรกิจที่มีจำนวนเงินลดลงมากที่สุด เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศเป็นสำคัญ การให้บริการด้านสุขภาพ และงานสังคมสงเคราะห์ลดลง 10.14% ประมง 6.69% เกษตร การล่าสัตว์ และการป่าไม้ 6.19% และธุรกิจการให้บริการชุมชน สังคม และบริการส่วนบุคคลอื่นๆ ในสัดส่วนที่ลดลง 5.96% ตามลำดับ

และธุรกิจที่เหลือส่วนใหญ่จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น โดยธุรกิจ 3 อันดับแรกที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ ธุรกิจการบริหารราชการ และการป้องกันประเทศ รวมทั้งการประกันสังคมภาคบังคับมากถึง 105.48% เพิ่มขึ้นมูลค่า 5.48 หมื่นล้านบาท การทำเหมืองแร่และถ่านหิน 109.11% มูลค่า 2.13 หมื่นล้านบาท และตัวกลางทางการเงิน 59.40% มูลค่า 4.33 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นธุรกิจที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ด้วยกันเองที่มีมูลค่าสูงสุดในช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ธุรกิจลูกจ้างในครัวเรือนส่วนบุคคลได้รับสินเชื่อลดลง 20% ธุรกิจองค์การระหว่างประเทศ และองค์การต่างประเทศอื่นๆ และสมาชิกลดลง 11.94% ประมง 6.37% ธุรกิจการขนส่ง สถานที่เก็บสินค้า และการคมนาคม 4.76% ซึ่งมีมูลค่าลดลงมากที่สุด 1.07 หมื่นล้านบาท ก่อสร้าง 1.33% เกษตรกรรม การล่าสัตว์ และการป่าไม้ 1.19% และการบริการด้านสุขภาพ และงานสังคมสงเคราะห์ 1%

โดยหากพิจารณาธุรกิจที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากที่สุดในไตรมาสก่อน คือ ธุรกิจตัวกลางทางการเงิน 8.14 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.55% ธุรกิจอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล 5.64 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.75% ธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตเพิ่มขึ้น 5.63 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.35% ธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร 8.81 พันล้านบาท คิดเป็น 3.84% การไฟฟ้า แก๊ส และการประปา 4.47 พันล้านบาท คิดเป็น 3.04% บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่า และบริการทางธุรกิจ 4.33 พันล้านบาท ธุรกิจเหมืองแร่และถ่านหินเพิ่มขึ้น 3.8 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 10.27%

สำหรับธุรกิจอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลยังได้รับสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์อยู่เห็นได้จากยอดคงค้างทั้งสิ้น 1.56 ล้านล้านบาท ในไตรมาส 3 ของปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.19 แสนล้านบาท คิดเป็น 16.29% และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าเพิ่มขึ้น 5.64 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 3.75%

ก่อนหน้านี้ นายเกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวว่า แม้ในขณะนี้ธนาคารพาณิชย์จะปล่อยสินเชื่อมากขึ้น แต่ในภาคธุรกิจยังรู้สึกว่าเงินตึงตัว เพราะต้นทุนการประกอบธุรกิจสูงขึ้นมาก ทำให้เป็นไปได้ในอนาคตจะมีบางภาคธุรกิจที่มีปัญหาสภาพคล่อง และขาดเงินทุน อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจปล่อยสินเชื่อควรเป็นหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากมีความรู้และข้อมูลที่ใกล้ชิดกับลูกค้าเป็นอย่างดี ดังนั้น หากภาวะเศรษฐกิจในช่วงต่อไปชะลอตัวลง การที่ธนาคารพาณิชย์มีการบริหารความเสี่ยงและระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นเป็นเรื่องปกติ
กำลังโหลดความคิดเห็น