xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนจี้รัฐเร่งแก้วิกฤตน้ำมัน เจรจาลดกำไรธุรกิจพลังงานเพื่อศก.ไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฝ่ายวิจัยแบงก์กรุงไทย จี้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหาวิกฤตน้ำมันด้วยความจริงใจ ระบุชัดมาตรการของรัฐบาลที่ผ่านมาไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ หลังคนส่วนใหญ่ยังได้รับความเดือดร้อนมากขึ้น พร้อมแนะเจรจากลุ่มธุรกิจพลังงาน เฉือนกำไรออก เพื่อการบริหารทรัพยากรอย่างมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากขึ้น

ฝ่ายวิจัยธุรกิจ สายงานบริหารความเสี่ยงและบรรษัทภิบาล บมจ.ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในปี 2551 นับเป็นปีที่ราคาน้ำมันแพงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ ธุรกิจ(อุตสาหกรรม เกษตร ประมง ขนส่ง และบริการ) และครัวเรือนมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

ทั้งนี้ สัดส่วนการใช้น้ำมันเมื่อเทียบกับพลังงานชนิดอื่นควรจะลดลงในช่วงที่ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามสัดส่วนดังกล่าวกลับเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามาตรการประหยัดพลังงานของภาครัฐที่ทยอยออกมา ยังไม่มีประสิทธิภาพที่ดีพอ

โดยอาจกล่าวได้ว่าเป็นการแก้ไขเพียงเฉพาะกลุ่มที่มีการร้องเรียนอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นด้านการแก้ปัญหาราคาน้ำมัน ด้านการผลิตหรืออุปทานพลังงานทดแทน เช่น ปัญหา Ethanol ล้นตลาด ปัญหาขาดแคลน NGV Bio-Diesel และ LPG ก็ตาม

ฝ่ายวิจัยธุรกิจฯ บมจ.ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยอีกว่า การแก้ปัญหาเรื่องพลังงานของรัฐบาลควรแสดงความจริงใจ และพิจารณาถึงผลกระทบอย่างเป็นระบบ ทั้งในด้านผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้ใช้ ขณะที่กลุ่มผู้ผลิต และผู้ประกอบการ ก็ต้องยอมเฉือนกำไรหรือลดการฉวยโอกาสลงบ้าง ขณะที่ผู้ใช้ก็ต้องประหยัดอย่างจริงจัง

สำหรับแนวทางที่จะสามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตน้ำมันในขณะนี้ควรเริ่มต้นตั้งแต่ 1 )การบริหารจัดการด้านวัตถุดิบ ส่งเสริมการขุดเจาะและสำรวจปิโตรเลียมและก๊าซ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการควบคุมการส่งออกพลังงานที่จำเป็นโดยเฉพาะน้ำมันดิบและก๊าซ แม้ผู้ประกอบการบางกลุ่มอาจไม่ได้รับประโยชน์สูงสุด แต่ทรัพยากรเหล่านี้เป็นทรัพยากรของชาติ ซึ่งรัฐควรมีสิทธิที่จะบริหารจัดการเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ในส่วนที่ 2) คือ การควบคุมราคาพลังงานเฉพาะในส่วนที่ใช้วัตถุดิบ (น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน) จากภายในประเทศ เช่น ราคาน้ำมันสำเร็จรูป NGV และ LPG เป็นต้น โดยในช่วงที่ผ่านมาเคยใช้กับ LPG ซึ่งช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้มากแต่ปัจจุบันนโยบายนี้ก็ถูกยกเลิกไป สำหรับพลังงานที่ใช้วัตถุดิบจากต่างประเทศรัฐไม่ควรอุดหนุนหรือควบคุมราคา ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด แต่ภาครัฐจะต้องกำกับดูแลให้ราคาที่จำหน่ายภายในประเทศสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงไม่มีการบิดเบือนโครงสร้างราคาดังเช่นที่ผ่านมา

ส่วนที่ 3) คือ ผู้ประกอบการด้านพลังงานภายในประเทศโดยเฉพาะโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซเป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการทำกำไรสูง ภาครัฐจึงควรสร้างความสมดุลและเป็นธรรมให้เกิดกับทั้งผู้ผลิต ธุรกิจ และผู้ใช้ภายในประเทศ ดังที่ภาครัฐได้เจรจาลดราคาน้ำมันดีเซลหน้าโรงกลั่นลิตรละ 3 บาท เพื่อช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจที่สำคัญบางกลุ่ม (ขนส่ง ประมง และเกษตร) นับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลสามารถนำมาใช้ในโอกาสอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม

โดยการแก้ปัญหาในส่วนที่ 4) คือการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ซึ่งอาจเป็นนโยบายภาคบังคับ/กึ่งบังคับเพื่อการประหยัดพลังงานจะต้องถูกนำมาใช้อย่างเร่งด่วนและจริงจังโดยเฉพาะในกลุ่มที่ใช้พลังงานในสัดส่วนสูง เช่น การกำหนดเวลาปิด-เปิดสถานบันเทิงและห้างสรรพสินค้า การลดระยะเวลาเดินทางไปทำงาน/การทำงานที่บ้าน การควบคุมการใช้ยานพาหนะใน Congestion Area (เช่น การบังคับจำนวนผู้โดยสารรถยนต์ในถนนบางสาย การเก็บค่าธรรมเนียมรถยนต์ที่ผ่านเข้าไปในพื้นที่แออัด การกำหนดวันสำหรับรถยนต์ที่จะสามารถวิ่งผ่านถนนบางสาย เป็นต้น) ซึ่งได้ประสบผลสำเร็จแล้วในหลายประเทศ

นอกจากนี้ ยังควรที่จะสนับสนุนการการผลิตและใช้พลังงานทดแทนทุกรูปแบบ ทั้งด้านสนับสนุนการลงทุนเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน และการวางแผนรองรับการใช้พลังงานทดแทนในปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะด้าน Supply Side Management ให้มีปริมาณเพียงพอไม่ขาดแคลน

ขณะที่ รายได้จากพลังงานเฉลี่ยของรัฐจากพลังงานมีปีละกว่า 161,000 ล้านบาท ซึ่งโครงสร้างรายได้ส่วนใหญ่มาจากภาษีสรรพสามิต ค่าภาคหลวง ที่สามารถนำไปบริหารจัดการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันได้อีกมาก ซึ่งในปัจจุบันการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตได้มีส่วนทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศเพิ่มขึ้นมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น