xs
xsm
sm
md
lg

การเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ Smart Money, Smart Life
สมาคมบริษัทจัดการลงทุน
Association of Investment Management Companies
www.aimc.or.th
www.thaimutualfund.com


โครงสร้างประชากรของไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากอดีต ปัจจุบันประชากรวัยเด็กมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ประชากรสูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีอัตราเร่งสูงที่จะทำให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากอัตราการเกิดลดลงจากในอดีตครอบครัวไทยนิยมมีลูกหลายคน แต่ในปัจจุบันครอบครัวหนึ่งมีลูกเพียง 1-2 คน อัตราการเจริญพันธุ์รวมมีแนวโน้มลดลง ผู้หญิงมีแนวโน้มเป็นโสดสูงขึ้น จากสาเหตุจากการศึกษาที่สูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมการทำงานที่ผู้หญิงให้ความสำคัญกับการแสวงหาความก้าวหน้าในอาชีพการงาน นอกจากนี้ คนยังมีอายุยืนมากขึ้นจากการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลทำให้มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมาก

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำข้อมูลสถิติความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุและการตระหนักเห็นคุณค่าของผู้สูงอายุ พ.ศ. 2552 ซึ่งการสำรวจครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สอง นับจาก พ.ศ. 2550 ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้นำผลสำรวจไปใช้ประโยชน์ในการติดตาม และประเมินผลแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545 – 2564) โดยได้สอบถามประชาชนที่มีอายุระหว่าง 18 – 59 ปี ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ มีประชาชนถูกเลือกเป็นตัวอย่าง 7,000 ราย รวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 1 – 15 กุมภาพันธ์ 2552 พบว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 68.5 ตระหนักดีว่าจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นมาก ประชาชนร้อยละ 89.7 มีความคิดเห็นเกี่ยวกับการเตรียมการเพื่อวัยสูงอายุโดยเห็นว่าควรมีการเตรียมการฯ ที่ไม่แน่ใจมีร้อยละ 6.3 และที่เห็นว่าไม่ควรเตรียมการฯ มีร้อยละ 4.0 สำหรับกลุ่มที่เห็นว่าควรและไม่แน่ใจในการเตรียมการเพื่อวัยสูงอายุ

ทั้งนี้ มีผู้แสดงความคิดเห็นว่าควรเตรียมการฯ ด้านการเงินร้อยละ 98.2 , ด้านที่อยู่อาศัยร้อยละ 97.4 , สุขภาพ ร้อยละ 96.3 , ด้านจิตใจร้อยละ 93.9 , หาผู้ที่จะมาดูแลในอนาคตร้อยละ 88.6 และจัดการเรื่องมรดกร้อยละ 83.9 ซึ่งเมื่อสอบถามเฉพาะกลุ่มที่เห็นว่าควร/ไม่แน่ใจในการเตรียมการเพื่อวัยสูงอายุเกี่ยวกับช่วงอายุที่ควรเริ่มเตรียมการ เห็นว่าควรเริ่มเตรียมการอายุ 50 – 59 ปี ซึ่งนับเป็นช่วงอายุที่สูงมาก ร้อยละ 41.4 ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับบุคคลที่ควรมีหน้าที่หลักในการดูแลผู้สูงอายุ ประชาชนส่วนใหญ่ยังระบุว่า ควรเป็นหน้าที่หลักของบุตรร้อยละ 75.2 รองลงมาเป็นตัวผู้สูงอายุเอง คู่สมรส รัฐบาล ญาติ และอื่น ๆ ตามลำดับ โดยความคาดหวังที่จะพึ่งพาบุตรเมื่อยามสูงอายุ ประชาชนส่วนใหญ่ระบุว่าคาดหวังที่จะพึ่งพาบุตร ร้อยละ 76.0 ไม่คาดหวังร้อยละ 15.5 และไม่แน่ใจร้อยละ 8.5

เมื่อสอบถามถึงแหล่งเงินที่จะเป็นหลักประกันที่สำคัญที่สุดในการเลี้ยงดูตนเองยามสูงอายุ ที่ประชาชนคาดหวัง 5 อันดับแรก คือ จากบุตรร้อยละ 32.9 การทำงานเลี้ยงตนเองร้อยละ 31.4 เงินออม/ทรัพย์สิน ร้อยละ 21.2 คู่สมรสร้อยละ 6.0 และ เบี้ยยังชีพจากรัฐบาล ร้อยละ 4.7 ส่วนการดำเนินการเพื่อผู้สูงอายุที่ผ่านมาของรัฐบาล ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 75.4 ระบุว่ายังไม่เพียงพอ ที่ระบุว่าเพียงพอมีร้อยละ 13.5 และไม่แน่ใจร้อยละ 11.1

ในภาพรวมแล้วจึงจะเห็นได้ว่าคนไทยยังขาดความพร้อมด้านการออมเพื่อวัยเกษียณ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ว่าค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภค บริโภค และค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในความเป็นจริงแล้วประชาชนจำต้องมีเงินออมของตนเองเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายดังกล่าว แต่หลักประกันด้านรายได้เมื่อสูงอายุของประเทศไทยยังครอบคลุมเพียงแรงงานในระบบเท่านั้น กล่าวคือ มีผู้มีหลักประกันด้านรายได้เมื่อสูงอายุที่มาจากระบบการออมในภาคบังคับของ 3 กองทุนหลัก คือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนประกันสังคม กองทุนสงเคราะห์ครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน และการออมในภาคสมัครใจแบบของนายจ้างและลูกจ้างผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นการออมของลูกจ้างประจำภาครัฐ พนักงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ และลูกจ้างเอกชน ดังนั้น เฉพาะผู้ที่เคยทำงานเป็นข้าราชการ พนักงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ ครูโรงเรียนเอกชน และลูกจ้างเอกชนนอกภาคเกษตรเท่านั้น ที่จะได้รับบำเหน็จหรือบำนาญเมื่อเกษียณอายุ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 14 ล้านคน หรือร้อยละ 39 จากผู้มีงานทั้งหมด 36.5 ล้านคน แต่แรงงานในภาคเกษตรและผู้ประกอบอาชีพอิสระประมาณ 22.5 ล้านคน หรือร้อยละ 61 ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศยังขาดระบบหลักประกันชราภาพ ครัวเรือนมีเงินออมไม่พอใช้ในยามสูงอายุ

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คนวัยทำงานในปัจจุบันซึ่งจะเข้าสู่วัยสูงอายุในอนาคต ควรตระหนักและให้ความสำคัญกับการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุทั้งในด้านสุขภาพ และด้านการเงิน โดยเฉพาะด้านการเงินควรมีการบริหารรายได้ ค่าใช้จ่าย และวางแผนเงินออม ประกันชีวิต และการลงทุนควบคู่ไปด้วย เพื่อให้มีเงินพอใช้ในยามสูงอายุ ขณะเดียวกันภาครัฐก็ควรมีบทบาทในการส่งเสริมให้การออมของระบบเพิ่มสูงขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น