xs
xsm
sm
md
lg

ยอดขอสินเชื่อแบงก์เพิ่มขึ้นแสนล. แชมป์“อุปโภคบริโภคส่วนบุคคล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ชาติเผยไตรมาส 2 ของปีนี้ ภาคธุรกิจโดยรวมขอสินเชื่อจากแบงก์เพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนล้านบาท โดยเฉพาะอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลยังคงเพิ่มขึ้นเกือบ 8 หมื่นล้านบาท ขณะที่ธุรกิจตัวกลางทางการเงินมียอดขอสินเชื่อลดลงมากที่สุดในระบบเกือบ 2 แสนล้านบาท

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แจ้งว่า สายนโยบายสถาบันการเงินได้ประกาศยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อแยกตามประเภทธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบล่าสุดไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ พบว่า ภาคธุรกิจโดยรวมมีการขอสินเชื่อทั้งสิ้น 6.96 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 1.02 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 17.11% และเพิ่มขึ้น 1.17 แสนล้านบาท คิดเป็น 1.71%ของเงินให้สินเชื่อโดยรวม

โดยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ธุรกิจที่มีการขอสินเชื่อเพิ่มขึ้นมากที่สุดในระบบ คือ อุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 7.98 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 5.60% จากยอดคงค้างในไตรมาสนี้ 1.50 ล้านล้านบาท โดยหากเป็นรายธุรกิจ พบว่า ธุรกิจการจัดหาที่อยู่อาศัยและการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ตามรายได้ภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ ยังคงเพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจเกี่ยวกับการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อทำงานและธุรกิจการศึกษามียอดขอสินเชื่อลดลงเป็น 225 ล้านบาท และ 23 ล้านบาท ตามลำดับ

นอกจากนี้ ธุรกิจการผลิตมีการขอสินเชื่อเพิ่มขึ้น 6.87 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 4.26% ยอดคงค้าง 1.68 ล้านล้านบาท บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่า และบริการทางธุรกิจเพิ่มขึ้น 6.56 หมื่นล้านบาท คิดเป็น14.21% ซึ่งมียอดคงค้าง 5.28 แสนล้านบาท และธุรกิจการบริหารราชการ และการป้องกันประเทศ รวมทั้งการประกันสังคมภาคบังคับเพิ่มขึ้น 6.22 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 220.63% ที่มียอดคงค้าง 9.04 หมื่นล้านบาท

ส่วนภาคธุรกิจที่มีการขอสินเชื่อลดลง ได้แก่ ธุรกิจตัวกลางทางการเงินลดลง 1.92 แสนล้านบาท หรือลดลง 15.09% จากปัจจุบันที่ธุรกิจนี้มียอดคงค้างทั้งสิ้น 1.08 ล้านล้านบาท ธุรกิจก่อสร้าง ลดลงตามราคาวัสดุก่อสร้างที่ 3.0 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 16.90% มียอดคงค้างทั้งสิ้น 1.48 แสนล้านบาท ธุรกิจเกษตรกรรม การล่าสัตว์ และการป่าไม้ 2.07 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 20.15% จากไตรมาสนี้มียอดคงค้าง 8.01 หมื่นล้านบาท

ธุรกิจการให้บริการชุมชน สังคม และบริการส่วนบุคคลอื่นๆลดลง 659 ล้านบาท หรือลดลง 1.12% จากยอดคงค้างที่มีอยู่ในปัจจุบัน 5.81 หมื่นล้านบาท และธุรกิจลูกจ้างในครัวเรือนส่วนบุคคลลดลง 237 ล้านบาท หรือลดลง 92.22% จากยอดคงค้าง 20 ล้านบาท ตามลำดับ
กำลังโหลดความคิดเห็น