xs
xsm
sm
md
lg

“นพ.เกษม” แนะ อปท.เฟ้นหาเด็กวัยเรียนให้ศึกษาให้จบ กศ.ภาคบังคับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หมอเกษม แนะ อปท.ชู ยุทธศาสตร์การศึกษา เฟ้นหาเด็กวัยเรียนผลักดันให้เรียนจบการศึกษาภาคบังคับ พร้อมสอนอาชีพเพื่อเพิ่มประสิทธิผลคนในชุมชน ด้าน “วรากรณ์” ยันเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้มีนับแสนคน เหตุ อปท.ให้ความสำคัญด้านการศึกษาไม่ต่อเนื่องและงบแต่ละแห่งต่างกัน

วันนี้ (9 มิ.ย.) ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ปาฐกถา ในการประชุมสัมมนาเรื่อง “ เป้าหมายยุทธศาสตร์การศึกษาท้องถิ่น“ จัดโดยสำนักงานสภาการศึกษา (สกศ.) โดยมีตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประมาณ 200 คน ร่วมรับฟัง ว่า ยุทธศาสตร์สำคัญการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อหาทางให้คนในท้องถิ่นของตัวเองได้รับการศึกษาภาคบังคับ 9 ปีครบทุกคน ไม่ใช่ขีดวงเฉพาะการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่เด็กในชุมชน อย่างไรก็ดี เพื่อให้เด็กได้เรียนครบทุกคน ทาง อปท.ต้องสำรวจเด็กวัยเรียนในท้องถิ่นที่ยังไม่จบการศึกษาภาคบังคับว่ามีอยู่เท่าไหร่ จากนั้นให้ประสานกับสถานศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบ จัดการศึกษาให้แก่คนกลุ่มนี้ เนื่องจากการศึกษาภาคบังคับ เป็นความรู้พื้นฐานขั้นต่ำเพื่อดำรงชีวิต เพราะฉะนั้น อปท.ไม่ควรปล่อยให้คนของตัวเองโง่ต่อไป พร้อมกันนี้ จะต้องเสริมด้านอาชีพของคนในชุมชนด้วย

ทั้งนี้ อปท.ต้องมียุทธศาสตร์จัดการศึกษาสายอาชีพ ให้ประสานกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาของรัฐ เพื่อจัดหลักสูตรระยะสั้นสอนทางวิชาชีพให้กับคนในชุมชนที่ว่างงาน หรือมีเวลาว่าง โดยมีวัตถุประสงค์ให้คนในชุมชนนำความรู้ไปพัฒนาอาชีพ สำหรับ อปท.ที่มีความพร้อมอาจขอจัดตั้งวิทยาลัยอาชีวศึกษาของตัวเอง และสถาบันอุดมศึกษาด้วย

ศ.นพ.เกษม กล่าวด้วยว่า อปท.พัฒนาการศึกษาเด็กเล็กซึ่งเป็นหัวใจสำคัญด้วย แล้วเด็กเรียนรู้ได้ดี มีสุขภาพ ร่างกาย สติปัญญาอย่างไร ขึ้นอยู่กับดูแลในช่วงนี้ ดังนั้น อปท. ควรความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็กแรกคลอดถึง 3 ขวบให้แก่คนในชุมชน และเปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้ครบทุกชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หากที่ใดยังไม่ได้จัดตั้งควรรีบขวนขวาย ขณะเดียวกันต้องเร่งขยายและพัฒนาคุณภาพของการจัดการศึกษาปฐมวัยด้วย เติมเรื่องการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมลงไป

อย่างไรก็ตาม อปท.ทุกแห่ง ควรมียุทธศาสตร์จัดการศึกษาอย่างถาวร เพื่อให้การเกิดความต่อเนื่อง ต้องมีแผนในการพัฒนาสถานศึกษาของตัวเองที่มีอยู่ และมียุทธศาสตร์เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับโอนโรงเรียนจาก ศธ.ซึ่งตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น กำหนดให้ถ่ายโอนโรงเรียนให้เสร็จภายในปี 2552 ขณะเดียวกัน ก็ต้องมียุทธศาสตร์สำหรับจัดตั้งสถานศึกษาขึ้นมาใหม่ด้วย ที่สำคัญ อปท.จะต้องไม่หากินกับงบประมาณการศึกษา และควรยึดหลักทรงงานของในหลวงมาเป็นแนวทางการทำงานด้วย

ด้าน รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า อปท.ควรมีบทบาทในการแก้ปัญหาคนไทยที่ยังอ่านหนังสือไม่ออก แม้ ศธ.ระบุว่า เด็กที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้มีแค่ 20,000 คน ซึ่งตนเชื่อว่า ยอดรวมเด็กที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ มีเป็นแสนคน นอกจากนี้ อปท.ยังขาดความต่อเนื่องในการให้ความสำคัญต่อนโยบายพัฒนาการศึกษา และแต่ละ อปท. มีฐานะการเงินแต่ละแห่งต่างกัน สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อคุณภาพของโรงเรียนในพื้นที่ ขณะที่การเลือกใช้งบประมาณของ อปท.ขึ้นอยู่กับผู้บริหารเป็นหลักด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น