xs
xsm
sm
md
lg

กบช.ได้ฤกษ์ถือกำเนิดปี53 ลูกจ้างหวั่นส่งเงินอุดหนุนรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

    นางสาวกรรณิการ์ เอกเผ่าพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการออมและการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่าถึงความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนของการร่างกฏหมายเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเป็นขั้นตอนต่อไป ซึ่งหลังจากผ่านกระบวนการทุกอย่างแล้ว คาดว่าการจัดตั้ง กบช.น่าจะเกิดขึ้นได้ภายในปี 2553
    โดยหลักการของการจัดตั้ง กบช. นั้น จะเป็นการออมภาคบังคับด้วยการหักเงินจากลูกจ้าง 3% และอีก 3% จากนายจ้างเข้ากองทุน ซึ่งในกรณีที่ลูกจ้างมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้ว ก็ให้เข้าเป็นกองทุนภาคบังคับโดยอัตโนมัติ ซึ่งในส่วนของการออมภาคบังคับนั้น ลูกจ้างไม่สามารถไถ่ถอนเงินออกมาได้ จนกว่าจะเกษียณอายุ หรืออายุ 55 ปี ส่วนในกรณีที่ลูกจ้างต้องส่งเงินเข้ากองทุนมากกว่า 3% ส่วนที่เหลือก็จะเป็นการออมภาคสมัครใจผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งในส่วนนี้ลูกจ้างสามารถเอาเงินออกมาได้ตามปกติ
 “แนวคิดในการจัดตั้งกบช.พูดกันมาตั้งแต่ปี 2543 แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาเป็นเพียงการพูดถึงหลักการของการจัดตั้งเท่านั้น แต่ยังไม่มีการเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแต่อย่างใด จึงทำให้เรื่องดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คณะทำงานกำลังอยู่ระหว่างร่างกฎหมาย ซึ่งหลังจากพร้อมแล้วก็จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป” นางสาวกรรณิการ์กล่าว
   ทั้งนี้ ในส่วนของบริษัทจัดการกองทุน (บลจ.) ที่จะเข้ามาบริหารเงินลงทุนนั้น ในเบื้องต้นจะให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พิจาณาอีกครั้งว่ามี บลจ. ใดบ้างเข้าหลักเกณฑ์ หลังจากนั้น คณะกรรมการนโยบายการออมเพื่อการเกษียณอายุแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นมาจะพิจารณาคัดเลือกอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในการเลือกบริษัทจัดการกองทุนนั้น เป็นสิทธิของลูกจ้างที่จะสามารถเลือกเองได้ ซึ่งการคัดเลือกของคณะกรรมการ กบช. เป็นเพียงการคัดเลือกเบื้องต้นเพียงเท่านั้น
   ส่วนกรอบการลงทุนนั้น คาดว่าน่าจะใช้หลักเกณฑ์เดียวกับกรอบการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมถึงการลงทุนแบบเอ็มโพรยีช้อยส์ ที่ลูกจ้างสามารถเลือกรูปแบบการลงทุนได้ด้วยตัวเอง
ทั้งนี้ จากการสำรวจจำนวนเงินที่จะเข้ามาในกองทุนกบช. ในเบื่องต้นคาดว่าช่วง 5 ปีแรก จะมีเม็ดเงินเฉลี่ยปีละ 25,000 ล้านบาท ซึ่งจำนวนเงินในส่วนนี้ อาจจะเพิ่มขึ้นจากฐานเงินเดือนของลูกจ้างที่เพิ่มขึ้นต่อไปในแต่ละปี
นางสาวกรรณิการ์กล่าวว่า สำหรับการพ.ร.บ. คุ้มครองเงินฝาก ที่จะบังคับใช้เร็วนี้ ในเบื้องต้นน่าจะมีการคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนเช่นเดียวกับเงินของกองทุนประกันสังคม (สปส.) และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ด้วยเช่นกัน เพราะเป็นการออมที่มีลักาณะคล้ายกัน
ด้านนางสาวจันทนา กาญจนาคม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ – ลูกค้าสถาบัน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยา จำกัด (เอวายเอฟ) กล่าวว่า ในส่วนของการคัดเลือกบริษัทจัดการเพื่อบริหารเงินของ กบช. นั้น เป็นห่วงว่าบลจ. ขนาดเล็กหรือบลจ. ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกอาจจะได้รับผลกระทบ เพราะหากเงินที่เขาบริหารอยู่ต้องถูกย้ายไปบลจ.อื่น ความไว้วางใจต่อบลจ.นั้นอาจจะลดลง ท้ายที่สุดแล้วเงินอาจจะย้ายออกไปทั้งหมด ถึงแม้ว่าจะสามารถบริหารเงินในส่วนของการออมภาคสมัครใจก็ตาม
การเลือกผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่ จะมองที่ขนาดของสินทรัพย์ที่บลจ.นั้น บริหารอยู่มากกว่า ซึ่งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าบลจ.นั้น จะมีคุณภาพดีเสมอไป ดังนั้น จึงอยากให้การพิจารณาให้ความสำคัญกับคุณภาพของบริษัท รวมถึงระบบการบริหารจัดการ การวิเคราะห์ข้อมูลการลงทุนมากกว่า”นางสาวจันทนา
นอกจากนั้น การที่แยกกองทุนออกเป็นภาคบังคับและภาคสมัครใจ ในกรณีที่ลูกค้าส่งเงินเข้ากองทุนมากกว่า 3% นั้น ถือเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เพราะต้องแยกบัญชีออกเป็น 2 บัญชีถึงแม้จะเป็นเงินกองทุนเดียวกันก็ตาม อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน มีตัวแทนอยู่ในคณะทำงานของกบช. ด้วยเช่นกัน
ส่วนนางพรทิพย์ เจนจตุรงค์ เลขานุการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่จดทะเบียนแล้ว กล่าวว่า เห็นด้วยกับการจัดตั้งกบช. เพราะเป็นการส่งเสริมให้ลูกจ้างมีเงินออมเก็บไว้ใช้ยามเกษียณ แต่ว่าอยากให้มีความชัดเจนเป็นรูปธรรมว่า เงินที่ส่งเข้ากองทุนภาคบังคับ 3% นั้น จะเป็นเงินออมของลูกจ้างจริงๆ ขณะเดียวกัน หลังจากเกษียณอายุแล้วต้องได้รับเงินนั้นกลับมาด้วย เพราะที่ผ่านมาลูกจ้างส่วนใหญ่จะกังวลว่าภาครัฐจะนำเงินออมเหล่านี้ไปอุดหนุนโครงการภาครัฐแทน แล้วท้ายที่สุดลูกจ้างจะไม่ได้เงินหลังจากเกษียณอายุแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น