"หมอเลี้ยบ" เปิดเกมบนดินบีบ "ธาริษา" สั่งศึกษากฎหมายแบงก์ชาติแก้ไขหลักเกณฑ์เปิดทางสะดวกปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ แจงกฎหมายใหม่ทำให้การทำงานของแบงก์ชาติปลอดจากการเมืองมากขึ้นจริงแต่หากมีความเสียหายเกิดกับการบริหารรัฐบาลจะต้องรับภาระทั้งหมดแต่กลับไม่มีอำนาจในการตัดสินใจหรือถ่วงดุลโดยเฉพาะในสถานการด้านการเงินที่ผันผวนในปัจจุบัน
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้คณะทำงานศึกษารายละเอียดของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ไปแล้ว และอยู่ระหว่างการทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย ก่อนที่จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ว่าจะมีผลกระทบต่อบทบาทการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลังและธปท.อย่างไรบ้าง เนื่องจากกฎหมายฉบับดังกล่าวได้แก้ไขไปในสมัยของรัฐบาลที่แล้ว
อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถตอบได้ชัดว่าจะมีการแก้ไขหลักกการของกฏหมายฉบับดังกล่าวในประเด็นใดหรือไม่ เนื่องจากยังไม่ทราบถึงรายละเอียดแน่ชัด แต่ถ้าหากศึกษาแล้วพบว่ามีความจำเป็นต้องแก้ไขก็ต้องมีการจัดทำร่างกฏหมายแก้ไขออกมา เพราะในชั้นนี้เมื่อกฎหมายได้มีการทูลเกล้าฯ ไปแล้วรัฐบาลชุดนี้คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ทีมที่ปรึกษาของรมว.คลังได้นำร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวไปศึกษา พร้อมกับรับฟังความคิดเห็นถึงผลกระทบในการให้อิสระอย่างมากในการดำเนินการของธปท. และอำนาจที่ธปท.ได้รับเพิ่มขึ้นในการบริหารจัดการเสถียรภาพของค่าเงินบาทจากการแก้ไขกฏหมายฉบับดังกล่าว และประการสำคัญคือ อำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธปท.จะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพได้หรือไม่
"ต้องยอมรับว่าสาระสำคัญที่มีการแก้ไข ปรับปรุงในพ.ร.บ.ธปท.ฉบับใหม่จะทำให้การทำงานของธปท.อิสระจากการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะ ในส่วนของการแต่งตั้งและถอดถอนผู้ว่าการธปท.ซึ่งพ.ร.บ.ฉบับใหม่กำหนดให้การแต่งตั้งผู้ว่าฯ รมว.คลังจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกผู้ว่าฯ ธปท. จากเดิมที่รมว.คลังเป็นคนแต่งตั้ง ให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาและทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไทและประกาศราชกิจจานุเบกษา
ขณะที่การ ถอดถอนผู้ว่าการ นอกจากจะต้องเข้าเกณฑ์ดังนี้ คือ ตาย ลาออก ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามแล้ว ในกรณีที่ครม.เห็นควรให้ถอดถอนนั้น โดยครม.เห็นว่าผู้ว่าฯ มีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง ทุจริตต่อหน้าที่ หรือบกพร่องในหน้าที่อย่างรุนแรง และหย่อนความสามารถ ทั้งนี้รมว.คลังต้องแสดงเหตุผลอย่างชัดเจน ซึ่งฉบับเดิมไม่ระบุเหตุผลในการถอดถอน เพียงระบุแค่ผู้ว่าฯธปท.จะต้องมาจาการแต่งตั้ง และโปรดเกล้าจากเห็นชอบจากรัฐมนตรี" แหล่งข่าวกล่าว
นอกจากนี้ พรบ.ฉบับดังกล่าวยังได้เพิ่มอำนาจในการใช้เครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ ในการดูแลค่าเงินบาทได้โดยไม่มีเพดานกำหนด เพื่อความยืดหยุ่นในการบริหารงาน และคงเหลือเพียงให้รายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้รับหลังจากที่ดำเนินการแล้วเท่านั้น ขณะเดียวกันกลับไม่มีบทบัญญัติที่ว่าด้วยความรับผิดจากความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน เพราะหากมีความเสียหายใด ๆ เกิดขึ้นกับทุนสำรองก็จะตกมาเป็นภาระต่อรัฐบาล แต่รัฐบาลกลับไม่มีอำนาจในการตัดสินใจหรือถ่วงดุลใด ๆ ได้เลย ซึ่งมันจะขัดกับหลักการด้านความรับผิดชอบ (Accountability)ซึ่งรัฐบาลใหม่เข้ามาคงต้องพิจารณาเรื่องนี้โดยละเอียด โดยเฉพาะสถานการณ์ด้านการเงินที่ผันผวนเช่นนี้
ทั้งนี้ กฎหมายธปท.ควรแยกหน้าที่กำกับตรวจสอบสถาบันการเงินออกจากหน้าที่ของธนาคารกลาง ซึ่งมีหน้าที่หลักดำเนินนโยบายการเงิน นอกจากนี้ไม่ควรระบุตายตัวในกฎหมาย ว่าธปท.มีอำนาจกำกับตรวจสอบสถาบันการเงิน แต่ควรระบุว่าอำนาจอื่นๆ นอกเหนือจากกำหนดนโยบายการเงินให้เป็นไปตามที่ปรากฎในกฎหมายอื่นๆ ที่อาจกำหนดเพิ่มเติมได้ และไม่ควรกำหนดให้ผู้ว่าการธปท. เป็นประธานกรรมการทั้ง คณะกรรมการ ธปท. คณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน เนื่องจากผู้ว่า ธปท.จะมีอำนาจมากเกินไป