xs
xsm
sm
md
lg

ดีเดย์ใช้ พ.ร.บ.สถาบันการเงิน สิงหาฯ นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฝ่ายกฎหมายและคดี ธปท.เผย พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน โปรดเกล้าฯแล้ว คาดลงในราชกิจจานุเบกษาภายในสัปดาห์นี้ และมีผลบังคับใช้ในเดือนสิงหาคมนี้ ส่วน พ.ร.บ.ธปท.มั่นใจจะบังคับใช้ได้ภายในเดือนนี้ เพราะเนื้อหากฎหมายส่วนใหญ่เกี่ยวกับกฎระเบียนภายในหน่วยงาน จึงประกาศใช้ได้ทันทีหลังลงในราชกิจจานุเบกษา และเมื่อ พ.ร.บ.ธปท.ประกาศใช้ต้องมีการแต่งตั้งบอร์ด กนง.ชุดใหม่ภายใน 180 วัน

นายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกฎหมายและคดี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้ากฎหมายการเงินทั้ง 3 ฉบับ ซึ่งประกอบด้วย พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก และ พ.ร.บ.ธปท.ว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินได้รับการโปรดเกล้าฯ เรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา และรอลงในประกาศราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดว่า ภายในสัปดาห์นี้น่าจะเสร็จสิ้น และจะมีผลบังคับใช้ 180 วันนับตั้งแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือประมาณช่วงเดือนสิงหาคมนี้

สำหรับ พ.ร.บ.ที่เหลืออีก 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ธปท.และสถาบันคุ้มครองเงินฝากกำลังอยู่ระหว่างรอโปรดเกล้าฯ ซึ่งได้ส่งไปช้ากว่า พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินประมาณ 20 วัน โดยในส่วนของ พ.ร.บ.ธปท.คาดว่า ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้จะสามารถประกาศบังคับใช้ได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องรอลงในราชกิจจานุเบกษา 180 วัน เหมือนกับ พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก และ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน เนื่องจากเนื้อหาในกฎหมายดังกล่าวส่วนใหญ่เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ภายในหน่วยงานของ ธปท.เอง จึงสามารถประกาศใช้ได้ทันทีหลังจากลงราชกิจจานุเบกษา

“หลังจากที่ พ.ร.บ.ธปท.มีผลประกาศใช้ ซึ่งคาดว่า ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะต้องมีการสรรหาคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ชุดใหม่ภายใน 180 วัน ขณะเดียวกัน กนง.ชุดเก่าจะต้องทำงานได้ไม่เกิน 6 เดือน ส่วนประเด็นที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บางคนจะขอกลับมาดูกฎหมายต่างๆ ใหม่ ที่ผ่านการพิจารณาจาก สนช.ชุดก่อน เพราะเห็นว่ามีการพิจารณาเร็วเกินอาจทำให้ไม่รอบคอบอย่างที่ควรนั้น เชื่อว่า ในประเด็นนี้ก็สามารถทำได้ สำหรับกฎหมายที่ยังไม่ได้โปรดเกล้าฯ แต่กฎหมายฉบับใดที่กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนเสนอโปรดเกล้าฯ คงจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกฎหมายฉบับนั้นได้” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกฎหมายและคดี ธปท.กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินในฉบับใหม่ได้กำหนดให้บุคคลทั่วไปถือหุ้นถือหุ้นในสัดส่วน 5% จะต้องรายงานมายัง ธปท.ให้ทราบก่อน แต่ถือหุ้นได้ไม่เกิน 10% เพราะหากเป็นเช่นนี้ทาง ธปท.มีสิทธิร้องต่อศาลให้ขายส่วนที่เกินได้ ซึ่งต้องขายหุ้นส่วนที่เกินภายใน 90 วัน แต่กฎหมายได้อนุญาตให้ธปท.สามารถขยายเวลาอีก 90 วัน และนำเงินที่ได้รับจากการขายหุ้นคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นรายนั้น

ขณะที่ต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ทันทีในสัดส่วน 25% หากถือหุ้นเพิ่มเป็น 25-49% จะต้องขอผ่อนผันจาก ธปท.และหากถือหุ้นเกิน 49-100% เฉพาะในกรณีเพื่อแก้ไขปัญหาฐานะหรือการดำเนินงาน ซึ่ง รมว.คลัง จะผ่อนผันโดยคำแนะนำของ ธปท.

ส่วนการเข้าไปแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินนั้น ในกฎหมายนี้บังคับให้รัฐต้องเข้าไปดูแลไม่ให้ใช้ดุลพินิจมากเกินไป โดยเมื่อเงินกองทุนต่ำกว่า 60% จะต้องมีคำสั่งเข้าไปควบคุม และเมื่อลดต่ำกว่า 35% จะมีคำสั่งปิดกิจการ ทำให้ต่อไปจะมีผู้บริหารที่ละเลยและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จะได้รับโทษจำคุก เป็นต้น

สำหรับ พ.ร.บ.ธปท.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ 3 ชุด ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (กกธ.) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน (กรช.) ซึ่งคณะกรรมการแต่ละชุดจะมีหน้าที่แตกต่างกันและมีการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือก เพื่อสรรหาคณะกรรมการแต่ละชุดอย่างชัดเจน
กำลังโหลดความคิดเห็น