xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ป้องแบงก์ปล่อยกู้ส่งออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธปท.รับยอดสินเชื่อคงค้างปี 51 มีบางภาคธุรกิจได้รับสินเชื่อลดลง แต่มั่นใจไม่มีธุรกิจใดถึงขั้นล้มหายตายจากเหมือนวิกฤตปี40 แจงแบงก์ไม่ได้จำกัดให้สินเชื่อธุรกิจภาคส่งออก ระบุคำสั่งซื้อสินค้าลดลง ทำให้ความต้องการขอสินเชื่อจากแบงก์ลดลงตาม ส่วนยอดสินเชื่อปี 51 แบงก์อนุมัติสินเชื่อให้ภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น 1.32 ล้านล้านบาท คิดเป็น 21.20%

นายเกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 51 ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีอัตราการขยายตัวของสินเชื่อโดยรวม 11.8% ซึ่งยอมรับว่าเป็นเรื่องปกติที่บางธุรกิจที่ได้รับสินเชื่อลดลงบ้าง แต่ไม่ได้เกิดเฉพาะในยามวิกฤตการณ์การเงินโลกเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าธุรกิจเหล่านั้นจะไม่เกิดปัญหาจนส่งผลให้ภาคธุรกิจต่างๆ ต้องล้มหายตายจากกันเหมือนช่วงวิกฤตปี 40 และไม่ได้ห่วงว่าสภาพแวดล้อมไม่ดีแล้วยิ่งส่งผลร้ายให้ภาคธุรกิจอยู่ไม่ได้

ส่วนที่หลายฝ่ายห่วงธุรกิจที่เชื่อมโยงกับภาคการส่งออกจะได้รับผลโดยตรงจากปัญหาต่างประเทศนั้น มองว่ายังไม่มีสัญญาณอะไรที่แสดงให้เห็นว่าธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มนี้ แต่กลับกันหากธุรกิจเหล่านี้ถูกยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้า ทำให้ความต้องการขอสินเชื่อน้อยลงมากกว่า

รายงานข่าวจากธปท.แจ้งว่า สายนโยบายสถาบันการเงินได้ประกาศยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อแยกตามประเภทธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบล่าสุดในเดือนธ.ค.หรือไตรมาสที่ 4 ของปี 51 พบว่า ในระบบธนาคารพาณิชย์มียอดคงค้างสินเชื่อทั้งสิ้น 7. 55 ล้านล้านบาท เทียบกับไตรมาส 3 ของปี 51เพิ่มขึ้น 3.87 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.40% และเมื่อเทียบกับธ.ค.50 เพิ่มขึ้น 1.32 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 21.20%

ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ได้ให้สินเชื่อแก่ธุรกิจตัวกลางทางการเงินมากที่สุดในระบบถึง 112.81% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 7.64 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีเม็ดเงินที่ธนาคารพาณิชย์ในระบบให้สินเชื่อมากที่สุดด้วย รองลงมาเป็นธุรกิจการทำเหมือนแร่และถ่านหิน 109.54% เพิ่มขึ้น 2.06 หมื่นล้านบาท และธุรกิจที่เกี่ยวกับการบริหารราชการ และการป้องกันประเทศ รวมทั้งการประกันสังคมภาคบังคับ 47.19% เพิ่มขึ้น 3.15 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเป็นรายธุรกิจเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า ธุรกิจใน 6 ประเภท จาก 18 ประเภทขนาดใหญ่ ธนาคารพาณิชย์ในระบบมีสัดส่วนการให้สินเชื่อลดลง ได้แก่ ธุรกิจลูกจ้างในครัวเรือนส่วนบุคคลลดลงมากที่สุดถึง 82.61% หรือมียอดลดลง 133 ล้านบาท จากยอดคงค้างปัจจุบันอยู่ที่ 28 ล้านบาท และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 161 ล้านบาท รองลงมาเป็นธุรกิจองค์การระหว่างประเทศ และองค์การต่างประเทศอื่นๆ และสมาชิกลดลง 26.58% วงเงินลดลง 21 ล้านบาท ซึ่งสิ้นปี 51 มียอดคงค้างขอสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 58 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนหน้าที่มียอดคงค้าง 79 ล้านบาท

ธุรกิจการบริการด้านสุขภาพ และงานสังคมสงเคราะห์มีสัดส่วนการขอสินเชื่อลดลง 9.23% ลดลงมูลค่า 3.47 พันล้านบาท จากยอดคงค้างของปัจจุบัน 3.41 หมื่นล้านบาท ธุรกิจเกษตรกรรม การล่าสัตว์ และการป่าไม้ 8.73% หรือมียอดเงินลดลง 7.62 พันล้านบาท ซึ่งมีปริมาณเงินลดลงมากที่สุดในระบบ จากยอดคงค้างที่มีอยู่ 7.97 หมื่นล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 8.73 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ธุรกิจการประมงลดลง 6.26% คิดเป็นมูลค่า 908 ล้านบาท จากยอดคงค้างที่มีอยู่ 1.36 หมื่นล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกันปีก่อน 1.45 หมื่นล้านบาท และธุรกิจการขายส่ง การขายปลีก และซ่อมแซมยานยนต์ จักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน 0.20% หรือลดลง 458 ล้านบาท จากยอดคงค้างที่มีอยู่ 2.26 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ เฉพาะธุรกิจอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลที่เป็นภาคธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ได้ให้สินเชื่อและมียอดคงค้างทั้งสิ้น 1.61 ล้านล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีอยู่ 1.41 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 14.13% และเมื่อพิจารณารายสาขาในธุรกิจกลุ่มนี้ พบว่า ธุรกิจการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อการทำงานมีสัดส่วนลดลงมากที่สุดในระบบถึง 38.09% รองลงมาเป็นการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการอื่นๆ ลดลง 26.88% ธุรกิจการศึกษาลดลง 4.29% ธุรกิจซื้อที่ดินลดลง 1.73% ซึ่งทั้งการซื้อที่ดินเปล่า ซื้อที่ดินเปล่า เพื่อเพื่อสร้างสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ และสร้างบ้าน ต่างลดลงแถบทั้งสิ้น 7.86% สัดส่วน 4.23% และ 0.62% ตามลำดับ
กำลังโหลดความคิดเห็น