xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ถกแบงก์หาทางลด NPL แนะกันสำรองตัดยอดหนี้เน่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธปท.จับมือแบงก์พาณิชย์หาแนวทางร่วมในการพัฒนาภาคสถาบันการเงิน พร้อมทั้งฝากการบ้านแบงก์ 4 เรื่องหลัก โดยเฉพาะการลดหนี้เอ็นพีแอล ระบุแม้ตัวเลขปัจจุบันจะต่ำกว่า 10% แต่ควรเร่งขจัดให้ต่ำกว่านี้ เพื่อให้ส่งผลดีต่องบการเงินในช่วงต่อไป รวมถึงสร้างความเข้าใจโปรดักท์ที่ซับซ้อน ยึดหลักธรรมาภิบาลที่ดีดูแลภายในองค์การ และสร้างแบบทดสอบภาวะวิกฤตวัดศักยภาพ รอประเมินผลสิ้นเดือนมีนาคมนี้

นายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้มีการหารือกับธนาคารพาณิชย์ทั้ง 17 แห่งเกี่ยวกับแผนการดำเนินธุรกิจในปีนี้และในอนาคตข้างหน้า ซึ่งส่วนใหญ่จะมีการพูดคุยกันถึงภาพรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน พร้อมทั้งหาแนวทางร่วมกันในการปรับปรุงระบบธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน จึงได้ฝากการบ้านให้ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งกลับไปดำเนินการมามากกว่า และจะนำผลที่ได้มาประมวลผลในช่วงเดือนมีนาคมนี้อีกครั้ง

สำหรับแนวทางการหารือร่วมกันระหว่างธปท.และธนาคารพาณิชย์ในการปรับปรุงการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ในปีนี้จะเน้น 4 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.ลดปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)และสินทรัพย์รอการขาย(เอ็นพีเอ)ของระบบสถาบันการเงิน โดยธปท.มองว่าแม้ปัจจุบันยอดคงค้างหนี้เอ็นพีแอลลดลงต่ำกว่า 10% ถือว่าน่าพอใจ แต่ธนาคารพาณิชย์ควรมีการเร่งขจัดให้ยอดลดลงให้มากกว่านี้ เพราะจะส่งผลดีต่องบการเงิน รวมทั้งสามารถเปลี่ยนต้นทุนเสียโอกาสกลับมาเป็นรายได้ในอนาคต

ทั้งนี้ ในปัจจุบันสถาบันการเงินมียอดคงค้างเอ็นพีแอลสุทธิ(NPL Net) จำนวน 237,888 ล้านบาท คิดเป็น 4% และหากยังไม่ได้หักเงินสำรองหนี้เอ็นพีแอล(NPL Gross)มีอยู่ 457,866 ล้านบาท คิดเป็น 7.31%

“เราได้เสนอแนะให้แบงก์พาณิชย์ควรมีการตัดหนี้สูญออกจากงบการเงินหลังจากได้มีการตั้งสำรองหนี้ก้อนนั้นเรียบร้อยแล้ว แต่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ต่างแย้งกันว่าหากทำเช่นนี้จะยิ่งสร้างภาระ เพราะจำเป็นต้องจ้างหน่วยงานใหม่ขึ้นมาดูแลหนี้เสียดังกล่าว จึงมั่นใจว่าระบบที่ดำเนินการอยู่ดีพอที่จะสามารถควบคุมหนี้ไม่ได้ลุกลามได้ แม้ไม่ได้มีการตัดหนี้ก้อนนั้นออกจากบัญชีก็ตาม นอกจากนี้ยังแนะให้แบงก์ขายหนี้เสียให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์(AMC) ไปบริหารต่อ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดภาระ รวมทั้งแบงก์ควรมีการเร่งรัดขั้นตอนในชั้นศาลให้มีความรวดเร็วมากขึ้น”

2.การให้บริการบางประเภทที่มีความซับซ้อนของธนาคารพาณิชย์จะต้องไม่ละเลยข้อบังคับหรือมาตรฐานบางอย่าง แม้ฝ่ายธุรกิจจะต้องนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ให้ทันต่อความต้องการลูกค้าก็ตาม ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ใดที่ซับซ้อนจะต้องมีการขออนุญาตธปท.ก่อน เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นในการดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้งลดปัญหาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับลูกค้าด้วย

3.แม้ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะมีการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกัน แต่ก็ต้องมีการปฏิบัติตามกฎของทางการ พร้อมทั้งควบคุมภายในองค์กรให้ปฏิบัติตามกฎและคำสั่งของธปท.ด้วย จึงจำเป็นที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องยึดหลักธรรมาภิบาลที่ดี โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงหรือกรรมการของสถาบันการเงิน เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

นายสรสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับประเด็นสุดท้าย คือ การทดสอบภาวะวิกฤต(Stress Test) ของระบบธนาคารพาณิชย์ ถือเป็นนโยบายหลักของฝ่ายกำกับสถาบันการเงิน ธปท.ในปีนี้ เพื่อเป็นการทดสอบความแข็งแกร่งสถาบันการเงิน รวมถึงความเพียงพอของฐานะและเงินกองทุนภายใต้สมมติฐานด้านเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงในด้านลบ แม้โอกาสที่จะเกิดขึ้นน้อยมาก แต่เมื่อเกิดขึ้นก็จะสร้างความรุนแรงอย่างมาก จึงต้องดูความพร้อมและแผนรับมือปัจจัยเสี่ยงต่างๆของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น