xs
xsm
sm
md
lg

"เพ็ญ"เตรียมปลุกผี ITV อ้างสื่อสยบอำนาจนอกระบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"จักรภพ" อัดสื่อมีปัญหา สยบอำนาจนอกระบบ เตรียมปลุกผีไอทีวี ไม่สนใครจะว่าล้วงลูก ระบุ "ทีพีบีเอส" ดีแต่ชื่อ ข้องใจวิธีการสรรหาผู้บริหาร

นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวคิดในการจัดระเบียบสื่อว่า เนื่องจากสื่อมีปัญหาอย่างมาก ประชาชนได้รับข้อมูลอย่างไม่สมดุล ทั้งนี้ในช่วงเวลา 2 ปีที่เราไม่มีประชาธิปไตย เหตุผลหนึ่งที่เว็บไซต์เจริญงอกงามมาก เพราะคนอ่านหนังสือพิมพ์น้อยลง คนดูทีวีน้อยลง คนฟังวิทยุน้อยลง ซึ่งไม่ใช่ความผิดของใคร แต่เป็นเรื่องของสังคมที่เบี่ยงเบนไป เพราะคนที่มีอุดมการณ์สื่อยังทำหน้าที่เต็มที่ไม่ได้ เนื่องจากบรรยากาศยังบังอยู่ เพราะสื่อเป็นเหมือนโรงเรียนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ถ้าหากว่าครูเอนเอียงแล้วนักเรียนจะเป็นอย่างไร

"แต่ว่าจะพยายามให้มีองค์ประกอบ 1. คนที่มีความรู้ในเรื่องสื่อในเชิงปฏิบัติว่าสื่อทำงานอย่างไร 2. น่าจะไม่อยู่ในสมรภูมิความขัดแย้งที่ผ่านมาจนกระทั่งฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดรู้สึกว่าจะมาเช็กบิล คิดบัญชีกัน 3. ควรจะมีความรู้ทางวิชาการ และ 4. มีวิสัยทัศน์ คือการปรับปรุงสื่อวันนี้มันจะนำไปสู่อะไรบ้าง"

นายจักรภพ กล่าวว่า ไม่เกิน 2 เดือนจะมีการศึกษา ตั้งคณะกรรมการหลายชุด และจะมีมาตรการออกมาในเวลารวดเร็ว แต่ยังไม่ได้คิดถึงขนาดว่า คณะกรรมการจะต้องมาจากส่วนไหนบ้าง เข้ามาดูทั้งปัญหาวิทยุชุมชน ทีวีดาวเทียม และสื่อของรัฐ เพื่อจัดระบบสื่อของรัฐที่ออกนอกระบบที่นำเสนอความคิดข้างใดข้างหนึ่ง โดยจะเอาผลที่ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตคณะกรรมาธิการก สทช. ทำไว้มาดู และไม่แน่อาจจะเชิญ นพ.นิรันดร์มาคุยกันว่าทำตรงไหนก็ทำต่อ ส่วนเรื่องทีวีดาวเทียมเป็นเรื่องที่จัดระเบียบให้ทุกคนอยู่ได้ และก็ไม่มีนโยบายที่จะมาล้างแค้น ทุกคนก็รู้อยู่ว่า ตนทำทีวีดาวเทียมมา แต่รับรองว่าไม่เอาเรื่องส่วนตัวมาเกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ สาเหตุที่ตนบอกว่า สื่อมีปัญหาอย่างมาก เนื่องจากสื่อสยบยอมต่ออำนาจนอกระบบมากเกินไป แต่ไม่ใช่ของสื่อมวลชน แต่เป็นของเจ้าของสื่อมวลชนเอง ทั้งนี้สื่อมวลชนก็มีอุดมการณ์ทำงานตามเนื้อผ้า แต่เจ้าของกิจการก็มีผลประโยชน์ที่เหมือนตัวของสื่อมวลชน ในสังกัดเดียวผลประโยชน์ไม่เหมือนกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า เอเอสทีวี ใช่หรือไม่ นายจักรภพ กล่าวว่า "ไม่หรอก ทั้งหมดเลย"

เมื่อถามว่า มีเกณฑ์ที่เป็นรูปธรรมที่จะประเมินสื่อที่เสนอข่าวไม่สมดุลหรือไม่ นายจักรภพ กล่าวว่า มี แต่ว่าไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะไปสร้างสมดุลนั้นเอง เราจะต้องสร้างกลุ่มบุคคลที่บุคคลเชื่อถือได้มาปรับดุลนี้ให้ ซึ่งเขาจะย้อนกลับไปดูว่า ที่เสียดุลนั้นเสียตรงไหน เสียด้วยวิธีไหน เมื่อถามว่า ต้องมีกฎหมายรองรับเลยหรือไม่ รมต.สำนักนายกฯ กล่าวว่า ไม่ถึงขนาดนั้น

"บางทีนักข่าวรายงานไปอย่าง รีไร้ท์ไปทาง บก.ไปอีกทาง มันแปลว่าอะไร บางทีเรียงเรื่องแต่ต้นจนปลาย เรื่องสำคัญเอาไว้หลังสุด บก.เอาไปพาดหัวเลย อย่างนี้มันคิดคนละแบบ" นายจักรภพ กล่าว

นายจักรภพ กล่าวอีกว่า การที่เราทำอะไรทิ้งไว้ในระยะยาวคิดถึงตัวเองมากไม่ได้ ซึ่งตนรู้ดีว่าการที่เราเป็นสื่อมวลชนแล้วเข้ามาแตะต้องสื่อในระดับโครงสร้างจะเกิดผลอย่างมาก เพราะว่าในวงการสื่อก็เหมือนหลายวงการ ที่มีความรู้สึกว่าทำไมคนที่เคยเป็นพวกเดียวกันถึงมาทำแบบนี้

"แต่เจตนาของผมคิดว่า บางครั้งมันต้องอาศัยคนที่ไม่ได้คิดว่าจะเกิดผลอะไรกับตัวเองมาทำงานเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้าง หวังว่าพี่จะทำสิ่งนั้น ส่วนจะทำได้ดีเลวแค่ไหนพวกเราจะเป็นประเมิน แล้วขอให้ดูระยะยาวหน่อยแล้วกัน" นายจักรภพ กล่าว

ส่วนจุดยืนของรมต.สำนักนายกฯ คนใหม่ที่มีต่อ ทีวีสาธารณะ (ทีพีบีเอส) นายจักรภพ กล่าวว่า เร็วเกินไปที่จะพูด แต่ทีวีสาธารณะ เป็นของดีงาม หลายประเทศที่มีแล้วได้รับประโยชน์ เพราะเป็นการสร้างผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ที่ไม่หวังกำไร เป็นคนเชิงอุดมการณ์ มีการทำงานที่ดี มีคุณค่าต่อสังคมโดยไม่ร่วมในเชิงพาณิชย์มากเกินไป แต่ไม่ใช่ว่าวิธีการที่นำมาสู่จุดนี้ จะทำอย่างไรก็ได้

"ทีพีบีเอส มาจากมติครม.ไม่ใช่ความเห็นของรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งที่จะไปเสนอขอให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆได้ แต่แน่นอนที่สุดว่าทุกอย่าง คือน่าจะไม่เกิน 2 เดือน และไม่กลัวว่าจะถูกมองว่าเป็นการล้วงลูก ไม่เช่นนั้นจะเข้ามาทำทำไม การทำหน้าที่นี้เพราะเชื่อว่าจะต้องทำสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าหากว่าจะถนอมตัวเองก็คงหาทางไปที่อื่น" นายจักรภพกล่าว

เมื่อถามว่า พอใจการนำเสนอของ ทีพีบีเอส หรือไม่ นายจักรภพ กล่าวว่า พอใจกับชื่อ เพราะเป็นชื่อที่ดี แต่ในหลายๆ ส่วนไม่ใช่ความไม่พอใจ แต่ทั้งนี้ตนไม่ใช่ผู้วิเศษ แต่เป็นคนทำหน้าที่แทนประชาชน จึงไม่ใช่คำว่าไม่พอใจ แต่อยากประเมินถึงวิธีการ เช่นการคัดเลือกคนออก การเลือกเก็บคนส่วนหนึ่งไว้ การตั้งคำถามว่าอะไรที่ทำให้เกิดสื่อมวลชนที่ดี และอะไรทำให้เกิดสื่อมวลชนที่ไม่ดี ตรงนี้ยังทำให้เกิดความสงสัย

เมื่อถามว่า มีแนวคิดรื้อกฎหมายที่ทำให้เกิดทีพีบีเอส หรือไม่ นายจักรภพ กล่าวว่า ยังไม่มีอะไรอยู่ในใจ แต่ว่าทุกทางเลือกเป็นไปได้ทั้งสิ้น ส่วนจะเรียกหารือคณะกรรมการหรือไม่ ต้องขอดูก่อน เพราะทีวีสาธารณะโดยหลักการไม่ควรมีรัฐบาลเข้าไปยุ่งเกี่ยวในรายละเอียดมากเกินไป

"แต่อย่างที่บอกว่าวิธีการที่นำมาสู่จุดนี้มีอะไรแปลกๆ ก็จะดูเฉพาะวิธีการ หากวิธีการสรรหาผู้บริหาร เจ้าหน้าที่อย่างถูกต้อง ทุกคนมาด้วยวิธีการและอุดมการณสาธารณะ ก็อาจจะไม่เข้าไปแตะต้องก็ได้ เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ทำให้ทีวีสาธารณะเป็นทีวีสาธารณะจริงๆ ไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของใคร" นายจักรภพ กล่าว

เมื่อถามว่า เงินที่จะทำเป็นทีวีสาธารณะเป็นเงินมาจากรัฐ จะทำอย่างไรไม่ให้รัฐเข้าไปควบคุม นายจักรภพ กล่าวว่า ไม่ได้แปลว่าใช้เงินใครแล้วเป็นทาสคนนั้น การสนับสนุนเงินของรัฐบาลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์กลางก็ได้ เปรียบเหมือนการใช้เงินรัฐสร้างสวนสาธารณะ เพียงแต่มันเป็นทีวีสาธารณะ เป็นเรื่องเดียวกัน

เมื่อถามว่า ที่บอกว่าชอบชื่อไอทีวี มากกว่าหมายถึงอะไร นายจักรภพ กล่าวว่า เป็นความรู้สึกส่วนตัว ที่ตนเรียกไอทีวี ก็เพราะว่ามันเริ่มต้นจากกรณีไอทีวี ไม่ได้เริ่มต้นทีพีบีเอส คือเราต้องจำให้ได้ว่า มันเกิดขึ้นอะไรจากอะไรด้วย อย่างไอทีวี เริ่มต้นจากทีวีเสรี พอมาวันนี้เป็นทีวีสาธารณะ แสดงว่า ไม่ควรจะมีทีวีเสรีใช่หรือไม่

"เหล่านี้ไม่ใช่การตัดสินใจของผมคนเดียว แต่ผมจะกระตุ้นให้เกิดการถกเถียงในเรื่องนี้ เพื่อจะนำไปสู่การตัดสินใจ" นายจักรภพ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น