xs
xsm
sm
md
lg

“จักรภพ” แย้มจัดระเบียบสื่อรัฐฯ อ้างเพื่อความสมดุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“รมต.กำกับสื่อ” ลั่นไม่เอาคืนสื่อ หลังตกเป็นเหยื่อแบ่งข้างร่วม 2 ปี ขอนับหนึ่งด้วยความเป็นกลาง เปิดตัวทีมงานโฆษก “ณัฐวุฒิ-แบม-ศุภรัตน์” แย้มเดินหน้าจัดระเบียบสื่อรัฐ-ทีพีบีเอส ตามคาด เพื่อให้เกิดความสมดุลในการนำเสนอข่าวสาร 

คลิกที่นี่ เพื่อฟังเสียง นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์

วันนี้ (7 ก.พ.) นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการจัดทีมงานโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า จะมีการหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปในการแบ่งงานรวมถึงแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ และตำแหน่งโฆษกฯ ภายใน 1-2 วันนี้ ซึ่งหากตนได้ทำหน้าที่รัฐมนตรีประจำสำนักฯ ควบโฆษกรัฐบาล ก็จะมีทีมงาน ประกอบด้วย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นางสาวศุภรัตน์ นาคบุญนำ จากพรรคพลังประชาชน และจะรับ คุณแบม จณิสตา ลิ่วเฉลิมวงศ์ จากพรรคชาติไทย

“คือ เดิมทีไม่เคยคุยกันตอนจัดตั้งรัฐบาล ว่า พรรคจะมีโควตาโฆษก แต่ว่าพรรคชาติไทยเป็นพรรคเดียวที่แสดงความสนใจ อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้ นายกรัฐมนตรีจะบอกอย่างชัดเจนว่าท่านจะให้ไปนั่งอย่างไร ซึ่งผมเข้าใจดีเพราะว่าจะได้มีคนประสานกับสื่อมวลชนแล้วคุยกันได้ เพราะรัฐบาลจะมีโครงการหลายอย่างออกมาจากการประชุม ครม.อังคารหน้าที่จะเป็นการประชุมตามปกติเป็นนัดแรก” นายจักรภพ กล่าว

นายจักรภพ กล่าวถึงแนวทางการทำงาน ว่า ที่ตนดูแลสำนักนายกฯต้องดูแลยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ภาครัฐ ดังนั้น ทีมงานโฆษกเป็นทีมงานที่สำคัญ ซึ่งเชื่อว่า จะเป็นตามที่สื่อมวลชนต้องการความชัดเจนในการประชาสัมพันธ์ และนอกจากนี้ จะมีทีมงานที่คอยประสานงานข้อมูลเรื่องการเข้าถึงข่าวสารต่างๆ เพื่อช่วยพวกเราทำงาน

“เราอยากจะเริ่มต้นด้วยความเป็นกลาง โดยไม่คิดเรื่องการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างที่แล้วมา เราเป็นเหยื่อของการแบ่งข้างมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แต่ถ้าหากเราเข้ามาแล้วบอกว่าจะต้องเอาคืน บ้านเมืองก็จะไม่สงบสุข เพราะฉะนั้นถามว่าจะเอาอย่างไรต่อไป ขอให้สังเกตกันต่อไปแล้วกัน” นายจักรภพ กล่าว

รมต.สำนักนายกฯ กล่าวถึงการดูแลสื่อของรัฐ ว่า การให้ข้อมูลข่าวสารด้านเดียวยังคงดำเนินต่อไป แม้ในส่วนของภาครัฐ เราไม่เกี่ยงที่สื่อภาครัฐจะวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เพราะสื่อก็คือ สื่อ ที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญที่วิพากษณ์วิจารณ์ตามเห็นสมควร แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าวิจารณ์โดยมีข้อมูลหรือไม่ เพราะถือว่าเป็นผลร้ายต่อการให้ข้อมูลข่าวสาร

นายจักรภพ กล่าวยืนยันด้วยว่า จะไม่มีการนำสื่อของรัฐมาเป็นเครื่องมือในการตอบโต้ทางการเมือง แต่ที่มีแน่ๆ คือ จะต้องมีการประเมินว่าสื่อรัฐได้ให้ข้อมูลที่สมดุล เป็นกลางกับสังคมหรือไม่ เพราะถือเป็นสื่อที่ส่งผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคล และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาครัฐ ซึ่งเรื่องนี้เมื่อถึงเวลาก็จะเรียนให้ทราบต่อไป

“ประเด็นอยู่ที่ว่า สื่อภาครัฐยังยึดติดอยู่กับเกมการเมืองอีกนิดหน่อย ว่า ตกลงเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยหรือเปล่า ถ้าสื่อไม่มีความมั่นใจว่าตัวเองอยู่ในระบอบประชาธิปไตย บางส่วนเป็นสื่อภาครัฐก็จะหันไปทางภาครัฐ ก็จะกลายเป็นอำนาจรัฐไป เรื่องนี้ทำให้กลายเป็นการสื่อสารข้อมูลที่ไม่เป็นธรรม เพราะสื่อใดก็ตามที่เอียงข้างก็คงต้องมีการประเมินใหม่ ไม่ว่าจะเป็นฟากที่เชียร์รัฐบาล หรือไม่รัฐบาล เพราะไม่ได้อยู่ที่ว่าเสรีภาพ แต่อยู่ที่ว่าใครเป็นกลางและสมดุลในข้อมูลข่าวสาร” นายจักรภพ กล่าว

นายจักรภพ กล่าวถึงปฏิทินการทำงานของตัวเองด้วยว่า จากนี้ไปอีก 1 เดือนก็จะมีการกำหนดทิศทางที่ชัดเจนของหน่วยงานในความรับผิดชอบโดยนโยบาย ว่า ควรมีการวางตัวอย่างไร โดยเฉพาะกรมประชาสัมพันธ์และอสมท. ที่เป็นบริษัทมหาชน หรือกระทั่งแนวนโยบายทีพีบีเอส ซึ่งตนอยากจะเรียกว่าไอทีวีภาครัฐ ซึ่งเราคงจะได้ดูข้อมูลก่อนว่าจะเดินต่อไปอย่างไร

เมื่อถามว่า รวมถึงโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมด้วยหรือไม่ นายจักรภพ กล่าวว่า รวมด้วย จะมีการจัดระบบโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม โดยที่จะเป็นวงสัมมนาให้กว้างขวาง โดยนำเอาคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียมามีส่วนในการคิดอย่างรอบด้าน ว่า ทีวีผ่านดาวเทียมมีข้อดีข้อเสียอย่างไร เพราะเป็นดาบสองคมเหมือนกับสื่อทั่วไป เราจะจัดระเบียบอย่างไร รวมทั้งวิทยุชุมชนด้วย ซึ่งมีบทบาทสำคัญ

“รวมทั้งข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือด้วย ผมจะคุยกับ นายมั่น พัธโนทัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ว่าเราจะดูแลกันอย่างไร เพราะฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของสื่อมันทับซ้อนกันมาก อย่างในโทรศัพท์มือถือมันยากที่จะบอกได้ว่าเป็นงานของสื่อหรือไม่ เพราะว่าเนื้อในโทรศัพท์มันคือเนื้อข่าว แต่ว่าการให้สัมปทานโทรศัพท์เป็นของไอซีที เพราะฉะนั้นเราคงต้องทำงานร่วมกัน” นายจักรภพ กล่าวและว่า ต่อจากนี้สื่อภาครัฐต้องร่วมมือกับกระทรวงไอซีที กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อย่างมาก

เมื่อถามว่า ไม่กลัวหรือว่าการจัดระเบียบสื่อเยอะๆ จะถูกมองว่าเป็นการแก้แค้นเอาคืน รัฐมนตรีสำนักนายกฯ กล่าวว่า ไม่กลัวจะถูกมองอย่างนั้นเลย ตนพร้อมที่จะถูกประเมินด้วยคนอื่น เพราะเราก็ประเมินคนอื่นด้วย

“อย่าลืมนะว่าบ้านเมืองกลียุคที่ผ่านมา ก็เพราะว่าสื่อบางส่วนวางตัวไม่เป็นกลาง ผมไม่บอกว่าสื่อไหน เพราะพวกเราที่อยู่ที่ทำเนียบเราก็พยายามที่จะช่วยเหลือให้ข้อมูลจากภาครัฐ อันนี้ผมทราบดี เอาเป็นว่าสื่อบางส่วนที่ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียง เป็นแค่กิจกรรมประชาสัมพันธ์ของคนบางส่วนบางที่ ผมจะไม่รีรอเลยที่จะเข้าไปดำเนินการทั้งหมด” นายจักรภพ กล่าว

นายจักรภพ กล่าวว่า ทุกอย่างเราต้องเข้าใจว่ามันเกิดจากบทของการเผชิญหน้าทางการเมือง ตอนนี้มันเป็นบทของการเริ่มต้นใหม่ ตนยังไม่จะก้าวไกลไปถึงคำว่าสมานฉันท์ เพราะคำนี้ก็ถูกใช้จนเสียหายไปหมดแล้ว เอาเป็นว่าเป็นการเริ่มต้นใหม่ เพราะที่ผ่านมาเป็นความเสียหายของประเทศ ที่ประชาชนอยู่บ้านไม่ไต้ต้องมาประท้วงกลางถนน ดูทีวี ฟังวิทยุ อ่านหนังสือพิมพ์แล้วไม่รู้เกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมือง ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องที่เป็นผลดีกับบ้านเมืองจึงต้องแก้ไข

ถามว่า กลัวสงครามระหว่างสื่อหรือไม่ นายจักรภพ กล่าวว่า ไม่มองว่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะการแข่งขันระหว่างสื่อเป็นของจำเป็น เพียงแต่ต้องระวังไม่ให้เกิดการใช้วิชามารในการแข่งขัน ยกตัวอย่างตนเองมาดูแลด้านสื่อ ก็จะต้องวางมือด้านสื่อ งานออกสื่อทั้งหลายที่ทำอยู่ไม่มากนัก เช่น การออกวิทยุ โทรทัศน์ ยกเว้นแต่ได้รับเชิญ หรือเขียนหนังสือ รายการที่มีส่วนได้เสียในการบริหารการผลิตตนยกเลิกหมด

“เพราะฉะนั้นผมเองก็จะต้องทำตัวเองให้บริสุทธิ์ผุดผ่องว่าสามารถจะมาวางนโยบายเรื่องนี้ได้ จึงต้องเลิกบทบาทของการเป็นผู้ดูแลการผลิต เพราะฉะนั้นใครหลายคนที่ยังมีบทบาททับซ้อนอยู่ เป็นทั้งคนออกสื่อเป็นทั้งคนมาจัดระเบียบสื่อ วันหนึ่งเป็นสื่อ อีกวันหนึ่งมานั่งคัดเลือกคน คนนี้ใช้ได้คนนี้ใช้ไม่ได้ อันนี้ก็ต้องมานั่งดูกัน” นายจักรภพ กล่าวและย้ำว่า ตนไม่ได้คิดเข้ามาจัดระเบียบสื่อ เพราะเป็นคำที่ฟังดูน่ากลัวเกินไป แต่เอาเป็นว่าตนมีนโยบายที่จะมาช่วยประเมินผลและจัดระบบ ส่วนหนึ่งที่มีอยู่แล้วจะเป็นการประเมินเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดจึงไม่คิดเร่งผลักดันคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) เพื่อมาทำหน้าที่โดยตรง แทนการให้สื่อถูกควบคุมโดยรัฐบาล นายจักรภพ กล่าวว่า ถูกต้อง แต่ กสช.ก็กลายเป็นเหยื่อของความขัดแย้งในวงการสื่อเอง ไม่ใช่เพราะรัฐบาลไม่ผลักดัน ทุกรัฐบาลแม้กระทั่งรัฐบาลที่ผ่านมาก็พยายามผลักดัน เพียงแต่ว่ามันหักกันไม่หมด เพราะสื่อแต่ละค่ายก็มีผลประโยชน์ของตัวเอง

“การผลักดันจะเริ่มต้นทันทีเป็นนโยบายเร่งด่วน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมจะทำต่อไป ก็คือ อาจจะต้องขอร้องกันว่าเราผลักดันให้เกิด กสช.จากนั้นค่อยทำกันไปประเมินกันไป พูดง่ายๆ ก็คือถ้าเรารอกสช.ที่สมบูรณ์แบบที่สุดเราอาจไม่ได้กสช.เลยก็ได้” นายจักรภพ กล่าว

เมื่อถามว่า ท่าทีที่แข็งกร้าวจะตรงข้ามกับท่าทีนายกฯ ที่บอกว่าจะสุภาพกับสื่อหรือไม่ นายจักรภพ กล่าวว่า ไม่ได้มีท่าทีแข็งกร้าว การประเมินผลไม่ใช่การเข้าไปบอกว่าเขาผิด แต่เข้าไปดูความจริงว่ามันเกิดอะไรขึ้นที่ทำให้ทุกอย่างมันมีความเบี่ยงเบนไปในทิศทางหนึ่ง และก็ขอให้เข้าใจว่าตนเองเป็นสื่อมาก่อน เพราะฉะนั้นจึงเคารพในจิตสำนึกของความเป็นสื่อ ที่มักสนิทแต่ไม่ได้แนบแน่น รู้จักแต่ก็ต้องวิจารณ์ได้ ซึ่งตนเข้าใจรูปแบบ จะดูว่าใครประกอบการด้านใดบ้าง สื่อมีหลายประเภท สื่อที่ทำเรื่องโครงสร้างส่งผ่านดาวเทียมได้เอง มีการกระจายเสียงกระจายภาพได้เอง สื่อที่ผลิตเนื้อหาอย่างเดียว และสื่อที่เป็นผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ หรือนักข่าว จะแบ่งออกเป็นประเภทและเข้าไปดูแลต่างกัน โดยจะต้องมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา และตนเป็นประธาน เพื่อจะดูว่าอะไรเป็นงานที่สามารถทำเพื่อรอกสช.

ถามว่าจะถูกมองว่าเป็นการแก้แค้นหรือไม่ เพราะพีทีวีก็ยังอยู่ นายจักรภพ กล่าวว่า ต้องมาถามตนว่าจะแก้แค้นหรือไม่ ซึ่งขอบอกว่าถ้าจะมีอะไรที่จะต้องแก้เผ็ดกัน ไม่ใช่เรื่องสื่อ ซึ่งเป็นเพียงเครือข่ายของเผด็จการในตอนนั้นเท่านั้น แต่ว่าเป็นเรื่องของการทำให้เกิดประชาธิปไตยขึ้นในสื่อบางส่วน

“มันไม่ใช่เรื่องที่จะไปหยุดสื่อไหน หรือส่งเสริมสื่อไหน จนกระทั่งมันผ่านระยะหนึ่งที่ประชาชนอาจจะหัวหมุน เพราะสื่อเยอะไปหมด จนไม่รู้จะฟังใคร สังคมก็เริ่มลุกขึ้นมาเลือกสื่อ และจัดเรตติ้งอีกทีหนึ่งว่าจะเชื่อสื่อไหนมากน้อย ผมไม่เชื่อในแง่ว่ารัฐบาลจะเข้าไปจัดระเบียบสื่อในแง่การคัดเลือกคน แต่เชื่อในแง่ที่รัฐบาลไปจัดโครงสร้างให้เกิดตัวเลือกมากขึ้น แล้วให้ประชาชนเป็นคนจัดระเบียบในท้ายที่สุด ดังนั้น ตนจึงไม่ใช่ผู้จัดระเบียบแต่เป็นการจัดระบบ” นายจักรภพ กล่าว

ทั้งนี้ นายจักรภพ กล่าวว่า ตนยอมรับสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนี้ไม่ได้ บอกตรงๆ ไม่ได้ส่งสัญญาณอะไร เพราะยังไงก็ต้องมีการจัดระบบ ในทรรศนะของตนรัฐบาลมีหน้าที่ที่จะเติมช่องว่างในส่วนที่ยังไม่มี กสช.และตนจะไม่ยอมให้ราชการคุมสื่อ เพราะฉะนั้นตนเห็นว่าสมดุลระหว่างสื่อเสรีมันเกิดขึ้นได้อยู่ที่ว่าสื่อต้องไม่ยอมระบบราชการ

ผู้สื่อข่าวถามถึงการดำเนินการกับสถานีทีพีบีเอส นายจักรภพ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลเชิงลึก แต่หลักคือต้องให้เกิดสมดุล อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยกับการมีทีวีสาธารณะ ไม่มีอะไรคัดค้าน เพียงแต่วิธีการที่นำไปสู่ตรงนั้น คิดไม่เหมือนกัน ซึ่งในเรื่องงบประมาณหรือคณะกรรมการดูแล จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรจนกว่าตนจะได้คุยกัน

เมื่อถามว่าเหตุใดจึงย้ำว่า ทีพีบีเอส ยังเป็นไอทีวี นายจักรภพ กล่าวว่า เพราะคิดว่าไม่มีเหตุผลที่จะเปลี่ยนแปลงจากไอทีวีมาสู่รูปแบบปัจจุบันภายใต้ครรลองที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยว่า สถานีพีบีเอส ควรจะมีเพราะเป็นรายการที่ดีและลงทุนสูง

“ผมเป็นแฟนพีบีเอสฉบับดั้งเดิมของอเมริกา เพราะมันมีรายการที่ดีและเป็นรายการประเภททำด้วยใจ คือ จ้างเท่าไหร่ก็ไม่คุ้ม เช่น การไปทำสารคดีหลังขดหลังแข็งนาน 6 เดือน เพื่อจะมาออกรายการชั่วโมงเดียว พวกนี้ไม่อยากออกช่องพาณิชย์ ซึ่งบ้านเราก็มีแบบนี้เพียงแต่ไม่เคยมีเวที เพราะคนจะทำทีวีได้ต้องมีเส้นสาย” นายจักรภพ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงการจัดระบบทีวีดาวเทียม นายจักรภพ กล่าวว่า ตนจะยังไม่กระโดดไปสู่การนำกฎหมายมาใช้ควบคุมสื่อ เพราะกฎหมายไม่ใช่เครื่องมือที่ดีที่สุดในการจัดระเบียบสื่อ มีกฎหมายแล้วจะยุ่ง ดังนั้น ตนคาดว่า จะเข้าไปดูทางเลือกในการดำเนินการ ระหว่างใช้กฎหมายในการจัดระบบ ใช้เครือข่ายประชาสังคม หรือให้สื่อรับผิดชอบการดำเนินการกันเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น