xs
xsm
sm
md
lg

"จักรภพ"ลุยจัดระเบียบสื่อนพดลคืนพาสปอร์ทูตแม้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"สมัคร"นำทีมรองนายกฯ ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำทำเนียบฯ ก่อนเริ่มงาน นัดประชุม ครม.นัดแรกวันนี้ "จักรภพ" เปิดตัวทีมงานโฆษกฯ "ณัฐวุฒิ-ศุภรัตน์" ประกาศจัดระเบียบสื่อทุกแขนง ระบุ บ้านเมืองกลียุคที่ผ่านมา เพราะสื่อวางตัวไม่เป็นกลาง ลั่นยกเครื่องทั้งสื่อรัฐ-ทีพีบีเอส รวมทั้ง ทีวีดาวเทียม วิทยุชุมชน และข่าวผ่านมือถือ ด้าน "นพดล" ยุติบทบาททนายชินวัตร แบะท่าคืนพาสปอร์ตทูตให้"แม้ว"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.09 น. วานนี้ (7 ก.พ.) นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยทีมรองนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วยนายสุวิทย์ คุณกิตติ นายสหัส บัณฑิตกุล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ และ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 คน คือ นายจักรภพ เพ็ญแข และนายชูศักดิ์ ศิรินิล นำ ส.ส.พรรคพลังประชาชนจำนวนหนึ่ง ทำพิธีการสักการะศาลพระพรหม บนตึกไทยคู่ฟ้า และไหว้ศาลพระภูมิ ประจำทำเนียบรัฐบาล ทั้งนี้ พล.ต.สนั่น ขจร ประศาสน์ ได้ไหว้ไปก่อนหน้าแล้ว ขณะที่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ยังไม่ได้เดินทางเข้ามาในทำเนียบรัฐบาล และไม่ได้ร่วมสักการะ

ภายหลังการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้สื่อข่าวพยายามสัมภาษณ์ นายสมัคร แต่นายสมัครปฏิเสธ โดยกล่าวว่า ตามสัญญาจะให้สัมภาษณ์เฉพาะวันอังคาร และวันศุกร์ โดยในวันนี้ (8 ก.พ.) หลังการประชุม ครม. ตนจะคุยด้วย เป็นการคุยยาว ถามได้ตลอด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วาระงานแรกอย่างเป็นทางการของทำเนียบรัฐบาล ประจำวันนี้ (8 ก.พ.) เริ่มต้นในเวลา 09.00 น. นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมครม. ณ ห้องประชุมครม. ชั้น 2 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ต่อด้วยในเวลา 13.00 น. นายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพถวายพระกระยาหารกลางวัน แด่ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรบาห์เรน ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า

"สมชาย"รั้งรองนายกฯเบอร์ 1

สำหรับการจัดลำดับความสำคัญของรองนายกรัฐมนตรีนั้น คาดว่า นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จะเป็นรองนายกฯ อันดับ 1 นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ จะเป็นรองนายกฯ อันดับ 2 ดูแลกระทรวงพาณิชย์ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี จะเป็นรองนายกฯ อันดับ 3 ส่วนนายสหัส บัณฑิตกุล จะเป็นรองนายกฯ อันดับ 4 ดูแลงาน กระทรวงคมนาคม

สำหรับการแบ่งงานให้รองนายกฯ และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ นั้น มีรายงานว่า นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ศึกษาธิการ ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลงานในส่วนของ กระทรวงศึกษาธิการ ยุติธรรม และมหาดไทย ส่วนนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กำกับดูแลงานใน กระทรวงพาณิชย์ การต่างประเทศ และ แรงงาน

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กำกับดูแลงานใน กระทรวงการคลัง พลังงาน เทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) และสำนักงบประมาณ สำหรับนายสหัส บัณฑิตกุล รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล กระทรวงคมนาคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สาธารณสุข การท่องเที่ยวและกีฬา สำหรับนายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.อุตสาหกรรม กำกับดูแล กระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วัฒนธรรม ส่วนกระทรวงกลาโหมนั้น คาดว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้กำกับดูแลเอง

"ชูศักดิ์"ดู กม.-"จักรภพ"คุมสื่อ

นอกจากนี้ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลงานใน สำนักปลัดนายกฯ สนง.คณะกรรมการกฤษฎีกา สนง.ข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักข่าวกรองฯ สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล กรมประชาสัมพันธ์บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของทางราชการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้

"ณัฐวุฒิ-ศุภรัตน์-แบม"ทีมโฆษก

นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การจัดทีมงานโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ประกอบด้วย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ น.ส. ศุภรัตน์ นาคบุญนำ จากพรรคพลังประชาชน และน.ส.จณิสตา ลิ่วเฉลิมวงศ์ จากพรรคชาติไทย นอกจากนี้ จะมีทีมงานที่คอยประสานงานข้อมูลเรื่องการเข้าถึงข่าวสารต่างๆ เพื่อช่วยพวกเราทำงาน

"เราอยากจะเริ่มต้นด้วยความเป็นกลางโดยไม่คิดเรื่องการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างที่แล้วมา เราเป็นเหยื่อของการแบ่งข้างมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แต่ถ้าหากเราเข้ามาแล้ว บอกว่าจะต้องเอาคืน บ้านเมืองก็จะไม่สงบสุข เพราะฉะนั้น ถามว่าจะเอาอย่างไรต่อไป ขอให้สังเกตกันต่อไปแล้วกัน"

“แบม” ไม่สังฆกรรมหมัก 1

น.ส.จณิสตา ลิ่วเฉลิมวงศ์ โฆษกพรรคชาติไทย กล่าวว่า ตนได้ยินข่าวออกมาเรื่อยๆ และทุกครั้งที่มีข่าวก็จะมีชื่อตนด้วยทุกครั้ง ในเบื้องต้นยังไม่มีการพูดคุยเรื่องนี้กับหัวหน้าพรรค เพราะเห็นหัวหน้ายังยุ่งๆ กับเรื่องโผ ครม.แต่เมื่อมีข่าวก็ได้คุยกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่งในพรรค ซึ่งอยากให้ตนได้ทำงานในหน้าที่รองโฆษกรัฐบาล ซึ่งจะเป็นประโยชน์

อย่างไรก็ตาม ตนได้ขอบคุณทางพรรคที่ให้โอกาส แต่แนวคิดเบื้องต้นของตนตั้งแต่ที่สอบตกส.ส.ดอนเมือง คิดว่า สมัยนี้จะเว้นวรรคในทุกตำแหน่ง อยากเปิดโอกาสให้คนอื่นได้ทำหน้าที่จะดีกว่า เพราะ 7-8 ปีที่ผ่านมา ตนทำงานการเมืองมาตลอด ดังนั้น จึงถือโอกาสนี้ทำเรื่องส่วนตัวทั้งเรื่องธุรกิจและอีกหลายๆ อย่าง แต่งานของพรรคก็ไม่ได้ทิ้ง จะช่วยงานพรรคอยู่ตลอด

"จักรภพ"ลั่นจัดระเบียบสื่อรัฐ

นายจักรภพ ยังกล่าวถึงการดูแลสื่อของรัฐว่า การให้ข้อมูลข่าวสารด้านเดียวยังคงดำเนินต่อไป แม้ในส่วนของภาครัฐ เราไม่เกี่ยงที่สื่อภาครัฐจะวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เพราะสื่อก็คือสื่อ ที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ที่วิพากษณ์วิจารณ์ตามเห็นสมควร แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า วิจารณ์โดยมีข้อมูลหรือไม่ เพราะถือว่าเป็นผลร้ายต่อการให้ข้อมูลข่าวสาร

นายจักรภพ ยืนยันว่า จะไม่มีการนำสื่อของรัฐมาเป็นเครื่องมือในการตอบโต้ทางการเมือง แต่ที่มีแน่ๆ คือ จะต้องมีการประเมินว่า สื่อรัฐได้ให้ข้อมูลที่สมดุล เป็นกลางกับสังคมหรือไม่ เพราะถือเป็นสื่อที่ส่งผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคล และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาครัฐ ซึ่งเรื่องนี้ เมื่อถึงเวลาก็จะเรียนให้ทราบ

"ประเด็นอยู่ที่ว่า สื่อภาครัฐยังยึดติดอยู่กับเกมการเมืองอีกนิดหน่อย ว่าตกลงเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยหรือเปล่า ถ้าสื่อไม่มีความมั่นใจว่า ตัวเองอยู่ในระบอบประชาธิปไตย บางส่วนเป็นสื่อภาครัฐ ก็จะหันไปทางภาครัฐ ก็จะกลายเป็นอำนาจรัฐไป เรื่องนี้ทำให้กลายเป็นการสื่อสารข้อมูลที่ไม่เป็นธรรม เพราะสื่อใดก็ตามที่เอียงข้าง ก็คงต้องมีการประเมินใหม่ ไม่ว่าจะเป็นฟากที่เชียร์รัฐบาล หรือไม่รัฐบาล เพราะไม่ได้อยู่ที่ว่า เสรีภาพ แต่อยู่ที่ว่า ใครเป็นกลางและสมดุลในข้อมูลข่าวสาร"

นายจักรภพ กล่าวถึงปฏิทินการทำงานของตัวเองว่า จากนี้ไปอีก 1 เดือน ก็จะมีการกำหนดทิศทางที่ชัดเจนของหน่วยงานในความรับผิดชอบ โดยนโยบายว่าควรมีการวางตัวอย่างไร โดยเฉพาะกรมประชาสัมพันธ์ และ อสมท. ที่เป็นบริษัทมหาชน หรือกระทั่งแนวนโยบาย ทีพีบีเอส ซึ่งตนอยากจะเรียกว่าไอทีวี ภาครัฐ ซึ่งเราคงจะได้ดูข้อมูลก่อนว่าจะเดินต่อไปอย่างไร

ขู่ทีวีดาวเทียม-วิทยุชุมชน-โทรมือถือ

นอกจากนี้ จะมีการจัดระบบโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม โดยที่จะเป็นวงสัมมนา นำเอาคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียมามีส่วนในการคิดอย่างรอบด้าน ว่า ทีวีผ่านดาวเทียม มีข้อดีข้อเสียอย่างไร เพราะเป็นดาบสองคม เหมือนกับสื่อทั่วไป เราจะจัดระเบียบอย่างไร รวมทั้งวิทยุชุมชน และข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือด้วย

"ผมจะคุยกับ นายมั่น พัธโนทัย รมว.ไอซีที ว่าเราจะดูแลกันอย่างไร เพราะฮาร์ดแวร์ และซอฟแวร์ ของสื่อมันทับซ้อนกัน อย่างในโทรศัพท์มือถือ มันยากที่จะบอกได้ว่าเป็นงานของสื่อหรือไม่ เพราะว่าเนื้อในโทรศัพท์มันคือเนื้อข่าว แต่ว่าการให้สัมปทานโทรศัพท์ เป็นของไอซีที เพราะฉะนั้นเราคงต้องทำงานร่วมกัน" นายจักรภพ กล่าว

เมื่อถามว่า ไม่กลัวหรือว่าการลงมาจัดระเบียบสื่อ จะถูกมองว่าเป็นการแก้แค้นเอาคืน นายจักรภพ กล่าวว่า ไม่กลัวจะถูกมองอย่างนั้น ตนพร้อมที่จะถูกประเมินด้วยคนอื่น เพราะเราก็ประเมินคนอื่นด้วย

"บ้านเมืองกลียุคที่ผ่านมา ก็เพราะว่าสื่อบางส่วนวางตัวไม่เป็นกลาง ผมไม่บอกว่าสื่อไหน เพราะพวกเราที่อยู่ที่ทำเนียบฯ เราก็พยายามที่จะช่วยเหลือให้ข้อมูลจากภาครัฐ อันนี้ผมทราบดี เอาเป็นว่าสื่อบางส่วนที่ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียง เป็นแค่กิจกรรมประชาสัมพันธ์ของคนบางส่วน บางที่ผมจะไม่รีรอเลยที่จะเข้าไปดำเนินการทั้งหมด" นายจักรภพ กล่าว

ลั่นล้างไพ่ใหม่-ไม่มีสมานฉันท์

นายจักรภพ กล่าวว่า ทุกอย่างเราต้องเข้าใจว่า มันเกิดจากบทของการเผชิญหน้าทางการเมือง ตอนนี้มันเป็นบทของการเริ่มต้นใหม่ ตนไม่อยากใช้คำว่าสมานฉันท์ เพราะคำนี้ก็ถูกใช้จนเสียหายไปหมดแล้ว เอาเป็นว่า เป็นการเริ่มต้นใหม่ เพราะที่ผ่านมาเป็นความเสียหายของประเทศ ที่ประชาชนอยู่บ้านไม่ไต้ต้องมาประท้วงกลางถนน ดูทีวี ฟังวิทยุ อ่านหนังสือพิมพ์ แล้วไม่รู้เกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมือง ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องที่เป็นผลดีกับบ้านเมือง จึงต้องแก้ไข

ถามว่ากลัวสงครามระหว่างสื่อหรือไม่ นายจักรภพ กล่าวว่า ไม่มองว่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะการแข่งขันระหว่างสื่อ เป็นของจำเป็น เพียงแต่ต้องระวังไม่ให้เกิดการใช้วิชามารในการแข่งขัน ยกตัวอย่าง ตนมาดูแลด้านสื่อ ก็จะต้องวางมือด้านสื่อ งานออกสื่อทั้งหลายที่ทำอยู่ เช่น การออกวิทยุ โทรทัศน์ ยกเว้นแต่ได้รับเชิญ หรือเขียนหนังสือ รายการที่มีส่วนได้เสียในการบริหารการผลิต ตนยกเลิกหมด

"เพราะฉะนั้นผมเองก็จะต้องทำตัวเองให้บริสุทธ์ผุดผ่อง ว่าสามารถจะมาวางนโยบายเรื่องนี้ได้ จึงต้องเลิกบทบาทของการเป็นผู้ดูแลการผลิต เพราะฉะนั้นใครหลายคนที่ยังมีบทบาททับซ้อนอยู่ เป็นทั้งคนออกสื่อ เป็นทั้งคนมาจัดระเบียบสื่อ วันหนึ่งเป็นสื่อ อีกวันหนึ่งมานั่งคัดเลือกคน คนนี้ใช้ได้ คนนี้ใช้ไม่ได้ อันนี้ก็ต้องมานั่งดูกัน" นายจักรภพ กล่าว และย้ำว่า ตนไม่ได้คิดเข้ามาจัดระเบียบสื่อ เพราะเป็นคำที่ฟังดูน่ากลัวเกินไป แต่เอาเป็นว่าตนมีนโยบายที่จะมาช่วยประเมินผล และจัดระบบ ส่วนหนึ่งที่มีอยู่แล้วจะเป็นการประเมินเท่านั้น

อ้าง กสช.เกิดไม่ได้เพราะสื่อ

ผู้สื่อข่าวถามว่าเหตุใดจึงไม่คิดเร่งผลักดันคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) เพื่อมาทำหน้าที่โดยตรง แทนการให้สื่อถูกควบคุมโดยรัฐบาล นายจักรภพ กล่าวว่า ถูกต้อง แต่ กสช.ก็กลายเป็นเหยื่อของความขัดแย้งในวงการสื่อเอง ไม่ใช่เพราะรัฐบาลไม่ผลักดัน ทุกรัฐบาล แม้กระทั่งรัฐบาลที่ผ่านมาก็พยายามผลักดัน เพียงแต่ว่ามันหักกันไม่หมด เพราะสื่อแต่ละค่าย ก็มีผลประโยชน์ของตัวเอง

"การผลักดันจะเริ่มต้นทันทีเป็นนโยบายเร่งด่วน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมจะทำต่อไปก็คืออาจจะต้องขอร้องกันว่า เราผลักดันให้เกิด กสช. จากนั้นค่อยทำกันไป ประเมินกันไป พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าเรารอ กสช. ที่สมบูรณ์แบบที่สุดเราอาจไม่ได้กสช.เลยก็ได้"

ไม่คิดแก้แค้น แค่จัดระบบ

เมื่อถามว่าจะถูกมองว่าเป็นการแก้แค้นหรือไม่ เพราะพีทีวี ก็ยังอยู่ นายจักรภพ กล่าวว่า ต้องมาถามตนว่า จะแก้แค้นหรือไม่ ซึ่งขอบอกว่า ถ้าจะมีอะไรที่จะต้องแก้เผ็ดกัน ไม่ใช่เรื่องสื่อ ซึ่งเป็นเพียงเครือข่ายของเผด็จการในตอนนั้นเท่านั้น แต่ว่า เป็นเรื่องของการทำให้เกิดประชาธิปไตยขึ้นในสื่อบางส่วน

"มันไม่ใช่เรื่องที่จะไปหยุดสื่อไหน หรือส่งเสริมสื่อไหน จนกระทั่งมันผ่านระยะหนึ่งที่ประชาชนอาจจะหัวหมุนเพราะสื่อเยอะไปหมด จนไม่รู้จะฟังใคร สังคมก็เริ่มลุกขึ้นมาเลือกสื่อ และจัดเรตติ้งอีกทีหนึ่งว่าจะเชื่อสื่อไหนมากน้อย ผมไม่เชื่อในแง่ว่า รัฐบาลจะเข้าไปจัดระเบียบสื่อในแง่การคัดเลือกคน แต่เชื่อในแง่ที่รัฐบาลไปจัดโครงสร้างให้เกิดตัวเลือกมากขึ้น แล้วให้ประชาชนเป็นคนจัดระเบียบในท้ายที่สุด ดังนั้นตนจึงไม่ใช่ผู้จัดระเบียบแต่เป็นการจัดระบบ"

ทั้งนี้ นายจักรภพ กล่าวว่า ตนยอมรับสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนี้ไม่ได้ บอกตรงๆ ไม่ได้ส่งสัญญาณอะไร เพราะยังไง ก็ต้องมีการจัดระบบ ในทรรศนะของตนรัฐบาลมีหน้าที่ที่จะเติมช่องว่างในส่วนที่ยังไม่มี กสช. และตนจะไม่ยอมให้ราชการคุมสื่อ เพราะฉะนั้นตนเห็นว่า สมดุลระหว่างสื่อเสรีมันเกิดขึ้นได้ อยู่ที่ว่าสื่อต้องไม่ยอมระบบราชการ

ซัดเปลี่ยนไอทีวีเป็นทีพีบีเอสไม่แฟร์

ผู้สื่อข่าวถามถึงการดำเนินการกับสถานี ทีพีบีเอส นายจักรภพ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลเชิงลึก แต่หลักคือ ต้องให้เกิดสมดุล อย่างไรก็ตามเห็นด้วยกับการมีทีวีสาธารณะ ไม่มีอะไรคัดค้าน เพียงแต่วิธีการที่นำไปสู่ตรงนั้น คิดไม่เหมือนกัน ซึ่งในเรื่องงบประมาณ หรือคณะกรรมการดูแล จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร จนกว่าตนจะได้คุยกัน

เมื่อถามว่าเหตุใดจึงย้ำว่า ทีพีบีเอส ยังเป็นไอทีวี นายจักรภพ กล่าวว่า เพราะคิดว่าไม่มีเหตุผลที่จะเปลี่ยนแปลงจากไอทีวี มาสู่รูปแบบปัจจุบันภายใต้ครรลองที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยว่า สถานีพีบีเอส ควรจะมี เพราะเป็นรายการที่ดีและลงทุนสูง

"ผมเป็นแฟนพีบีเอสฉบับดั้งเดิมของอเมริกา เพราะมันมีรายการที่ดี และเป็นรายการประเภททำด้วยใจ คือจ้างเท่าไร ก็ไม่คุ้ม เช่น การไปทำสารคดีหลังขดหลังแข็งนาน 6 เดือน เพื่อจะมาออกรายการชั่วโมงเดียว พวกนี้ไม่อยากออกช่องพาณิชย์ ซึ่งบ้านเราก็มีแบบนี้ เพียงแต่ไม่เคยมีเวที เพราะคนจะทำทีวีได้ต้องมีเส้นสาย" นายจักรภพกล่าว

"ชูศักดิ์" ดูแลกฎหมาย สคบ.

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงงานที่รับผิดชอบว่า คงดูในเรื่องของกฎหมายทั้งหมด รวมถึงกฤษฎีกา และ ก.พ. แต่งานที่คิดว่า น่าสนใจก็คือในส่วนของสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โดยเฉพาะเรื่องดอกเบี้ยโหด หรือเรื่องที่ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบ การติดตามทวงหนี้แบบโหดๆ นอกจากนี้ก็คงจะมีการประสานกับทางสภา เกี่ยวกับกฎหมายที่จะเข้าสู่สภา

ส่วนกฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยนั้น คงเป็นเรื่องของอนาคต แต่สิ่งที่จะต้องดูตอนนี้คือ กฎหมายของรัฐบาล และกฎหมายใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย

ทั้งนี้ งานเร่งด่วนที่จะต้องดูในขณะนี้ คืองานกฎหมายที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา คราวที่แล้ว มีกฎหมายค้างอยู่มาก ซึ่งกฎหมายเหล่านี้หากรัฐบาลต้องการใข้ ก็สามารถยืนยันไปได้ภายใน 60 วัน สภาจึงพิจารณาต่อได้ แต่หากรัฐบาลไม่ยืนยัน กฎหมายเหล่านี้ก็ตกไป จึงต้องนำมาทบทวนดูว่า มีกฎหมายที่สำคัญอะไรบ้าง จากนั้นตนจึงจะนำเสนอต่อ ครม.

เล็งแก้ รธน.เรื่องเลือกตั้ง

นายชูศักดิ์กล่าวว่า ในส่วนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ตนจะมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงดูว่า จะมีอะไรบ้าง แต่โดยหลักแล้วตนจะนำรัฐธรรมนูญปี 40 เป็นตัวตั้ง เอามาเป็นแม่บท และฉบับปี 50 นั้น หากตรงไหนดี ก็เอามาใส่ ซึ่งก็จะง่าย

"ที่สมควรแก้ไข มีหลายประเด็น แต่ที่บ่นกันมากก็คือ ในเรื่องของระบบเลือกตั้ง ที่ยังหาคำตอบไม่ได้ เขตเดียวเบอร์เดียว หรือเขตใหญ่หลายคน หรือการสรรหา ส.ว.ที่ต้องแก้ไข ขณะเดียวกันก็มีหลายมาตราที่ค่อนข้างจะมองนักการเมืองเลวทรามต่ำช้าไปหมด เช่น การที่ผมเป็นส.ส. ต่อไปนี้ประชาชนก็จะได้เห็นผมแสดงบัญชีทรัพย์สิน ซึ่ง ส.ส. 480 คนต้องแสดงหมด แต่ขณะนี้คนที่กุมอำนาจสำคัญอย่างประธานองค์กรอิสระ หรือผู้บัญชาการทหารบก ไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน หรือเปิดเผยต่อสาธารณะ ซึ่งผมว่าก็เป็นระบบที่ค่อนข้างมองนักการเมืองเลวไปหมด ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำกันหลายเรื่อง หรือแม้กระทั่งเรื่องที่ยังตีความกันอยู่ว่า ส.ส. เป็นเลขาฯ หรือที่ปรึกษารัฐมนตรีไม่ได้ คงต้องไปดูทั้งหมด" นายชูศักดิ์กล่าว

จับตานพดลคืนพาสปอร์แดงให้แม้ว

นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ ประกาศจุดยืนทำหน้าที่ในกระทรวงการต่างประเทศอย่างเต็มตัว เดินหน้าฟื้นฟูภาพลักษณ์และเสถียรภาพทางการเมืองเศรษฐกิจของประเทศ ยุติบทบาททนายของตระกูล"ชินวัตร" อ้างไม่แทรกแซงการคืนหนังสือเดินทางทูต หรือ"พาสปอร์ตแดง" ให้กับอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อ้างการออกพาสปอร์ตเป็นวิธีปฏิบัติภายในของราชการ ถ้ากระทรวงฯเห็นว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปตามระเบียบ ชี้ในอดีตมีการออกพาสปอร์ตทูตให้อดีตนายกรัฐมนตรีทุกคนแล้วไม่ได้เพิกถอน ดังนั้น อดีตนายกรัฐมนตรีทุกคนควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ลั่นไม่เช็คบิลข้าราชการกระทรวงฯและไม่แทรกแซงการเดินทางกลับของอดีตนายกรัฐมนตรี

นายนพดล กล่าวว่า ต่อไปนี้กระทรวงการต่างประเทศจะเป็นส่วนหนึ่งของ"ทีมไทยแลนด์" หรือส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของชาติ ภารกิจสำคัญของกระทรวงต่างประเทศก็คือ ฟื้นฟูภาพลักษณ์ของไทย ให้ความมั่นใจต่อนักลงทุนต่างชาติในแง่ของเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ อีกทั้งยังจะกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านและอาเซียน และเน้นการแสวงหาโอกาสทางการค้าและการลงทุน

อ้างยุติบทบาททนาย "ชินวัตร" แล้ว

หลังจากนั้น นายนพดลเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนซักถาม โดยนายนพดลกล่าวว่าตนเองจะยุติบทบาทที่ปรึกษากฎหมายของตระกูลชินวัตรแล้วหันมาทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศอย่างเต็มที่

สำหรับเรื่องการคืนหนังสือเดินทางทูต หรือพาสปอร์ตแดง ให้กับอดีตนายกรัฐมนตรีและครอบครัวนั้น กระทรวงต่างประเทศจะดำเนินการตามระเบียบที่มีอยู่ แต่ตอนนี้กระทรวงฯยังไม่ได้ออกพาสปอร์ตแดงให้พ.ต.ท.ทักษิณแต่อย่างใด ทั้งนี้ ในเรื่องดังกล่าวกระทรวงฯสามารถดำเนินการได้เอง ณ ตอนนี้กระทรวงยังไม่มีนโยบายในเรื่องดังกล่าว

"ผมไม่มีนโยบายครับ เพราะว่าการดำเนินการออกหนังสือเดินทางนั้นเป็นวิธีปฏิบัติภายในของราชการ ถ้าเพื่อนข้าราชการหรือทางกระทรวงฯเห็นว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปตามระเบียบ แล้วก็ในอดีตมีการเพิกถอน(หนังสือเดินทางทูต)โดยไม่ถูกต้อง เพราะอาจจะเป็นการถูกกดดันจากฝ่ายการเมืองในช่วงที่มีการยึดอำนาจ ผมคิดว่าถ้าเราออกหนังสือเดินทางให้อดีตนายกรัฐมนตรีในอดีตทุกคน ไม่ว่าจะมีการ...จากการยึดอำนาจ หรือไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์อย่างไรก็ตาม แล้วไม่มีการเพิกถอน อดีตนายกรัฐมนตรีทุกคนก็ควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายและระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศ" รัฐมนตรีต่างประเทศกล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงแนวโน้มที่กระทรวงต่างประเทศจะคืนหนังสือเดินทางทูตให้กับพ.ต.ท. ทักษิณ นายนพดลไม่ได้ตอบคำถามนี้ แล้วหันไปรับฟังคำถามอื่น

ต่อมา เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงประเด็นที่ว่าพ.ต.ท.ทักษิณถูกยึดหนังสือเดินทางทูต เนื่องจากติดคดีทุจริตนั้น นายนพดลตอบว่า "รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า บุคคลให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ว่าผิด ก่อนที่จะตัดสินว่าผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนว่าผิดไม่ได้"

นายนพดล กล่าวต่อว่า คงต้องไปดูระเบียบอีกที "แต่ผมอยากจะกราบเรียนว่า ฝ่ายการเมืองจะไม่เข้าไปแทรกแซงการดำเนินการใดๆของข้าราชการประจำที่เกี่ยวข้องกับการออกหนังสือเดินทาง ถ้าท่านคิดว่าทำได้ตามระเบียบ ก็จะทำ....หมายถึงว่าเป็นเรื่องของกระทรวงฯที่จะดำเนินการ เรามีระเบียบอยู่ครับ เราจะยกเว้น ไม่บังคับระเบียบอย่างเท่าเทียมกันไม่ได้"

รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ยังได้กล่าวถึงการเดินทางกลับของพ.ต.ท.ทักษิณว่า ยังเป็นไปตามกำหนดการเดิม นั่นคือไม่เกินเดือนพฤษภาคม กลับโดยสมัครใจ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ร้ายข้ามแดน กระทรวงต่างประเทศจะไม่เข้าไปแทรกแซงกางส่งผู้ร้ายข้ามแดนเพราะเป็นเรื่องของสำนักงานอัยการสูงสุดที่จะต้องส่งคำร้องไปยังศาลแขวง ซึ่งกระบวนการนี้อาจใช้เวลาเป็นปี

นอกจากนี้ นายนพดลยังให้คำมั่นว่าจะไม่เช็คบิลข้าราชการกระทรวงต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับคณะมนตรีความมั่นคง

"หมัก" หวั่นสื่อไทยหาว่าเห่อสื่อนอก

เวลา 15.00 น. นายสมัครได้เดินทางไปที่ พรรคพลังประชาชนและเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนไทย ซักถามอย่างเป็นทางการ ภายในห้องแถลงข่าว โดยนายสมัคร กล่าวก่อนจะมีการซักถาม ว่า "ผมจะลงมาต่อว่าพวกคุณหน่อย คือผู้สื่อข่าวต่างประเทศเขานัดสัมภาษณ์หลายสำนัก ก็บอกว่าจะให้สัมภาษณ์กับสื่อไทย เพราะเดี๋ยวจะเกิดเรื่อง ไปให้สัมภาษณ์สื่อฝรั่งไม่ให้สัมภาษณ์สื่อไทย ก็เลยย้ายสัมภาษณ์สื่อฝรั่งไปพรุ่งนี้ แล้วย้ายสื่อไทยมาวันนี้ แต่ปรากฎว่า มีแค่ 3 ฉบับ เนชั่น เดลินิวส์ ข่าวสด ผมก็บอกว่า อย่างนี้มีปัญหาแน่ เวลาที่ให้สัมภาษณ์ ทำไมไม่รับเชิญ เพราะอะไร ผมก็ทราบว่า 3 ฉบับ เขียนหนังสือมา ขอสัมภาษณ์ ก็โอเค แต่สื่ออื่นก็ไม่มา ผมก็เลยต้องลงมา เพราะสัญญาว่า วันอังคารกับวันศุกร์ที่ทำเนียบฯ จะพูด เพราะที่พรรคคงไม่มีอะไรมาก เรื่องในพรรคจะพูดต่างหาก วันนี้ต้องทำให้ถูก เพราะพรุ่งนี้สำนักข่าวถึง 6 สำนักจะมาสัมภาษณ์ ก็กลัวจะโดนว่าอีกว่า ไอ้สมัครพูดกับฝรั่ง ไม่พูดกับไทยอีกแล้ว แต่ อย่าถามให้มันรุนแรงให้มันเกิดเหตุอีกนะ ตามธรรมเนียมก่อน ถามให้แนะนำตัวก่อนมาจากไหน จะได้รู้จักกันด้วย"

แจง “จักรภพ” แค่รักษาการโฆษกฯ

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการวางทีมงานโฆษกรัฐบาลไว้บ้างหรือยัง นายสมัคร กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีปัญหา คือ เอาส.ส.มาเป็นไม่ได้ ก็บังเอิญมาสบช่องที่ นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่ได้เป็น ส.ส. ก็ช่วยฝากให้รักษาการโฆษกฯแล้วจะหาคนมาช่วยอีก 2- 3 คนแต่ยังไม่เสร็จ

สำหรับกรณีที่นายจักรภพ ซึ่งเคยเป็นผู้บริหาร พีทีวี มาดูแลด้านสื่อ จะมีปัญหาหรือไม่ นายสมัคร กล่าวว่า ต้องรู้เขารู้เรา เอาคนที่เชี่ยวชาญมาทำงาน นายจักรภพ คงไม่ทำงานสุ่มสี่สุ่มห้า แต่ขอย้อนถามว่า หากใช้คนไม่รู้อะไรเลย จะดีหรือ ตนคิดว่าเขาคงระมัดระวังตัว ซึ่งต้องเฝ้าดูกันไปก่อน ตนเห็นว่าต้องใช้คนที่มีความรู้ไปทำตรงนั้น จะดีกว่าไม่รู้อะไรเลย

ส่วนเกรงหรือไม่ว่าหลังจากเข้ามาบริหารประเทศแล้ว อาจจะถูกสื่อตั้งแง่อีก นายสมัคร กล่าวว่า เมื่ออยากตั้งก็ให้เขาตั้งไป สื่ออื่นก็ต้องดู ถ้ามีแง่ที่จะตั้งได้ ถ้าเราไม่เข้าท่า ก็ต้องเป็นแง่ที่มีความหมายพอสมควร แต่หากเราตั้งใจทำดีแล้วจะให้เขาตั้งแง่ไปทำไม หรือจะตั้งแง่ว่า ต่อไปนี้จะไม่เสนอข่าวนายกฯ เพราะนายกฯ พูดดีเกินไป เลยไม่เสนอข่าวนายกฯ นี่หรือคือการตั้งแง่

เผย ละลายพฤติกรรม ครม.แล้ว

สำหรับอำนาจในการตัดสินใจนั้นจะต้องฟังเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล และมุ้งต่างๆ ด้วยหรือไม่ นายสมัคร กล่าวว่า ต้องบอกคณะที่มาร่วมงานว่า ในหลวงทรงรับสั่งอะไร แต่ไม่สามารถเผยแพร่ได้ แต่ครม. ต้องทำงานร่วมกับตน เมื่อตนอาสากับเจ้านายไว้ก็ต้องทำให้เต็มที่ จึงต้องทำการละลายพฤติกรรม ไม่ว่าจะมาจากพรรคไหน เมื่อเป็นครม. แล้วก็เป็นพวกเดียวกัน คิดอย่างเดียวกัน คิดคนละอย่างก็มาช่วยกันคิด ซึ่งคนที่ไม่เคยเป็นพวกพ้องกันมา แต่เมื่อมีความพึงพอใจมาช่วยกันทำงานก็ต้องดูต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น