“เพ็ญ”ส่อปลุกผีไอทีวีเตรียมล้วงลูก“ทีพีบีเอส” ยอมรับข้องใจการคัดเลือกตัวบุคคลเข้าทำงาน อัดสื่อมีปัญหาสยบอำนาจนอกระบบ ปชช.ได้รับข้อมูลอย่างไม่สมดุล แย้มจะหาบุคคลที่น่าเชื่อถือมาปรับความสมดุลสื่อ ลั่นไม่กลัวใครว่าเข้ามาล้วงลูก
วันนี้(8 ก.พ.) นาย จักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวคิดในการจัดระเบียบสื่อว่า เนื่องจากสื่อมีปัญหาอย่างมาก ประชาชนได้รับข้อมูลอย่างไม่สมดุล ทั้งนี้ในช่วงเวลา 2 ปีที่เราไม่มีประชาธิปไตยเหตุผลหนึ่งที่เว็บไซต์เจริญงอกงามมากเพราะคนอ่านหนังสือพิมพ์น้อยลง คนดูทีวีน้อยลง คนฟังวิทยุน้อยลง ซึ่งไม่ใช่ความผิดของใครแต่เป็นเรื่องของสังคมที่เบี่ยงเบนไป เพราะคนที่มีอุดมการณ์สื่อยังทำหน้าที่เต็มที่ไม่ได้ เนื่องจากบรรยากาศยังบังอยู่ เพราะสื่อเป็นเหมือนโรงเรียนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ถ้าหากว่าครูเอนเอียงแล้วนักเรียนจะเป็นอย่างไร
“แต่ว่าจะพยายามให้มีองค์ประกอบ 1.คนที่มีความรู้ในเรื่องสื่อในเชิงปฏิบัติว่าสื่อทำงานอย่างไร 2. น่าจะไม่อยู่ในสมรภูมิความขัดแย้งที่ผ่านมาจนกระทั่งฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดรู้สึกว่าจะมาเช็คบิลคิดบัญชีกัน 3. ควรจะมีความรู้ทางวิชาการ และ 4. มีวิสัยทัศน์ คือการปรับปรุงสื่อวันนี้มันจะนำไปสู่อะไรบ้าง”นายจักรภพ กล่าว
รมต.สำนักนาย กล่าวอีกว่า ไม่เกิน 2 เดือนจะมีการศึกษา ตั้งคณะกรรมการหลายชุด และจะมีมาตรการออกมาในเวลารวดเร็ว แต่ยังไม่ได้คิดถึงขนาดว่าคณะกรรมการจะต้องมาจากส่วนไหนบ้าง เข้ามาดูทั้งปัญหาวิทยุชุมชน ทีวีดาวเทียม และสื่อของรัฐ เพื่อจัดระบบสื่อของรัฐที่ออกนอกระบบที่นำเสนอความคิดข้างใดข้างหนึ่ง โดยจะเอาผลที่นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตคณะกรรมาธิการกสทช.ทำไว้มาดู และไม่แน่อาจจะเชิญหมอนิรันดร์มาคุยกัน ว่าทำตรงไหนก็ทำต่อ ส่วนเรื่องทีวีดาวเทียมเป็นเรื่องที่จัดระเบียบให้ทุกคนอยู่ได้ และก็ไม่มีนโยบายที่จะมาล้างแค้น ทุกคนก็รู้อยู่ว่าตนทำทีวีดาวเทียมมา แต่รับรองว่าไม่เอาเรื่องส่วนตัวมาเกี่ยวข้อง
รมต.สำนักนายก กล่าวถึงสาเหตุที่บอกว่าสื่อมีปัญหาอย่างมากว่า สื่อสยบยอมต่ออำนาจนอกระบบมากเกินไป แต่ไม่ใช่ของสื่อมวลชนแต่เป็นของเจ้าของสื่อมวลชนเอง ทั้งนี้สื่อมวลชนก็มีอุดมการณ์ทำงานตามเนื้อผ้า แต่เจ้าของกิจการก็มีผลประโยชน์ที่เหมือนตัวของสื่อมวลชน ในสังกัดเดียวผลประโยชน์ไม่เหมือนกัน เมื่อถามว่าเอเอสทีวีใช่หรือไม่ นายจักรภพ กล่าวว่า “ไม่หรอก ทั้งหมดเลย”
เมื่อถามว่ามีเกณฑ์ที่เป็นรูปธรรมที่จะประเมินสื่อที่เสนอข่าวไม่สมดุลหรือไม่ นายจักรภพ กล่าวว่า มี แต่ว่าไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะไปสร้างสมดุลนั้นเอง เราจะต้องสร้างกลุ่มบุคคลที่บุคคลเชื่อถือได้มาปรับดุลนี้ให้ ซึ่งเขาจะย้อนกลับไปดูว่าที่เสียดุลนั้นเสียตรงไหน เสียด้วยวิธีไหน เมื่อถามว่าต้องมีกฎหมายรองรับเลยหรือไม่ รมต.สำนักนายก กล่าวว่า ไม่ถึงขนาดนั้น
“บางทีนักข่าวรายงานไปอย่าง รีไรต์ไปทาง บก. ไปอีกทางมันแปลว่าอะไร บางทีเรียงเรื่องแต่ต้นจนปลาย เรื่องสำคัญเอาไว้หลังสุด บก.เอาไปพาดหัวเลย อย่างนี้มันคิดคนละแบบ”นายจักรภพ กล่าว
นายจักรภพ กล่าวอีกว่า การที่เราทำอะไรทิ้งไว้ในระยะยาวคิดถึงตัวเองมากไม่ได้ ซึ่งตนรู้ดีว่าการที่เราเป็นสื่อมวลชนแล้วเข้ามาแตะต้องสื่อในระดับโครงสร้างจะเกิดผลอย่างมาก เพราะว่าในวงการสื่อก็เหมือนหลายวงการที่มีความรู้สึกว่าทำไมคนที่เคยเป็นพวกเดียวกันถึงมาทำแบบนี้
“แต่เจตนาของผมคิดว่าบางครั้งมันต้องอาศัยคนที่ไม่ได้คิดว่าจะเกิดผลอะไรกับตัวเองมาทำงานเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้าง หวังว่าพี่จะทำสิ่งนั้นส่วนจะทำได้ดีเลวแค่ไหนพวกเราจะเป็นประเมิน แล้วขอให้ดูระยะยาวหน่อยแล้วกัน”นายจักรภพ กล่าว
ส่วนจุดยืนของรมต.สำนักนายกคนใหม่ที่มีต่อทีวีสาธารณะ นายจักรภพ กล่าวว่า เร็วเกินไปที่จะพูด แต่ทีวีสาธารณะเป็นของดีงาม หลายประเทศที่มีแล้วได้รับประโยชน์ เพราะเป็นการสร้างผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ที่ไม่หวังกำไร เป็นคนเชิงอุดมการณ์มีการทำงานที่ดีมีคุณค่าต่อสังคมโดยไม่ร่วมในเชิงพาณิชย์มากเกินไปแต่ไม่ใช่ว่าวิธีการที่นำมาสู่จุดนี้จะทำอย่างไรก็ได้
“ ทีพีบีเอสมาจากมติครม.ไม่ใช่ความเห็นของรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งที่จะไปเสนอขอให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆได้ แต่แน่นอนที่สุดว่าทุกอย่าง คือน่าจะไม่เกิน 2 เดือน และไม่กลัวว่าจะถูกมองว่าเป็นการล้วงลูก ไม่เช่นนั้นจะเข้ามาทำไม การทำหน้าที่นี้เพราะเชื่อว่าจะต้องทำสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าหากว่าจะถนอมตัวเองก็คงหาทางไปที่อื่น”นายจักรภพ กล่าว
เมื่อถามพอใจการนำเสนอของทีพีบีเอสหรือไม่ นายจักรภพ กล่าวว่า พอใจกับชื่อเพราะเป็นชื่อที่ดี แต่ในหลาย ๆ ส่วน ไม่ใช่ความไม่พอใจ แต่ทั้งนี้ตนไม่ใช่ผู้วิเศษ แต่เป็นคนทำหน้าที่แทนประชาชน จึงไม่ใช่คำว่าไม่พอใจ แต่อยากประเมินถึงวิธีการ เช่น การคัดเลือกคนออก การเลือกเก็บคนส่วนหนึ่งไว้ การตั้งคำถามว่าอะไรที่ทำให้เกิดสื่อมวลชนที่ดีและอะไรทำให้เกิดสื่อมวลชนที่ไม่ดี ตรงนี้ยังทำให้เกิดความสงสัย เมื่อถามว่ามีแนวคิดรื้อกฎหมายที่ทำให้เกิดทีพีบีเอสหรือไม่ นายจักรภพ กล่าวว่า ยังไม่มีอะไรอยู่ในใจ แต่ว่าทุกทางเลือกเป็นไปได้ทั้งสิ้น
เมื่อถามว่าจะเรียกหารือคณะกรรมการหรือไม่ นายจักรภพ กล่าวว่า ขอดูก่อน เพราะทีวีสาธารณะโดยหลักการไม่ควรมีรัฐบาลเข้าไปยุ่งเกี่ยวในรายละเอียดมากเกินไป
“แต่อย่างที่บอกว่าวิธีการที่นำมาสู่จุดนี้มีอะไรแปลก ๆ ก็จะดูเฉพาะวิธีการ หากวิธีการสรรหาผู้บริหาร เจ้าหน้าที่อย่างถูกต้อง ทุกคนมาด้วยวิธีการและอุดมการณสาธารณะก็อาจจะไม่เข้าไปแตะต้องก็ได้ เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ทำให้ทีวีสาธารณะเป็นทีวีสาธารณะจริง ๆ ไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของใคร”นายจักรภพ กล่าว
เมื่อถามว่าเงินที่จะทำเป็นทีวีสาธารณะเป็นเงินมาจากรัฐจะทำอย่างไรไม่ให้รัฐเข้าไปควบคุม นายจักรภพ กล่าวว่า ไม่ได้แปลว่าใช้เงินใครแล้วเป็นทาสคนนั้น การสนับสนุนเงินของรัฐบาลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์กลางก็ได้ เปรียบเหมือนการใช้เงินรัฐสร้างสวนสาธารณะ เพียงแต่มันเป็นทีวีสาธารณะ เป็นเรื่องเดียวกัน
เมื่อถามว่าที่บอกว่าชอบชื่อไอทีวีมากกว่าหมายถึงอะไร นายจักรภพ กล่าวว่า เป็นความรู้สึกส่วนตัว ที่ตนเรียกไอทีวีก็เพราะว่ามันเริ่มต้นจากกรณีไอทีวี ไม่ได้เริ่มต้นทีพีบีเอสคือเราต้องจำให้ได้ว่ามันเกิดขึ้นอะไรจากอะไรด้วย อย่างไอทีวีเริ่มต้นจากทีวีเสรี พอมาวันนี้เป็นทีวีสาธารณะ แสดงว่าไม่ควรจะมีทีวีเสรีใช่หรือไม่
“เหล่านี้ไม่ใช่การตัดสินใจของผมคนเดียว แต่ผมจะกระตุ้นให้เกิดการถกเถียงในเรื่องนี้ เพื่อจะนำไปสู่การตัดสินใจ” นายจักรภพ กล่าว