xs
xsm
sm
md
lg

อย่าอ้างเลือกตั้งว่าชอบธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“อานันท์” ระบุแม้ รธน.จะดีอย่างไรก็ไม่สามารถอุดช่องโหว่ได้หมด เหตุคนฉลาดที่จะเข้ามาโกงสามารถหาช่องจนได้ ขณะเดียวกันการเลือกตั้งก็ไม่ใช่จะการันตีความชอบธรรม ชี้วันนี้เมืองไทยย้อนหลังไป 7 ปี ทุกคนต่างอ้าง ปชต.เพื่อตัวเอง แนะต้องสร้างความเป็นอิสระของกระบวนการยุติธรรมและสื่อ ให้เป็นเสาหลักให้ได้ “ประสงค์” ชูตั้งสมัชชาประชาชน และตั้งรัฐบาลเงากระกบการทำงานภาครัฐ แขวะ ครม.ของเก่าทีสีใหม่ มีแต่ตัวแทนผัว เมีย แนะจับตา “สมัคร” คนรักแม้วอาจนิสัยเหมือนแมว สั่งมากๆ อาจไม่ทำ

นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวปฐกถานำในงานเสวนา วิชาการหัวข้อ "บทเรียนเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550" ว่า ไม่ว่าจะเรียกการเมืองไทย ว่าเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ ค่อนใบหรือเต็มใบ แต่ก็เป็นเพียงสิ่งที่เราหลอกตัวเอง เพราะหลายครั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกลับมีจิตใจที่มีประชาธิปไตยน้อยที่สุด

“สิ่งที่เราต้องเรียนรู้ก็คือรัฐธรรมนูญเป็นเพียงกฎหมายสูงสุดที่คอยกำกับผู้ที่ใช้อำนาจ ซึ่งก็ไม่ต่างกับกฎหมายที่ห้ามการก่อฆาตกรรม การข่มขืน หรือการหลอกลวงประชาชน ซึ่งเมื่อบังคับใช้แล้วแต่ก็ไม่สามารถที่จะหยุดการกระทำผิดต่างๆ ได้ ถึงแม้รัฐธรรมนูญจะดีอย่างไร แต่ก็ไม่สามรถอุดช่องโหว่ได้ทุกกรณี เพราะคนฉลาดที่ตั้งใจจะโกงก็สามารถใช้ประโยชน์จากช่องโหว่นั้นเพื่อหาประโยชน์ใส่ตัวได้โดยไม่มีบิลให้เช็คหรือใบเสร็จรับเงิน”

นายอานันท์ กล่าวว่าการเลือกตั้ง 30-40 ปีที่ผ่านมามักมีข่าวคตโกงเลือกตั้งหรือซื้อเสียง ดังนั้นเมื่อมีการเลือกตั้งและได้รับการเลือกตั้งมาก็ใช่ว่าจะการันตีได้ว่ารัฐบาลที่ได้มามีความชอบธรรม เพราะความชอบธรรมขึ้นอยู่กับที่มาที่ไป เพราะฉะนั้นอย่าไปหลงที่ตัวรัฐธรรมนูญหรือกติกาต่างๆ เพียงอย่างเดียวหรือมองแค่การเลือกตั้ง แต่ต้องมองในทุกขั้นตอนว่ามีความชอบธรรมหรือเปล่า

นายอานันท์ กล่าวต่อว่า การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่ออุดช่องโหว่คงจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แม้ว่าจะมีความตั้งใจดี แต่ตลอด 1 ปี 5 เดือนที่ผ่านมา ก็ไม่สามารถทำให้สัมฤทธิ์ผลได้ ขณะนี้การเมืองไทยเหมือนกับย้อนกลับไป 6-7 ปี ก่อน ส่วนใหญ่ใช้คำว่าประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ไม่ว่าประเทศประชาธิปไตย หรือประเทศคอมมิวนิสต์ ทุกคนยังใช้การเลือกตั้ง

“ในโซเวียตก็มีการเลือกตั้ง แล้วสตาลินก็ได้ 99% ฮิตเลอร์ก็ผ่านการเลือกตั้ง เขาไม่เคยผ่านการทำการรัฐประหาร อาร์เจนติน่าก็มี เปรองที่ผ่านการเลือกตั้งมาโดยตลอดมีการลงคะแนนเสียง แม้ประเทศที่ไม่เป็นคอมมิวนิสต์ แต่ใช้อำนาจบาตรใหญ่ก็ผ่านการเลือกตั้ง อย่างในปากีสถาน มูชาราฟก็อยู่ในตำแหน่ง ได้เป็นเวลา 7 -8 ปีแล้ว มันเลยกลายเป็นเรื่องตลกที่ทุกประเทศเป็นประชาธิปไตยหมด เพราะว่ามาจากการเลือกตั้งแต่ไม่มีการพูดถึงสาระของการเลือกตั้งว่า การเลือกตั้งจะมีความชอบธรรมได้ก็เมื่อมีความใสสะอาด บริสุทธิ์ ยุตธรรม”

“ประธานาธิบดีบุชบอกว่าอิรักเป็นประชาธิปไตย เพราะมีรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นเอง แต่จริงๆแล้ว ประเทศมหาอำนาจกำลังทุ่มเทให้กับประเทศต่างๆ ที่ให้ประโยชน์กับตนเท่านั้น ผมมีความเห็นของตะวันตกมันไร้ความหมายขึ้นทุกวัน การที่เรากังวลว่าต้องมีการเลือกตั้วเพราะเกรงว่าจะมีการบอยคอต ผมว่าเป็นเรื่องตลก แต่ขึ้นอยู่ที่ว่าเป็นคนของเขาหรือเปล่าจะเป็นรัฐประหารหรือการเลือกตั้งถ้าเป็นคนของเขา เขาก็จะบอกว่าเขารับได้”

เหน็บไม่ควรแยกช่วยแค่ 19 ล.เสียง

นายอานันท์ กล่าวว่า ประชาธิบไตยคือการยอมรับและนับถือด้วยเสียง ส่วนใหญ่เป็นสิ่งดี แต่มีปัญหาในการปฏิบัติเพราะหากมีการซื้อเสียง เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามีความชอบธรรม อีกประการหนึ่ง คือ หลักของการปกป้องและคุ้มกันเสียงข้างน้อย อย่างในอเมริกาหลังจากการต่อสู้ในการเลือกตั้งแล้ว เมื่อได้เป็นประธานาธิปดีก็บอกว่าเป็นตัวแทนของทั้งประเทศ ไม่ใช่บอกว่าตัวเองเป็นตัวแทนของ 19 ล้านเสียง แบ่งโซนสีแดง เหลือง และเขียว การจะบอกว่ารักชาติก็ต้องรักทั้งสังคม ไม่ใช่แยกว่าเป็นนายกฯ ให้กับ 19 ล้านเสียงหรือเป็นนายกฯ ของคนไทยพุทธเท่านั้น ข้อนี้ถือว่าผิด

นายอานันท์ กล่าวว่า หลังจากนี้จะต้องคอยดูผลงานของรัฐบาลต่อไป เพราะพวกเขาเข้ามาตามครรลองของการเลือกตั้ง ส่วนจะบริสุทธิ์หรือไม่ ก็เป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมที่ต้องตรวจสอบ สิ่งใดที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามครรลองจะออกหัวออกก้อยทุกคนก็ต้องยอมรับ อีกสิ่งหนึ่งประเทศไทยต้องยอมรับหลักนิติรัฐหรือนิติธรรม ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวและได้รับการปฏิบัติทัดเทียมกัน สังคมไทยยังเห่อเรื่องอำนาจเพราะอยู่ในระบบอุปถัมป์มานาน

แนะต้องมีการตรวจสอบจากภาค ปชช.

นายอานันท์ กล่าวว่า ในอนาคตจะต้องมีการตรวจสอบจากภาคประชาชน ไม่ใช่ว่า 4 ปีแล้วให้ไปออกเสียง การเมืองไทยต้องเปิดกว้างมากกว่านี้ ไม่ใช่จำกัดเพียงคนเดียว 111 คน หรือ 400 - 500 คน หรือเป็นญาติมิตร เป็นเมียเป็นผัวกันเท่านั้น

ส่วนเรื่องการศึกษาจะสามารถแก้ปัญหาประชาธิปไตยในประเทศไทยได้ แต่เป็นห่วงว่าเราเข้าใจการศึกษาดีหรือเปล่า ถ้าเข้าใจว่าเป็นการเรียนตามวิชาต่างๆ ในห้องเรียนนั้นไม่ใช่การศึกษา แต่การศึกษาคือการเรียนรู้วิชาการและการสร้างอุปนิสัยให้รู้ว่าอะไรชอบอะไรไม่ชอบ ให้รู้ว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ ถ้าคนไม่รู้ว่าอะไรดีไม่ดี การออกคะแนนเสียงนั้นก็ไม่มีความหมาย คนที่แก่ความรู้แต่ไร้จริยธรรม ให้เป็นถึงดอกเตอร์หรือยศอะไรก็ให้ความเคารพยาก

“ตอนนี้ภาคประชาชนของเรายังไม่แข็งพอ เพราะว่าในระยะ 7 -8 ปีที่ผ่านมา ค่อนข้างหนักหน่วง มีการปิดกั้นข่าวสารข้อมูล ในเมืองจะได้รับมากกว่าคนในชนบท ข้อมูลที่ได้รับแตกต่างกันก็ทำให้เกิดความแตกต่าง คนเมืองไปทาง คนชนบทไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งแต่ละฝ่ายก็ไม่ผิด แต่เป็นเพราะการได้รับข่าวสารไม่เท่าเทียมกัน เป็นเรื่องน่าอนาถใจมากที่สื่อขึ้นอยู่ภายใต้อาณัติของนักการเมืองหรือนักธุรกิจที่หวังผลกำไร จึงเป็นเหตุผลในการมีทีวีสาธารณะ เพราะถ้าข่าวสารไม่ถึงประชาชน วิจารณญาณจะผิดพลาดได้ง่าย”

นายอานันท ไม่เชื่อว่าต่อไปการเมืองไทยจะดิ่งลงเหว แต่เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่ไม่ใช่แก้ไขด้วยรัฐประหาร ขอให้เลิกเสียที แต่ถ้ามีระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง มีสถาบันและค่านิยมที่เข้มแข็ง ก็จะมีกลไกของมันเองก็สามารถแก้ไขปัญหาไปได้ ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจริงจังและจริงใจ คอรัปชั่นจะมีน้อย ประชาชนเหมือนบ้าน แต่เสาหลักจะต้องเข้มแข็ง ความเป็นอิสระของกระบวนการยุติธรรม อิสระของสื่อ ความรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตัวเอง หรือหลักนิติธรรม ซึ่งต่างเป็นเสาหลักที่ต้องเพ่งเล็ง แต่ละคนจะต้องช่วยกันสร้างในแต่ละเสา หากพัฒนาเสาหลักเหล่านี้ประชาธิปไตยจะเดินไปได้ด้วยตัวเอง แต่การจัดตั้งสถาบันพัฒนาประชาธิปไตยก็จะกลายเป็นระบบราชการที่สร้างอาณาจักรของตัวเองอีก

บ่นตาขายเล็กยังสกัดตะกวดไม่ได้

ด้าน น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ที่ต้องมีการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเพราะว่าการบริหารงานโดยดอกเตอร์คนหนึ่ง ที่ทำให้เกิดเงื่อนไขในการรัฐประหารขึ้น เงื่อนไขดังกล่าวได้แก่ผูกขาดอำนาจใช้อำนาจรัฐอย่างไม่เป็นธรรม แทรกแซงองค์กรอิสระ สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกละเมิดอย่างจงใจ ถ้าจำได้ ทหารไม่ได้ออกมาปฏิวัติอย่างทันใด แต่ประชาชนออกมาที่ท้องถนน มีการเสวนาตามที่ต่างๆ แต่ท่านก็หน้าด้าน ไม่ฟังประชาชนเรียกร้องให้ออก ท่านก็ไม่ออก หลายเดือนประชาชนก็เหนื่อย ทหารก็มาให้ประชาชนพักเหนื่อยเสีย 1 ปี 5 เดือน ซึ่งจริงๆ แล้วเขาก็ไม่อยากทำ แต่รัฐประหารก็เกิดขึ้นใน วันที่ 19 กันยายน 2549

“ผลงานของรัฐบาลที่แต่งตั้งหลังจากการรัฐประหาร คือ เขายายเที่ยง รัฐบาลชุดนี้คล้ายๆ กับวงดนตรีนกแลที่มาจากเขายายเที่ยง ช่วงเวลาเหล่านี้มีเกิด สนช. คตส.และ ส.ส.ร. ครั้งนี้ ตะกวดก็ยังเล็ดลอดเข้ามาได้ ครั้งนี้ร่างกัน 35 คน ใช้ตาข่ายเล็กกว่าเดิมก็ไม่สามารถป้องกันได้”

น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า ขณะนี้ถือว่าระบอบเก่ายังอยู่เพียงแต่กวาดข้างบนออกไป ต่างคนต่างเร่งเข้าสู่การเลือกตั้ง แม้แต่รัฐบาลชุดเก่าก็เร่ง ทั้งที่รัฐธรรมนูญจะยังร่างไม่เสร็จ แต่การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นอยู่บนมูลเหตุของปฏิวัติระบอบเก่าก็ยังอยู่ ส่วน กกต.ที่แม้จะตั้งใจดี แต่ก็รู้กลอุบายของนักการเมืองไม่ทัน กกต.ในระดับจังหวัดเองก็เป็นคนเก่าๆ ทั้งนั้น เปลี่ยนแต่เฉพาะข้างบน 5 คนในสำนักงานก็มีกองต่างๆ ก็เป็นเจ้าหน้าที่ชุดเก่าในสมัยสามหนาห้าห่วงยังอยู่

ครม.มีแต่ตัวแทนของผัวและเมีย

น.ต.ประสงค์ กล่าวต่อว่า ประชาชนคาดหวังว่าการเลือกตั้งจะได้ของใหม่ แต่เป็นของใหม่ที่ทาสี แต่ส่วนอื่นๆ ก็เป็นของเก่าทั้งนั้น ประชาชนคาดหวังว่าการเลือกตั้ง จะบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่ก็มีใบเหลืองใบแดงไม่เท่าไหร่ แม้แต่คดีของ ท่านประธานที่เคารพก็ยังมีอยู่ การตั้งคณะกรรมการก็เป็นเพียงการถ่วงไว้

“ทุกอย่างจะย่ำที่เก่า ลองดูตั้งแต่หัวแถวยันท้ายแถว 36 คน คนเก่าๆ หลายคน ถ้าไม่ตัวแทนผัวก็ตัวแทนเมีย ถ้าไม่ตัวแทนพ่อก็ตัวแทนลูกมา นี่คือรัฐบาลชุดนี้”

น.ต.ประสงค์ กล่าวว่าส่วนตัวนายกรัฐมนตรีนั้น จะต้องมีคุณสมบัติสามประการ นั้นคือความประพฤติที่ดี วจีไพเราะ และสงเคราะห์ผู้ที่ต้องรับผิดชอบ ถามว่าผู้นำคนนี้เป็นอย่างไรคงไม่ต้องตอบ การจัดตั้ง ครม. หลายฝ่ายกำลังแจ้งความอยู่ว่าเป็นตัวแทนนอมินี ถ้ามีตัวแทนก็ต้องมีตัวการ ตัวนายกฯ เอง ก็เคยพูดออกมาว่าเป็นนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร การจัดตั้งรัฐบาล ก็เมดอินฮ่องกง เท่าที่ตนทราบก็ต้องส่งชื่อไปให้ดูด้วย เปลี่ยนตามที่ฮ่องกงต้องการ

น.ต.ประสงค์ กล่าวต่อว่า เมื่อผลการเลือกตั้งเป็นอย่างนี้ ผิดความคาดหวังของประชาชน รัฐบาลผสมเป็นเป็นเหมือนสารผสมที่มีสารพิษเจือปนเยอะแยะ ไม่รู้ว่าเขาจะอยู่ร่วมกันอย่างไร

“หัวหน้าก็เป็นคนรักแมว จะมีนิสัยเหมือนแมว สั่งมากๆ อาจจะไม่ทำ เตะออกไปก็อาจจะยืนได้ แนวโน้มของเหตุการณ์ไม่ปกติ และไม่มีความสุขทั้งข้างในข้างนอก ก็คงอยู่กันไปไม่นาน ไม่ว่าข้างในหรือข้างนอก นอกจากนี้ยังมีคดีของพรรค ของนักการเมือง หรือคดีของหัวหน้าแถวที่กลัวรถขยะและรถดับเพลิง”

แนะตั้งสมัชชาประชาชนตรวจสอบรัฐ

น.ต.ประสงค์เตือนว่า ผู้เข้ามาบริหารบ้านเมืองเองก็จะต้องไม่สร้างเงื่อนไข ในการปฏิวัติอีก ตนเห็นด้วยว่าภาคประชาชนจะต้องเข้มแข็ง ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาลเงา แล้วทำไมเราจึงไม่มีสภาประชาชนของเราเอง หาองค์กรที่เข้มแข้ง แล้วมาร่วมมือกัน ขณะนี้มีองค์กรประชาธิปไตยที่มีมวลชนและเป้าหมายของตนแล้ว มาร่วมกัน ทำให้เป็นจริงเป็นจัง แล้วเลือกผู้แทนขึ้นมาเป็นรัฐบาลเงาแข่งกับประชาธิปัตย์อีกที การตรวจสอบก็จะไปพร้อมกันระหว่างภาคการเมืองและภาคประชาชน เวลากำลังมีน้อย เพราะว่าเงื่อนไขทั้งภายในและภายนอกกำลังนำไปสู่ความขัดแย้งภายในพรรคบางพรรค ตนจึงอยากเสนอให้มีการจัดตั้งสมัชชาประชาชนขึ้นมาจากความร่วมมือขององค์กรต่างๆ

เสนอเปิดเรียนคณะการเมืองภาคพลเมือง

พล.อ.สายหยุด เกิดผล ประธานเครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้ง (พีเน็ต) กล่าวเสนอแนะในวงเสวนาว่า ควรแก้กฎหมายพรรคการเมือง ให้ระบุชัดเจนว่าการเมืองคืออะไร แยกแยะแบ่งเป็นภาคการเมืองกับภาคพลเมือง นอกจากนี้ อยากให้เปิดคณะในสถาบันการศึกษาให้มีการเมืองภาคพลเมืองให้ชัดเจน เพราะที่ผ่านมามักจะสอนการเมืองของนักการเมืองเท่านั้น แต่ตอนนี้เรามีอาชีพนักการเมืองทีต้องการเข้ามาหากำไร ซึ่งตนเห็นว่าเป็นปัญหาของระบบการเมืองปัจจุบัน

นายปราโมทย์ นาครทรรพ คอลัมนสต์ กล่าวว่า การปฏิวัติน่าจะต้องปฏิวัติให้เป็น ทำอะไรก็เหลวหมดและทิ้งอะไรให้ลูกหลานแบกรับ ตนไม่เห็นด้วยรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติ แต่ก็เป็นสิทธิของประชาชนที่จะโค่นล้มรัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรม แต่จะต้องดีโพลิติไซต์และต้องให้ความรู้กับกองทัพเรื่องการมีส่วนร่วม

ส่วนนักการเมืองจะต้องเป็นมืออาชีพที่มีชั่วโมงบิน มีความรับผิดชอบ มีพรรคที่ถูกต้อง มีโครงการหนุนช่วยการเลือกตั้ง ไม่ใช่ให้ขึ้นอยู่กับนายทุน ที่ชอบเลี้ยงนักการเมือง ที่เอาการเมืองเป็นอาชีพบังหน้าเพื่อหากินสร้างอิทธิพล เราหลงว่าพรรคการเมืองเป็นเครื่องมือของประชาธิปไตยและหลงว่า ส.ส.จะต้องสังกัดพรรคการเมืองและเชื่อกันว่าการเลือกตั้งหมายถึงการเป็นประชาธิปไตย

ด้าน นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า โครงสร้างที่เขียนในรัฐธรรมนูญ ไม่ได้แก้ไข พฤติกรรมทางการเมือง เปรียบเหมือนวงกลมสามวงที่ซ้อนกัน วงในสุดหมายถึง ผู้เล่นหลักในการเมืองซึ่งเป็นนักการเมือง พรรคการเมือง ซึ่งอาจเรียกได้ว่า เปลี่ยนแปลงไปเยอะ รัฐธรรมนูญระบุว่า พรรคการเมืองจะต้องส่งคนลงสมัคร ซึ่งเป็นความพยายามเพื่อให้เป็นสถาบันหล่อหลอมนักการเมือง แต่สิ่งเหล่านี้ ไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เพราะปัญหาส่วนใหญ่เป็นปัญหาของวัฒนธรรมทางการเมือง

ส่วนวงที่สองคือการตรวจสอบอำนาจ การกำหนดให้องค์กรอิสระมีบทบาทชัดเจนขึ้น และวงที่สามที่เปิดพื้นที่ให้กับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เช่น การถอดถอน การทำประชามติ เป็นต้น แม้หลายคนจะคิดว่าการเมืองไม่เปลี่ยนแปลง แต่เราได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ภาคประชาสังคม องค์กรตรวจสอบ ประชาชนก็ได้เรียนรู้เพิ่มมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น