xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ตื่นรับมือวิกฤตทุนโลก ผ่อนคลายนโยบายการเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติประกาศผ่อนคลายนโยบายการเงินรับมือวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐ เปิดทางเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 4.5-6% เตรียมออกมาตรการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้าย ทั้งเพิ่มช่องทางการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศและขยายเวลาถือครองเงินดอลลาร์ของผู้ส่งออก ยันไม่ยกเลิกมาตรการ30% จี้คลังมีบทบาทหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้าน รมว.คลังไม่หวั่นเฟดลดดอกเบี้ย โยนมาตรการ 30% ให้รัฐบาลใหม่ตัดสินใจ

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยถึงภาพรวมเศรษฐกิจในขณะนี้ว่า แรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยเริ่มกลับคืนมาทั้งการอุปโภคบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ตลอดจนความเชื่อมั่นของประชาชน หลังจากที่การเมืองมีความชัดเจนมากขึ้น ขณะเดียวกันภาครัฐยังได้พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงมีแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ในระดับ 4.5-6% อย่างไรก็ตามในปีนี้ยังมีความท้าทายที่สำคัญในบทบาทการทำหน้าที่ของ ธปท. 3 ประเด็นหลัก คือ การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้ภาวะราคาน้ำมันแพง เศรษฐกิจที่เปราะบาง และปัจจัยเสี่ยงทั้งในและนอกประเทศ และการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายภายใต้วิกฤติการเงินโลกที่มีความผันผวนจากเงินทุนไหลเข้าออก รวมทั้งการดูแลความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินไทยในสิ่งแวดล้อมทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ ปัจจัยความท้าทายแรก คือ การดำเนินนโยบายการเงินของธปท.ในปีนี้มีความยากกว่าปีก่อนๆ เนื่องจากราคาน้ำมันยังคงมีความผันผวนและทรงตัวในระดับสูง โดยเป็นผลจากความต้องการของประเทศต่างๆ มากขึ้น การเก็งกำไรระยะสั้น รวมทั้งกองทุนต่างๆ ได้เพิ่มการลงทุนในน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งเพิ่มแรงกดดันต่อต้นทุนการผลิตและค่าขนส่ง ทำให้ราคาสินค้าต่างๆ สูงขึ้น ในขณะที่ประชาชนมีกำลังซื้อลดลงจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จึงจำเป็นที่ธปท.ต้องดำเนินนโยบายการเงินอย่างรอบคอบและระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะต้องดูแลให้เศรษฐกิจเติบโตไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่สร้างแรงดันต่อเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ควรใช้นโยบายการคลังเป็นสิ่งต้องเข้ามาดูแลเศรษฐกิจมากกว่า เพราะการฟื้นตัวเศรษฐกิจในประเทศยังเปาะบางอยู่ และความเสี่ยงข้างนอกมีมากขึ้น ส่วนการดำเนินนโยบายการเงินทำได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ง่ายเหมือน 2 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น ควรใช้นโยบายการคลังกระตุ้นการลงทุนต่างๆ เพราะหากมีความชัดเจนโครงการลงทุนต่างๆ เป็นการส่งสัญญาณที่ดีให้แก่ภาคเอกชนรับลูกต่อไปได้ แต่ต้องมีโครงการรองรับที่ชัดเจนก่อน และจำเป็นที่รัฐบาลใช้งบประมาณขาดดุล และดูแลการเบิกใช้ตามเป้าหมาย ซึ่งที่ผ่านมาประสิทธิภาพการเบิกใช้ก็ดีพอสมควร
 
“เราจะดูแลให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวอย่างยั่งยืน หากประเมินแล้วความเสี่ยงด้านการเติบโตมากกว่าก็จะใช้นโยบายการเงินเข้ามาดูแล ถ้าอัตราเงินเฟ้อไม่มีแรงกดดันมากกว่าที่เราคาดการณ์ หรือหากเศรษฐกิจยังไปได้พอสมควร ปัญหาเงินเฟ้อมีแรงกดดันน้อยลงก็จะมีมาตรการอื่นๆ เช่น นโยบายการคลังเข้ามาดูแลเศรษฐกิจมากกว่าที่จะใช้นโยบายการเงิน”

สำหรับปัญหาสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ของสหรัฐเชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยด้านเศรษฐกิจจริงมากกว่าด้านการเงิน ซึ่งในหลายประเทศอย่างยุโรป สหรัฐเองได้มีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ เพื่อลดปัญหาขาดสภาพคล่อง แต่ภาคสถาบันการเงินของไทยมีการลงทุนในตราสารต่างประเทศประเภทซีดีโอน้อยมากประมาณ 0.6%ของสินทรัพย์รวมของสถาบันการเงิน ทำให้ไทยไม่มีปัญหาเรื่องขาดสภาพคล่องในระบบ และเชื่อว่าในอนาคตไทยจะไม่มีปัญหาสภาพคล่องเช่นกัน

เชื่อวิกฤตเครดิตไม่ลามเข้าไทย

ส่วนปัญหาเครดิตครันช์ ซึ่งเกิดขึ้นใหม่ที่สหรัฐ โดยมีสินทรัพย์ด้อยคุณภาพอยู่บนงบดุล ขณะเดียวกันขาดทุนจากสินทรัพย์เหล่านี้ ทำให้เงินกองทุนลดลง จึงมีการระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งที่ผ่านมาในหลายประเทศมีความเข้มงวดมากขึ้น ทำให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ไม่ได้ด้อยคุณภาพจากปัญหาซับไพรม์และสินเชื่ออื่นๆ ได้รับผลกระทบด้วย แต่ในส่วนของไทยเองก็คาดว่าไม่น่าจะเกิดปัญหานี้ เพราะสถาบันการเงินมีสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องน้อยมาก จึงมีผลกระทบเงินกองทุนและการขาดทุนน้อย ประกอบกับธุรกิจที่ติดต่อกับต่างประเทศของไทยส่วนใหญ่ไม่ได้มีลักษณะการเก็งกำไร แต่ถ้าจะได้รับผลกระทบจากการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดเป็นพิเศษน่าจะเป็นกลุ่มผู้ส่งออกและนำเข้ามากกว่า

“ผลพวงจากปัญหาซับไพรม์จะกระทบเศรษฐกิจสหรัฐจริงยังไม่นิ่ง แม้สหรัฐได้ใช้มาตรการดอกเบี้ยและต่อไปจะใช้มาตรการภาษีมาช่วยยับยั้งการเสื่อมถอยเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะช่วยได้หรือไม่และหากปัญหานี้แก้ไขไม่ได้จะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อด้วย เพราะเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยจะมีผลต่อราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกให้สูงต่อเนื่องได้ แต่ขณะนี้เท่าที่ดูความเสี่ยงต่อเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีมากกว่าที่เราคาดไว้ก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกันความเสี่ยงเงินเฟ้อน้อยกว่าที่เราคาดการไว้เช่นกัน ซึ่งเป็นการประเมินภาวะปัจจุบัน ส่วนต่อไปจะยันได้แค่ไหนก็ต้องดูตัวเลขใหม่ๆว่าจะสอดคล้องกับที่เราคาดการณ์ไว้หรือไม่ หากตัวเลขไม่เหมือนก็จะปรับการคาดคะเนอีกครั้งหนึ่ง”

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ความท้าทายปัจจัยที่สอง คือ การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายภายใต้ความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลก โดยนับตั้งแต่สิ้นต้นปีที่ผ่านมาจนกระทั่ง ณ วันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้น 1.4% โดยเฉลี่ยแล้วการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอยู่ระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับประเทศในแถบภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้น 6% มาเลเซีย 2.2% ไทย 1.9% ซึ่งเมื่อเทียบกับปีก่อนไทยแข็งค่า 6.9% ส่วนจีนค่าเงินแข็งค่าขึ้น 1.3% สิงคโปร์ 1.2% และฟิลิปปินส์ 1% ซึ่งธปท.จะดูแลให้ไปในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินในภูมิภาคและไม่ให้มีความผันผวนมากเกินไป

“ในช่วงที่ผ่านมาจากเงินดอลลาร์อ่อนค่า ทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามายังภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งไทยจำนวนมาก แม้ได้ผ่อนคลายมาตรการเป็นระยะๆ แล้ว ดังนั้น ธปท.จึงได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เปิดช่องทางให้มีเงินทุนไหลออกมากขึ้น เพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงิน โดยจะขยายวงเงินและเพิ่มช่องทางการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งขณะนี้รอเพียงประกาศเป็นกฎกระทรวงอย่างเป็นทางการ ซึ่งในอนาคตจะมีมาตรการเพิ่มเติมอีก และตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างหารือร่วมกับกลต. พร้อมทั้งธปท.ยังได้เตรียมขยายเวลาถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐของผู้ส่งออกเป็น 360 วัน จากเดิม 120 วัน ซึ่งเดิมทีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ลงนามในเรื่องนี้แล้ว รอเพียงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเช่นกัน ส่วนมาตรการผ่อนคลายเงินทุนไหลเข้ายังไม่มีอะไรเพิ่มเติมนอกเหนือจาก30%”

ขณะที่มาตรการกันสำรอง 30%ของเงินทุนระยะสั้นนั้น ขณะนี้ธปท.ยังไม่ยกเลิกมาตรการดังกล่าว เพราะไทยยังต้องเผชิญปัจจัยความท้าทายและความไม่แน่นอนในหลายเรื่อง ส่วนกรณีที่ตลาดมีความกังวลว่าจะมีการโยกเงินเข้าไปเก็งกำไรในตลาดตราสารหนี้นั้นก็เชื่อว่าไม่สามารถทำได้ เพราะผู้เล่นคนละตลาดกัน ซึ่งเห็นได้จากมีแยกประเภทนักลงทุนที่ชัดเจนทั้งนักลงทุนในตลาดทุนหรือตราสารหนี้ ขณะเดียวกันโบรเกอร์ก็ได้รับอาสาดูแลให้อยู่แล้ว จึงไม่ได้เป็นได้เป็นห่วง

“ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลังเสนอให้มีการยกเลิกมาตรการ30% และลดอัตราดอกเบี้ยไม่ได้เป็นการบ่งบอกว่าธปท.ไม่มีจุดยืน แต่มองว่าทุกคนต่างมีความปรารถนาดีต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องมีการหารือร่วมกัน เพื่อดูภายใต้ข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันและการประเมินปัจจัยต่างๆ ในระยะต่อไป แพ็คเก็จนโยบายที่ดีที่สุดควรเป็นเช่นไร”

ส่วนการบริหารจัดการเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นนั้น ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า ธปท.ได้มีการกระจายไปลงทุนในสกุลเงินอื่นมาแล้วเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมาและได้มีการทำอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการบริหารของธนาคารทุกแห่งต้องเน้นความระมัดระวังอยู่แล้ว โดยจะดูแลเงินตราต่างประเทศที่อยู่ในทุนสำรองฯให้มีผลประโยชน์งอกเงยภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ซึ่งธปท.จะไม่ทำอะไรที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด ฉะนั้นการเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทจะทำเท่าที่จำเป็นและดูความเหมาะสมเป็นหลัก ซึ่งธปท.จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

นอกจากนี้ในความท้าท้ายประเด็นสุดท้าย คือ การรักษาความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน ซึ่งในปัจจุบันได้เปลี่ยนมากำกับด้านความเสี่ยงมากขึ้น จากเดิมที่ใช้วิธีการกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินด้านการเงิน เนื่องจากมองว่าขณะนี้ระบบสถาบันการเงินไทยต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเปิดเสรีมากขึ้น และผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นใหม่ๆ มากมาย พร้อมทั้งต้องเผชิญความผันผวนและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นตลอดจนความเสี่ยงที่ซับซ้อนมากขึ้น จึงจำเป็นต้องบริหารความเสี่ยง เพื่อไม่ให้ธุรกิจและระบบการเงินไทยโดยรวมได้รับผลกระทบ

รมว.คลังไม่หวั่นเฟดลดดอกเบี้ย

นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การลดอัตราดอกเบี้ย 0.75% ของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด และมีแนวโน้มจะประกาศลดดอกเบี้ยลงอีกนั้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของไทยตามเฟดนั้น เป็นเครื่องมือหนึ่งที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะต้องนำไปพิจารณา ส่วนจะส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้าประเทศไทยจำนวนมาก และกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้หรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่เกิด

"การแข็งค่าของเงินบาทในขณะนี้เกิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจำนวนมาก ไม่ใช่การแข็งค่าของทุน นอกจากนี้ประเทศไทยยังคงมีมาตรการกันสำรอง 30% ที่สามารถรับมือได้ในระดับหนึ่ง การพิจารณายกเลิกมาตรการดังกล่าวเป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุด
ใหม่"รมว.คลัง กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น