xs
xsm
sm
md
lg

สบน.สั่งประเมินผลวิกฤตสหรัฐฯ มั่นใจไม่กระทบลงทุนเมกะโปรเจ็กต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - สำนักบริหารหนี้เตรียมรับมือวิกฤตแฮมเบอเกอร์ สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวประเมินผลกระทบ แต่เชื่อไม่มีผลต่อการระดมทุนของเมกะโปรเจกต์ ระบุสภาพคล่องจากตลาดตราสารหนี้ในประเทศยังมีเพียบ ยันแม้จะมีการลงทุนในโครงการใหญ่ต่อเนื่องอีก 5 ปีไม่ทำให้โครงสร้างหนี้สาธารณะเกิน 40%ของจีดีพี ขณะที่ผลการบริหารหนี้เดือนธ.ค.ปี50 รัฐกู้เพิ่มอีก 1.7 หมื่นล้านโปะขาดดุล

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยถึงแนวโน้มการลงทุนของภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้นจากการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่(เมกะโปรเจ็กต์)ว่า ในการลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กที่จะมีต่อเนื่องใน 5 ปีข้างหน้านั้น ไม่น่าจะทำให้สัดส่วนของหนี้สาธารณะสูงเกิน 40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ในกรอบที่จีดีพีขยายตัวที่ 4-5% และถึงแม้จะเกิดวิกฤติการเงินในประเทศสหรัฐฯ ก็จะไม่มีผลต่อต้นทุนที่จะทำให้หนี้สาธารณะสูงขึ้นเช่นกัน เนื่องจากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่างประเทศมีจำนวนไม่มากนัก

ส่วนด้านการระดมทุนจากต่างประเทศนั้น เชื่อว่าปัญหาดังกล่าวก็ไม่มีผลกระทบต่อการระดมเงินเพื่อลงทุนของรัฐบาลในภาวะที่ต้องมีการลงทุนมากขึ้นโดยเฉพาะการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็ก เนื่องจากสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ในประเทศยังมีสภาพคล่องอยู่มาก และเพียงพอที่จะรองรับการระดมทุนได้

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าจากปัญหาวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯนั้นมีความเสี่ยงต่อการบริหารหนี้สาธารณะของประเทศไทยในอนาคต เนื่องจากทำให้การดูแลทั้งเศรษฐกิจมหภาค อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ยได้ยากขึ้น ซึ่งในส่วนของสบน.ก็ได้สั่งการให้กลุ่มบริหารความเสี่ยงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่ามีผลต่อการบริหารหนี้อย่างไรบ้าง แต่ก็มั่นใจว่าจากสัดส่วนหนี้สาธารณะในปัจจุบันที่ระดับ 38.27% ของจีดีพี ยังสามารถรองรับความเสี่ยงของโลกได้เป็นอย่างดี

"ตามปกติหากทางการไม่ได้มีการดำเนินการใดใหม่ๆ แนวโน้มหนี้สาธารณะก็จะลดลงไปเรื่อยๆ ประกอบกับหนี้ต่างประเทศที่มีอยู่มีเพียง 13% ของหนี้สาธารณะทั้งหมด และหนี้ส่วนใหญ่ที่มีอยู่จะมีเงินเยนมากกว่าเงินสกุลดอลลาร์ รวมทั้งเป็นหนี้ระยะยาวด้วย จึงเชื่อว่าโครงสร้างหนี้ในปัจจุบันรองรับความเสี่ยงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ได้อยู่"นายพงษ์ภาณุ กล่าว

เดือนธ.ค.รัฐกู้ 1.7 หมื่นล้านโปะงบฯ

สำหรับผลการดำเนินการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐประจำเดือนธันวาคม 2550 กระทรวงการคลังได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่ครบกำหนดในวันที่ 27 ธันวาคม 2550 จำนวน 5,000 ล้านบาท โดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงินอายุ 3 ปี จำนวน 5,000 ล้านบาท ส่วนภาครัฐวิสาหกิจนั้น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพและธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้ทำการ Roll Over หนี้เดิม รวม 2,000 ล้านบาท และในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2551 กระทรวงการคลังได้ปรับโครงสร้างหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน วงเงิน 15,000 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจได้ทำการ Roll Over หนี้เดิมรวม 7,800 ล้านบาท

ส่วนการกู้เงินภาครัฐในเดือนธันวาคม 2550 กระทรวงการคลังได้กู้เงินในประเทศโดยการออกพันธบัตรเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ วงเงิน 17,500 ล้านบาท โดยเป็นการออกพันธบัตรรัฐบาล 17,000 ล้านบาท และพันธบัตรออมทรัพย์ 500 ล้านบาท ขณะที่ภาครัฐวิสาหกิจได้กู้เงินในประเทศรวม 8,000 ล้านบาท โดยเป็นการกู้เพื่อลงทุน 7,000 ล้านบาท และกู้เพื่อเป็นทุนหมุนเวียน 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2551 ภาครัฐได้กู้เงินในประเทศรวม 70,707 ล้านบาท โดยเป็นการกู้ของกระทรวงการคลัง 42,500 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจ 28,207 ล้านบาท

ขณะที่ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2550 มีจำนวน 3,209,423 ล้านบาท หรือร้อยละ 38.27 ของ GDP เป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 2,049,743 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 950,469 ล้านบาท หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 182,416.87 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 26,793 ล้านบาท โดยเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 26,473 ล้านบาท โดยหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพิ่มขึ้น 7,328 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น 20,669 ล้านบาท หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ลดลง 1,524 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐไม่มีการเปลี่ยนแปลง และหนี้สาธารณะโดยรวมแยกออกเป็นหนี้ต่างประเทศ 422,896 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.18 และหนี้ในประเทศ 2,786,527 ล้านบาท หรือร้อยละ 86.82
กำลังโหลดความคิดเห็น