xs
xsm
sm
md
lg

พบเก็งกำไรบาท “ผิดปกติ” ธปท.ลุยแทรกแซง-คง 30%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ชาติ ระบุ การซื้อขายเงินบาทขณะนี้ผิดปกติ มีแรงเก็งกำไรทำให้เข้าไปแทรกแซงเพื่อลดความผันผวน และชะลอการแข็งค่าต่อเนื่อง สายตลาดเงินสั่งเพิ่มความถี่ในการสุ่มตรวจสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ที่ไม่มีธุรกรรมการค้า และการลงทุนรองรับ ซึ่งเป็นการซื้อขายในลักษณะเก็งกำไรค่าบาทไว้เป็นข้อมูลในการแทรกแซง ยืนยันสถานการณ์ยังไม่เหมาะล้ม 30% ส่วนค่าเงินบาทวานนี้อ่อนค่าไปอยู่ที่ 33.13 บาทต่อดอลลาร์

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวยอมรับว่าค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นมากในช่วงนี้ ถือเป็นการแข็งค่าขึ้นอย่างผิดปกติ เพราะมีแรงเก็งกำไรค่าเงินบาทจากผู้ซื้อขายในประเทศ เพราะถ้าเป็นการไหลเข้าจากการส่งออกและนำเข้าตามธรรมดาจะไม่แข็งค่าขึ้นรวดเร็วขนาดนี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากความตื่นตระหนก ซึ่ง ธปท.เข้าใจในเรื่องนี้ว่าเมื่อผู้ส่งออกและนำเข้า เห็นว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง ก็ต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อลดความเสี่ยงและผลขาดทุน แต่หากเป็นไปได้ ธปท.ก็ไม่ต้องการให้เข้ามาซื้อขายในลักษณะที่เป็นการเก็งกำไรอย่างที่ทำอยู่ในขณะนี้ และพยายามชี้ว่าการเก็งกำไรมีความเสี่ยงและอาจขาดทุนได้

“ในช่วงนี้ ธปท.เข้าไปดูแลเพื่อลดความผันผวน และการแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง เพราะถือว่าเป็นช่วงที่ตลาดไม่ปกติ นอกจากนั้น ธปท.กำลังจะเพิ่มความถี่ในการสุ่มตรวจสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ในส่วนของสัญญาซื้อขายเงินบาท และเงินตราต่างประเทศ ของผู้ส่งออก-นำเข้า และธนาคารพาณิชย์ ที่ไม่มีธุรกรรมการค้า และการลงทุนจริงรองรับ (underlying) ซึ่งเป็นการซื้อขายในลักษณะการเก็งกำไรค่าเงินบาท เพื่อที่จะนำมาเป็นข้อมูลในการดูแลค่าเงินบาท และดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของ ธปท.และเพื่อพิจารณาว่าควรจะดำเนินการกับสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศลักษณะนี้หรือไม่”

ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดเงิน กล่าวด้วยว่า การสุ่มตรวจสัญญาซื้อขายเงินบาทและเงินตราต่างประเทศ ที่ไม่มีธุรกรรมทางการค้า และการลงทุนจริงรองรับนั้น เป็นเรื่องที่ ธปท.ทำอยู่แล้วตามปกติ เพราะ ธปท.ไม่สนับสนุนให้มีการทำธุรกรรมในลักษณะนี้ โดยหากช่วงไหนค่าเงินบาทมีความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ จะเพิ่มความถี่ในการสุ่มตรวจเพิ่มขึ้น

“ธปท.เห็นค่าเงินบาทแข็งมาระยะหนึ่งแล้ว โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเทขายเงินดอลลาร์สหรัฐฯจากผู้ส่งออก ทั้งรายเล็กรายใหญ่ ซึ่งเป็นแรงผสมโรงกัน ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วกว่าปกติ และอีกปัจจัยหนึ่งน่าจะมาจากข้อมูลที่ว่าหากมีรัฐบาลเข้ามาจะมีการยกเลิกมาตรการกันสำรองเงินทุนระยะสั้นนำเข้า 30% ทั้งที่ในความเป็นมาตรการนี้เป็นนโยบายชั่วคราว อย่างไรเสียก็ต้องยกเลิกอยู่แล้ว เพียงแต่การยกเลิกต้องมีระยะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งจะพิจารณาจาก 1.ปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ต่ำกว่ามาตรฐาน (ซับไพรม์) ที่อาจจะลุกลามมากกว่าที่คาดการณ์ 2.แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ 3.การไหลเข้าออกของเงินทุน และ 4.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการลงทุน”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของมาตรการสำรองเงินทุนระยะสั้นนำเข้า 30% นั้น นางสุชาดา กล่าวว่า ในขณะนี้ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมในการยกเลิกมาตรการดังกล่าว เพราะหากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ได้รับผลกระทบส่งผลให้เงินทุนจะไหลมาสู่ภูมิภาคมากขึ้น ฉะนั้น ถ้าเรามาเปิดให้เงินเข้าไว้โดยไม่มีอะไรกั้น ค่าเงินบาทอาจได้รับผลกระทบได้ การยกเลิกจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเรื่องนี้คงเป็นประเด็นที่เอาไว้หารือกันหลังการจัดตั้งรัฐบาล

“ขณะนี้ยังไม่ได้มีการหารือถึงการจัดทำนโยบายการเงินร่วมกับกระทรวงการคลัง ตามกรอบของกฎหมายใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม ตามปกติเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีใหม่ ธปท.ต้องมีการรายงาน และหารือการทำงานให้กระทรวงการคลังดูแลอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินนโยบายการเงิน การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉพาะต่อไป ต้องร่วมกันหารือนโยบายการเงินตามกฎหมายฉบับใหม่ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการหารือ เพราะยังไม่มีการตั้งรัฐบาล”

นักค้าเงินธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (21 ม.ค.) ในช่วงเช้าค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 33.03-33.05 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยระหว่างวันมีแรงซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐฯจาก ธปท.อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากจนเกินไป ประกอบกับมีเงินทุนไหลออกจากในส่วนของตลาดหุ้นบางส่วน แม้ปริมาณจะไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม ด้านผู้ส่งออกยังมีการเทขายเงินดอลลาร์ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรายใหญ่ๆ ทำให้ค่าเงินบาทกลับมาปิดตลาดที่ระดับ 33.12-33.13 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ นักค้าเงินประเมินว่าทิศทางของค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ ธปท.เองก็พยายามเข้าไปแทรกแซง เพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจนหลุด 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯต่อไป เพราะหากเป็นเช่นนั้นยิ่งจะทำให้ค่าเงินบาทอาจจะแข็งค่าแตะที่ระดับ 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯภายในสิ้นปีนี้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น